4 ส.ค. 2020 เวลา 14:28 • ประวัติศาสตร์
MovieTalk มูฟวี่ตะลอน:
ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา ตอนที่ ๓
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
โดยในปี ๒๕๖๓ ได้นำฟิล์มกระจกชุดถัดไปมาจัดแสดงในนิทรรศการชุด “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา”
โดยนิทรรศการในครั้งนี้ ผู้ชมจะเสมือนหนึ่งได้ร่วมเดินทางไปในการเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสงบ ผ่อนคลาย และเป็นส่วนพระองค์ แม้ในท้ายนที่สุดการเสด็จประพาสต่าง ๆ จะจบลงด้วยเหตุการณ์ชวนสลด อันเป็นสัญญาณสะท้อนความเปลี่ยนนแปลงที่เกิดขึ้นในสยามเวลานั้น
ผู้ชมจะได้ร่วมเดินทางไปกับบ้านเมือง เหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๗ ซึ่งเคลื่อนผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
นิทรรศการได้จัดแบ่งเป็น ๔ ช่วงเวลา ได้แก่
ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว Travels of King Chulalongkorn
ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา Calm Interlude in Siam
ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก East Meets West
และ
จุตตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า Moving Forwoard
โดย มูฟวี่ตะลอนจะนำเสนอจนครบทุกภาพในนิทรรศการนี้ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางมาชมนิทรรศการด้วยตนเอง ได้มีโอกาสร่วมดื่มด่ำ และเก็บบรรยากาศความงามแห่งสยามในวันวารได้อย่างครบถ้วน โดยจะนำเสนอแบ่งเป็นตอนตามลำดับช่วงเวลาครับ
สำหรับบทความนี้จะเป็นตอนที่ ๓
ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก East Meets West
แม้ชาวตะวันตกจะเข้ามาในสยามตั้งแต่ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะเป็นมิชชันนารีผู้เผยแผ่ศาสนา หรือ ครูฝรั่งที่สอนหนังสือแก่เด็ก หากแต่ในรัชสมัยนี้เองที่เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวตะวันตกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามมากขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคน เช่น สถาปนิกและศิลปินชาวอิตาเลียนได้ทำงานร่วมกับช่างฝีมือชาวสยาม ลักษณาการแห่ง “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” นี้ได้ดำเนินเรื่อยมา และพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของพระองค์เอง และพระราชโอรสทั้งสอง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชวังพญาไทได้ใช้เป็นโรงแรมแล้ว
นายคนังยืนจับรถจักรยานในบริเวณพระราชวังดุสิต ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวงศ์ และสมาชิกราชสกุล ประทับยืนและยืนจับรถเข็นตัดหญ้า ของบริษัท โธมัส กรีน แอนด์ซันส์ ประเทศอังกฤษ ฉายในบริเวณพระราชวังสวนดุสิต จากซ้ายไปขวา
(๑) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
(๒) หม่อมเจ้าไศลทอง ทองใหญ่
(๓) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์
(๔) ไม่ทราบพระนาม
(๕) หม่อมราชวงศ์ฉายฉาน ศิริวงศ์
ภาพถ่ายเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรือเบอร์ม่าของบริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นเรือกลไฟสี่เสา เดิมชื่อเรืออารันเดลคาสเซิล สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๓๗ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเรือมิเตาในพ.ศ.๒๔๕๖ บริษัท อีสต์เอเชียติกได้ซื้อเรือดังกล่าว ในพ.ศ.๒๔๖๒ เพื่อใช้เป็นเรือโดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างสยามกับทวีปยุโรป และเปลี่ยนชื่อเป็นเรือเบอร์ม่า
ด้านหน้าโรงพยาบาลคนเสียจริต (ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) ตลอดแนวคลองสานสร้างเขื่อนก่ออิฐ มีสะพานข้ามคลองเป็นทางเข้าหลักของโรงพยาบาล
ผู้ป่วยสตรีในโรงพยาบาลคนเสียจริต (ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา)
ผู้ป่วยชายในบริเวณโรงพยาบาลคนเสียจริต (ปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา)
นักเรียนพยาบาล โรงเรียนนางพยาบาล สภากาชาดสยาม รับประกาศนียบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษา ถ่ายภาพที่หน้าตึกสุทธาทิพย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ห้องพักผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลเนอสซิงโฮมเมมื่อนำมุ้งลงแล้ว
ห้องพักผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลเนอสซิงโฮม
ห้องปฏิบัติการแพทย์ภายในโรงพยาบาลเนอสซิงโฮม ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาคารใหม่ โรงพยาบาลเนอสซิงโฮม ถนนคอนแวนต์ สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคของชาวต่างชาติในสยาม เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรียกว่า King Chulalongkorn Ward. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๖
ห้าง ย.ร. อันเดร ตั้งอยู่ที่สี่กั๊กพระยาศรี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ รับสั่งสิ่งของต่าง ๆ จากต่างประเทศ เครื่องประดับเพชรพลอย และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อโอเปอล์กับวันเดอเรอ
ชายชาวยุโรปถ่ายภาพกับรถยนต์เฟียรต ๕๐๗ ซึ่งผลิตที่อิตาลี ระหว่างพ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๗๒
ชายชาวยุโรปถ่ายภาพกับรถยนต์เฟียต ๕๐๙ ซึ่งผลิตที่อิตาลี ระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๗๒
บ้านไม้ช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีกอาคารด้านหนึ่ง
สูงสองชั้น ส่วนที่เหลือสูงชั้นเดียว หลังคาเป็นปั้นหยาผสมหลังคาจั่ว มุงกระเบื้องซีเมนต์ที่เรียกว่า กระเบื้องว่าวฝาเรือนแบบสมัยเก่า คือแสดงโครงสร้างเสา และคร่าวผนังให้เห็นได้จากภายนอก
สระว่ายน้ำที่ราชกรีฑาสโมสร ถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) เปิดใช้งานครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๕
ภาพหมู่นักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและคณาจารย์ (จากซ้ายไปขวา) คือ
ภราดาหุลยส์แชนแนล ภารดาออกุสต์ และภารดาอัลเบรอน ถ่ายที่หน้าตึกมาร์ติน เดอ ตูร์ส หรือตึกแดง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๔
นักเรียนโณงเรียนบาลีไวยกรณ์ วัดเบญจมบพิตร พระภิกษุในภาพคือ พระราชเวที (หรุ่ม พรหมโชติโก) พระราชาคณะรูปแรกของวัดเบญจมบพิตร
โรงเรียนในสวนนอก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงพระราชวังดุสิต สำหรับเป็นที่ศึกษาของหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชบริพารในสำนักพระอัครชายาเธอกรมขุนสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพรเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีเรสิดังต์จังหวัดกำปงธม และนายอองรี ปามังติเอร์ นักโบราณคดี รับเสด็จ
ปราสาทเขาพระวิหาร ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรรักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นปราสาทขอมที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผา สูง ๕๒๘ เมตร ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนระหว่างสยามกับกัมพูชา ถายคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชุภาพ เสด็จทอดพระเนตร ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒
ในตอนต่อไปจะเป็นนำทุกท่านไปสู่ช่วงเวลาที่ ๔ อันเป็นตอนสุดท้าย
จุตตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า Moving Forwoard ขอได้โปรดติดตามตอนต่อไป
นิทรรศการฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา Glass Plate Negatives: Stories That Transcend Time
จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๘
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ระหว่างวันที่ ๑๐ กรกฎาคม - ๒๐ กันยายน ๒๕๖๓
เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ขอบคุณที่มาข้อมูล: กรมศิลปากร, มูลนิธิสิริวัฒนภักดี, บมจ.ไทยเบพเวอเรจ, สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ, สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Photo by มูฟวี่
โฆษณา