10 ก.ค. 2020 เวลา 00:47 • อสังหาริมทรัพย์
เมื่อจะเริ่มให้ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน อย่าลืมทำสัญญากันให้เรียบร้อยก่อนนะครับ
Cr. : Template.net
เอกสารสัญญาจ้าง หลักๆจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1.ส่วนของ BOQ.
เป็นรายละเอียดการสรุปราคาค่าจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง (ซึ่งเคยเล่าไปแล้ว ในตอนก่อนหน้านี้นะครับ)
Cr. : Khanaad design studio
2. ส่วนของรายละเอียดสัญญาและข้อบังคับ
3. ส่วนของการจ่ายเงินตามงวดงาน
เป็นรายละเอียดเนื้องานที่แล้วเสร็จ และ จำนวนเงินที่จะจ่ายตามงวดนั้นๆ ไว้จะมาเล่าให้ฟังครั้งหน้านะครับ
Cr. : graphicriver.net
ครั้งนี้ขอมาเล่าในหัวข้อสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้าง ว่ามีรายละเอียดอะไรที่เราต้องรู้บ้าง
งานรับเหมาโดยทั่วไปมีหลายขนาด ทั้งขนาดเล็กๆอย่างเช่น งานซ่อมแซม งานทาสี ไปจนถึงงานก่อสร้างบ้าน เลยไปถึงอาคารขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เช่นอาคารสูง สนามกีฬา โรงพยาบาล โรงแรม คอนโด เป็นต้น แต่ละขนาดอาคารก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป
Cr. : redgreenandblue.org
วันนี้ขอมาเล่าถึงตัวสัญญาทั่วไปที่ใช้กับงานรับเหมาขนาดเล็กไปจนถึงงานรับเหมาทั่วไปเช่น บ้านพักอาศัย ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ซึ่งไม่ได้อยู่ในสายอาชีพนี้ควรรู้ไว้นะครับ
หลักๆในสัญญาก่อสร้าง(ซึ่งหาโหลดได้มากมายในอินเตอร์เนต) จะแบ่งเป็นข้อๆ มีรายละเอียดประมาณนี้
1.ใครเป็นใครในสัญญา 
คือใครเป็นผู้ว่าจ้างและรับจ้าง เป็นคนธรรมดาหรือรูปบริษัท ซึ่งจะลงรายละเอียดที่อยู่ เลขบัตรประชาชน หลักฐานอ้างอิงตัวตนต่างๆ
Cr. : Freepik
2.ขอบเขตของงาน
คือลงรายละเอียดว่าจ้างทำอะไร เช่น ให้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยสูง 3 ชั้นตามรูปแบบที่แนบท้ายสัญญา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ... ถนน... ตำบล... อำเภอ... จังหวัด..
3.ระยะเวลาทำงาน
จะเป็นเวลาในการก่อสร้างที่เราได้พูดคุยสรุปกับผู้รับเหมาเบื้องต้นว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเท่าไร โดยควรระบุเป็นวันที่ชัดเจนลงไป เช่น เริ่มก่อสร้างวันที่... ถึงสิ้นสุดสัญญาวันที่...
สิ่งที่ต้องแน่ใจคือ เราผู้เป็นเจ้าของสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานได้เมื่อไร เช่น ให้ซ่อมแซมบ้านแต่เราไม่ได้ค้นย้ายข้าวของออกจากจุดก่อสร้าง หรือ ไม่ให้กุญแจรั้วในการเข้าเขตที่ดิน
Cr. : Freepik
ซึ่งเรื่องนี้ผู้รับเหมาอาจจะนำมาโต้แย้งทีหลังได้ว่า ที่ก่อสร้างล่าช้าเพราะเจ้าของส่งมอบพื้นที่ให้ช้า (กรณีแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ แม้แต่โครงการขนาดใหญ่ อย่างรัฐสภา ก็มีปัญหามาแล้ว) ทำให้เกิดเป็นปัญหาในการคิดค่าปรับภายหลังได้
4.ค่าปรับในกรณีงานล่าช้า
เมื่องานไม่เสร็จตามสัญญา (ก็อาจจะมีการผ่อนผันตามสถานการณ์ได้ เช่น ดูว่าตั้งใจทำงานจริงหรือไม่ ? หรือมีเหตุสุดวิสัยมารบกวนการทำงาน เช่น มีโควิดติดเคอร์ฟิวหรือเปล่า ?)
แต่ถ้าจะปรับ ก็จะเริ่มคิดวันถัดมาจากวันที่หมดสัญญา ค่าปรับที่ยอมรับใช้กันทั่วไปจะประมาณ 0.1%ต่อวัน จากงบประมาณราคาที่เซ็นสัญญา (ไม่เอางานเพิ่มงานลดมาคิด) เช่นงบที่เซ็นไว้ 3 ล้านบาท ค่าปรับ 0.1% จะเท่ากับ 3,000 ต่อวัน แต่ถ้าเราคิดว่าต่ำไป เช่นเป็นงานซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆ ค่าปรับก็อาจตกลงกันเองได้ว่า จะเป็นวันล่ะเท่าไร
5.งวดงานงวดเงิน
ข้อนี้จะเป็นการแบ่งงวดที่ผู้รับจ้างจะเบิกจากเจ้าของตามเนื้องานที่ทำไป (ซึ่งมีรายละเอียดพอสมควรขอเก็บไว้เล่าคราวหน้านะครับ)
6.ส่วนประกอบแนบท้ายสัญญา
ก็คือเอกสารต่างๆที่ต้องการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาด้วย เช่น แบบและเอกสารสเปควัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นต้น
Cr. : Investopedia
7.การค้ำประกันผลงาน
คือเป็นการค้ำประกันว่า ผู้รับเหมาจะไม่ทิ้งงานระหว่างก่อสร้างและจะย้อนกลับมาซ่อมแซมให้ถ้าเกิดมีปัญหาเมื่อเข้าไปอยู่แล้ว (เวลารับประกันผลงานส่วนมากจะเป็นเวลา 1 ปี หลังส่งมอบงาน)
วิธีที่ทำกันก็คือ เจ้าของจะขอหักเงินประมาณ 5-10 % ในแต่ละงวดงานไว้ก่อน (คือไม่ได้จ่ายเต็มตามงวดที่ขอเบิกมา แต่จะหักไว้ 5-10 %ที่ยื่นเบิกมาทุกครั้ง)
ดังนั้นเมื่อผู้รับเหมาทำงานเสร็จส่งมอบงานแล้ว ก็จะมีเงินก้อนนี้ค้างอยู่ที่เจ้าของ  ซึ่งผู้รับเหมาก็จะทำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาแลกกับเงินที่ค้างไว้ส่วนนี้แทน
แบบนี้ผู้รับเหมาก็จะได้เงินครบเมื่อเสร็จงาน ส่วนเจ้าของก็มีใบค้ำประกันไว้อุ่นใจ
Cr. : legalcontracts.com
8.ข้อกำหนดอื่นๆ
เป็นข้อกำหนดที่เพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง เช่น
ข้อกำหนดไม่ให้ผู้รับจ้างเอางานไปจ้างผู้รับเหมารายอื่นทำต่อ (จ้าง Sub-contractor ต่อ)
ข้อกำหนดเรื่องการแก้ไขแบบ งานเพิ่มงานลด ว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร
ข้อกำหนดให้จ่ายเงินค่าจ้างแก่คนงานให้เหมาะสมตรงเวลาและควบคุมไม่ให้มียาเสพติด, การพนันในไซท์งาน
ข้อกำหนดให้มีผู้ควบคุมงานที่ดูแลให้การก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างถูกต้องปลอดภัย รวมไปถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่คนงานและไซท์งาน
ข้อกำหนดในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานได้ตามสัญญาและผู้ว่าจ้างต้องไปหาผู้รับเหมาอื่นมาทำให้แล้วเสร็จ
ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ จะกำหนดขึ้นนอกเหนือจากรายละเอียดในแบบ แต่เป็นส่วนสนับสนุนให้งานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
9.การลงนาม
คือการลงนามรับรองสัญญาทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงพยาน พร้อมตราประทับ(ถ้ามี)
จะเห็นว่า หลักการในสัญญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ช่วยให้การตกลงทำงานระหว่างกันเป็นไปด้วยความราบรื่น เป็นหลักปฏิบัติที่เอาไว้เป็นแนวทางยามเกิดปัญหา ซึ่งถ้าเราละเอียดรอบคอบสักนิด รวมไปถึงการคิดถึงอีกฝ่าย ใจเขาใจเราในการทำสัญญา ก็จะช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกันลงไปได้มาก
ไม่มีใครมีความสุขเมื่ออยากจะมีข้อพิพาทพวกนี้หรอกครับ
Cr. : Lash Boutique
แล้วพบกันตอนหน้าครับ เรื่องงวดงานงวดเงิน
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา