10 ก.ค. 2020 เวลา 16:26 • ประวัติศาสตร์
ทำไมระบบโชกุนในญี่ปุ่นจึงล่มสลาย ตอนที่2
ในตอนที่แล้วผมได้บรรยายไปแล้วว่าระบบชังคินโคไตของโชกุนทำให้เกิดชนชั้นพ่อค้าที่ซึ่งจะทำให้ระบบโชกุนสั่นคลอน หากท่านผู้อ่านท่านใดยังไม่ทราบที่มาของระบบซังคินโคไตก็สามารถเข้าไปอ่านตอนแรกกันได้ครับ โดยผมได้สร้างชุดซีรี่ย์"ทำไมระบบโชกุนในญี่ปุ่นจึงล่มสลาย"ไว้ ท่านใดอยากทราบที่มาที่ไปก็สามารถคลิกเข้าไปดูในเพจของผมได้เลยครับ
ซามูไรในยุคเอโดะ ภาพจาก Edo-Tokyo Museum
อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่าระบบซังคินโคไตหรือระบบตัวประกันถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าไดเมียวแข็งเมือง และนอกจากนี้ก็ยังมีเจตนาที่จะบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเหล่าไดเมียวด้วย โดยทำให้เหล่าไดเมียวต้องเดินทางไปเป็นตัวประกันที่เอโดะ ซึ่งทำให้เสียเงินมากมายไปในการเดินทางและการใช้ชีวิตในเอโดะ
เมื่อต้องออกเดินทางเหล่าไดเมียวและซามูไรก็ต้องพักผ่อนตามรายทาง ทำให้ธุรกิจโรงแรมเฟื่องฟูขึ้นเป็นอย่างมาก แต่อาจจะเกิดปัญหาในการใช้จ่ายเล็กน้อยเพราะแต่ละแคว้นต่างมีเงินตราเป็นของตนเอง ฉะนั้นจึงต้องเกิดการแลกเปลื่ยนเงินตราขึ้น จุด ๆ นี้เองที่ทำให้เกิดชนชั้นพ่อค้ามากขึ้น
สีชมพูคือเมืองที่อยู่ในเส้นทางโทไคไดซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเกียวโตทางตะวันตกและเอโดะทางตะวันออก นับว่าเป็นเส้นทางที่มีเงินหมุนเวียนมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุคเอโดะ ภาพจาก wikipedia
ในยุคก่อนหน้าเอโดะพ่อค้าถือว่าเป็นชนชั้นที่ตำ่ที่สุดในสังคม (ซึ่งผมหวังว่าคงจะได้มีโอกาสได้บรรยายเรื่องชนชั้นทางสังคมญี่ปุ่นในอนาคต) แต่ในช่วงกลางจนถึงปลายเอโดะพ่อค้ากลับเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมาก
ในสมัยนั้นญี่ปุ่นอยู่ในระบบฟิวดัล ไดเมียวได้รับส่วยจากชาวนาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ไดเมียวและซามูไรต้องใช้ข้าวเป็นของแลกเปลื่ยนกับเงิน เหล่าพ่อค้าหัวใสจึงมักจะเอาเปรียบไดเมียวและซามูไรในเรื่องอัตราการแลกเปลื่ยน จนเก็บสะสมความมั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ไดเมียวบางแคว้นอาจจะส่งข้าวไปขายที่โอซาก้าซึ่งเป็นเมืองค้าขายใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อหาเงินมาใช้ในการเดินทางหรือบำรุงจวนของแคว้นตนเองที่เอโดะ แต่ก็จะถูกพวกพ่อค้ากดราคาอยู่ดี
1
เหล่าไดเมียวและซามูไรถูกพ่อค้าเอาเปรียบในเรื่องการแลกเปลื่ยนและการค้าขาย จนทำให้ยากจนลง ถึงขนาดที่ว่าต้องลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับซามูไรผู้ติดตามลง โดยจ่ายข้าวให้แค่ครึ่งเดียว (ในสมัยก่อนสมัยก่อนซามูไรได้ค่าจ้างเป็นข้าว) จนเมื่อเหล่าเจ้านายของซามูไรเสียสถานะถึงขั้นล้มละลายก็ทำให้เกิดโรนินหรือซามูไรไร้นาย และนอกจากนี้ก็ยังมีโรนินบางส่วนผันตัวไปเป็นพ่อค้าซะเองด้วย
1
โออิชิ ชิคาระ หนึ่งในกลุ่มโรนิน47ที่มีชื่อเสียง ภาพจาก wikipedia
เมื่อเหล่าไดเมียวยากจนลงก็ต้องไปหยิบยืมเงินจากเหล่าพ่อค้าอีกเป็นวงจรอย่างนี้เรื่อย ๆ (ส่วนนึงที่ไดเมียวจนลงเป็นเพราะเหล่าไดเมียวไม่ปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจของตนเองเพราะเคยชินกับการกินหรูอยู่สบาย) หนัก ๆ เข้าก็ถึงขนาดที่โชกุนยังเป็นลูกหนี้ของพ่อค้า
1
ชนชั้นพ่อค้าก็เริ่มกลายชนชั้นที่มีอำนาจมากขึ้นและพยายามเลื่อนสถานะทางสังคมของตนเอง โดยการส่งบุตรหลานให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของพวกซามูไร อย่างไรก็ตามยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขัดขวางความเจริญของพวกพ่อค้า นั้นก็คือนโยบายซะโกกุหรือนโยบายปิดประเทศของรัฐบาลโชกุนซึ่งทำให้เหล่าพ่อค้าไม่สามารถค้าขายกับต่างประเทศได้ (อันที่จริงแล้วพ่อค้าสามารถค้าขายกับชาวดัชต์ได้ที่เกาะเดชิม่าแต่นั้นก็ไม่เพียงพอกับความต้องการเสียแล้ว)
ในเวลาต่อมาเหล่าพ่อค้าจึงเป็นผู้สนับสนุนให้ไดเมียวบางแคว้นล้มล้างระบบโชกุนเพื่อที่จะได้ไม่ขัดต่อความเจริญของตน และยังมีองค์จักรพรรดิ์ให้การสนับสนุนกลาย ๆ อีกด้วย
ณ ตอนนี้พ่อค้ารวมถึงไดเมียวและซามูไรบางส่วนที่ไม่พอใจในระบบโชกุนต่างเป็นกำลังหลักในการที่จะโค่นล้มระบบโชกุน แต่ว่าเหล่าไดเมียวที่คิดจะล้มล้างระบบโชกุนยังไม่สบโอกาสที่จะก่อการ
แล้วเหตุการณ์ใดเล่าที่จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการแข็งเมืองต่อโชกุน?
โปรดติดตามตอนต่อไป ขอบคุณครับ
1
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1
หนังสือ
ปฎิวัติเมจิ โดย กรกิจ ดิษฐาน
ประวัติศาสตร์การปฎิวัติอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
HISTORY OF JAPAN ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นภายใน 1 วัน โดย รงรอง วงศ์โอบอ้อม
ญี่ปุ่นอย่างที่เห็น ลำดับที่ 4 ปฎิวัติเมจิ 1868 โดย เอกสิทธิ์ หนุนภักดี
ครูการเมือง ชีวิต ความคิด และผลงานของ ศ.ดร. ลิขิตธีรเวคิน
The Meiji Restoration by Beasley W.G.
1
โฆษณา