3 ส.ค. 2020 เวลา 09:14 • ประวัติศาสตร์
รถถังมีชีวิต EP2/2
3 ปัจจัยที่เสกให้ช้างบรรทุกปืนใหญ่ได้ เป็นไปได้อย่างยิ่งน่าจะมาจาก :
ปัจจัยที่ 1 ตำราคชศาสตร์
อินเดียโบราณ เป็นแหล่งใหญ่ของช้างป่า คนอินเดีย มีความสามารถใช้งานช้าง รวมถึงการฝึกช้างเข้าร่วมรบในสงคราม
คชศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาไตรเพท ตำราชั้นสูงของศาสนาพราหมณ์ กลุ่มชนชั้น
พราหมณ์ในอินเดีย ที่เข้ามาดินแดนอุษาคเนย์ เป็นผู้ถ่ายทอดตำราคชศาสตร์ให้แก่กลุ่มชนอาณาจักรโบราณต่างๆ อันได้แก่ ชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง ชาวล้านช้าง
ชาวไทยละว้า ชาวกูย ชาวขอม ฯลฯ
สันนิษฐานมาว่า ตำราคชศาสตร์ น่าจะเข้ามาในดินแดนแถบนี้ ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย
เป็นราชธานี วิชาหัดใช้ช้างเข้าสงคราม วิชาจัดกระบวนทัพช้าง ฯลฯ น่าต้องกระทำกันมาเป็นระเบียบแบบแผนแล้วตั้งแต่สมัยไทยละว้า
ต้นตำราช้างจากกลุ่มพราหมณ์ เป็นภาษาสันสกฤต ผู้นำอาณาจักรโบราณใด
ได้ครองตำราไว้ ก็จะแปลไว้เป็นภาษาพื้นเมืองของตน และหนึ่งในนั้นคือ
ตำราคชศาสตร์ ภาษาขอมโบราณ
ชาวกูย จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มคนท้องถิ่นอีสานใต้ ที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องการฝึกช้าง เลี้ยงช้าง เชื่อกันว่า บรรพบุรุษที่ถ่ายทอดวิชาเลี้ยงช้างให้มาอย่างต่อเนื่อง
สืบเชื้อสายมาจากชาวขอมโบราณ
พระราชพงศาวดารได้บันทึกว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ -๑๙ ที่สยามยกกองทัพไปปราบปรามขอมหรือเขมร ในสมัยสมเด็จพระราเมศวร และอีกครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 1964 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๒ (เจ้าสามพระยา)
ชาวสยามน่าจะได้รับตำราคชศาสตร์ จากพราห์มผู้เชี่ยวชาญวิชาช้างจำนวนมาก
ที่ให้อพยพมาจากเขมร หลักฐานสำคัญชัดเจนอีกอย่างคือ ในตำราคชศาสตร์
ยังพบมีคำภาษาเขมรปนอยู่เป็นจำนวนมาก และคำบางคำน่าจะมีอายุถึงสมัย
เมืองพระนครของของโบราณ
ตำราคชศาสตร์ แบ่งเป็น ๒ คัมภีร์ คือ
1 “ตำราคชลักษณ์” พรรณนาว่าด้วยการดูรูปพรรณสัณฐานช้าง
ลิลิตยวนพ่าย ได้ระบุให้เห็นว่า การจัดกองทัพช้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องตำราคชลักษณ์
คังไคยหัตถี สมุดภาพตำราคชลักษณ์ ( บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒)
2. “ตำราคชกรรม” ตำราที่รวบรวมเวทมนตร์คาถา กระบวนการจับช้าง ขี่ช้าง รักษาช้าง และบังคับช้าง ฯลฯ พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ในวิชาคชกรรม
เป็นอย่างยิ่ง คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และ ตำราคชกรรมนี้เอง เชื่อกันว่า แนวทางหลัก ๆ ที่ใช้ทั้งเวทย์ ทั้งมนต์ และ
การฝึกฝน ให้ช้าง เป็นช้างศึก และ ฝึกช้างศึก เป็น ช้างปืนใหญ่ .
ปัจจัยที่ 2 ใครฝึก
“นายช้าง นายม้า นายตีน”
 
ในบันทึกมังรายศาสตร์ ระบุว่า กรุงสุโขทัย มีการจัดเหล่า เหล่าพลช้าง สำหรับฝึก
ช้างเข้าสนามรบ เหล่าพลช้าง เป็น 1 ใน 3 เหล่าพลทหารของกองทัพกรุงสุโขทัย:
ชั้นสูง ได้แก่ เหล่าพลช้าง เรียกว่า นายช้าง
ชั้นกลาง ได้แก่ เหล่าพลม้า เรียกว่า นายม้า
ชั้นต่ำ ได้แก่ เหล่าพลราบ เรียกว่า นายตีน
“จตุรงคเสนา” พลทัพ ที่จัดทัพตาม ตำราพิไชยสงครามฮินดูโบราณ
ในยุคต่อของสยาม เริ่มมีการแบ่งกำลังพลออกเป็น ๔ เหล่าสำคัญ ได้แก่ พลเท้า
พลม้า พลช้าง และพลรถ เรียก “จตุรงคเสนา”
สำหรับการจัดทัพของกองทัพกรุงศรีอยุธยา จะต้องมีจำนวน
กองช้าง 3 กอง เป็นอย่างน้อยที่สุด
พลช้าง นี้เอง คือพลทหารดูแลให้ช้างบรรทุกเสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ฝึกหัดช้างเข้าร่วมรบบุกทำลายข้าศึก ฝึกให้ช้างบรรทุกปืนใหญ่ไว้บนหลัง สามารถอดทน
ต่อเสียง แรงกระแทก และฟืนไฟควันปืน ตลอดระยะเวลาในสนามรบ
พลช้าง ยังมีหน้าที่สำคัญในการรักษาคุ้มครองเท้าช้างทั้ง ๔ เท้า ซึ่งถ้าเทียบก็
เหมือนกับสายพานตีนตะขาบของรถถัง โดยเฉพาะขาของช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนแม่ทัพ มิให้ต้องอันตรายจากคมอาวุธของข้าศึก
เพราะหากข้าศึกใช้ทหารรุกเข้าประชิดและทำร้ายขารถถังมีชีวิต ผู้นำทัพเป็น
อันตราย รถถังวิ่งต่อไปไม่ได้ในสนามรบ กองทัพก็จะพบกับความปราชัยในที่สุด
การจัดทัพสมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับงานช้าง ๆ หน่วยงานทหารหลักที่ควบคุมดูแลช้างหลวง ช้างศึก เพื่อการ
สงคราม และกิจกรรมอื่น ๆ คือ"กรมพระคชบาล"
เป็นกรมที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีกรมย่อยในสังกัดหลายกรม และ 1 ในนั้นคือ “กรมช้างปืนใหญ่”
กรมพระคชบาล มีขุนนางและไพร่พลในสังกัดจำนวนมาก (เป็นกรมที่มีอิทธิพลสูงในการเปลี่ยนขั้วอำนาจกษัตริย์ ในช่วงสมัยพระนารายณ์มหาราช)
 
ก่อนขึ้นครองราชย์ พระเพทราชา เองเคยเป็น "จางวางกรมพระคชบาล"
ตำแหน่งตามทำเนียบพระไอยการ คือ "พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์
องคสมุหะพระคชบาลจางวางขวา” มีศักดินา ๕๐๐๐ ไร่
ปัจจัยที่ 3 ด้วยรักและผูกพัน
“คนสยามใช้สัตว์โตเหล่านี้ทำงานต่างๆ มันทำงานเหมือนกันกับคนรับใช้
เช่น  ให้เลี้ยงเด็ก เป็นต้น มันเอางวงอุ้มเด็กลงในเปลไกวและกล่อมเด็กจนหลับ
และแม่ของเด็กต้องการอะไรก็สั่งให้ช้างไปหยิบมาได้”
“ชาวสยามพูดกับช้างราวกับว่าช้างนั้นเป็นมนุษย์ เขาเชื่อว่าช้างมีความรู้สึกนึกคิด
กอปรด้วยเหตุผลอันสมบูรณ์อย่างยิ่ง”
จากบันทึก ในจดหมายเหตุของนายพลฟอร์บัง และ จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ที่ได้
บันทึกถึงวิธีการที่คนสยามปฏิบัติต่อช้างอย่างอ่อนโยน
น่าจะทำให้เรารับรู้ได้ว่า ชาวสยาม มีความรู้สึก ผูกพันกับช้างที่เลี้ยงไว้ เสมือน
สมาชิกในบ้าน หรือเป็นเพื่อนกัน
แม้แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อช้างเผือก เชือกคู่บารมีไม่สบาย
พระองค์ได้ทรงแต่งคำฉันท์กล่อมช้าง เพื่อให้ช้างมีอาการทุเลาขึ้น*
ในกรมพระคชบาล มีการจ้างพลช้างที่เป็นชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงไว้ไม่น้อย
2 ชนชาตินี้ มีความเข้าใจในเรื่องช้างเป็นอย่างดี สามารถฝึกหัด และ
ควบคุมใช้ช้างเข้าสนามรบได้ดี
พูดถึงความรักและผูกพันธ์ระหว่างคนและช้าง นอกจากชาวมอญ กะเหรี่ยง คงต้องพูดถึง ชาวกูย แถบจังหวัดสุรินทร์ ที่มีความรู้สั่งสมเป็นอย่างดีเรื่องช้าง มาตั้งแต่
ครั้งบรรพบุรุษ
และนับเป็นโชคดีของพวกเราในวันนี้ ที่ยังคงได้เห็น วิถีชีวิตชาวกูยกับการเลี้ยงช้าง
ความรักและผูกพันระหว่างช้างกันคนที่หมู่บ้านช้าง จังหวัดสุรินทร์
ชาวกูย ที่มาภาพ http://www.isangate.com/isan/paothai_kui.html
หากเดินทางไปรอบหมู่บ้าน จะสังเกตเห็นได้ว่า บ้านหลายหลังที่นั่น ยังคงสร้างใน
ลักษณะโบราณคือ มีใต้ถุนสูงด้านหน้าเพื่อเอาไว้เลี้ยงช้าง
แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ ผ่านไปทุกบ้าน จะเห็นช้างอย่างน้อย 1เชือกยืนอยู่
หน้าบ้าน ช้างที่นั่นไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยง พวกเขารัก ผูกพัน และปฎิบัติต่อช้าง
เสมือนเป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว
ดังนั้น ตำราคชกรรม ระบบครูฝึก รวมถึงความรักผูกพัน ความเข้าใจระหว่างคนกับช้าง น่าจะมีผลโดยตรงหรืออย่างมากทีเดียว ที่ช่วยช้างเชือกหนึ่ง
ยอมแปลงร่างเป็น "รถถังมีชีวิต"
ยอมรับให้ปืนใหญ่ตั้งวางบนหลัง
และยอมอดทนต่อเสียง ควัน และไฟที่สุดกลัว ในระหว่างรบได้
ช้าง จึงถือเป็น สัตว์มงคล ที่มีบุญคุณยิ่ง ช่วยปกป้องผืนแผ่นดินให้พวกเรา
ได้อาศัยอยู่กินกันจนถึงทุกวันนี้ สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราจะช่วยอนุรักษ์ดูแล
อย่างสมคุณค่าของพวกเขา
แม้รถถังจริงปี 2020 ก้าวล้ำไปเท่าใดก็ตาม พลังงานที่ใช้ก็ได้รับการพัฒนา
จนมาเป็น น้ำมันดีเซล และถูกใช้จำนวนมหาศาลในการขับเคลื่อน
แต่ รถถังมีชีวิต คันนี้ เมื่อ 300 ปีก่อนพวกเขากินอะไร
ปี 2020 พวกเขายังคงกิน กล้วย อ้อย ข้าวโพด หญ้า ฯลฯ เหมือนเดิม
..........................กวีธารา..........................
.เราอยู่บนโลกใบเดียวกัน.
วันนี้ช่วงโควิท ช้างหลายเชือกอาจกำลังหิวมาก จากหลายกระแสข่าวที่
ชมรมอนุรักษ์ช้างต่างๆ ขาดรายได้หลักซึ่งมาจากนักท่องเที่ยว เพื่อมาปลูกพืช
หรือซื้ออาหารให้ช้างกิน (ช้าง 1 เชือกกินอาหารพืชพันธ์ประมาณ >150 กก./วัน)
หากชื่นชอบในบทความ ขอช่วยกันบริจาคอาหารช้าง กล้วย อ้อย ให้ช้าง
หรือจะบริจาคเป็นเงินซื้ออาหาร โดยขอให้ติดต่อไปโดยตรงได้ที่
ชมรมอนุรักษ์ช้างใดๆ ที่ท่านรูัจัก
คุณบิณฑ์ ได้มาบริจาคให้อาหารช้างที่มูลนิธิ บ้าน ช ช้างชราในช่วงโควิท
หรือที่ มูลนิธิ บ้าน ช. ช้างชรา ( Elephant World)
หรือเบอร์โทรสอบถามได้ที่ มูลนิธิ 086-3355332, 092-2566646
นายสัตวแพทย์สามารถ ประสิทธิ์ผล ประธานมูลนิธิ บ้านช.ช้างชรา ได้เคยโพสไว้ว่า
"เรามาถึงจุดนี่อีกครั้ง จุดที่ถูกทดสอบว่าเราและช้าง ทุกเชือกที่นี่จะผ่านไปได้
หรือไม่ ตอนนี้เราไม่มีอาหารให้ช้างแล้ว อาหารช้างเริ่มขาดแคลน
เพื่อต่อลมหายใจให้ช้างไทยอีกครั้ง
มูลนิธิขอรับบริจาคอาหารช้างทุกชนิด ให้ช้างได้มีอาหารกินพอมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
 เราต้องการให้ช้างยังคงอยู่ต่อไปได้
สถานการณ์นี้ หากคุณพอมี กำลัง และจิตเมตตา กรุณาช่วยช้างอีกครั้ง จักขอบ
พระคุณเป็นอย่างสูง🙏
และที่นี่ มูลนิธิบ้าน ช ช้างชรา ผู้เขียน กวีธารา ได้เคยบริจาคช่วยซื้ออาหารให้
ช้างมาแล้วในช่วงโควิทนี้ และยังคงตั้งใจนำส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายโปสการ์ด
และถุงผ้า ไปร่วมบริจาคให้ช้างอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน
ภาพช้างเด็กลิขสิทธิ์ บนโปสการ์ดและถุงผ้าของกวีธารา
กวีธารา เป็นร้านค้าแนวอนุรักษ์ ขายโปสการ์ด ถุงผ้าภาพเพ้นท์ ภาพลิขสิทธิ์
งาน Hand Made และ รับสั่งทำถ อยู่ตลาดน้ำลัดมะยมโซน 7 กทม. Line 7709601
มีบทความอื่น ๆ ที่ทางเรา กวีธารา ตั้งใจเขียน รวบรวมไว้และเนื้อหาน่าสนใจ
ไม่แพ้กันเช่นกันนะคะ
ติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/kaweetara
ช้างบรรทุกปืน #ช้างศึก #ตำราคชศาตร์ #จตุรงคเสนา #พลช้าง
#พระนารายณ์มหาราช #พระเพทราชา #ปืนใหญ่ #ชาวกูย #ชาวส่วย #รถถัง
#ช่วยช้าง #ช้างศึก #ช้างหลวง
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ได้อ้างอิง :
-จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม. 2556, หน้า 259
-บทความเรื่อง ช้างเป็นสินค้า ค้าช้าง ในสมัยอยุธยา โดย ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
-กรมช้าง, นสพ.เดลินิวส์ ,ฉบับวันที่ 8 พย. พศ. 2561 หน้า 18, อารยา ถิรมงคลจิต
-*นวนิยายชีวิตเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฟอลคอนแห่งอยุธยา โดย Claire Keeke-Fox-http://www.royin.go.th/?knowledges/กรมช้าง
-The Kuy People of Laos". Southeast Asian Peoples Research Center. Retrieved October 8, 2013.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา