6 ก.ค. 2020 เวลา 10:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จัก งบการเงิน
ตัวอย่างงบการเงิน (บางส่วน)
เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบัญชีเค้าทำงบการเงินกันอย่างไร หน้าที่ของนักลงทุนคือ "อ่านให้เป็น ก็พอแล้ว" ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยค่ะ
ส่วนประกอบของงบการเงิน มี 5 ส่วน ได้แก่
1) งบดุล – บอกให้ทราบถึงสถานะของบริษัท
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
2) งบกําไรขาดทุน – บอกให้ทราบผลการดําเนินงานของบริษัท
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กําไร (ขาดทุน)
3) งบกระแสเงินสด – บอกถึงเงินสดที่หมุนเวียนในบริษัท
กระแสเงินสดมีแหล่งที่มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ จากกิจกรรมดําเนินงาน กิจกรรมการลงทุน และจากกิจกรรมจัดหาเงิน
4) งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น
5) หมายเหตุประกอบงบการเงิน – แสดงรายละเอียดเพิ่มเติม
นอกจากส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วนข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างของงบการเงินคือ รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี เพื่อพิจารณาการรับรองงบการเงินค่ะ
งบดุล (Balance Sheet)
หมายถึง รายการที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน
สินทรัพย์ (Asset)
หมายถึง ทรัพยากรที่มีอยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต
หนี้สิน (Liability)
หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ โดยที่ภาระผูกพันดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งการชําระภาระผูกพันนั้นคาดว่าจะส่งผลให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ
ส่วนของเจ้าของ (Owner's equity)
หมายถึง ส่วนของเจ้าของกิจการที่มีสิทธิหรือส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการภายหลังหักหนี้สินออกแล้ว
ภาพรวมงบดุล
งบกำไรขาดทุน (Income Statement)
หมายถึง งบที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ส่วน
 
รายได้ (Income)
หมายถึง เงินสด ลูกหน้การค้า หรือผลตอบแทนที่กิจการได้รับมาจากการประกอบการของกิจการก่อนหักค่าใช้จ่าย อาจเป็นสินค้าหรือการบริการให้แก่ลูกค้า ผลตอบแทนที่เกิดจากการให้ใช้สินทรัพย์ กําไรที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ รับจากการขายสินทรัพย์ ดอกเบี้ยรับที่ได้จากการให้กู้ยืม เงินปันผลรับที่ได้จากการลงทุน
ค่าใช้จ่าย (Expense)
หมายถึง ต้นทุนของสินค้าหรือบริการที่กิจการต้องจ่ายไปเพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น
- ต้นทุนขาย (Cost of Sales)
- ค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (Selling, General, Administrative Expenses)
- ดอกเบี้ยจ่าย (Interest Expense) หรือค่าใช้จ่ายทางการเงิน
- ภาษีเงินได้ (Income Tax)
เมื่อมีส่วนประกอบจากรายได้ และค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะสามารถคำนวณผลประกอบการออกมา เป็นกำไร หรือขาดทุน นั่นเอง
กำไร
หมายถึง ผลต่างระหว่างรายได้ทั้งหมดและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกิจการ
กำไร เกิดจากการที่รายได้ > ค่าใช้จ่าย
ขาดทุน เกิดจากการที่รายได้ < ค่าใช้จ่าย
กำไร เป็นการแสดงการเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์สุทธิของกิจการในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ดังนั้นกำไรจึงทำให้ส่วนของกิจการ (ส่วนของผู้ถือหุ้น) เพิ่มขึ้น
ภาพรวมงบกำไรขาดทุน
งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flows)
หมายถึง รายงานการเงินที่แสดงให้เห็นว่าในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมากิจการได้รับเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดมาจากทางใดและใช้เงินสดไปในการบริหารงานอย่างไร แบ่งเป็น 3 ส่วน
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
เกิดจากการผลิต การขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการเก็บเงินจากลูกค้า สะท้อนถึงเงินสดที่แท้จริงในกิจกรรมดำเนินงาน
กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน
เกิดจากการซื้อหรือขายสินทรัพย์ถาวรหรือเงินลงทุนระยะยาวของกิจการ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน
เกิดจากการได้มาหรือใช้ไปในส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ หนี้สินระยะยาว เช่นเงินกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ การจ่ายปันผล
ตัวอย่างงบกระแสเงินสด (บางส่วน)
หมายเหตุประกอบงบการเงิน ( ควรที่จะต้องอ่าน!! )
คือ รายการที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมจากงบการเงิน เช่น นโยบายการทำบัญชีและเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน ข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้แสดงอยู่ในงบการเงิน
นโยบายการทำบัญชี เป็นสิ่งที่ทำให้งบการเงินของแต่ละกิจการมีความแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้งานงบการเงินจะต้องอ่านก่อนว่ากิจการนั้น ใช้เกณฑ์การจัดทำงบการเงินแบบใด ก่อนที่จะอ่านงบการเงิน
o ข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ได้แสดงในงบการเงิน นโยบายทางบัญชี
- การรับรู้รายได้
- ลูกหนี้การค้า
- เจ้าหนี้การค้า
- การตีมูลค่าสินค้าคงเหลือ
- การตัดค่าเสื่อมราคา
o ข้อควรระวัง
- บางบริษัท รายได้โตมากๆ ต้องมาดูว่าการรับรู้รายได้นั้น ใช้นโยบายแบบไหน
- เจ้าหนี้การค้าค้างชำระนานๆ มีจำนวนเท่าใด สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องหรือไม่
- อยู่ดีๆ กำไรบวม อาจมีการเปลี่ยนแปลงการตัดค่าเสื่อมหรือไม่
รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี
งบการเงิน จะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นผู้แสดงความเห็นต่องบการเงินที่ตรวจสอบว่า งบการเงินนั้นถูกต้องตามควรในสาระสำคัญและได้จัดทำตามมาตราฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ มีข้อบ่งชี้ในเรื่องความผิดปกติทที่ผู้วิเคราะห์งบการเงินควรให้ความสนใจเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งผู้สอบบัญชี จึงจะต้องมีความเป็นอิสระและไม่มีส่วนได้เสียกับกิจการ
ประเภทของรายงานผู้สอบบัญชี
เขียนไปเขียนมา ดูเหมือนจะยาวไปนิดหนึ่งนะคะ ไม่รู้ว่าเริ่มมึนกันแล้วหรือยัง แต่ก็พยายามบรีฟให้แล้วนะคะ ^_^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา