26 ก.ค. 2020 เวลา 04:49
เหรียญด้านที่มองไม่เห็นของคนชั้นกลาง
หลายวันก่อนผมมีโอกาสดูหนัง Batman : The Dark Knight หนัง Super Hero ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งจากค่าย DC Comic เป็นจังหวะที่ผมกำลังอ่านหนังสือการเงินเล่มหนึ่งพอดี ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงบางอย่างที่มีอยู่ทั้งในหนังและหนังสือที่กำลังอ่าน
ใน The Dark Knight โจ๊กเกอร์สร้างเหตุการณ์ต่างๆ ให้เห็นว่าโดยแท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนดำเนินชีวิตด้วย “สัญชาตญาณของการเอาตัวรอด” ที่ทุกคนต้องเลือกเมื่อหลักเกณฑ์ที่สังคมสร้างไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป โลกนี้จึงไม่ได้มีความดีหรือความชั่วที่ชัดเจน ซึ่งถูกสังคมสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดำเนินชีวิตตามกรอบที่สังคมต้องการ
2
เหตุการณ์ทำให้ Harvey Dent อัยการคนเก่งคนดีที่ถูกสร้างให้อยู่ในกรอบและระบบที่สังคมวางไว้...เช่นเดียวกับพวกเรา...กลายเป็น Two-Face
Batman และ Harvey Dent จึงสะท้อนถึงสภาพของคนในสังคมจริงที่อยู่กับด้านหนึ่งด้านใดของเหรียญ
1
เมื่อ Two-Face ออกจากบรรทัดฐานของสังคมที่แยกแยะขาวและดำ จึงใช้การโยนเหรียญแทนการตัดสินใจตามบรรทัดฐานสังคม
ในสังคมและโลกการเงิน เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นเป็นตามนั้นจริงหรือ และเราได้มีโอกาสเป็นผู้โยนเหรียญเสี่ยงทายอะไรบ้าง
Credit : Batman The Dark Knight
เหรียญที่เราถูกบอกว่ามี 2 ด้านคือ หัวและก้อย ต่างกับธนบัตรตรงที่เหรียญยังมีด้านขอบด้วย ขอบเหรียญทำให้ด้านหัวและก้อยแยกออกจากกันตามความหนาของเหรียญนั้นๆ บางเหรียญยังมีด้านที่เกิดจากรูตรงกลางเหรียญ
เมื่อเรานำเหรียญมาซ้อนๆ กัน แม้เหรียญที่อยู่ด้านบนสุดจะเป็นด้านหัวหรือก้อย แต่เหรียญที่ถูกซ้อนอยู่อาจเป็นด้านตรงกันข้ามได้เช่นกัน แต่เราถูกสร้างให้เชื่อว่าเหรียญทั้งหมดแสดงด้านที่เหมือนกัน
Credit : Unsplash.com
เหรียญในแต่ละกองเปรียบเหมือนสังคมๆ หนึ่งที่แสดงด้านหนึ่งให้เราเห็น เป็นบรรทัดฐาน (Norm) และ ค่านิยมสังคม (Social Value) ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นเหรียญที่อยู่ด้านในอาจมีแสดงด้านที่แตกต่าง และเรามักเห็นด้านที่เป็นขอบเหรียญมากกว่าก็ตาม
"ขยันเรียนนะลูก เมื่อโตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก/มีงานดีๆ ทำ" เป็นเหรียญด้านเดียวที่เกิดจากการวางเงื่อนไขแบบ Pavlov's
What we learn becomes a part of who we are
เราถูกหล่อหลอมด้วยเหรียญด้านหนึ่งด้านเดียวตั้งแต่เด็กว่าเราต้องทำงานเพื่อแลกเงินค่าจ้างตอบแทนเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นรายได้แบบ Active Income ที่ต้องทำงานเพื่อเงิน ด้วยการหล่อหลอมนี้ทำให้เกิดคนชั้นกลางของสังคมที่ต้องหาเงินเพื่อดำรงชีพและยังเป็นกลุ่มที่แบกรับภาระด้านต่างๆ ผ่านการจ่ายภาษี และ การบริโภคเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วย เงินภาษีจึงมาจากกลุ่มชนชั้นกลางเป็นหลักทั้งภาษีทางตรงจากรายได้และภาษีทางอ้อมผ่านการบริโภค
รายได้แบบ Active Income นอกจากปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ผลการดำเนินการของบริษัทแล้ว ยังถูกวางเงื่อนไขในการวัดคุณค่าเช่นเดียวกับเงื่อนไขการวัดความเป็นเด็กดี เด็กเก่งในโรงเรียน จึงไม่ใช่ผลผลิตที่เราทำได้และไม่ได้สะท้อนถึงอำนาจซื้อที่แท้จริงของเงินที่ลดค่าลงเรื่อยๆ
ในปัจจุบันจึงเห็นแนวโน้มการหดตัวของชนชั้นกลางที่เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจผ่านการทำงานและการบริโภค
Credit ตามภาพ
อีกด้านของเหรียญคือ Passive Income
ลองนึกย้อนกลับไปในอดีตว่าเราได้รับความรู้เกี่ยวกับ Passive Income ที่ให้เงินทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ และปัจจุบันเรามีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และระบบการศึกษาสอนเราในเรื่อง Passive Income อย่างไร
ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้สอนให้เรามีความรู้ทางการเงินเพื่อสร้าง Passive Income จึงเปรียบเหมือนอีกด้านของเหรียญที่ถูกคว่ำไว้
การศึกษาพบว่าคนรุ่นก่อนหน้าจะมีสินทรัพย์เฉลี่ย (ณ อายุเดียวกัน) มากกว่าคนรุ่นต่อๆ มา ซึ่งหลายคนอาจแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเราทำงานหารายได้ได้มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ
Credit: OECD
ความจริงคนรุ่นก่อนหน้าไม่ได้มีความรู้ทางการเงินมากกว่าคนรุ่นใหม่แต่อย่างใดเพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนตั้งแต่ต้น แต่การออมและการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มของอัตรารายได้โดยเปรียบเทียบคือสาเหตุหลัก (หมายเหตุ : ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของ GDP ประเทศไทยในอดีต 30ปีที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป แต่อาจน้อยกว่าประเทศที่กำลังเติบโต เช่น จีนและเพื่อนบ้านหลายประเทศ)
Credit ตามภาพ
หากดูในด้านสินทรัพย์มีค่าที่กำลังเป็นที่สนใจในเวลานี้ก็จะเห็นได้ว่า ราคาทองคำเพิ่มขึ้นประมาณ 553% ณ ราคาปัจจุบัน และหากราคาทองคำขึ้นไปถึง US$2,500/oz ก็จะเป็นการเพิ่มค่าประมาณ 730% ในขณะที่ราคาเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 550% แต่ในปี 2011 ที่ราคาเงินแตะจุดสูงสุดก็เป็นการเพิ่มค่าถึง 731% หากพิจารณาการเพิ่มค่าของสินทรัพย์มีค่าเหล่านี้เทียบกับการเติบโตของรายได้ก็เสมือนเป็นการรักษาอำนาจซื้อของเงินที่เรามีอยู่เอาไว้
1
Credit : goldprice.org
สินทรัพย์ที่เรามีเป็นได้ทั้งสินทรัพย์ลงทุนและสินทรัพย์ส่วนตัว การเพิ่มค่าของสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ และการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ลงทุน มีลักษณะเดียวกับ Passive Income ที่เราให้เงินหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ของเรา
แต่เราควรเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อจริงของเงินด้วย เพราะการเพิ่มค่าของสินทรัพย์อาจไม่ได้ทำให้มูลค่าจริงเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ เราจะได้กำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในพอร์ตสินทรัพย์ลงทุนของเรา
ความรู้ทางการเงินคือขอบของเหรียญ ยิ่งหนายิ่งลึก
ความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียน เราจึงต้องหาความรู้ความเข้าใจด้วยตัวเราเอง
Credit : Unsplash.com
ความรู้ทางการเงิน ก็คือขอบเหรียญที่อยู่ระหว่างเหรียญทั้งสองด้านทำให้เราไม่ต้องเห็นเหรียญเพียงด้านเดียวแบบที่ Batman เป็น และไม่ต้องโยนเหรียญเลือกด้านเหมือน Two-Face
แต่ความรู้ทางการเงินทำให้เราสามารถหยิบเหรียญตั้งขึ้น แล้วหมุนเหรียญเพื่อให้เราไม่ต้องเห็นหรือดำเนินชีวิตเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญตลอดเวลา ให้เราได้รับทั้ง Active Income และ Passive Income ไปพร้อมกัน
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตอนท้ายของบทความครับ หากมีความเห็นหรือคำแนะนำสามารถแลกเปลี่ยนได้ตามสะดวกครับ
ในเรื่องความรู้ทางการเงิน สามารถอ่านจากบทความเก่าในเพจ หรืออ่านจากบทความของผู้รู้ได้มากมายครับ
โฆษณา