11 ก.ค. 2020 เวลา 16:00 • ธุรกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนนั้นเป็นปัญหามาสักระยะใหญ่ๆแล้ว ตั้งแต่ระดับประชาชนไปจนถึงระดับรัฐบาล ถ้าใครตามเพจข่าวของออสเตรเลียอยู่บ้างน่าจะพอเห็นปรากฏการณ์ในช่วง 2-3 ปีมานี้
ว่ามีข่าว มีกระแสนักศึกษาจีนที่อาศัยหรือศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียไปหาเรื่องชกต่อยกับนักศึกษาฮ่องกง และนักศึกษาออสเตรเลียกันบ่อยมาก ล่าสุดก็เพิ่งเมื่อ 2 เดือนก่อนนี้ก็มีวิดีโอเทปที่นักศึกษาจีนมาหาเรื่องจะต่อยนักศึกษาออสเตรเลียที่ถือป้ายประท้วงรัฐบาลจีนกันอยู่
1
เช่นเดียวกันในระดับรัฐบาลออสเตรเลียก็มีความกังวล และความหวาดระแวงอิทธิพลของรัฐบาลจีนค่อนข้างสูง ตั้งแต่ประเด็นด้านความมั่นคงที่จีนพยายามส่งสายลับเข้ามาในออสเตรเลียเพื่อล้วงข้อมูล และพยายามปลุกปั่นให้สังคมออสเตรเลียเกิดความวุ่นวาย
ปีก่อนก็มีเรื่องที่สถาบันขงจื๊อของประเทศจีนซึ่งปฏิบัติการอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งทั่วโลก พยายามที่จะแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียจนเกิดกระแสเรียกร้องกันใหญ่โตให้ปิดสถาบันที่รับใช้รัฐบาลจีนไปให้หมดในออสเตรเลีย
แล้วก็มาล่าสุดเรื่องการเมืองภายในของฮ่องกงเนี่ยแหละที่ทำให้ความสัมพันธ์และการติดต่อกันระหว่างจีนกับออสเตรเลียมีความร้อนแรง ดุเดือดมากยิ่งขึ้น เพราะออสเตรเลียก็เป็นพันธมิตรหนึ่งของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐอเมริกามีความขัดแย้งหรือแสดงท่าทีอะไรต่อจีน ออสเตรเลียก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะหันไปเข้าข้างสหรัฐอเมริกา ยิ่งกรณีปัจจุบันนี้จีนตั้งใจที่จะปิดปาก ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง
พยายามทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยภายในฮ่องกง ไม่เคารพต่อหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบที่จีนเคยให้สัญญาใจไว้กับเกาะฮ่องกง และ Margaret Thatcher สมัยส่งมอบฮ่องกงเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
ทำให้ออสเตรเลียนั้นประกาศระงับข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เคยทำไว้ร่วมกับฮ่องกงและจีนแล้ว เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลจีนที่กระทำการลุแก่อำนาจ แล้วนำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาประกาศใช้โดยไม่ถามความสมัครใจของคนฮ่องกง
การประกาศระงับข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐบาลออสเตรเลียพยายามจะงัดขึ้นมาใช้เพื่อปกป้อง รักษาสิทธิและเสรีภาพ ความปลอดภัยของชาวฮ่องกงที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยอยู่ภายในออสเตรเลีย
(จากสถิติล่าสุดเห็นว่ามีชาวฮ่องกงอาศัยอยู่ในออสเตรเลียทั้งหมดกว่า 100,000 คน ทั้งแบบถาวร และแบบวีซ่าทำงาน และวีซ่านักธุรกิจชนิดอื่นๆ)
ในโอกาสนี้รัฐบาลออสเตรเลียจึงประกาศนโยบายใหม่เพื่อยั่วยุรัฐบาลจีนด้วยการอนุญาตและเชิญชวนให้ชาวฮ่องกงอพยพ ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศออสเตรเลีย ไม่ว่าจะมาทำงาน มาเรียนหนังสือ หรือมาตั้งรกรากอยู่อาศัยทางออสเตรเลียก็จะยินดีต้อนรับ
โดยสำหรับมาตรการในเบื้องต้นนั้นทางออสเตรเลียจะอนุมัติให้ชาวฮ่องกงที่ถือวีซ่าชั่วคราวในออสเตรเลียได้รับอนุญาตให้ถือวีซ่าอายุ 5 ปี และเปิดช่องทางให้ชาวฮ่องกงที่มาอยู่ในออสเตรเลียจนครบ 5 ปีเหล่านี้สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิเป็นพลเมืองถาวรได้เลย
ในฐานะที่ออสเตรเลียก็กำลังขาดแคลนแรงงานทักษะ ขาดแคลนมันสมอง ขาดแคลนประชากรที่เอาไว้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทางออสเตรเลียจึงยินดีอย่างยิ่งหากม็อบฮ่องกง หรือผู้รักประชาธิปไตยของฮ่องกงจะลี้ภัยมาอยู่ออสเตรเลียกัน
ถือเป็นข้อเสนอและมาตรการที่ได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คนฮ่องกงก็จะได้สิทธิได้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ห่างไกลจากรัฐบาลจีน ไม่ต้องกลัวจะโดนรัฐบาลจีนส่งคนตามมาคุกคาม ส่วนออสเตรเลียก็จะได้ประชากรที่มีคุณภาพจากฮ่องกงมาช่วยกันพัฒนาสร้างชาติด้วย
แต่อย่างไรก็ดี แม้การเมืองระหว่างจีน-ออสเตรเลียจะค่อนข้างรุนแรงจนถึงขั้นเรียกว่าตึงเครียด แต่ในมิติทางด้านเศรษฐกิจนั้น ออสเตรเลียยังต้องพึ่งพาจีนในทางการค้าอยู่มาก (มูลค่าทางการค้าที่ออสเตรเลียมีต่อจีนนั้นมีเป็นหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี 2019)
ดังนั้น ถึงแม้ด้านการเมือง ออสเตรเลียจะดูแข็งๆกับจีนก็เถอะ แต่ถ้าจีนหันไปเล่นเรื่องเศรษฐกิจต่อออสเตรเลีย ก็อาจจะเกิดปัญหาในมิติเศรษฐกิจตามมาในอนาคตสำหรับออสเตรเลียได้ไม่ยาก
References
1. บทความจาก BBC ชื่อ "Australia to tackle foreign interference at universities"
2. บทความจาก Daily Mail ชื่อ "Australia launches massive counter-attack on foreign spies after China's hacking assault on government agencies and businesses"
3. บทความจาก Foreign Policy ชื่อ "Kick China's Confucius Institutes off campus"
4. บทความจาก The Guardian ชื่อ "Australia's Hong Kong intervention was hardly strident but that didn't matter to China"
5. บทความจาก The Guardian ชื่อ "China has only itself to blame for Australia's move on Hong Kong"
6. บทความจาก ABC ชื่อ "As China grows more aggressive, Australia needs to turn its attention to our vulnerable neighbours"
7. บทความจาก BBC ชื่อ "How reliant is Australia on China?"
โฆษณา