2 ส.ค. 2020 เวลา 03:47 • ประวัติศาสตร์
น้ำพระเนตร (น้ำตา)ในวาระสุดท้ายของรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ตลอดพระชนม์ชีพในช่วงการศึกษาของพระองค์ ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี
จึงทรงมีมุมมองนิยมการมีคู่ครองเพียงคนเดียวตามแบบชาวตะวันตก พระองค์ทรงได้นิพนธ์ลงในหนังสือพิมพ์ “ดุสิตสมิธ” ให้กับคอลัมน์ “โคลนติดล้อ” ถึงมุมมองของพระองค์เกี่ยวกับการมีคู่ครองหลายคน รวมทั้งทรงอธิบายถึงเหตุผลในการอุปการะเลี้ยงดูไม่ทั่วถึง
เหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเชื่อว่าจะหากต้องพัฒนาประเทศให้เท่าทันตะวันตก ต้องเปลี่ยนความเชื่อหลายอย่างของคนในประเทศ เพราะหากผู้ชายชาวสยามยังนิยมมีภรรยามากดั่งในอดีตที่ผ่านมา อาจจะดูแลครอบครัวได้ไม่ทั่วถึงและอาจมีปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นในภาคหน้า
นอกจากพระองค์จะทรงออกกฎหมายให้ชายสยามมีภรรยาได้เพียงหนึ่งคนแล้ว ยังทรงริเริ่มให้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมายเพื่อป้องกันการมีภรรยาหลายคน
แต่อย่างไรแล้วพระราชวิตกของพระองค์ในการมีพระราชโอรสเพื่อสืบต่อพระหน่อองค์แรกยังคงอยู่ในพระหฤทัยมาโดยตลอด เพราะหลังจากที่พระองค์ได้ผ่านการอภิเษกมาถึงสามครั้งแล้ว ก็ยังไม่มีพระประสูติในพระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์ใดเลย
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย, สมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
และพระราชวิตกได้เพิ่มยิ่งขึ้น เมื่อพระอนุชาธิราชทั้งสามพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทิวงคตไปในปี พ.ศ.2463 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2466 และสมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทิวงคต ใน พ.ศ.2467 เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ยิ่งทำให้พระองค์ทรงอยู่ในห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศก
แต่แล้วข่าวที่น่ายินดีก็ได้บังเกิดขึ้นในปีถัดมา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในปี พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหฤทัยโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมเหสีจากการอภิเษกสมรสครั้งที่ 4 ได้มีครรภ์และกำลังจะครบกำหนดประสูติในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง
พระองค์จึงทรงเตรียมการพระราชทานพระนามเผื่อไว้ทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดา โปรดเกล้าฯให้จัดเตรียมงานขึ้นในเดือนตุลาคม รวมทั้งควบคุมการซ้อมพิธีสมโภชนี้ด้วยพระองค์เอง
แต่แล้วเหตุการณ์บางอย่างได้เกิดขึ้น....
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เป็นวันฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีวันนั้นพระองค์ทรงดูอ่อนเพลียกว่าปกติและคืนนั้นเองก็ทรงประชวรพระวาโย (เป็นลม) และทรงบิดพระวรกายเพราะมีพระอาการปวดพระนาภี จากแผลเก่า อันเป็นรอยที่เกิดจากการผ่าตัดพระโรคไส้ติ่งอักเสบเมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ขณะทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 แพทย์หลวงเริ่มถวายการรักษาอย่างเร่งด่วนหลังจากพระองค์ทรงพระอาเจียนและเกิดแผลเป็นปูดขนาดใหญ่บริเวณพระนาภี
เมื่อเกิดภาวะการอุดตันของพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) จนทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงพระอันตะผิดปกติ รวมทั้งเกิดการอักเสบติดเชื้อขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระโรคเบาหวาน
ต่อมาจึงเกิดหนองแตกทะลุพระอันตะเข้าไปในโพรงพระนาภี แพทย์หลวงได้ถวายการรักษาจนพระอาการดีขึ้นโดยวิธีระบายหนองออกด้วยการผ่าตัดและใส่ท่อระบายไว้แต่การอักเสบติดเชื้อยังคงดำเนินต่อไป
ในสมัยนั้นยังไม่มียาปฎิชีวนะที่ดีเหมือนสมัยนี้ ประกอบกับพระโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพดั่งเช่น อินซุลิน ทำให้การอักเสบรุนแรงขึ้น จนกระทั่งเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
เป็นเวลากว่า 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ที่ทีมแพทย์หลวงได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ
จนในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เจ้าฟ้าประชาธิปก(รัชกาลที่ 7) ทรงปรึกษาทีมแพทย์ถึงพระอาการที่แท้จริงว่าจะทรงมีพระชนม์ชีพได้นานเท่าไหร่ หากจะนับเป็นชั่วโมงได้นานเพียงใด
คำกราบบังคมมูลจากทีมแพทย์ คือ "ข้าพเจ้าคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง” และพระอาการก็ทรุดหนังลงมากในช่วงเที่ยงวัน แต่ขณะนั้นพระองค์ทรงปีติขึ้นมา เมื่อทรงได้ยินเสียงปืนใหญ่บอกเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเข้าพระราชหฤทัยว่าเป็นการยิงสลุตถวายแก่เจ้าฟ้าชายที่พึ่งประสูติใหม่ แต่เมื่อทรงทราบว่าไม่ใช่จึงทรงนิ่งอีกครั้ง
ยิงสลุต : https://www.thairath.co.th/news/royal/1860611
จนกระทั่งทรงได้ยินเสียง ชาวประโคม สังข์ แตร ปี่พาทย์ ตามราชประเพณีแทนเสียงยิงสลุต ก็ทรงทราบว่าเจ้าฟ้าประสูติใหม่เป็นพระราชธิดา ในเวลานั้นได้มีบันทึกจากนายแพทย์เมลเดลสัน บันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า
“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีความรู้สึกว่าทรงหายเป็นปกติ ทรงมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย และหากจะมีประสูติกาลครั้งต่อไป คงจะเป็นพระราชโอรส..”
ต่อมาพระอาการจะทรุดหนักลงอีกครั้งโดยพบชีพจรเต้นจนไม่สามารถนับครั้งได้
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีสภาพพระอาการเกือบจะสวรรคตแล้ว ทีมแพทย์ได้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่าจะทรงทอดพระเนตรพระราชธิดาหรือไม่ พระองค์ทรงอ่อนแอกว่าที่จะตอบได้ แต่น้ำพระเนตรได้ไหลซึมออกมาและทรงพยักพระพักตร์ตอบรับแสดงถึงพระราชประสงค์
พระราชธิดา
ในที่สุดพระองค์ทรงพยายามหันพระพักตร์มาสู่พระราชธิดาและทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสเจ้าฟ้า แต่ก็ทรงยกไม่ขึ้น เพียงแค่ทอดพระเนตรพร้อมน้ำพระเนตรที่ไหลซึมออกมา เจ้าพระยารามฯจึงเชิญพระหัตถ์วางบนพระอุระ (หน้าอก บริเวณหัวใจ)ของพระราชธิดา......
นั่นคือครั้งสุดท้ายที่พระองค์ท่านทรงทอดพระเนตรพระราชธิดา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหายพระทัยลำบากมากขึ้นและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 เวลา 01.45 น. ณ พระที่นั่งจักพรรดิพิมาน ทรงมีพระชนมพรรษาปีที่ 46 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 16 พรรษา
1
พระราชธิดาพระองค์ดังกล่าว คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดวงแก้วอันประเสริฐแห่งรัชกาลที่ 6
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พร้อมด้วยพระราชธิดา
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ อีกทั้งทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ ในตลอดพระชนม์ชีพเฉกเช่นพระบรมราชชนก
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
และเมื่อ 85 ปี ผ่านไป ภายหลังวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดวงแก้วจึงได้กลับสู่อ้อมอกพ่ออีกครั้ง สู่สวรรคาลัย......
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้าได้กลับสู่อ้อมพระหฤทัยของพระราชบิดา ทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริพระชันษาได้ 85 ปี
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
ติดตามผ่านช่องทาง Facebook⏬
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า โดยคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ และ ดร.ชัชพล ไชยพร
- รักในมุมลับ โรม บุนนาค
- ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต โดย รศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช
โฆษณา