25 ก.ค. 2020 เวลา 11:08 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.4 : คดีฆาตกรรมในภาพวาด [ Death of Marat ]
ปารีส, ฤดูร้อน ปี 1793
เหงื่อที่ซึมออกมานั้นเริ่มก่อตัวบนผิวหนังจนสัมผัสได้ถึงความชื้นแฉะน่ารำคาญ ส่วนหนึ่งมาจากอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวของเดือนกรกฎาคม และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะจังหวะการเดินของผมที่เร็วกว่าปกติ
แต่ถึงกระนั้น ความคิดที่ว่าจะคลายความรุ่มร้อนนี้ด้วยการทอดกายลงในน้ำเย็นให้ชุ่มฉ่ำ กลับชวนให้รู้สึกเย็นยะเยียบจับขั้วหัวใจ
นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์นั้น เมื่อสองสัปดาห์ก่อน…
ผมล้วงมือเข้าในกระเป๋าเสื้อเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าของนั้นยังอยู่ดี หากมีใครที่สามารถมองทะลุเนื้อผ้าได้จะพบว่าสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น คือสมุดบันทึกเล่มเล็กขนาดเท่าฝ่ามือ หน้ากระดาษแผ่นหนึ่งถูกพับไว้ที่มุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ย้อนกลับมาอ่านได้ง่าย
ลายมือหวัด ๆ ลงบันทึกข้อความไว้
มีใจความส่วนหนึ่งว่า,
คดี :
ฌ็อง-ปอล มารา (Jean-Paul Marat)
สถานที่เกิดเหตุ :
บ้านของผู้เสียชีวิต ชายฝั่งตอนใต้ของแม่น้ำแซน
ลักษณะการเสียชีวิต :
ถูกฆาตกรรม
สาเหตุของการเสียชีวิต :
เสียโลหิตจากบาดแผลที่หลอดเลือดแดงใกล้หัวใจ จากแรงกระทำโดยวัตถุมีคม
ไม่มีใครในปารีส ที่ไม่รู้จักมารา...
ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่ร้อนระอุเช่นนี้ มาราคือหนึ่งผู้นำการต่อต้านของชนชั้นกลางและชั้นล่าง ชายที่มีรูปลักษณ์ภายนอกค่อนไปทางอัปลักษณ์ แถมร่างกายยังอ่อนแอด้วยโรคผิวหนังเรื้อรังคนนี้ กลับมีอาวุธที่ร้ายกาจซึ่งก็คือ ปากกาและน้ำหมึก
แนวคิดแบบซ้ายจัดของเขาถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ‘ลามีดูว์เปิปล์’ (L'Ami du peuple) หรือ ‘เพื่อนของประชาชน’ ที่ตัวเขาเองเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
งานเขียนชวนปลุกระดมเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่คอยโหมให้ไฟแห่งโทสะของผู้คนที่มีต่อชนชั้นปกครองนั้นลุกโชน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นกระบอกเสียงของผู้ถูกกดขี่ และเป็นศัตรูตัวฉกาจของฝ่ายตรงข้ามที่หมายเอาชีวิตเขา
แต่อนิจจา…ความตายของเขากลับเกิดขึ้นจากฝีมือของผู้ที่ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกันนี้เอง
Jean-Paul Marat by Joseph Boze, 1793
หลังจากที่เดินมาราว ๆ สิบห้านาที ผมก็มาถึงสถานที่ที่เป็นจุดหมายของเราในวันนี้ บ้านของมาราเป็นที่รู้กันดีว่าเปิดต้อนรับสหายร่วมอุดมการณ์เสมอ
แต่ในเวลานี้บานประตูถูกแง้มออกอย่างลังเล
ผมส่งจดหมายแนะนำตัวให้สาวใช้ผู้มีสีหน้าวิตกกังวลถือไปแจ้งเจ้าของบ้าน ไม่นานนักผมก็ได้มาอยู่ในบริเวณลานบ้านแห่งนี้
