Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คิด อย่าง สถาปนิก
•
ติดตาม
19 มิ.ย. 2020 เวลา 04:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
เลือกผู้รับเหมา ยังไงดี ? (ตอน2)
Cr. : S3.amazonaws.com
ต่อจากโพสต์ที่แล้ว เมื่อเรารู้ว่า เราจะจ้างผู้รับเหมาลักษณะไหน ก็มาดูหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนะครับ
คุณสมบัติผู้รับเหมาสร้างบ้านที่เราต้องการคงเหมือนๆกันคือ
- มีความรู้
- มีความรับผิดชอบ
- ซื่อสัตย์
- รักษาเวลา
- มีการบริหารจัดการที่ดี
ถ้าเอาข้างบนมาเขียนเป็นภาษาบ้านๆ เรียงตามลำดับ ก็จะได้
ไม่มั่ว ไม่หนี ไม่โกง ไม่เลท และ ไม่ชุ่ย
และถ้าพูดจาดีมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วยยิ่งเพอร์เฟค แต่ส่วนมากมักจะพูดจาดีประเภท'ได้ครับ ไม่มีปัญหาครับ' มาก่อน ที่เหลือไปลุ้นเอาทีหลัง
ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการเลือก เราต้องเน้นดูเรื่องพวกนี้ อาจจะวางกติกา
ในการคัดเลือกตั้งแต่ต้น โดยให้แนบเป็นเอกสารมาพร้อมใบเสนอราคาเลย คือ
1.ราคาค่าก่อสร้าง
2.ระยะเวลาในการทำงาน
3.ผลงานที่ผ่านมา
4.ผู้ดูแลงานก่อสร้าง
ขออธิบายแจกแจงตามนี้ครับ
1.ราคาค่าก่อสร้าง
ควรลงให้ละเอียดเป็นข้อๆ ว่าเป็นราคางานส่วนไหนบ้าง (รายละเอียดดูได้จากโพสต์ก่อนหน้านี้ เรื่อง BOQ.นะครับ)
ราคานี้ ควรคุยกันให้เคลียร์ว่า รวมอะไร ไม่รวมอะไร ? ค่าน้ำค่าไฟรวมไหม ? มีแคมป์คนงานไหม ? และถ้าจะมีงานเพิ่มงานลด จะใช้เกณฑ์อะไรในการคิดราคา ?
เพราะอย่างลืมนะครับว่า ช่วงเสนอราคานั้น คือการแข่งราคากับเจ้าอื่น แต่ช่วงงานเพิ่มงานลด ได้งานมาแล้ว ราคาส่วนนี้เสนอได้โดยไม่ต้องคิดแข่งกับใคร
ที่งบประมาณบานปลายก็เพราะตรงนี้แหละ
2.ระยะเวลาในการทำงาน
หลักๆก็คือ เริ่มงานได้เมื่อไร ? และใช้เวลาทำการก่อสร้างนานแค่ไหน ?
เพราะบางที ผู้รับเหมาแต่ละเจ้าก็มีแผนงานไม่ตรงกับเจ้าของบ้าน
Cr. : explodedhome.com
3.ผลงานที่ผ่านมา
อาจจะขอดูสัก 3-4 งาน อย่างน้อยควรเป็นรูปภาพ มีสถานที่เบอร์ติดต่อ (พาไปดูยิ่งดี) และสโคปงานที่ทำไป
เรื่องนี้ ควรจะยอมเสียเวลาในการสืบประวัติหน่อยนะครับ เพราะคุณสมบัติข้างต้นที่เราอยากได้กัน ส่วนมากเป็นคุณสมบัติทางนามธรรม การได้คุยกับลูกค้าเก่าของผู้รับเหมาเจ้านั้น เราจะสัมผัสเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด
ผู้รับเหมาบางคน อาจจะไม่เก่งนัก แต่รับผิดชอบสุดๆ ทำผิดก็แก้ไขให้ แบบนี้อาจจะชนะใจเรามากกว่า คนเก่งแต่ดื้อก็ได้นะ
Cr. : NewHomeSource
4.ผู้ดูแลงานก่อสร้าง
เรื่องนี้หลายคนมักจะละเลย แต่จริงๆเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหน้างานก่อสร้างจะดำเนินไปตามคาแรคเตอร์ของคนคุม
ทั้งเรื่องการวางขั้นตอนการก่อสร้าง การจัดเก็บอุปกรณ์ การทำความสะอาดไซท์งาน ความเรียบร้อยของงาน เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้ แบ่งได้เป็นสองส่วนคือ
4.1คนคุมงานตามกฎหมาย
ถ้าขนาดอาคารมีพื้นที่เกิน 150 ตารางเมตร กฎหมายจะกำหนดให้มีสถาปนิกและวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง (อาจจะเป็นคนละคนกับผู้ออกแบบก็ได้)
ซึ่งเจ้าของบ้านต้องแจ้งชื่อแก่ทางราชการก่อนการก่อสร้าง ดังนั้น ถ้าทางผู้รับเหมามีบุคลากรเหล่านี้ก็จะเป็นการดีที่สุด เพราะคนคุมก็ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความแข็งแรงปลอดภัยของการก่อสร้างนั้นๆ (ซึ่งโดยปกติ คนคุมแบบนี้ จะยอมให้ใช้ชื่อในการแจ้งต่อทางราชการและอาจเข้ามาดูหน้างานบ้าง ลักษณะก็คล้ายๆ ร้านขายยาบางร้านที่มีเภสัชกรอยู่บ้าง ไม่อยู่บ้าง นั่นแหละ)
4.2 คนคุมหน้างานจริงๆ
หน้างานจะดำเนินไปด้วยคนนี้แหละ ซึ่งตามประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าเจ้าของทีมรับเหมาลงมาดูงานเองจะดีที่สุด เพราะการมี sense of ownership จะช่วยให้การทำงานละเอียดรอบคอบขึ้น การหมกปัญหาแอบไว้ก็จะน้อยตามไปด้วย
และอย่าลืมว่า หน้างานก่อสร้างไม่ใช่มีแค่เรื่องก่อสร้างอาคารนะครับ
บางไซท์เหมือนเป็นชุมชนย่อยๆของคนงาน ปัญหาระหว่างคนงาน ปัญหาความสะอาดสุขอนามัย ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาเรื่องใบอนุญาต เหล่านี้ คนคุมงานจะเป็นคนที่รับหน้าตลอด
ถ้าคนคุมงานดี เจ้าของก็ไม่เหนื่อย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
หลักเกณฑ์ 4 ข้อนี้ ควรใช้เป็นหลักในการคัดเลือก ถ้าผู้รับเหมาเจ้าใดไม่สามารถตอบได้ชัดเจน ก็แสดงว่าความพร้อมในการรับงานค่อนข้างน้อย เลี่ยงได้ควรเลี่ยงนะครับ แม้ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือญาติสนิท
ขัดใจกันเพราะเรื่องแบบนี้มาเยอะแล้ว
ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ
Cr.: pngtree
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books' = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog' = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo นะครับ
แล้วพบกันนะครับ
10 บันทึก
15
10
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ผู้รับเหมาดีๆ ดูยังไงน้า
10
15
10
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย