3 ส.ค. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
"เมื่อทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระภิกษุไทย" วิกฤตการณ์ที่เกือบทำให้คนไทยทั้งประเทศลุกขึ้นสู้ จากบันทึกลับของ อาเคโตะ นากามูระ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นนำกำลังบุกเข้าสู่ประเทศไทยในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ตั้งแต่ด่านอรัญประเทศรวมทั้งอีกหลายจุดในอ่าวไทย
กระทั่งราว 8 โมงเช้าของวันถัดมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศยุติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น
จอมพล ป. ร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับญี่ปุ่น
และอีกเพียงหนึ่งเดือนให้หลัง ช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 จอมพล ป. ผู้นำสูงสุดทางการทหารและรัฐบาลไทย ตัดสินใจร่วมสงครามกับฝ่ายญี่ปุ่น
โดยการประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับกองทัพญี่ปุ่นในครั้งนั้น เท่ากับว่าไทยได้เป็นมหามิตรกับฝ่ายอักษะซึ่งมีทั้งเยอรมันและอิตาลี ไทยเป็นประเทศ 1 ใน 4 ของฝ่ายอักษะ และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐและสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ
สาเหตุที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลสู่ประเทศไทยนี้ ก็เพื่อเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ในการคุมอินโดจีนให้เป็นฐานสำคัญ
1.ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเสบียงและฐานทัพในการทำสงครามกับประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป เพื่อรุกคืบเข้าสู่มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่าต่อไป
2. แผนสร้างทางรถไฟเชื่อมจากไทยสู่พม่า โดยมี 2 เส้นทาง จากสถานีหนองปลาดุก บ้านโป่ง ราชบุรี ผ่านเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี เชื่อมต่อกับทางที่สร้างจากทันบิวซายัตในพม่า และอีกเส้นทางคือทางรถไฟเชื่อมคอคอดกระ ต่อจากสถานีรถไฟในเขตชุมพรไปยังกระบุรี ระนอง เชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามันเพื่อย่นระยะและย่อเวลาในการข่นส่งกำลังบำรุงและยุทโธปกรณ์
ฝ่ายญี่ปุ่นได้เริ่มก่อสร้างจากจุดสตาร์ทที่สถานีหนองปลาดุก สร้างทางรถไฟแยกไปกาญจนบุรี โดยใช้วัดบ้านโป่งและวัดดอนตูม จัดทำเป็นค่ายเชลยศึกฝรั่ง มีทั้งแรงงานเชลยศึกที่ถูกจับมาได้ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เกณฑ์มาเป็นแรงงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ที่ต่อมาได้มีชื่อที่กล่าวขานกันว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” (The Death Railway) เส้นทางที่เต็มไปด้วยความตายและการสูญเสีย
ณ วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง ได้เกิดเหตุการณ์ที่เกือบเป็นชนวนให้คนไทยทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น และวิกฤตการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธุ์ของไทยกับญี่ปุ่นที่เพิ่งจะจับมือกันไม่นาน เต็มไปด้วยความตรึงเครียด
หนังสือพิมพ์มหาชน และ เจินฮว่าเป้าฉบับใต้ดิน ได้รายงานเหตุการณ์ว่า "ทหารญี่ปุ่นที่ทำการควบคุมการสร้างทางรถไฟ อยู่ที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ใช้มือตบหน้าพระรูปหนึ่งอย่างป่าเถื่อน คนไทยซึ่งกำลังสร้างทางอยู่ ณ บริเวณ นั้นได้เข้าห้ามปรามต่อว่าทหารญี่ปุ่น ต่อมาทหารญี่ปุ่นจึงยกพวกมาใช้ดาบปลายปืนไล่ทิ่มแทงและไล่ยิงจนเกิดปะทะกันได้รับบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายหลายคน"
“วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” เกิดขึ้นที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 18 ธันวาคม 2485 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพระเพิ่ม สิริพิบูล อายุ 37 ปี ซึ่งกำลังเดินทางไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดดอนตูมได้พบกับเชลยศึกผิวขาวระหว่างทาง เชลยศึกได้ขอบุหรี่ พระเพิ่มก็ส่งบุหรี่ให้ด้วยความสงสาร ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าจึงเกิดความโกรธและได้เข้าไปตบหน้าพระเพิ่มไป 3 ที จนพระเพิ่มล้มลงกับพื้น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าชาวบ้านแถวนั้น ยิ่งเมื่อพระเพิ่มเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้กรรมกรไทยที่รับจ้างสร้างทางรถไฟสายนี้ ซึ่งพักอยู่ที่ศาลาวัดฟัง กรรมกรไทยจึงรวมตัวกันได้ประมาณ 20 คน พร้อมด้วยพระเพิ่มพากันไปพบล่ามญี่ปุ่นชื่อ นายคุเรแล้วเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง นายคุเรก็รับปากว่าจะติดต่อแจ้งให้ผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่น ทราบในวันรุ่งขึ้น และขอร้องให้คนไทยทั้ง 20 กว่าคนนั้น ใจเย็นลงและกลับไปก่อน
เวลาประมาณ 20.00 น. มีทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถือไม้หน้าสามขึ้นไปบนศาลา วัดดอนตูม แต่ก็ไม่มีใครตอบโต้ ทหารญี่ปุ่นคนนั้นหายไปพักหนึ่งก็กลับมากับเพื่อน ทหารญี่ปุ่นอีก 2 คน ถือไม้หน้าสามและปืนยาวแถมมาด้วย กรรมกรคนหนึ่งทนไม่ไหวจึงใช้ท่อนไม้ปาเข้าใส่ทหารญี่ปุ่นแต่ไม่ถูก
ฝ่ายทหารญี่ปุ่นจึงล่าถอยกลับไป แต่อีกเพียง 5 นาทีต่อมาก็กลับมากัน 10 กว่าคน พอมาถึงศาลาวัดก็ยิงปืนเข้าใส่ คนไทยต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ทหารญี่ปุ่นเห็นเป็นต่อจึงยิงปืนใส่และวิ่งกวดคนไทยไปรอบๆ บริเวณวัด เมื่อฝ่ายคนไทยตั้งหลักได้แล้ว จึงพากันคว้าจอบเสียมที่พอหาได้เตรียมตัวเข้าสู้ตอบ
ต่อมา ร.ต. โยชิดะ นายทหารญี่ปุ่นพร้อมด้วยผู้บังคับกองตำรวจไทยและนายอำเภอบ้านโป่งเดินทางมาถึง จึงได้ระงับเหตุลงได้ ท่ามกลางความโกรธแค้นของทหารญี่ปุ่นและคนไทยที่ถูกรังแก
ภายหลังการปะทะนั้น ปรากฏว่ามีทหารญี่ปุ่นและคนไทยตายไปจำนวนหนึ่ง จนเป็นเหตุให้ทหารและญี่ปุ่นโกรธแค้นยกพวกมาบุกล้อมโรงพักสถานีตำรวจบ้านโป่ง
2
ในเวลาประมาณใกล้สองยาม ฝ่ายญี่ปุ่นส่งทหารมาเพิ่มเติมจากกาญจนบุรี ประมาณ 4-5 คันรถ ตรงไปยังวัดดอนตูม 2 คัน และเลยไปที่ริมน้ำ 1 คัน ส่วน 2 คันสุดท้ายซึ่งเป็นรถบรรทุกคันหนึ่งกับรถนั่งอีกคันหนึ่งก็วิ่งตามกันมาแล้วหยุดลงที่หน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถือปืนตรงไปยังสถานีตำรวจ อีกพวกหนึ่งขยายแถวยึดคันถนนตรงข้ามสถานีตำรวจ แล้วเริ่มยิงปืนเข้าใส่ทันที ตำรวจบ้านโป่งก็ยิงสู้ กินเวลาช่วงสั้นๆ แค่ประมาณ 2-3 นาที ฝ่ายญี่ปุ่นก็หยุดยิง แล้วร้องบันไซ*ข่มขู่แต่กลับพากันล่าถอยไป
**บันไซ (Banzai 万歳) แปลว่า หมื่นปี คนญี่ปุ่นจะตะโกน “10,000 ปี” เพื่อเชิดชูองค์จักพรรดิ “ขอให้ทรงมีพระชนม์มายุยิ่งยืนนาน หมื่นปี หมื่นๆ ปีๆ” (Long Live the Emperor)
หมู่ข้าราชการถ่ายภาพร่วมกันหน้าโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านโป่ง เจ้าของภาพ : ยายฉวีรัตน์ เกษตรศิริ
ผลจากการยิงต่อสู้ นายทหารญี่ปุ่น ตายไป 1 และพลทหารตายไป 4 จากนั้นเหตุการณก็ยังไม่จบสิ้น ทหารญี่ปุ่นได้กวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยทั้งชายและหญิง รวมทั้งเด็กไป 31 คน และยังจับกุมพระไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตีสามของเช้าวันใหม่ และได้ปล่อยตัวออกมา
นอกจากนั้น รอบๆ วัดยังมีซากศพคนไทยนอนตายเกลื่อนอยู่ 7-8 ศพ กรรมกรไทยทั้งหมดถูกกักขังไว้จนถึงวันที่ 24 ธันวาคมจนเสร็จสิ้นการสอบสวนแล้วจึงได้ปล่อยตัวก่อน 20 คน แต่ยังคงกักตัวไว้อีก 11 คน ส่วนพระเพิ่มถูกส่งตัวให้ฝ่ายไทยควบคุมเองตามคำขอ
วันที่ 20 ธันวาคม 2485 มีการประชุมร่วมไทย-ญี่ปุ่น เกี่ยวกับกรณีนี้ขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่า ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิงปืนก่อน ฝ่ายไทยแม้จะรู้ข้อเท็จจริง อยู่เต็มอกแต่ก็จำเป็นต้องอดกลั้นไม่งัดหลักฐานพยานมายันกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง และได้ส่ง พล.ท. หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) เป็นหัวหน้าคณะ ไปขอขมาผู้บัญชาการกองพลก่อสร้างทางรถไฟญี่ปุ่นในวันที่ 22 ธันวาคม ในวันที่ 21 ธันวาคม
หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน กรรมกรไทยบ้านโป่งที่ทำงานให้ญี่ปุ่นต่างพากันหลบหนีไปร่วม 500 คน จนไม่เหลือกรรมกรไทยเลยแม้แต่คนเดียว ฝ่ายญี่ปุ่นจึงเริ่มหนักใจเนื่องจากทางโตเกียวก็เร่งรัดให้สร้างทางรถไฟสายสำคัญนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเช่นกัน
อำเภอบ้านโป่งในยุคนั้น บริเวณเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ริมฝั่งน้ำแม่กลองหน้าเมือง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทยยิ่งเกลียดชังญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านโป่งและแถบกาญจนบุรีซึ่งเป็นฐานในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ
นอกจากญี่ปุ่นจะหาคนไทยมาเป็นกรรมกรช่วยสร้างทางรถไฟไม่ได้แล้ว น็อตบังคับหัวรางรถไฟก็ถูกขโมยหายไปแบบจับมือใครดมไม่ได้ประมาณ 800 ดอก ยังความ ภาคภูมิใจให้แก่กลุ่มวีรชนนิรนามที่ได้รับขนานนามในภายหลังว่า “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ”
รวมทั้งแถบกาญจนบุรี ตำรวจไทยเอาปืนขู่ค้นตัวทหารญี่ปุ่นที่เดินมาตามทางอย่างไม่เกรงกลัว จนทหารญี่ปุ่นไม่ได้รับความสะดวกในการซื้อหาอาหารทั้งในตลาดและ ทั่วๆไปเหมือนอย่างเคย หากเดินสวนคนไทยเมื่อใดก็ถูกตะโกนใส่ว่า “บากายาโร่” ซึ่ง แปลเป็นไทยว่า “ไอ้บ้า”
1
เหตุการณ์จบลงด้วย พระเพิ่ม สิริพิบูลถูกจับสึก และถูกศาลทหารพิพากษา ประหารชีวิต ลดหย่อนเป็นจำคุกตลอดชีวิต กรณีของ “เพิ่ม สิริพิบูล” นี้ มีเกร็ด ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจว่า ท่านนั้นบวชเป็นพระ แต่ในช่วงเวลาของการดำเนินการกลับถูกบันทึกไว้ว่า เป็นเพียง “สามเณร”
1
ทางด้านรัฐบาล เหตุกาณ์ที่บ้านโป่งรุนแรงและกระทบต่อความสันพันธ์กับญี่ปุ่นมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 30 ธันวาคม 2485 โดยเฉพาะทางฝ่ายญี่ปุ่นเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีก และเกรงว่าจะลุกลามทั่วประเทศตามสถานที่ที่มีกองทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่
โดยนับแต่วันแรกของเหตุการณ์ที่ข่าวได้รายงานถึงหูรัฐบาล รัฐบาลทหารจอมพล ป. พิบูลสงครามสั่งห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวสารนี้ออกไปในทุกวิถีทาง ดังนั้น ข่าวนี้จึงไม่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ของไทย และห้ามแม้กระทั่งห้ามโจดจันป่าวข่าวเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ด้วยการพูดการเล่า
รวมทั้งที่อำเภอบ้านโป่ง ได้มีคำสั่งผ่านนายอำเภอบ้านโป่ง
+ไม่ให้ประชาชนสัญจรพลุกพล่านในยามค่ำคืนโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในเขตค่ายทหารญี่ปุ่น
+ห้ามประชาชนจักกลุ่มนอกเคหะสถาน
+ห้ามพกอาวุธทุกประเภท (ดาบ มีด กระบอง เป็นอาวุธสำคัญของประชาชนในยุคนั้น)
+ห้ามโจดจันป่าวข่าวเรื่องราวที่เกิดขึ้น
6 เดือนต่อมา การสอบสวนเหตุการณ์ท่ามกลางการประสานงานเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับรัฐบาลทหารญี่ปุ่น ทางไทยได้สรุปสำนวนฟ้องศาลทหารที่กรุงเทพฯ เมื่อ 19 มิถุนายน 2486 ในข้อหา “สมคบกันฆ่าคนตายโดยเจตนา” 3 คน ได้แก่ 1) พระเพิ่ม สิริพิบูล 2) นายแปะ นุ่มชินวงส์ 3) พลทหารจา โสมทัต
ศาลทหารพิพากษา ดังนี้
พระเพิ่ม หรือนายเพิ่ม สิริพิบูล ให้ประหารชีวิต แต่สารภาพ จึงให้จำคุกตลอดชีวิต
นายแปะ นุ่มชินวงส์ ให้จำคุกตลอดชีวิต
พลทหารจา โสมทัต ให้จำคุก 10 ปี
วิกฤตการณ์บ้านโป่งจึงยุติลงด้วยการพิพากษาของศาลทหารไทย โดย ข่าวนี้ได้ถูกทำให้เงียบหายมานานเกือบ 8 ทศวรรษ แต่เมื่อสงครามโลกครั้ง ที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลจอมพล ป. ต้องลาออกกลางคัน ในส่วนของพระเพิ่มจึงได้ถูกปล่อยตัวออกมา
อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์บ้านโป่งนี้ไม่ได้ถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ไทย และไม่มีบันทึกเหตุการณ์นี้เผยแผ่ออกไปในพื้นที่สาธารณะ ข้อมูลนี้ถูกเผยออกมาในปี พ.ศ.2534 เมื่อมีการแปลและจัดพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำของนายพลนากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
อาเคโตะ นากามูระ
และแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมากว่าหลายทศวรรตแล้ว แต่ก็ยังมีความลับหรือข้อมูลจากผู้ที่ทำการบันทึกร่วมสมัยในเหตุกาณ์สงคราม ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบอีกหลายชิ้น และรอวันเผยออกสู่สาธารณะ
โดยเฉพาะปฏิบัติการลับของ “เสรีไทย" ที่เรียกได้ว่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่แพ้ดูหนังสายลับเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ เป็นเหตุผลหลายอย่างจนทำให้ประเทศไทยไม่ถูกจัดอยู่ในประเทศที่แพ้สงคราม ซึ่งถ้าหากมีโอกาส ผมจะนำมาเขียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบครับผม
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
- กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 Thailand Timeline 1942-2011 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- กลับจากบ้านโป่งถึงปากน้ำ. กรุงเทพฯ: ดรีมแคชเชอร์, 2553. หน้า 115-142 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ
- อาเคโตะ นากามูระ. ผู้บัญชาการชาวพุทธ บันทึกผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2. แปลโดย เออิจิ มูราซิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2534. พิมพ์ครั้งที่ 2 มติชน, 2546.
- โยชิกาวา โทชิฮารุ. ทางรถไฟสายไทย-พม่าในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2538.
โฆษณา