‘ซีโมน’ คู่รักหม้ายของมารายังคงอยู่ในชุดไว้ทุกข์ หลังจากอธิบายแกมขอร้อง ผมจึงได้ก้าวเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ปูพื้นด้วยอิฐ ผนังวอลล์เปเปอร์ที่เก่าคร่ำคร่ามีแผนที่ประเทศฝรั่งเศสแขวนอยู่ กลิ่นอายความตายยังคงอ้อยอิ่งตกค้างอยู่ในห้องจนสัมผัสได้
กลางห้องนั้นคือพื้นที่ว่าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอ่างอาบน้ำรูปทรงคล้ายรองเท้าบู๊ตตั้งอยู่ พร้อมด้วยลังไม้และแผ่นกระดานที่วางพาดเพื่อใช้แทนโต๊ะทำงาน
“คุณมาช้าไปนะ พวกเขามาเอามันไปแล้วล่ะ”
ซีโมนเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ แต่แฝงแววขมขื่น
“นั่นไม่สำคัญหรอกครับ ผมมาที่นี่เพื่อเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับคุณมากกว่า”
“ทุกเรื่องที่ฉันรู้ ก็บอกตำรวจไปหมดแล้ว และตอนนี้หัวของผู้หญิงคนนั้นก็หลุดจากบ่าไปแล้วด้วย คุณยังอยากจะรู้อะไรอีก”
ดวงตาคู่นั้นฉายแววแข็งกร้าวขึ้นมาเมื่อเอ่ยถึงผู้ปลิดชีพคนรักของเธอ
ผมหยิบสมุดเล็กที่ใช้บันทึกข้อมูลของคดีขึ้นมาจากกระเป๋าเสื้อเพื่อทบทวนอีกครั้ง ส่วนถัดมาของหน้ากระดาษนั้นระบุถึงสิ่งของ และชื่อของบุคคลหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง
หลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ :
มีดทำครัว กระดาษ จดหมาย ปากกาขนนก
ผู้ก่อเหตุ :
ชาร์ล็อต กอร์แด (Charlotte Corday)
มีดทำครัวความยาว 5 นิ้วเปื้อนเลือด และปากกาขนนกของมารา
จดหมายแนะนำตัวของชาร์ล็อต กอแดร์ ที่เรียกร้องขอพบมารา มีใจความว่า "The Thirteenth of July, 1973 Marie-Anne Charlotte Corday to citizen Marat. Given that I am unhappy, I have a right to your help."
“ขอประทานโทษเถิดครับมาดาม ผมรู้ว่านี่เป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคุณ แต่ช่วยเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ผมทราบจะได้ไหมครับ”
ความเงียบชั่วอึดใจหนึ่งเข้ามาปกคลุม ก่อนที่เธอจะถอนหายใจและเริ่มเล่าเรื่องราวออกมา
“อย่างที่คุณคงจะทราบดีว่าสุขภาพของเขานั้นไม่สู้ดีเท่าไร…”
อาการป่วยที่เธอพูดถึงนี้ เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงโรคผิวหนังของมารา ว่ากันว่าเขาติดเชื้อบางอย่างมาตั้งแต่ช่วงต้นของการปฏิวัติที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในท่อน้ำทิ้ง นั่นทำให้ผิวหนังของเขาเป็นผื่นอักเสบเรื้อรัง
ทางเดียวที่จะพอบรรเทาอาการระคายเคืองอันสุดแสนจะทรมานนี้คือการแช่น้ำเย็นที่ผสมยาและสมุนไพร ต่อมาอาการนี้ได้ลุกลามถึงขั้นที่เขาเลิกออกมาพบปะผู้คนในที่สาธารณะ และใช้เวลาส่วนใหญ่ในอ่างอาบน้ำที่บ้านแทน
ลังไม้และแผ่นกระดานถูกดัดแปลงเป็นโต๊ะทำงานอย่างง่าย ๆ เหนืออ่าง เก้าอี้ถูกจัดวางไว้ใกล้ ๆ เพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน
ภาพของชาร์ล็อต กอร์แดร์ วาดตามคำขอสุดท้ายของเธอไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกประหาร / วาดโดย Jean-Jacques Hauer
“ผู้หญิงคนนั้นมาที่บ้านนี้ถึงสามครั้งในวันนั้น สองครั้งแรกเราปฏิเสธเธอไป แต่ครั้งที่สามเธอมาพร้อมจดหมายแนะนำตัว บอกว่าเธอมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแผนการของพวกกบฎที่เตรียมจะก่อการร้ายในเมืองก็อง”
“อา…นั่นคงจะเพียงพอที่ทำให้เธอได้เข้ามานะครับ”
“มาราตื่นเต้นกับเรื่องนี้มาก เขาสั่งให้ฉันเรียกผู้หญิงคนนั้นเข้ามาพบทันที แม้ว่าจะไม่ชอบใจแต่ฉันก็ขัดอะไรไม่ได้”
“ขอประทานโทษอีกครั้งนะครับ แต่คุณพอจะทราบไหมครับว่าหลังจากที่เธอเข้ามาพบกับเขาในห้องนี้แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
2
ริมผีปากของซีโมนสั่นระริก มือของเธอนั้นประสานและบีบเข้าด้วยกันด้วยความกังวล
“มีอะไรบางอย่างในตัวเธอที่ฉันไม่ไว้ใจ จึงคอยฟังอยู่ด้านนอก เธอนั่งอยู่ตรงนั้นและหลอกล่อเขาด้วยรายชื่อของฌีรงแด็งที่อ้างว่าเตรียมก่อการร้าย”
จากข้อมูลที่ผมมีระบุว่าชาร์ล็อต เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนฝ่ายฌีรงแด็ง (Girondin)
แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรฌากอแบ็ง (Club des Jacobins) หรือ ‘สหายของเสรีภาพและความเสมอภาค’ ที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์เฉกเช่นเดียวกันกับฝ่ายลามงตาญ (La Montagne) ที่มาราสนับสนุน แต่สองขั้วอำนาจนี้ก็มีความเห็นไม่ตรงกันซะทีเดียว
ฝ่ายลามงตาญที่มีแนวคิดซ้ายจัดนั้นเรียกร้องการปฏิวัติด้วยความรุนแรง และมักจะใช้กิโยตีนเป็นเครื่องมือในการตัดสินความยุติธรรม และยังลามไปถึงการกวาดล้างพวกฌีรงแด็งที่ไม่เห็นด้วย
ภาพชาร์ล็อต กอร์แดร์ ของ Paul Jacques Aime Baudry ในปี 1860 ที่นำเสนอภาพของเธอในอีกมุมที่ได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีแห่งฝรั่งเศส ผู้สังหารศัตรูของการปฏิวัติ สื่อนัยยะโดยตำแหน่งการยืนของเธอด้านหน้าแผนที่ฝรั่งเศส
“เพียงสิบห้านาทีหลังจากที่เธอเข้ามา ฉันได้ยินเสียงร้องของเขา ‘Aidez-moi, ma chère amie!’…โอ้พระเจ้า ฉันยังจำได้ติดหู เสียงสุดท้ายที่เขาเรียกหาฉัน แต่ฉันกลับช่วยเขาไว้ไม่ทัน…”
ดวงตาของซีโมนเริ่มแดงก่ำ แต่เธอยังคงพูดต่อไป
“ขณะที่คนรักของฉันนอนสิ้นใจอยู่ในอ่างน้ำที่เต็มไปด้วยเลือด ผู้หญิงคนนั้นทิ้งมีดคาไว้บนอกของเขาและไม่สนใจจะหนีเลยสักนิด ราวกับงานยมฑูตของเธอได้เสร็จสิ้นลงแล้ว”
“ยมฑูตที่จบงานด้วยความตายของตนเอง”
ผมกล่าวประโยคนี้พร้อมนึกถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเพียงสี่วันหลังจากความตายของมารา ก่อนที่ศีรษะของชาร์ล็อต กอร์แด จะกลิ้งออกมาจากแรงคมมีดของกิโยตีน คำพูดของเธอที่ทิ้งไว้คือ
‘มารากำลังพาฝรั่งเศสหลงผิด ฉันฆ่าคนไปหนึ่งคนเพื่อช่วยคนอีกนับแสน’
เพียงแต่เธอจะรู้ว่าความตายที่เธอมอบให้บุคคลหนึ่งเพื่อหวังจะยุติการเกิดสงครามกลางเมืองนั้น จะนำไปสู่เหตุการณ์แบบไหน เธออาจจะเลือกรักษาชีวิตตนเองเอาไว้ก็เป็นได้
…แต่เกมการเมืองไม่เคยปราณีผู้ใด
ผมสัมผัสมือกับซีโมน เอ่ยคำลาและขอบคุณเธออย่างสุดซึ้งในการต้อนรับและพูดคุยในบ่ายวันนี้
ก่อนที่ผมจะก้าวเท้าออกจากประตูบ้าน เสียงหนึ่งดังขึ้นด้านหลัง
“สันติภาพ”
“ครับ?”
ซีโมนสบตาผม พร้อมเอ่ยคำพูดด้วยน้ำเสียงที่ปวดร้าว
“ผู้หญิงคนนั้น บอกว่าเธอทำไปเพื่อสันติภาพ…คุณคิดว่าชาวฝรั่งเศสจะได้พบกับสันติภาพจริงไหม”
ผมหยุดนิ่งครู่หนึ่ง ก่อนจะส่งยิ้มเพื่อปลอบประโลมให้กับเธอ
“สันติภาพ…จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อเวลานั้นมาถึงครับมาดาม”
ความรู้สึกที่หนักอึ้ง ทำให้ฝีเท้าของผมช้าลงกว่าขามา แต่ยังมีบุคคลอีกผู้หนึ่งที่ผมต้องการพบ
ในที่สุดผมก็มาถึงจุดหมายแห่งที่สอง นั่นก็คือคาเฟ่เก่าแก่ที่มีชื่อว่า Café Le Procope ผมไม่รอช้าที่จะก้าวเข้ามา ด้วยว่าขณะนี้เป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้วแต่ยังไม่มีอาหารตกถึงท้อง บางทีผมอาจจะสั่งขนมสักชิ้นสองชิ้นพร้อมกับกาแฟให้สมองกระปรี้กระเปร่าสักหน่อย และอีกอย่างคือผมได้ข้อมูลมาว่าที่นี่มักเป็นสถานที่นัดพบกันของ ‘เขา’ และสหายร่วมอุดมการณ์
โชคเข้าข้างผม ทันทีที่ก้าวเข้ามาในร้าน ผมก็เห็นเขานั่งอยู่ที่นั่น
“สวัสดียามบ่ายครับ มองซิเออร์ พอจะมีเวลาพูดคุยกับผมสักครู่ไหมครับ”
ภาพ Self-Portrait ของฌัก-หลุยส์ ดาวีด (1794)
ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David) ศิลปินผู้มีชื่อเสียงและสหายของนักปฏิวัติละสายตาจากสมุดสเก็ตช์ตรงหน้าขึ้นมามองผมด้วยความฉงน
ผมเอ่ยแนะนำตัว พร้อมออกปากว่าเป็นสหายที่ชื่นชอบผลงานศิลปะของเขา โดยเฉพาะงานล่าสุดที่ถ่ายทอดความรู้สึกในช่วงเวลาแห่งความมืดมนนี้ผ่านร่างอันไร้ชีวิตของชายผู้ต่อสู้เพื่อการปฏิวัติ
“แสงเงาที่มีพลังของภาพนี้ ชวนให้นึกถึงงานของบรมครูอย่างคาราวัจโจ (Caravaggio) ส่วนท่าทางของมารา…ขออภัยที่พูดตรง ๆ…เป็นความตายที่ดูสง่างาม ต่างจากเหตุการณ์ที่ผมได้ฟังมาพอดูนะครับ”
ภาพ The Entombment of Christ โดย Caravaggio (1603-1604)
สายตาของดาวีดที่จ้องตรงมาดูแข็งกร้าว แต่เมื่อไม่พบท่าทีที่มุ่งร้ายจากผม เขาก็ถอนใจก่อนจะกล่าวออกมา
“สหายเอ๋ย…ท่านมีความเชื่อในมรณสักขีไหม”
ผมพยักหน้าเป็นเชิงรับ มรณสักขี หรือ Martyr คือบุคคลที่พลีชีพเพื่อความเชื่อทางศาสนา แม้ผมจะไม่เคยพบมรณสักขีตัวจริงเลยสักครั้ง แต่ชื่อเสียงของพวกเขาล้วนเป็นที่ประจักษ์ สร้างความเลื่อมใส และกุมจิตใจที่ศรัทธาของผู้คน
“ชายในภาพวาดที่ท่านเห็นนั้น ไม่ต่างจากมรณสักขีที่เคยมีมา ในประวัติศาสตร์ยุคของเราที่ถูกเขียนขึ้นด้วยเลือดเนื้อและเถ้าถ่าน...มาราคือผู้ที่สละชีพและอุทิศตนเพื่อการปฏิวัติ เพื่อเสรีภาพของประชาชน และเพื่อประเทศฝรั่งเศสของเรา”
“มรณสักขียุคใหม่”
ผมพึมพำกับตัวเอง ทันใดนั้นภาพของมาราก็ซ้อนทับขึ้นมากับภาพหนึ่งในความคิดของผม “ปีเอต้า” ร่างที่ไร้ชีวิตของพระเยซูในอ้อมแขนของพระแม่มารี ท่าทางและใบหน้าของพระองค์ดูสงบนิ่งไร้ความเจ็บปวดทรมาน ภาพความตายของมารานี้ ดูช่างมีความคล้ายคลึงกับผลงานชิ้นเอกของมิเคลันเจโล (Michelangelo) อย่างน่าประหลาด
งานแกะสลัก Pieta โดย Michelangelo (1498-1499)
"แต่ไม่ใช่แค่นั้น..." เขาลดเสียงลง
"เขาผู้นี้คือสหายของผม"
ผมนึกถึงตัวอักษรบนลังไม้ที่มีชื่อของเขาและมารา รวมถึงพื้นที่ว่างด้านบนของภาพ ในความมืดมิดแม้จะไม่มีสรวงสวรรค์ หรือเทวดามารับดวงวิญญาณของผู้ที่สิ้นใจ แต่เบื้องบนนั้นยังมีแสงสว่างที่อบอุ่นเรืองรองรออยู่
The Death of Marat (1793) โดย Jacques-Louis David / ภาพของมาราถูกวาดขึ้นให้งดงามกว่าความเป็นจริง ผิวหนังเรียบเนียนปราศจากผื่นพุพอง บาดแผลที่อกมีเพียงเล็กน้อย เขาเลือกที่จะวาดมีดตกอยู่ที่พื้นแทนการปักหน้าอก มีเพียงน้ำในอ่างที่เปลี่ยนเป็นสีแดงและรอยเลือดในจุดต่าง ๆ ที่เป็นร่อยรอยของการถูกสังหาร
ข้อความบนกล่องไม้ที่เหมือนสารแสดงมิตรภาพระหว่างมาราและดาวีด ด้านล่างคือปีที่ถูกบันทึก "Year - 2" ถูกใช้แทนค.ศ. 1793 หมายถึงปีที่สองของการปฏิวัติ
บริกรเดินมาที่โต๊ะของเราพร้อมแก้ว 2 ใบ และไวน์ชั้นดีขวดหนึ่ง พร้อมเอ่ยว่า
"มิตรภาพจากสุภาพบุรุษโต๊ะนั้นครับ"
ผมมองตามทิศทางที่เขาบอก พบชายกลุ่มหนึ่งท่าทางเป็นมิตร ชูแก้วขึ้น ผมโค้งศีรษะให้พวกเขา ขณะที่บริกรรินไวน์ ส่วนดาวีดนั้นส่ายหน้าและแตะที่แก้วของตนเองเป็นสัญญาณปฏิเสธ
"ชองเต้! (Santé) ดื่มให้กับสุขภาพครับ" ผมยกแก้วขึ้นดื่ม ทันทีที่ไวน์ไหลลงคอ ความรู้สึกประหลาดบางอย่างก็ก่อตัวขึ้น แววตาของดาวีดที่ผมมองเห็นผ่านแก้วไวน์นั้นกลับดูเย็นชาจนน่าขนลุก
"สหายเอ๋ย...ในเวลาเช่นนี้ เราไม่มีทางรู้ว่าผู้ใดคือมิตรหรือศัตรูจนกว่าความจริงนั้นจะปรากฎ ดูเหมือนว่าสุภาพบุรุษโต๊ะนั้นจะไม่ใช่มิตรเสียแล้วล่ะ..."
 
เสียงของเขาจางหายไปพร้อม ๆ กับความมืดมิดที่แผ่เข้ามาปกคลุมสติของผมให้ดับวูบลง...
"You will not be able to stay home, brother
You will not be able to plug in, turn on and cop out
You will not be able to lose yourself on skag
And skip out for beer during commercials, because
The revolution will not be televised"
เสียงบทกวีของ Gil Scott-Heron พร้อมด้วยภาพข่าวความรุนแรงในหน้าจอทีวีที่ผมเปิดค้างไว้ ปลุกให้ผมตื่นจากความฝันในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส
แม้ว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงกว่า 200 ปีแล้ว แต่ความรู้สึกนั้นยังคงอ้อยอิ่งอยู่ในความคิดของผม เช่นเดียวกับที่ Scott-Heron ได้กล่าวไว้ในปี 1990s
"หากคุณต้องการจะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือความคิด เพราะการปฏิวัติที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะเรียนรู้ได้ผ่านหน้าจอทีวี"
 
The revolution will not be televised
The revolution will be no re-run, brothers
The revolution will be live.
🎵 ฟังเพลง "The Revolution Will Not Be Televised" (1971) โดย Gil Scott-Heron ได้ที่นี่👇
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ
Photo:
Wikimedia Commons

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา