21 ก.ค. 2020 เวลา 12:19 • สุขภาพ
☀️แม่เป็นไข้ ให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม?☀️
แม่ไข้ขึ้น รู้สึกไม่สบาย น้ำนมแม่จะมีเชื้อไหม ? ให้ลูกกินจะปลอดภัยหรือเปล่า?
ขึ้นกับสาเหตุของไข้ ว่าเป็นจากอะไรค่ะ
ขอบคุณภาพจาก เพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
สาเหตุอันดับหนึ่งคือ
🎈”ทิ้งน้ำนมค้างในเต้านานเกินไป “🎈
ไม่ได้ให้ลูกดูดออก ลูกนอนนาน
แม่ใส่เสื้อในที่รัดมากเกินไป
แม่ที่ปั๊มนมให้ลูก ตกรอบปั๊ม จากทุก 3ชั่วโมง เป็น 4-5 ชั่วโมง
น้ำนมค้างเต้า เกิดเป็นก้อนแข็ง อุดตันท่อน้ำนม
ยิ่งทิ้งไว้นานจะมีการอักเสบ จนไข้ขึ้นได้ค่ะ ที่ไม่อยากให้เป็นคือ ฝีในเต้านม ดังนั้น
🌸ไข้ขึ้น +ก้อนในเต้านม รีบปรึกษาคลีนิคนมแม่🌸ค่ะ
เพื่อแก้ไขแต่เนิ่นๆ โดย ช่วยระบายน้ำนมออก ถ้าเป็นมากจะได้ส่งแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ
กรณีนี้ยิ่งต้องให้ลูกช่วยดูดนมแม่ออกจากเต้าบ่อยๆ
สาเหตุอันดับต่อมา คือ
🎈”ไข้หวัด เจ็บคอ ”🎈
แม่อาจจะติดหวัดจากคนอื่นในบ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ น้ำมูกไหล ให้แม่ใส่หน้ากากอนามัยเวลาอุ้มลูกขึ้นกินนมแม่ค่ะ
เพราะเชื้อหวัดจากไวรัส หรือแบคทีเรียก็ตาม จะติดต่อได้ทางน้ำมูก น้ำลาย ไม่ได้ติดต่อทางน้ำนมแม่
🌸แม่เป็นหวัด ใส่หน้ากากอนามัย ให้ลูกดูดนมแม่ได้🌸
ขอยกตัวอย่างคนไข้ที่เคยพบสักรายหนึ่งค่ะ
“คุณแม่อายุ 30 ปี ลูกอายุ 3 เดือน กินนมแม่อย่างเดียวมาตลอด 1 วันก่อนแม่เริ่มมีไข้ตัวร้อน 39องศา ไม่ไอ น้ำมูกไม่ไหล แม่ยังไม่อ่อนเพลียมาก ยังอุ้มลูกให้ดูดนมแม่ได้
แต่แม่สงสัยว่า🌺 แม่ไข้สูง ยังจะให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่”🌺
ในกรณีนี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง
ผลดีที่ลูกจะได้รับจากน้ำน มแม่ คือภูมิต้านทาน และเซลล์ต่างๆในน้ำนมแม่
น้ำนมแม่ เีที่สุด
กับความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคผ่านน้ำนมแม่
แต่ต้องไม่ลืมว่า การติดเชื้อบางอย่างอาจจะผ่านทางการไอจามการหายใจหรือผิวหนังแม่ที่สัมผัสกับลูกก็ได้
ถ้ายังไม่รู้ว่าแม่เป็นอะไร มีแต่ไข้สูงอย่างเดียว ให้พิจารณาว่า ให้นมแม่ไหวหรือไม่
🌸ถ้าอ่อนเพลียมากถึงกับอุ้มลูกกินนมไม่ไหว แม่ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพื่อหาสาเหตุของไข้โดยเร็ว จะได้ทราบว่า เป็นโรคอะไรติดต่อทางไหน จะได้รีบรักษา และหาทางป้องกันไม่ให้่แพร่เชื้อไปให้ลูก
🌸ถ้าแม่ไม่อ่อนเพลียมาก ก็ยังให้ลูกกินนมแม่ได้ เพียงแต่ต้องระวังถ้าแม่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล แม่ต้องหาผ้ามาปิดปากจมูกเพื่อไม่แพร่เชื้อให้ลูกจากน้ำลายน้ำมูก
คุณแม่รายนี้ไม่เพลียมาก จึงตัดสินใจยังให้นมแม่ต่อ เมื่อไข้สูงเป็นวันที่ 2 จึงไปพบแพทย์ ตรวจร่างกาย คอไม่แดง ไม่ไอ
🌺เจาะเลือดตรวจพบเป็นไข้เลือดออก ระยะไข้สูง🌺แนะนำให้นอนโรงพยาบาล แม่จะทำอย่างไร จะเอาลูกที่กินนมแม่ไปนอนที่รพ. ด้วย เพื่อดูดนมแม่ต่อ หรือจะแยกลูกอยู่บ้านดี?
เรื่องที่จะต้องพิจารณาคือ
1 ☀️. การติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในแม่จะส่งต่อถึงลูกได้ทางไหนบ้าง
การติดต่อของไวรัสไข้เลือดออก หรือเดงกี่ไวรัส มียุงเป็นพาหะของโรค นำเชื้อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่น
🌺ยังไม่มีรายงานการติดต่อไวรัสเดงกี่ระหว่างคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยไม่ผ่านยุง และไม่มีหลักฐานว่ามีการติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ (1)🌺
ยุงลายเป็นพาหะ ไวรัสเดงกี่ ทำให้เป็นไข้เลือดออก
จากการค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบการรายงานพบไวรัสไข้เลือดออกในน้ำนมของแม่ที่เป็นไข้เลือดออกก่อนคลอดเพียง1 รายงาน
คนไข้ทารกคลอดก่อนกำหนด 1 ราย แม่มีไข้ 2 วันก่อนคลอด ระหว่างการคลอด และหลังคลอดตวจพบว่าแม่เป็นไข้เลือดออก ทารกได้กินนมแม่ที่บีบออกมาตั้งแต่วันที่ 2 หลังคลอด แม่ไม่มีแผลที่หัวนมและเต้านม ตรวจพบ RT PCR สำหรับ denguevirus เป็นผลบวก แสดงว่ามีเชื้อไวรัส dengue ในน้ำนมแม่ จึงหยุดนมแม่ในวันที่ 4 หลังคลอด ในวันที่4 ทารกมีไข้ต่ำๆ37.9 องศา C เจาะเลือดลูกพบ ผลบวกต่อ denguevirus มีเกร็ดเลือดต่ำเมื่ออายุ 9 วัน โดยไม่มีอาการใดๆผิดปกติ แม่และลูกได้กลับบ้านไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ(3)
2. ☀️ในน้ำนมแม่จะมีสารภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกหรือไม่
พบ 1 รายงาน ว่ามี factorใน ส่วนไขมันของน้ำนมแม่ ว่ายับยั้ง ไวรัสไช้เลือดออกได้
แต่ไม่พบantibody activity ต่อไวรัสไข้เลือดออกในน้ำนมแม่ (2)
3. ☀️แม่จะไปอยู่โรงพยาบาล ที่เป็นเตียงรวมกับผู้ป่วยอื่นๆหรือ อยู่เตียงในห้องแยกต่างหาก
ถ้าแม่ต้องไปอยู่รวมกับคนป่วยอื่นๆ ลูกเล็กที่ไปนอนกับแม่อาจจะติดเชื้อจากผู้ป่วยอื่นๆได้หรือไม่
ถ้าแม่ได้อยู่ห้องเดี่ยวแยกต่างหาก ลูกก็ไม่เสี่ยงติดเชื้อจากคนอื่นๆ
4. ☀️อาการของแม่รุนแรงมากน้อยเพียงไร
ไข้เลือดออกมีอาการที่แตกต่างกันตั้งแต่น้อยๆ ไปจนถึงอาการหนักมาก ถ้าแม่เป็นไม่รุนแรง และอยากจะให้นมแม่ ก็ให้ได้
คุณแม่ท่านนี้อยู่โรงพยาบาล ห้องเดี่ยว จึงให้ลูกมานอนดูดนมแม่ ที่ห้อง โดยแพทย์อนุญาต และโชคดีที่อาการเป็นไม่รุนแรง แม่จึงผ่านพ้นมาได้โดยที่ลูกยังได้กินนมแม่ตลอดและลูกไม่มีอาการไข้แต่อย่างใด
สรุปว่า แม่ที่เป็นไข้เลือดออกในระยะหลังคลอด มีรายงาน 1 รายงานที่พบเชื้อไวรัสในน้ำนมแม่ในช่วงที่แม่ไข้สูงมีไวรัสในกระแสเลือด ลูกที่เป็นทารกคลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่รายนี้ตรวจเลือดพบไวรัส
สำหรับแม่ที่คลอดลูกไปแล้วหลายๆเดือน และยังให้กินนมแม่อยู่เมื่อเป็นไข้เลือดออก ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อในน้ำนม ในตำราBreastfeeding : A Guide for theMedical profession 7th editon (1)สรุปว่า
“ Breastfeeding during maternal or infant dengue disease should continue as determined by the mother or infants severity of illness. “
“ 🌺การให้นมแม่ในแม่หรือทารกที่เป็นไข้เลือดออกควรดำเนินต่อไปโดยพิจารณาจากความรุนแรงของโรค”🌺
🌺แม่เป็นไข้ ก็ให้นมแม่ได้ 🌺
เอกสารอ้างอิง
1. Breastfeeding : A Guide for theMedical profession 7th editon p 428
2.A Lipidinhibitor of dengue virus in human colostrum and milk, with a note on theabsence of anti-dengue secretory antibody , Arch Virol 47:3-10 , 1975 )
3. BreastMilk as a possible route of Vertical Transmission of Dengue Virus? Ann Barthel,et al Clin Infect Dis Apr 10 ,2013 online publication
โฆษณา