31 ส.ค. 2020 เวลา 13:25 • ไลฟ์สไตล์
คุณคิดว่าเงินทุกบาท ทุกสตางค์ มีค่าไหมครับ?
มันคือเงินนี่ ก็ต้องมีค่าอยู่แล้วสิ
แล้วคิดว่าเงินหนึ่งบาท มีค่าเท่ากับ หนึ่งบาทไหมครับ?
เกือบถูกครับ แต่มันก็ไม่เป็นอย่างที่คุณคิดซะทีเดียว เพราะบางทีคุณก็ให้ค่ามันไม่เท่ากัน!!
มันจะเป็นไปได้ยังไง เงินหนึ่งบาทก็คือเงินหนึ่งบาท เงินร้อยบาทก็ต้องคือเงินร้อยบาทสิ ค่าของมันก็ชัดเจนในตัวอยู่แล้วนะ
ภาพโดย Pixabay จาก Pexels
ขอยกตัวอย่างสุดคลาสสิคให้พิจารณากันครับ
ช่วงวันหยุดยาวคุณอยากจะพักผ่อนสักหน่อย คุณเห็นราคาตั๋วหนัง 100 บาท ไม่ถูก ไม่แพง จนเกินไป จึงตัดสินใจไปดูหนัง
สมมติว่า คุณซื้อตั๋วเสร็จสรรพ ขอเดินเล่นรอเวลาหนังฉายสักพัก ปรากฏว่า คุณดันทำตั๋วหนังหาย!! แม้จะเจ็บปวดใจเหลือเกิน แต่คุณจะซื้อตั๋วใหม่ไหมครับ?
คุณมีแนวโน้มจะไม่ซื้อตั๋วใหม่อีกรอบ เพราะรู้สึกว่า “ซื้อตั๋วไปแล้ว จะไม่ซื้ออีกแล้ว ดันโชคร้ายทำหาย ไม่ต้องดูก็แล้วกัน”
แล้วสมมติว่า ระหว่างเดินทางมาโรงหนัง ก่อนจะซื้อตั๋ว คุณดันทำเงินหายไป 100 บาท คุณจะยังซื้อตั๋วหนังไหมครับ?
คราวนี้คุณเต็มใจที่จะซื้อตั๋วหนังอยู่ดี แม้เงินจะหายไป 100 บาทก็ตาม คุณรู้สึกว่า “เงิน 100 นึงถือว่าฟาดเคราะห์ไปก็แล้วกัน เอาล่ะ ซื้อตั๋วแล้วเข้าไปดูหนังให้สนุกดีกว่า”
แต่เดี๋ยวก่อน!! ถ้ามองที่มูลค่าเงิน สองกรณีนี้ไม่ต่างกันเลย คุณสูญเงินไปฟรี ๆ 100 บาทเหมือนกัน เงินมูลค่าเท่ากันเป๊ะ แต่ดูเหมือนใจเราจะให้ค่ามันไม่เท่ากันซะได้
แล้วทำไมผลลัพธ์ของเหตุการณ์จึงออกมาเป็นแบบนี้?
มารู้จักกับ “mental accounting” กันดีกว่า
สมัยเป็นเด็ก คุณเคยเก็บเงินกันไหมครับ? สมมติว่าเคยก็แล้วกัน ลองนึกถึงเหยือกเหล่านี้ให้ดี
ภาพโดย Danny H. จาก Pixabay
หยอดเงินใส่เหยือกแรกเอาไว้กินพิซซ่า
หยอดเงินใส่อีกเหยือกเอาไว้เล่นเกม
หยอดเงินใส่อีกเหยือกเอาไว้ซื้อของขวัญให้แฟน
หยอดเงินใส่อีกเหยือกเอาไว้ใช้หนี้ที่เคยยืมคุณพ่อคุณแม่ไปซื้อของเล่น
เงินแต่ละเหยือกจะไม่ยอมเอามาปนกันเด็ดขาด!!
แม้ว่าแม่จะทวงเงินค่าของเล่นมาสามเดือนแล้ว และคุณก็มีเงินเก็บพอจะใช้หนี้แม่ได้แล้ว แต่มันอยู่คนละเหยือกกัน!!
“mental accounting” ให้อารมณ์นี้เลยครับ แต่ทั้งหมดมันเกิดอยู่ในใจคุณ
อย่างกรณีตั๋วหนังเมื่อสักครู่ กรณีแรกคุณรู้สึกว่าเงินจาก “เหยือกดูหนัง” ถูกใช้ไปแล้ว เพราะเอาไปซื้อตั๋วจริง ๆ แล้ว
กรณีที่สอง เงินจาก “เหยือกดูหนัง” ยังไม่ถูกใช้ ไอ้ที่หายไป 100 นึงนะเหรอ เป็นเงินจากเหยือกไหนก็ไม่รู้ “แล้วไม่ต้องไปรู้มันหรอกว่าเหยือกไหน ดูหนังให้สนุกดีกว่า”
เหยือกเหล่านี้ไม่มีอยู่จริงครับ แต่มันซ่อนอยู่ในใจ เหยือกแต่ละใบถูกแยกไว้ในใจเป็นที่เรียบร้อยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
คุณขอค้างจ่ายหนี้บัตรเครดิตไปก่อนอีกเดือน ทั้ง ๆ ที่มีตังค์จ่ายนะ ก็ตังค์ส่วนนี้มันอยู่ใน “เหยือกค่าออกทริป” หยุดยาวสิ้นเดือนนี้นี่
ปีนี้คุณได้โบนัสเยอะหน่อย เอาโบนัสไปเที่ยวต่างประเทศดีกว่า เดี๋ยวค่อยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ ค่าบ้านก็ได้ เพราะนี่คือตังค์ใน “เหยือกโบนัส” แล้วโบนัสก็มีไว้ให้รางวัลตัวเองนี่นา
ถ้าผมถูกหวย ผมจะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณยาว ๆ แล้วจะแบ่งค่าน้ำแดงให้เจ้าแม่สักครึ่งขวด สาธุ ๆ
สมมติผมไปอธิษฐานกับเจ้าแม่ไว้แบบนี้ ปรากฎว่าผมถูกหวยจริง!! ได้เงินมาหลักล้าน ผมคิดว่าหลังเกษียณสบายแน่แล้วเรา
เผลอแป๊บเดียว เงินหมดแล้วครับ เป็นเพราะผมลืมเอาไปใส่ “เหยือกเงินออมหลังเกษียณ” ที่อยู่ในใจแน่เลย
ดูไปดูมา เหมือนเป็นปัญหาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่มันเกิดไปแล้วครับ ทีนี้จะแก้ปัญหายังไงดี?
ผมคงแนะนำได้แค่ว่า ให้มองเงินเป็นเงิน พยายามอย่าไปแยกเหยือก แล้วใช้เงินตามประโยชน์ที่จะได้รับมากที่สุด
เช่น ได้โบนัสมาน่าจะเอาไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตก่อน ไม่งั้นโดนดอกเบี้ยบานเบอะแน่ ๆ
แต่มันก็ยากอยู่นะ ใจคนก็อย่างนี้แหละครับ
อ้างอิง
บางทีโลกก็เปี่ยมไปด้วยเหตุผลเหมือนกันนะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา