3 ส.ค. 2020 เวลา 10:01 • สุขภาพ
ความรู้พื้นฐานเรื่องวัคซีน
ตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาโรคระบาดจากไวรัสโควิด คือ วัคซีน
จึงรวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 11 ข้อ ดังนี้
1. วัคซีน
ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้วหรือทำให้มีฤทธิ์อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ หรือ ชิ้นส่วนของเชื้อโรค ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะก่อให้เกิดภูมิต้านทาน (antibody) ต่อโรคนั้น ๆ
2. ขั้นตอน
การพัฒนาวัคซีนตัวหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ
2.1 สร้างวัคซีนต้นแบบ
2.2 ทดลองใช้วัคซีนฉีดในสัตว์
2.3 ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 1
2.4 ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 2
2.5 ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 3
2.6 ผลิตวัคซีนจำนวนมากให้บริการแก่ประชาชน
3. การสร้างวัคซีนต้นแบบ
ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น mRNA จึงสามารถเร่งการสร้างวัคซีนต้นแบบได้ภายใน 1-2 เดือน โดยส่วนใหญ่ แต่ละบริษัทหรือสถาบันวิจัย จะสร้างวัคซีนต้นแบบหลาย ๆ อย่าง เพื่อนำไปทดลองใช้หาแบบที่ได้ผลที่สุด
4. ทดลองใช้วัคซีนฉีดในสัตว์
เมื่อได้วัคซีนต้นแบบ ก็ทดลองนำมาฉีดในสัตว์ ที่นิยมใช้คือ หนู และ ลิง โดยทดลองฉีดวัคซีนหลายๆขนาดตั้งแต่จำนวนน้อย จนถึงจำนวนมาก เสร็จแล้วตรวจดูว่า ร่างกายของสัตว์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด มีผลกระทบข้างเคียง (side effects) หรือไม่ การให้วัคซีนจำนวนมากครั้งเดียว ส่วนใหญ่ทำให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมามากพอ แต่ก็มีโอกาสทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงสูงและเปลืองวัคซีน แต่ถ้าให้จำนวนน้อย อาจต้องฉีดวัคซีน 2 – 3 ครั้ง โดยเว้นระยะการฉีดแต่ละครั้งราว 3 สัปดาห์ ถ้าได้ผลก็จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าและประหยัดวัคซีนกว่า ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 1 – 3 เดือน
5. ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 1
เมื่อสรุปผลจากการทดลองฉีดวัคซีนในสัตว์ ได้วัคซีนต้นแบบที่ได้ผลและทราบปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมในการฉีดแต่ละครั้งแล้ว ก็จะเริ่มการทดลองทางคลินิก เฟส 1 โดยทดลองฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง ราว 50 – 100 คน เพื่อตรวจสอบว่าวัคซีนนั้นได้ผลดีหรือไม่ กระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันได้มากพอไหม ต้องฉีดกี่ครั้ง และมีผลกระทบข้างเคียงหรือไม่ เหตุที่ทดลองฉีดในคนที่แข็งแรงจำนวนน้อย เพื่อกรณีมีผลกระทบข้างเคียงจะได้รับมือแก้ไขทันท่วงที ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 2 – 3 เดือน
6. ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 2
เมื่อได้ผลจากการทดลองทางคลินิกเฟส 1 ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าวัคซีนตัวใดได้ผล ควรใช้ปริมาณเท่าใด และไม่มีผลกระทบข้างเคียงที่ร้ายแรง ก็จะเริ่มการทดลองทางคลินิกเฟส 2 โดยทดลองฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครกลุ่มใหญ่ขึ้นราว 500-1,000 คน โดยมีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครตามช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ แยกรายละเอียด เช่น ชาย-หญิง อ้วน-ผอม มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือไม่ และทดลองฉีดวัคซีนในปริมาณต่าง ๆ กันที่แยกย่อยละเอียดลงไปอีก ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 2-3 เดือน
7. ทดลองใช้วัคซีนฉีดในคน เฟส 3
เมื่อได้ผลจากการทดลองทางคลินิกเฟส 2 ทำให้มีข้อมูลมากขึ้น ชัดเจนขึ้น มั่นใจได้มากขึ้น ก็จะเริ่มการทดลองทางคลินิกเฟส 3 โดยฉีดวัคซีนที่ได้ผลดีให้อาสาสมัครราว 2-30,000 คน โดยแยกกลุ่มอาสาสมัครละเอียดมากขึ้นไปอีก และไม่ได้เพียงตรวจวัดปริมาณภูมิคุ้มกันที่ร่ายกายสร้างขึ้นหลังได้รับวัคซีนเท่านั้น แต่จะเลือกทดลองในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก เพื่อดูผลจากสถานการณ์จริงว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมี % การติดเชื้อหรือไม่มากน้อยเพียงใด เนื่องจากต้องเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวนมาก ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 3-6 เดือน
Cr : www.nytimes.com
8. ผลิตวัคซีนจำนวนมากให้บริการแก่ประชาชน
เมื่อได้ผลการทดลองทางคลินิกเฟส 3 จากอาสาสมัครจำนวนมากหลายหมื่นคน จนได้วัคซีนต้นแบบที่มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรง และได้ผลดีในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ก็จะดำเนินการผลิตวัคซีนจำนวนมาก เพื่อให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งกระบวนการผลิตให้ได้จำนวนมากก็ต้องลงทุนจำนวนมาก และทำโดยหน่วยงานที่มีความชำนาญการด้านนี้โดยเฉพาะ
9. ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนดังที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นกรณีวัคซีนโควิด ซึ่งประเทศต่างๆ พยายามเร่งกระบวนการพัฒนาให้เร็วเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้โดยเร็ว จะได้คุมโรคระบาดโควิดอยู่ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 นั้นมากมายมหาศาล ทั้งด้านชีวิตมนุษย์ และเศรษฐกิจ บางประเทศก็พยายามเร่งขั้นตอนให้เร็วขึ้นไปอีก โดยรวมขั้นตอนการทดลองทางคลินิกเฟส1 และเฟส 2 เข้าด้วยกัน บ้างก็รวมเฟส 2 กับเฟส 3 เข้าด้วยกัน หากเป็นกระบวนการพัฒนาวัคซีนตามปกติใช้เวลาราว 5-10 ปี
10. คนเราแต่ละคนมีลักษณะทางสรีระแตกต่างกันไปบางคนจึงแพ้อาหารทะเล บางคนแพ้เกสรดอกไม้ บางคนเป็นหวัดง่าย บางคนไม่เป็นหวัด วัคซีนแต่ละตัวจึงไม่ใช่จะใช้ได้ผลกับทุกคน ในสถานการณ์ปกติ วัคซีนที่ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานคือ สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับผู้ฉีดวัคซีน 80–90 % ขึ้นไป คือในคนที่ฉีดวัคซีน 100 คน เกิดภูมิคุ้มกันโรคราว 80–90 คน
1
แต่ในกรณีวัคซีนโควิด ที่เร่งเวลาการพัฒนาอย่างมาก ๆ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้เพียง 50 % ขึ้นไป นั้นหมายถึงว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ แต่หน่วยงานต่าง ๆ ที่พัฒนาวัคซีน ต่างก็พยายามทำให้วัคซีนที่ตนผลิตขึ้นมี % การได้ผลสูงขึ้นถึง 80–90 % เพื่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของตน
11.วัคซีนบางอย่างฉีดแล้วทำให้เกิดภูมิต้านทานตลอดชีวิต เช่น วัคซีนโปลิโอ แต่วัคซีนบางอย่างภูมิคุ้มกันอาจอยู่เพียงไม่กี่เดือน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากไวรัสโควิดเป็นเชื้อโรคใหม่ เราจึงยังไม่รู้ว่าวัคซีนโควิด เมื่อฉีดแล้วจะสร้างภูมิต้านทานได้นานเท่าใด ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิต หรือต้องฉีดเป็นระยะ
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลก
เจริญพร
โฆษณา