19 ก.ค. 2020 เวลา 15:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กล้องโทรทัศน์อวกาศ Swift ของ NASA ตรวจจับการระเบิดที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงหนึ่งหมื่นล้านปีแสง 🧐🔭📡
โดยแสงที่ลุกจ้าจากการระเบิดนี้สว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึงหนึ่งล้านล้านล้านเท่า
ที่วงสีเหลืองคือแสงหลงเหลือ (After Glow) จากการระเบิดที่อยู่ห่างไกลออกไปหนึ่งหมื่นล้านปีแสง
โดยการระเบิดนี้เกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอนสองดวงเมื่อ 10,000 ล้านปีก่อน
เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกตรวจจับได้โดย NASA’s orbital Neil Gehrels Swift Observatory กล้องโทรทัศน์อวกาศที่ทำหน้าที่หลักในการตรวจจับเหตุการณ์การระเบิดปล่อยรังสีแกมมาหรือ gamma-ray burst (GRB)
ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจจับการเกิด GRB ที่สามารถติดตามสังเกตแสงหลงเหลือ (After Glow) จากการระเบิดได้ห่างไกลที่สุดเป็นอันดับสองจากที่เคยตรวจจับได้มาก่อน
การระเบิดนี้ได้ปลดปล่อยรังสีแกมมาและแสงวาบอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยหลังจากที่กล้อง Swift ตรวจจับสัญญาณการระเบิดรังสีแกมมานี้ได้ กล้องโทรทัศน์ Gemini ที่ฮาวาย รวมถึงกล้องโทรทัศน์ที่อริโซนาและชิลีก็ได้สังเกตและยืนยันเหตุการณ์การระเบิดนี้
ภาพจากกล้องโทรทัศน์ Gemini และ Keck
โดยทีมนักดาราศาสตร์ค่อนข้างประหลาดใจที่สามารถตรวจพบ GRB ที่อยู่ห่างไกลขนาดนี้ได้ เพราะด้วยระยะห่างไกลขนาดนี้ปกติสัญญาณจะอ่อนมากและโอกาสตรวจพบต่ำมาก ๆ
นับว่าเป็นโชคดีที่สามารถตรวจจับและติดตาม After Glow ของการระเบิดครั้งนี้ได้นานถึง 2 ชั่วโมง เพราะเป็นการระเบิดแบบ Short gamma-ray burst (sGRB) ที่มีเวลาให้สังเกตได้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
Long Gamma Ray Burst เกิดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวาเกิดเป็นหลุมดำ แต่ Short Gamma Ray Burst เกิดจากการรวมตัวกันของดาว โดยในกรณีนี้เป็นดาวนิวตรอนคู่
ซึ่งหากประเมินด้วยระยะห่างจากโลกกับสัญญาณที่ปรากฏคาดว่าการระเบิดลุกจ้านี้มีการปลอดปล่อยพลังงานที่ให้แสงลุกจ้ากว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ล้านล้านล้านเท่า
หลังจากนี้ทีมนักดาราศาสตร์จะพุ่งการสำรวจไปที่กาแล็คซี่ที่ดาวนิวดรอนสองดวงนี้ชนกันเพื่อศึกษาถึงสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการระเบิดรังสีแกมมาที่รุนแรงมากนี้
** กล้องโทรทัศน์อวกาศ Swift และการระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (GRB) **
กล้อง Swift ถูกส่งขึ้นประจำการในวงโคจร LEO ที่ความสูง 600 กิโลเมตรจากพื้นโลกเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2004 ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับหลัก 3 ตัวได้แก่
- Burst Alert Telescope ใช้ตรวจจับการระเบิดรังสีแกมมาบนฟากฟ้า
- X-Ray Telescope กล้องจับภาพย่าน X-ray
- UltraViolet/Optical Telescope กล้องจับภาพย่านแสงอัลตราไวโอเลตและแสงปกติ
กล้อง Swift และอุปกรณ์ตรวจจับหลักทั้ง 3 ชิ้น
Swift นี้สามารถทำการตรวจจับสัญญาณการระเบิดรังสีแกมมาและทำการหาตำแหน่งได้ภายในเวลาเพียงนาทีกว่า ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะส่งข้อมูลให้กล้องโทรทัศน์อื่น ๆ พื่อทำการร่วมสังเกตและยืนยันเหตุการณ์
ทั้งนี้การตรวจจับและค้นหาที่มาต้องทำอย่างรวดเร็วเนื่องจาก การระเบิดรังสีแกมมาแบบสั้น sGRB นั้นมีเวลาให้สังเกต After Glow ได้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นก่อนที่จะหายไป
แผนภาพการตรวจจับ GRB ตามระยะต่าง ๆ
จากภาพผังการตรวจจับ GRB ระยะใกล้จะใช้การตรวจจับด้วยคลื่นแรงโน้มถ่วง ซึ่งทิศของลำพวยรังสีไม่จำเป็นต้องชี้มายังโลก
ส่วนระยะไกลกว่านั้นจะตรวจจับด้วยกล้อง Swift ซึ่งจะตรวจจับได้ก็ต่อเมื่อแนวลำพวยรังสีของจากเร่งมวลสารชี้ตรงมายังโลกเท่านั้น
จนถึงปี 2010 เจ้า Swift สามารถตรวจจับเหตุการณ์ GRB ได้กว่า 500 ครั้ง และครั้งนี้ก็สามารถตรวจจับเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ด้วย
ลองนึกถึงว่าถ้ามีการระเบิดรุนแรงขนาดนี้ในกาแล็คซี่ของเราแล้วลำพวยรังสีพุ่งมายังโลกนี่ คงได้กวาดทุกชีวิตมลายสิ้นเป็นแน่แท้ 😱😣

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา