19 ก.ค. 2020 เวลา 11:45 • ประวัติศาสตร์
“ปฏิวัติอิสลาม” แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในอิหร่านและตะวันออกกลาง
2
“พระเจ้าเท่านั้นคือความสูงส่งและความสว่าง ทุกสิ่งนอกเหนือจากนั้นล้วนคือความมืด” อยาตอลเลาะห์ โคมัยนี
1
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดสงครามที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อนที่เรียกว่าสงครามเย็น
ซึ่งเป็นการรบด้วยการเผยแพร่อุดมการณ์และอิทธิพลของ 2 มหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตไปทั่วทั้งโลก
ยุโรป...
1
เอเชียตะวันออก...
หรือแม้กระทั่งตะวันออกกลาง...
อำนาจและอุดมการณ์ของทั้งสองได้ชอนไชเข้าไปในทุกๆสังคม
ฝ่ายที่พอใจในอำนาจเหล่านั้นก็ยอมศิโรราบแต่โดยดี
ส่วนฝ่ายที่ไม่พอใจก็ทำการต่อต้านถึงขั้นนองเลือด
1
และการต่อต้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งได้เกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง
1
พวกเขาคิดว่าอุดมการณ์ของมหาอำนาจได้ทำลายความคิด ความศรัทธาและความเชื่อของพวกเขา...
พวกเขาจึงลุกฮือขึ้นขับไล่สิ่งที่แปลกปลอมและอยุติธรรมสำหรับพวกเขา...
เพื่อที่พวกเขาจะได้สร้างสังคมที่ปราศจากอุดมการณ์ของมหาอำนาจ ให้เหลือเพียงอุดมการณ์ทางศาสนา...
และพวกเขาได้เคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ “ปฏิวัติอิสลาม”
อันเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในดินแดนที่ชื่อว่าอิหร่าน...
ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วตะวันออกกลาง รวมถึงโลกทั้งใบ...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงดินแดนที่เราเรียกว่าอิหร่านในปัจจุบันกันก่อนนะครับ...
อิหร่านเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยตั้งแต่โบราณดินแดนแห่งนี้ถูกเรียกว่า เปอร์เซีย ซึ่งเคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มากในช่วง 330-559 ปีก่อนคริสตกาล
แต่หลังจากหมดยุครุ่งเรือง เปอร์เซียก็ไม่ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกเลย กลับถูกกลุ่มชาติอื่นๆเข้ามายึดครอง เพราะทำเลที่ตั้งนั้นถือว่าเป็นจุดพบปะของอารยธรรมต่างๆเลยทีเดียว
2
จากทำเลที่ตั้ง ทำให้ในยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก เปอร์เซียได้กลายเป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย
1
เปอร์เซียนั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาตั้งแต่อดีต และประชาชนส่วนใหญ่นับถืออิสลาม นิกายชีอะฮ์
1
โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีกษัตริย์ปกครอง คือ อาหมัด ชาร์ แห่งราชวงศ์กอญัร ที่เริ่มเอนเอียงไปทางรัสเซีย (ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นโซเวียต)
อังกฤษเห็นท่าไม่ดีจึงสนับสนุนเรซา ข่าน ที่เป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังของอิหร่านนำกองกำลังเข้าบุกยึดเตหะรานที่เป็นเมืองหลวง แล้วทำการยึดอำนาจโค่นล้มราชวงศ์กอญัรใน ค.ศ.1923 ซึ่งก็มีกลุ่มที่คัดค้านเรซา ข่านอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ครับ เพราะเรซา ข่านมีปืนและทหาร
หลังจากยึดอำนาจและโค่นล้มราชวงศ์กอญัร ตัวของเรซา ข่านก็ทำการสถาปนาราชวงศ์ปาห์ลาวีขึ้นมา แล้วยกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์เรซา ชาร์ (แน่นอนว่ามีผู้ต่อต้านอยู่ลึกๆ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เรซา ชาร์มีปืนและทหาร)
เรซา ชาร์นั้นมีแนวคิดไปทางอังกฤษและตะวันตกจ๋าเลยล่ะครับ อีกทั้งยังต่อต้านประเพณีวัฒนธรรมและหลักคำสอนของอิสลาม เรซา ชาร์จึงคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้อิหร่านกลายไปเป็นอย่างตะวันตกแบบพลิกฟ้าคว่ำดิน...
มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากเปอร์เซียเป็นอิหร่าน...
การยกเลิกการใช้กฎหมายศาสนา หันมาใช้กฎหมายแบบตะวันตกแทน...
ยกเลิกเงินบำรุงศาสนา...
ยกเลิกการใช้ฮิจเราะห์ศักราช...
1
ไม่ส่งเสริมให้คนทำละหมาด...
ไม่สนับสนุนการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมกะ...
ห้ามแต่งกายแบบพื้นเมือง ให้หันมาแต่งกายแบบตะวันตกแทน...
และยกเลิกการคลุมหน้าของผู้หญิง ไม่ให้มีการสวมฮิญาบ...
ซึ่งแนวทางการเปลี่ยนแปลงอิหร่านของเรซา ชาร์ก็เริ่มทำให้ประชาชนทนไม่ไหว ปรับตัวไม่ได้ เพราะ “แนวทางของอิสลามนั้นฝังรากลึกในสังคมของอิหร่านมาเป็นพันๆปี จะให้มาเปลี่ยนแปลงภายในเวลาไม่กี่ปี บอกได้เลยว่ายาก!”
ดังนั้น เมื่อทนไม่ไหวประชาชนจึงลุกขึ้นประท้วงต่อต้าน แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เรซา ชาร์มีปืนและทหาร จึงส่งทหารและปืนนี่แหละเข้าปราบปรามและสังหารหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง
ถึงแม้การลุกขึ้นต่อต้านราชวงศ์ปาห์ลาวีครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่มันก็ทำให้ประชาชนอิหร่านเก็บความแค้นและเจ็บใจเอาไว้ และรอโอกาสที่จะกลายเป็นระเบิดครั้งใหญ่ในซักวันหนึ่ง...
ภาพจาก Pinterest (เรซา ชาร์)
และเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรซา ชาร์ก็มีความคิดอยากปฏิรูปกองทัพ จึงขอความช่วยเหลือไปที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยฮิตเลอร์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือและส่งที่ปรึกษาด้านกองทัพมาให้อิหร่าน แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อิหร่านเป็นกลางนะครับ
แต่เมื่ออังกฤษและโซเวียตเห็นอิหร่านที่แม้จะเป็นกลาง แต่ดันมีความสัมพันธ์ที่ดีเกินไปกับเยอรมนี ก็กังวลครับว่าเยอรมนีจะใช้อิหร่านเป็นฐานแล้วโจมตีตลบหลังโซเวียต
อังกฤษและโซเวียตจึงตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ส่งกองทัพเข้ายึดอิหร่านใน ค.ศ.1941 ซะเลย! โดยมีการแบ่งกันให้โซเวียตยึดตอนเหนือ ส่วนอังกฤษยึดตอนใต้ ทำให้อิหร่านตกอยู่ในการควบคุมของอังกฤษและโซเวียตตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2
1
ส่วนเรซา ชาร์ ทั้งอังกฤษและโซเวียตก็ต่างหมดความไว้ใจแล้ว จึงถูกบีบให้ลงจากบัลลังก์ เสร็จแล้วก็ถูกเนรเทศไปเกาะมอริเชียส แล้วอังกฤษก็ผลักดันโมฮัมหมัด เรซา ชาร์ ที่เป็นลูกของเรซา ชาร์ ขึ้นครองบัลลังก์แทน
เป็นอันว่า ราชวงศ์ปาห์ลาวีก็ยังไม่ถูกโค่นล้ม และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาร์คนลูกนั้นเรียกได้ว่า หัวสมัยใหม่ยิ่งกว่าคนพ่อซะอีก
ชาร์ต้องการที่จะสร้างอิหร่านให้เป็นประเทศที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่กว่าสมัยก่อนๆ โดยแนวทางการพัฒนาต้องตามแบบตะวันตกเท่านั้น! ดังนั้น ชาร์จึงต้องพึ่งพามหาอำนาจตะวันตกเพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการเปลี่ยนแปลงประเทศ
ซึ่งมหาอำนาจที่ว่า คือ สหรัฐอเมริกานั่นเองครับ
1
ชาร์นั้นคิดแต่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่กลับมองข้ามความเป็นจริงของสังคมอิหร่านภายใต้เปลวไฟแห่งความไม่พอใจของประชาชนที่รอวันจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง...
ภาพจาก Wikipedia (กองทัพโซเวียตในอิหร่าน ค.ศ.1941)
แล้วชาร์ก็เริ่มปฏิรูปประเทศซึ่งเรียกว่า “การปฏิวัติขาว” โดยการทำให้กษัตริย์มีอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด พร้อมเปิดรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะจากอเมริกาเข้ามาในอิหร่าน และมีการจัดตั้งกองกำลังซาวัค (SAVAK) ซึ่งเอาไว้จัดการคนที่เห็นต่างโดยเฉพาะ!
2
อิหร่านน้ันถือว่าเป็นประเทศที่รวยในระดับหนึ่งอยู่แล้วจากการขายน้ำมัน ซึ่งเมื่อชาร์เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา สิ่งที่หลั่งไหลในอิหร่านก็คือทุนนิยมและการค้าขายที่แพร่หลาย แต่ทว่าผู้ที่ได้ผลประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน แต่กลับเป็นราชวงศ์ปาห์ลาวี
ซึ่งก็มีเสียงก่นด่าและต่อต้านอยู่ประปราย โดยชาร์ก็ได้ส่งกองกำลังซาวัคเข้าจัดการ ผู้ต้องสงสัย ผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้าน ผู้ที่ไม่จงรักภักดี ล้วนถูกกองกำลังซาวัคจับกุมมาลงโทษ ทรมานและถึงกับฆ่าอย่างทารุณ
1
การกำจัดคนเห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด อีกทั้งค่านิยมจากตะวันตกโดยเฉพาะทุนนิยมที่หลั่งไหลเข้ามา ได้ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของอิหร่าน คนอิหร่านที่ยากจนอยู่แล้วก็ไม่สามารถปรับตัวหรือมีชีวิตอยู่ได้ในกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีเพียงสิ่งเดียวที่ประชาชนอิหร่านพอจะยึดเหนี่ยวได้ นั่นก็คือ ศาสนา
ซึ่งศาสนานี่แหละครับ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านและปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ปาห์ลาวีในอนาคต...
ภาพจาก Payvand Iran News (ใบหน้าเหยื่อของกองกำลังซาวัคในยุคชาร์ ปาห์ลาวี)
อุดมการณ์ทางศาสนาในอิหร่านนั้นได้รับความเชื่อถือ และนักการศาสนาก็ได้รับความเคารพสูงมาก เพราะนักการศาสนามาจากคนหลายชนชั้นจึงสามารถเข้าถึงประชาชนได้ไม่ยาก อีกทั้งนักการศาสนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะ เรียบง่าย จึงทำให้คนอิหร่านศรัทธาและเชื่อในตัวนักการศาสนามากยิ่งกว่าในตัวกษัตริย์ซะอีก!
และเนื่องจากอิหร่านนั้นเป็นอิสลาม นิกายชีอะฮ์ นักการศาสนาจึงมีอำนาจมากเพราะมีทรัพย์สินและรายได้เป็นของตัวเองจากภาษีกูม (เรียกง่ายๆคือเงินบริจาคนั่นแหละครับ) นักการศาสนาจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐบาล ทำให้อำนาจของรัฐไม่สามารถควบคุมนักการศาสนาได้นั่นเองครับ
ซึ่งชาร์ก็พยายามลดอำนาจของนักการศาสนาลงทุกรูปแบบครับ ไม่ว่าจะเป็นการแยกประชาชนออกจากศาสนา รับเอาวัฒนธรรมตะวันตก ส่งเสริมให้แต่งกายไม่มิดชิด ส่งเสริมให้มีการดื่มสุราและมั่วสุม! ตัดการศึกษาอิสลามออกจากหลักสูตร และเน้นเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มากกว่าจะไปเน้นในความเป็นอิสลาม
2
แต่การพยายามลดอำนาจศาสนาของชาร์ กลับยิ่งทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของศาสนามากยิ่งขึ้นซะอีก!
และแล้วศาสนาก็เป็นพลังยึดเหนี่ยวให้ประชาชนอิหร่านลุกขึ้นมาต่อต้านราชวงศ์ปาห์ลาวีในที่สุด
จากการจุดไฟแห่งการปฏิวัติของผู้นำศาสนาที่ชื่อว่า อยาตอลเลาะห์ โคมัยนี
ภาพจาก Republika (อยาตอลเลาะห์ โคมัยนี)
อยาตอลเลาะห์ โคมัยนี เมื่อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปกครองของชาร์ จึงออกมาโจมตีรัฐบาลและสหรัฐอเมริกาที่หนุนหลังอยู่
ประชาชนอิหร่านพอเห็นท่านโคมัยนีที่น่าเคารพศรัทธาลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็เหมือนพบแสงสว่างแห่งความหวังในที่สุดครับ
เมื่อชาร์เห็นโคมัยนีขึ้นมาต่อต้านตัวเองก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง มีการสั่งให้จับโคมัยนีแล้วเนรเทศไปที่ตุรกีใน ค.ศ.1964 เพื่อหวังทำลายผู้นำของกลุ่มต่อต้าน
1
แต่ทว่า การที่ชาร์ทำแบบนี้เหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ ประชาชนอิหร่านยิ่งเกลียดชังชาร์เข้าไปใหญ่! แล้วสนับสนุนโคมัยนีมากยิ่งขึ้นไปอีก พร้อมลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอีกครั้ง!
1
ชาร์เห็นท่าไม่ดีจึงเปลี่ยนสถานะของกองกำลังซาวัค ที่แต่เดิมเป็นหน่วยลับ ไปเป็นหน่วยตำรวจ ทำให้สามารถมีอำนาจอิสระในการจับกุม สั่งขัง หรือทรมานผู้ที่ต่อต้านชาร์
ผู้ที่ต้องสงสัยว่าต่อต้านหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองแม้แต่นิดเดียวก็จะโดนซาวัคตามเก็บไปเป็นจำนวนมาก
แต่ยิ่งมีคนเป็นเหยื่อของซาวัคมากเท่าไหร่ ไฟในการปฏิวัติของประชาชนก็ยิ่งโหมแรงมากขึ้นเท่านั้น!
ทางด้านโคมัยนีที่ถูกเนรเทศไปตุรกี ต่อมาก็ได้ย้ายไปอิรัก และถึงแม้จะอยู่นอกประเทศอิหร่าน แต่โคมัยนีก็ยังมีอิทธิพลสูงมากเลยล่ะครับสำหรับประชาชนอิหร่าน (สูงกว่าตอนอยู่ในประเทศซะอีก)
เนื่องจากโคมัยนียังเทศนาและเขียนหนังสือโจมตีชาร์และราชวงศ์ปาห์ลาวีอย่างไม่หยุดยั้ง ฝ่ายชาร์จึงพยายามกดดันให้อิรัก “จัดการโคมัยนีซะ!”
โคมัยนีรู้ตัวจึงหนีไปที่คูเวต แต่ทว่า คูเวตก็ไม่ออกวีซ่าให้ เพราะไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมืองภายในอิหร่าน โคมัยนีจึงตัดสินใจลี้ภัยไปที่ปารีส ฝรั่งเศส
เมื่อหาที่ปลอดภัยได้แล้ว โคมัยนีก็เริ่มโจมตีรัฐบาลอิหร่านต่อ มีการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากทั่วโลกให้เห็นความเลวร้ายของชาร์ ปาห์ลาวี อีกทั้งโคมัยนีมีการบันทึกคำเทศนาของตัวเองลงบนเทป แล้วลักลอบเข้าไปในอิหร่านเพื่อปลุกระดมประชาชนให้โค่นล้มชาร์และสิ่งแปลกปลอมจากตะวันตก!
คลื่นการปฏิวัติเริ่มใหญ่มากขึ้นเมื่อเข้าสู่ ค.ศ.1978 เกิดการเดินขบวนประท้วงไปทั่วประเทศ เพื่อแสดงว่าพวกเขาจะไม่อยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์ปาห์ลาวีอีกต่อไปและโคมัยนีได้เรียกร้องให้ชาร์ลงจากบัลลังก์ซะ!
ฝ่ายชาร์เมื่อเห็นสถานการณ์เริ่มย่ำแย่ จึงไปขอให้อเมริกาช่วยเหลือ แต่ทว่า โซเวียตได้มีการเตือนอเมริกาก่อนแล้วว่า “ห้ามแทรกแซงเด็ดขาด!” ซึ่งอเมริกาที่คิดว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงอยู่แล้วจึงตอบกลับโซเวียตว่า “อเมริกาจะไม่แทรกแซง และหวังว่าโซเวียตจะไม่แทรกแซงเช่นเดียวกัน”
1
เป็นอันว่า 2 มหาอำนาจได้ละทิ้งชาร์และราชวงศ์ปาห์ลาวีให้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวซะแล้วล่ะครับ และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ชาร์เริ่มกลัวขึ้นมาในที่สุด...
ภาพจาก Arab News (ปฏิวัติอิสลาม)
ภาพจาก Financial Times (ปฏิวัติอิสลาม)
ชาร์จึงแก้สถานการณ์โดยการตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาใหม่ใน ค.ศ.1979 โดยให้ชาปูร์ บัคเตียร์เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่โคมัยนีก็ไม่ยอมครับ มีการส่งสารไปถึงประชาชนว่า “อย่าไปหลงกลแผนการของชาร์ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเป็นเพียงแค่หุ่นเชิดหน้าฉากเท่านั้น เราต้องล้มราชวงศ์ให้ราบคาบ!”
คลื่นฝูงชนภายใต้การนำของโคมัยนีที่ได้นำอุดมการณ์ทางศาสนามาโค่นล้มราชวงศ์เผด็จการปาห์ลาวี เหมือนเป็นคลื่นยักษ์ที่ไม่สามารถหยุดได้แล้วในตอนนี้ และพวกเขาได้เคลื่อนไหวภายใต้ “ปฏิวัติอิสลาม” ที่จะขจัดอุดมการณ์และค่านิยมของมหาอำนาจออกไปจากอิหร่านให้หมดสิ้น แล้วสร้างอิหร่านให้เป็นรัฐอิสลามที่บริสุทธิ์ขึ้นมา
และแล้ววันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1979 ชาร์และราชวงศ์ก็หนีไปที่สหรัฐอเมริกา เหล่าซาวัคเมื่อเห็นหัวหน้าหนีไปแล้ว ก็พากันวางอาวุธแล้วยอมแพ้
1
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 โคมัยนีก็ได้เดินทางเข้าสู่อิหร่าน กลับมาเป็นแม่ทัพที่อยู่เคียงข้างประชาชนอิหร่านอย่างเต็มตัว และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่จะสร้างอิหร่านให้เป็นรัฐอิสลามและขจัดความทุกข์ยากของประชาชนให้หมดสิ้น
1
ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 ปฏิวัติอิสลามก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนอิหร่านได้หลั่งไหลเข้าเตหะรานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลหุ่นเชิดของชาร์ จึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารและประชาชน
2
โคมัยนีจึงมีการบลัฟประชาชนว่า “อย่ายอมจำนนโดยเด็ดขาด!”
ประชาชนต่างฮึดและเชื่อมั่นในตัวโคมัยนีเหมือนกับเป็นพระเจ้าเลยล่ะครับ พากันฮึดสู้กันอย่างไม่กลัวตาย
แล้วในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 ประชาชนก็ยึดเอาสถานที่สำคัญทางราชการไว้ได้ทั้งหมด โค่นล้มรัฐบาลหุ่นเชิด ทำลายอำนาจของราชวงศ์ปาห์ลาวีจนหมดสิ้น
ฝ่ายประชาชนภายใต้ปฏิวัติอิสลามที่นำโดยอยาตอลเราะห์ โคมัยนี ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด
ภาพจาก Al Jazeera (การกลับสู่อิหร่านของอยาตอลเราะห์ โคมัยนี)
ภาพจาก History Today (อยาตอลเราะห์ โคมัยนีกับประชาชนอิหร่าน)
หลังได้รับชัยชนะ ก็มีการทำประชามติว่าจะสร้างอิหร่านให้เป็นรัฐอิสลามหรือไม่?
ซึ่งตัวเลือกในการสร้างอิหร่านเป็นรัฐอิสลามก็ได้คะแนนจากประชาชนอย่างท่วมท้น
จึงมีการตั้งรัฐบาลในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1979 และอยาตอลเราะห์ โคมัยนีขึ้นเป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและทางศาสนา มีการสร้างให้อิหร่านอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลาม
แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้นครับ เมื่อประชาชนต่างไม่พอใจที่ชาร์แลราชวงศ์หลบหนีไปได้ จึงทำการประท้วงสหรัฐอเมริกาที่ให้ชาร์และราชวงศ์ลี้ภัย พร้อมเรียกร้องให้ส่งชาร์และราชวงศ์กลับมารับโทษที่อิหร่านซะ!
ฝ่ายอเมริกาก็ไม่ยอมครับ ประชาชนอิหร่านจึงพากันเข้าทำลายสถานทูตอเมริกาในอิหร่านและจับเจ้าหน้าที่ในสถานทูต 52 คน เป็นตัวประกัน
เหตุการณ์นี้ทำให้อเมริกาโกรธเลือดขึ้นหน้ามากๆ จึงทำการตัดสัมพันธ์ทางการทูตและคว่ำบาตรอิหร่าน
1
ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกาที่แต่เดิมนั้นสนิทชิดเชื้อกัน แต่ในตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นศัตรูคู่อาฆาต
และนับแต่นั้น อิหร่านก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆสำหรับสหรัฐอเมริกา
1
ภาพจาก Washington Post (การประท้วงสหรัฐอเมริกาในอิหร่าน)
ภาพจาก Army.mil (การจับเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาเป็นตัวประกัน)
การปฏิวัติอิสลาม และเปลี่ยนแปลงอิหร่านไปเป็นรัฐอิสลามน้ัน ทำให้เหล่าประเทศอาหรับต่างก็เสียวสันหลังไปตามๆกัน โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์อย่างซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน โอมาน คูเวต การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน โดยประเทศเหล่านี้ต่างกลัวว่าประชาชนตัวเองจะเอาอิหร่านเป็นแรงบันดาลใจ จนวันดีคืนดีลุกขึ้นมาปฏิวัติ
อีกทั้งอิหร่านยังมีการพยายามเผยแพร่แนวคิดการปฏิวัติอิสลามไปยังประเทศในตะวันออกกลางอย่างจงใจอีกด้วย
ทำให้เหล่าประเทศในตะวันออกกลางต่างมองว่าอิหร่านคือศัตรูตัวร้ายและเป็นภัยคุกคาม (อีกเหตุผลคืออิหร่านนับถือนิกายชีอะฮ์ แต่ประเทศตะวันออกกลางส่วนใหญ่ เช่น ซาอุ นับถือนิกายสุหนี่)
ถึงขนาดเกิดเป็นสงครามอิรัก-อิหร่านขึ้น ที่ทั้งซาอุ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างสนับสนุนอิรักอย่างเต็มที่เพื่อให้จัดการอิหร่าน
หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้แสวงบุญที่เมกกะใน ค.ศ.1987 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน! และส่วนใหญ่เป็นคนอิหร่าน ทำให้อิหร่านแตกหักกับซาอุในที่สุด
การปฏิวัติอิสลามทำให้เกิดการเปลี่ยนดุลอำนาจในอิหร่าน...
อิหร่านถูกเปลี่ยนไปเป็นรัฐอิสลาม และต้องการส่งออกแนวคิดปฏิวัติไปทั่วตะวันออกกลาง...
ความตึงเครียดโดยเฉพาะในบริเวณอ่าวเปอร์เซียก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น...
และมันได้ทำให้อิหร่านกลายเป็นภัยคุกคามที่น่าหวั่นเกรงของสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลางจวบจนปัจจุบัน...
1
ภาพจาก Magnum Photos
อ้างอิง
Esteshami, Anoushiravan. After Khomeini the Iranian Second Republic. New York : Routledge, 1995.
Madani, Jalalad-dine. Islamic Revolution of Iran. International Publishing, 1997.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา