12 ก.ค. 2020 เวลา 06:00 • กีฬา
เบนเน็ต โอมาลู : หมอผ่าศพผู้เปิดโปงอันตรายจนเปลี่ยนแปลงวงการคนชนคน
ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด อาการบาดเจ็บจากการลงแข่งขัน คือสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องพบเจอ แต่สำหรับ “อเมริกันฟุตบอล” มีผู้เล่นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบแสนสาหัส หลายรายถึงกับเสียชีวิตไปด้วยอายุขัยอันสั้น
บางครั้งความสนุกในเกมกีฬา มีค่ามากกว่าชีวิตคน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องสนาม บางคนกำลังทุกข์ทรมานเจียนตาย แต่ไม่สามารถแสดงให้ใครได้รับรู้
และความจริงแสนโหดร้าย ก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้
เมื่อสนามกีฬาในโลกสมัยใหม่ ยังคงโหดร้ายไม่ต่างจากลานประลองกลาดิเอเตอร์ ชายหนุ่มรายหนึ่งไม่อาจทนดูได้อีกต่อไป เขาประกาศให้โลกรู้ถึงอันตรายของกีฬา “คนชนคน” และ หาญกล้าต่อสู้กับหนึ่งในองค์กรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา
Main Stand จะพาไปรู้จักกับ ดร. เบนเน็ต โอมาลู แพทย์ชันสูตรศพชาวไนจีเรีย ผู้พลิกโฉมหน้าวงการอเมริกันฟุตบอล จากการค้นพบโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้เล่น และเปลี่ยนแปลงรูปแบบกติกาของ เอ็นเอฟแอล ไปตลอดกาล
ค้นพบจากความตาย
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี 2002 ผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาพุ่งความสนใจไปยัง ข่าวการเสียชีวิตของ ไมค์ เว็บสเตอร์ (Mike Webster) ตำนานนักอเมริกันฟุตบอลแห่งทีมพิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส (Pittsburgh Steelers) ที่จากโลกนี้ไปในวัย 50 ปี ด้วยอาการหัวใจวาย
Photo : www.behindthesteelcurtain.com
“ผมไม่สามารถเป็นผู้เล่นอย่างที่ผมเป็นได้เลยหากไม่มีเขา เว็บสเตอร์เป็นคนที่ฉลาดมาก เขาเตรียมพร้อมเพื่อรับมือทุกอย่างที่เราอาจเจอในการแข่งขัน” เทอร์รี แบรดชอว์ (Terry Bradshaw) อดีตเพื่อนร่วมทีมและเพื่อนซี้ของเว็บสเตอร์กล่าว
“เราทุกคนทำงานหนัก แต่ไม่มีใครจะหนักมากไปกว่าที่ไมค์ทำ”
ในช่วงเวลาที่เว็สเตอร์เป็นนักกีฬาอาชีพ เว็บสเตอร์สร้างชื่อเหนือใครในวงการคนชนคน ด้วยสไตล์การเข้าปะทะที่ดุดัน เขาไม่เคยเจ็บ ไม่เคยล้ม พร้อมชนกับคู่แข่งทุกคนในสนาม
ภาพเว็บสเตอร์ใช้หัวสวมมวกเหล็กพุ่งเข้าชนคู่ต่อสู้ กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว เขาจึงจึงได้รับฉายาว่า “ไอรอน ไมค์” (Iron Mike) มนุษย์เหล็กไหลแห่งพิตต์สเบิร์ก
ปีแล้วปีเล่า เว็บสเตอร์ปะทะผู้เล่นมากมายจนนับครั้งไม่ถ้วน อาการบาดเจ็บค่อยๆสะสมในตัวเขา แต่เว็บสเตอร์ไม่เคยบ่นเรื่องนี้กับใคร เขาไม่อยากให้สิ่งใดขัดขวางการลงสนาม ไม่เคยมีการรายงานบาดเจ็บออกมา เจ้าตัวเคยลงเล่นทั้งที่เจ็บหนักบริเวณหัวเข่า และต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีหลังจบเกมมาแล้ว
ปี 1990 ฤดูกาลสุดท้ายในฐานะผู้เล่นอาชีพของเว็บสเตอร์ สัญญาณอันตรายบางอย่างได้เริ่มขึ้น เขาไม่สนใจสถานการณ์เงินของตัวเอง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับเรื่องไร้สาระ ตัดขาดการสื่อสาร และหายจากบ้านหลายวันพร้อมกับรถบรรทุกคันโปรด
Photo : www.daily-journal.com
“ในตอนนั้น ฉันไม่เคยรู้เลยว่าเขามีอาการบาดเจ็บที่สมอง คิดแค่ว่าเขาคงโกรธฉันอยู่ตลอดเวลา” พาเมลา ภรรยาของเว็บสเตอร์ เปิดใจกับสื่อถึงชีวิตส่วนตัวของสามี
หลังประกาศเลิกเล่น สถานะการเงินของเว็บสเตอร์แย่ลงเรื่อยๆ เขาแยกทางกับครอบครัวในปี 1992 และเดินทางกลับสู่พิตต์สเบิร์กอย่างคนไร้บ้าน อดีตเพื่อนร่วมงานหลายคนเริ่มรับรู้เรื่องราว และพยายามให้ความช่วยเหลือเขา แต่เว็บสเตอร์หยิ่งผยอง หรืออาจอับอายเกินไปที่จะยอมรับเรื่องดังกล่าว
“ใช่ ผมนอนและใช้ชีวิตอยู่ในรถของตัวเอง และเคยนอนในสถานีรถไฟครั้งหนึ่ง ผมมีเรื่องต้องคิดเยอะนะ แต่ผมไม่ได้ถังแตก หรือตกอยู่ในอันตราย” เว็บสเตอร์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องราวในชีวิต
“ผมไม่ได้กำลังมองหาความสงสารหรือความเห็นใจ ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะให้อภัยจากการกระทำของผมด้วย จริงๆแล้ว ผมไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าคุณจะเข้าใจผมหรือเปล่า”
“ตอนนี้ผมแค่หมดแรง เหนื่อยและล้า มาได้ไกลสุดแรงแค่นี้”
Photo : Stylianos Giannelis
เพื่อย้อนคืนความภาคภูมิใจกลับสู่ชีวิตของเว็บสเตอร์ ปี 1997 ชื่อของเขาได้รับการเชิญเข้าสู่หอเกียรติยศของเอ็นเอฟแอล และคนทั่วโลกต่างสะเทือนอารมณ์ จากสุนทรพจน์ของเว็บสเตอร์ ที่กลายเป็นการพยากรณ์ถึงการเสียชีวิตของตัวเองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“คุณจะล้มเหลวก็ต่อเมื่อคุณไม่สามารถเล่นจนจบเกม ถ้าคุณจบเกมได้ คุณก็ชนะ” เว็บสเตอร์กล่าวในพิธีเข้าหอเกียรติยศ
“ใครจะอยากใช้ชีวิตอยู่ถึงจุดจบ และพบว่าตัวเองไม่ได้ใช้ชีวิตอะไรเลย คนพวกนั้นล้มเหลวนะ ผมเองคือหนึ่งในนั้น แต่มันโอเค เพราะว่าในชีวิตจริงไม่มีใครทำแต้มตลอดไปหรอก เราแค่ต้องเล่นให้จบเกม”
รู้จักกับ ซีทีอี
หลังเว็บสเตอร์เสียชีวิต ศพของเขาถูกส่งเข้าชันสูตรที่ศูนย์ชันสูตรศพในเมืองพิตต์สเบิร์ก โดยผู้รับหน้าที่ชันสูตรศพดังกล่าว คือ ดร.เบนเน็ต โอมาลู (Bennet Omalu) แพทย์ชาวไนจีเรีย ผู้มีชีวิตแตกต่างจากอเมริกันชนทั่วไป เขาไม่ดูเอ็นเอฟแอล และไม่รู้จักว่า ไมค์ เว็บสเตอร์ คือใคร
Photo : www.telegraph.co.uk
แม้ไม่หลงใหลในกีฬาอเมริกันฟุตบอล แต่โอมาลูหลงรักงานของตัวเอง และการชันสูตรศพคือสิ่งที่น่าดึงดูดใจ เขาพบว่าเว็บสเตอร์ถอนฟันตัวเองออกมา เพื่อเอากาวติดมันกลับไปไว้ที่เดิม ชัดเจนว่าชายคนนี้มีสภาวะผิดปกติทางจิต การเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวาย อาจเป็นปลายเหตุของโรคที่ร้ายแรงกว่า
ด้วยความสงสัย ว่าทำไมนักกีฬาร่างยักษ์ที่ประสบความสำเร็จ ถึงเสียสติได้มากขนาดนี้ โอมาลูจึงผ่าตัดเอาสมองของเว็บสเตอร์มาวินิจฉัย รูปลักษณ์ภายนอกของมันดูดีไม่เสียหาย เขาจึงนำไปตัดเป็นแผ่นบาง เพื่อตรวจสอบบนคัตติง บอร์ด และ สแกน เอ็มอาร์ไอ (MRI) ทุกอย่างปกติ ไม่มีร่องรอยภายในสมองของเว็บสเตอร์ ที่บอกว่าเขารับแรงอัดกระแทกมาทั้งชีวิต
แม้ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ แต่เพื่อหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว โอมาลูเดินหน้าศึกษาเรื่องนี้ต่อ เและใช้เงินส่วนตัวในการนำเนื้อเยื่อสมองของเว็บสเตอร์ไปย้อมสี และเอาตัวอย่างที่ได้มาตรวจหาความผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์ ก่อนโอมาลูจะได้พบสาเหตุที่แท้จริงในการเสียชีวิตของเว็บสเตอร์
“ผมจำเป็นต้องเช็คให้แน่ใจว่ามันเป็นแผ่นสไลด์ของ มาร์ค เว็บสเตอร์ จริงๆ” โอมาลูให้สัมภาษณ์กับฟรอนท์ไลน์
“ผมมองไปที่มันอีกครั้ง และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับสมองคนอายุ 50 ปี รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสมอง ซึ่งภายนอกดูปกติมากขนาดนั้น”
Photo : www.gq.com | Mark Heithoff
ความผิดปกติที่โอมาลูค้นพบ และตั้งชื่อในภายหลังว่า ซีทีอี (CTE) ย่อมาจากคำว่า โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (Chronic Traumatic Encephalopathy) คือ อาการของสมองที่ถูกลุ่มเส้นใยของโปรตีนเทา เข้าไปพัวพันกันจนยุ่งกับเซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์ประสาทหยุดการสื่อสาร และตายไปในที่สุด
“เมื่อคุณนำสมองที่ได้รับแรงกระแทกอย่างยาวนานออกมาดู มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะใส่หมวกกันกระแทกหรือไม่ หรือแสดงอาการออกมามากน้อยแค่ไหน ความเสี่ยงที่สมองจะได้รับเสียหายถาวรมันมีอยู่เสมอ” โอมาลูอธิบายถึงโรคที่เขาค้นพบ
เมื่อศึกษาให้ลึกลงไป โอมาลูพบว่าสาเหตุของโรคดังกล่าว มาจากการที่สมองปะทะกับกะโหลกศีรษะอย่างต่อเนื่อง จนแรงกระแทกที่เกิดขึ้นซ้ำๆ สร้างความผิดปกติให้แก่สมองในระยะยาว โรคนี้คือภัยเงียบที่แสนอันตราย เพราะมันไม่สำแดงอาการให้ผู้ป่วยได้รับรู้ในช่วงแรก และทิ้งเวลานานกว่าสิบปี จึงกลับมาโจมตีผู้ป่วยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
โอมาลูตระหนักได้ทันทีว่า นักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ กำลังเสี่ยงชีวิตตัวเองการอยู่ในการแข่งขันแสนอันตราย ความปลอดภัยที่เอ็นเอฟแอลรับรองต่อนักกีฬา ไม่ได้เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย และเว็บสเตอร์เป็นเพียงเหยื่อรายแรกของโรคนี้
1
Photo : www.universityofcalifornia.edu
“ในความเห็นของผม นักอเมริกันฟุตบอลอาชีพเสี่ยงอันตราย ไม่ต่างอะไรจากทหารในสนามรบ ผมคิดว่านักกีฬาประเภทนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ กำลังเจ็บป่วยจากซีทีอี หรือมีอาการบางอย่างของโรค เพราะผมไม่เคยตรวจสอบสมองของนักอเมริกันฟุตบอลรายไหน แล้วมีผลปกติออกมาเลย”
“ผมพบกับนักอเมริกันฟุตบอลที่เลิกเล่นแล้วหลายคน พวกเขาแต่งตัวดี พวกเขาพูดเหมือนคนปกติ แต่เมื่อคุณนั่งจับเข่าคุยเป็นการส่วนตัว คุณจะพบว่าพวกเขาทุกคนกำลังเผชิญกับปัญหา พวกเขาจำเรื่องราวบางอย่างไม่ได้ มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ และต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์”
Photo : www.si.com
เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับนักกีฬาอีกหลายร้อยคน โอมาลูนำข้อมูลที่ได้ไปให้กับ แพทย์ด้านประสาทพยาธิวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก เพื่อขอการรับรองงานวิจัยอย่างเป็นทางการ ก่อนตีพิมพ์เรื่องราวที่ค้นพบทั้งหมดลงในบทความ “โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรังในนักอเมริกันฟุตบอล” (Chronic Traumatic Encephalopathy in a National Football League Player) ผ่านหนังสือประสาทศัลยศาสตร์ (Neurosurgery) เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2005
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงตามโรคนี้ไม่หยุด ผมส่งจดหมายไปถึงเอ็นเอฟแอล ขอให้เราได้ศึกษาสมองของนักอเมริกันฟุตบอลที่เสียชีวิตแล้วทุกคน นี่คือหนทางที่ดีที่สุด ในการยืนยันว่าเราไม่ได้คิดเรื่องทั้งหมดไปเอง” โอเมลูกล่าวถึงความสำคัญในการศึกษาโรคซีทีอี
“ตอนที่ผมตีพิมพ์เรื่องราวทั้งหมดนี้ออกไป พวกเขายังไม่แม้แต่จะอ่านจดหมายของเราด้วยซ้ำ”
ต่อสู้เพียงลำพัง
หลังบทความของโอมาลูเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน เอ็นเอฟแอลตอบโต้ทันควัน ด้วยการออกจดหมายรับรองจากนักวิทยศาสตร์ 3 ราย ที่ยืนยันว่าได้มีการตรวจเช็คอาการบาดเจ็บสมองของนักกีฬาทุกคน และไม่พบความผิดปกติใด พวกเขาปฏิเสธว่าทฤษฎีของโอมาลูไม่เป็นความจริง และเรียกร้องให้มีการถอดชิ้นงานนี้ออกจากการตีพิมพ์โดยเร็วที่สุด
Photo : www.sportsonearth.com
ไม่เพียงเท่านั้น ความโกรธแค้นและเกลียดชังมากมายจากชาวอเมริกัน พุ่งเข้าหาโอเมลูอย่างไม่หยุดยั้ง แพทย์ชาวไนจีเรียถูกสื่อตีให้เป็นชาวต่างชาติ ที่มีความคิดล้มล้างกีฬาประจำชาติ โดยใช้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ มาเป็นข้ออ้างในการทำลายอเมริกันฟุตบอลให้สิ้นซาก
“ตอนที่ผมค้นพบซีทีอี ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นบางสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ต่อสังคม แต่ผลลัพธ์ที่ตอบกลับมาสู่ตัวผม มันเป็นไปในแง่ลบมาก ผมหมายถึง เมื่อผมพูดว่า ผมหวังให้ตัวเองไม่รู้จัก ไมค์ เว็บสเตอร์ ผมหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ” โอเมลูย้อนให้เห็นความยากลำบากที่เขาต้องต่อสู้
ท่ามกลางช่วงเวลาของการถกเถียง ข่าวใหญ่สะเทือนวงการอเมริกันฟุตบอลได้เกิดขึ้น เมื่อ เทอร์รี ลอง (Terry Long) อดีตนักอเมริกันฟุตบอลอีกรายของทีมพิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส จบชีวิตตัวเองลงด้วยวัย 45 ปี ด้วยวิธีดื่มน้ำยาต้านการเยือกแข็ง
ช่างบังเอิญที่หมอชันสูตรศพของ เทอร์รี ลอง คือ ดร.เบนเน็ต โอมาลู เขาใช้โอกาสนี้ พิสูจน์ตัวเองจากข้อกล่าวหาทั้งหมดทันที
Photo : unicpress.com
“ผมเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับโชคชะตาของตัวเอง เพราะผมรู้สึกว่าผู้เล่นและครอบครัวของพวกเขาต้องได้รับการชดใช้ เมื่อเอ็นเอฟแอล และแพทย์ทั่วอเมริกาปฏิเสธงานของผม มันยิ่งทำให้ผมศรัทธาในสิ่งที่ผมทำ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมทำ จะสร้างประโยชน์ให้กับเราทุกคน”
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบแบบเดียวกันกับ ไมค์ เว็บสเตอร์ โอมาลูพบว่าสมองของ เทอร์รี ลอง อัดแน่นไปด้วยกลุ่มเส้นใหญ่ของโปรตีนเทา เสื่อมสภาพราวกับถูกใช้งานมานานเกือบร้อยปี เขาคือเหยื่อรายที่สองอย่างเป็นทางการของโรคซีทีอี
เดือนพฤศจิกายน ปี 2006 บทความชื่อ “โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรังในนักอเมริกันฟุตบอล ตอนสอง” (Chronic Traumatic Encephalopathy in a National Football League Player Part II)” ถูกตีพิมพ์ สื่อกระแสเริ่มกลับลำ มาให้น้ำหนักงานวิจัยของโอเมลู แต่เอ็นเอฟแอลยังปฏิเสธเสียงแข็งว่างานของเขา คือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด
“ผมแจ้งไปทางเอ็นแอฟแอล ทำไมคุณไม่เอาการใช้หัวเข้าปะทะออกจากเกม แค่เอามันออกจากเกมไป แต่พวกเขาไม่ตอบอะไรผมกลับมา แถมยังเล่นงานผม วิจารณ์ผม สิ่งที่พวกเขาทำเพียงอย่างเดียว คือการโจมตีมายังงานของผม” โอเมลู กล่าวถึงการเพิกเฉยของเอ็นเอฟแอล
Photo : RecordNet.com
โชคร้ายที่ยิ่งเอ็นเอฟแอลเมินเฉยมากเพียงใด จำนวนผู้เสียชีวิตยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2008 มีอดีตนักอเมริกันฟุตบอล เสียชีวิตและวินิจฉัยพบโรคซีทีอี เพิ่มขึ้นเป็น 6 ราย ผู้เล่นและครอบครัวผู้เสียชีวิตเริ่มทนไม่ไหว และออกมาเรียกร้องการรับผิดชอบ ที่ควรได้รับจากเอ็นเอฟแอลด้วยตนเอง
“มันเป็นเกมที่โหดร้าย ถ้าคุณพุ่งชนใครสักคนด้วยความเร็วสูงสุด และเอาหัวมาปะทะกันอย่างจัง มันต้องมีบางสิ่งที่รับแรงกระแทกนั้น โชคร้ายที่มันเป็นสมองของคุณเอง” ไฮเนส วอร์ด (Hines Ward) ผู้เล่นของพิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส พูดในงานแถลงข่าวเกมซุปเปอร์โบวล์ ปี 2009
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เอ็นเอฟแอล ไม่สามารถเพิกเฉยเรื่องนี้ได้อีกต่อไป มาจากการเสียชีวิตของ คริส เฮนรี (Chris Henry) ผู้เล่นตำแหน่งปีกของ ซินซินแนติ เบงกอลส์ (Cincinnati Bengals) ในวัย 27 ปี โดยมีสาเหตุคือการกระโดดลงจากรถปิคอัพที่กำลังวิ่งอยู่แบบกะทันหัน หลังทะเลาะกับคู่หมั้นของตัวเอง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009
เขาผู้เล่นรายที่เจ็ดที่ตรวจพบอาการโรคซีทีอี และเป็นรายแรกที่เสียชีวิตทั้งที่ยังเล่นกีฬาอาชีพอยู่
ชายผู้เปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน
ภายหลังการต่อสู้ในชั้นศาลอย่างยาวนาน เดือนมีนาคม ปี 2017 มีคำสั่งให้เอ็นเอฟแอลจ่ายเงินชดใช้แก่นักอเมริกันฟุตบอลมากถึงเกือบ 10,000 ราย เป็นจำนวนเงินรวม หนึ่งพันล้านเหรียญดอลลาร์ ยุติคดีความที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2011 ลงในที่สุด
Photo : www.fantasyalarm.com
ไม่เพียงเท่านั้น เอ็นแอฟแอลยังต้องจ่ายค่ารับผิดชอบอีกมากมายทางสังคม พวกเขาบริจาคเงินรวม 130 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นทุนในการศึกษาโรคซีทีอี และ โรเจอร์ กูเดลล์ (Roger Goodell) กรรมาธิการเอ็นเอฟแอล ออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงกฏการแข่งขันที่ถูกแก้ไข เพื่อลดการปะทะอันเสี่ยงอันตรายของผู้เล่นลง
“เราได้เปลี่ยนกฎกติกาของเรา เราได้เปลี่ยนอุปกรณ์การเล่นของเรา เราทำให้เกมของเราปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการนำความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นมากมายออกไปจากเกม เราเปลี่ยนกฎมากมายเพื่อให้การเล่นปลอดภัยขึ้น”
Photo : usatoday.com
เดือนมีนาคม ปี 2011 เอ็นเอฟแอลขยับการเตะเปิดลูกจากเดิมที่ 30 หลา เป็น 35 หลา เพื่อลดแรงปะทะของผู้เล่น ตามด้วยการเปลี่ยนกฏไม่ให้เกิดการปะทะกันของหมวกกันกระแทก นอกกรอบกรอบการปะทะโดยเด็ดขาด และเพิ่มความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการให้นักประสาทวิทยาประจำการข้างสนามในทุกเกม เพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกายของนักกีฬาได้ทันที
“ตอนนี้แฟนๆสนใจในกีฬาของเรามากขึ้น เราคือคนที่ทำให้ความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก พวกเขาสนับสนุนเราเพราะต้องการเห็นผู้เล่นลงเล่น และเอ็นเอฟแอลเป็นผู้นำในพื้นที่นี้ ถึงเราจะพบว่าผู้คนไม่เข้าใจถึงเรื่องทั้งหมดนี้ ที่เราทำไปเพื่อให้เกมมันปลอดภัยขึ้น” กูเดลล์ยืนยันว่าเอ็นเอฟแอล รับผิดชอบความปลอดภัยของผู้เล่นมากเพียงใด
เป็นเวลา 13 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เรื่องราวของโรคซีทีอี ได้เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน ความเสี่ยงมากมายในกีฬาอเมริกันฟุตบอลได้รับการแก้ไข หลังผ่านเส้นทางอันยากลำบาก และรับมือกับเสียงวิจารณ์มากมาย ดร.เบนเน็ต โอเมลู เชื่อว่าผลตอบรับในเรื่องนี้ ยิ่งใหญ่เกินกว่าตัวเขาไปไกลมากแล้ว
“ชีวิตผมไม่ได้เปลี่ยนไปจากเรื่องนี้ เรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผมเลยด้วยซ้ำ ถ้าคุณเรียนรู้จากเรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่ทำให้มันประสบความสำเร็จได้ คือการที่ผมปฏิเสธจะคล้อยตามสิ่งที่คนอื่นคาดหวังในตัวผม”
“ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกพากันพูดคุยในสิ่งที่ผมได้ทำลงไป และบอกให้ผมทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปเพื่อเปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน ผมถือว่านั่นคือกำลังใจของผม”
Photo : alchetron.com
ทุกคนอาจอาจมีบทบาทในสังคมที่แตกต่างกันไป แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ความห่วงใยที่มีให้กับเพื่อนร่วมโลก ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าจ้างหรือคำตอบแทนใดๆ นายแพทย์ชาวไนจีเรียผู้นี้ แสดงให้เห็นว่าความปราถนาดีไม่มีกำแพงกั้น ทั้ง เชื้อชาติ ศาสนา หรือ อาชีพ
ทุกวันนี้ เบนเน็ต โอมาลู ยังคงไม่ดูอเมริกันฟุตบอล เหมือนวันแรกที่ผ่าศพ ไมค์ เว็บสเตอร์
แต่เขาทุ่มเทศึกษากับกีฬาชนิดนี้มากกว่าใคร เพื่อแก้ปัญหาที่เขาเห็นในกีฬาอเมริกันฟุตบอล และเปลี่ยนมันให้ดีขึ้น ด้วยจิตวิญญาณของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการเห็นเพื่อนร่วมโลกคนไหน ต้องกลายเป็นผู้ป่วยและเสียชีวิตจากกีฬานี้อีกต่อไป
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา