10 ส.ค. 2020 เวลา 14:18 • ไลฟ์สไตล์
กระบวนการของมุกตลก
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เวลาพูดคุยกันกับเพื่อนมนุษย์ ทำไมบางคนพูดอะไรคนก็หัวเราะร่าอย่างมีความสุข แต่กับบางคน ต่อให้พยายามแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้คนหัวเราะได้ ทำได้เพียงมุกแป้กให้คน Bully
ในวันนี้ ผมจะมาไขข้อกระจ่างว่า คนเรามีอะไรเป็นปัจจัยให้ตลกบ้าง ลองอ่านดูกันนะครับ
กระบวนการของมุกตลก
● ประสบการณ์ร่วม
คนเราจะอินกับสิ่งที่เคยรู้จัก หรือประสบมาก่อน
ทั้งเรื่องน่าอายของเพื่อน ๆ เรื่องผิดพลาดของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งเรื่องเสียดสีชวนหัวทั้งหลาย
หรือหากเราไม่รู้เรื่องที่ฟังมาก่อนเลย สมองเราก็จะต้องใช้เวลาตีความ ต้องประมวลผลความรู้ ย่อยให้มาเป็นสิ่งที่เราเข้าใจง่าย
การสื่อสารนั้นก็จะเป็นเพื่อการเรียนรู้ไป
เราพูดคุยกันอย่างออกรส ด้วยเพราะเราเข้าใจมัน เรามีประสบการณ์ร่วม และเรา "ไม่จริงจัง" กับเรื่องนั้น จึงทำให้ฟังแล้วตลก
● คลังความรู้
เวลาเราจะสื่อสารให้ใครรู้ เราต้องเข้าใจ "ตัวสาร" ซึ่งก็คือความรู้ที่เรามี เปรียบเสมือนการทำอาหาร คุณต้องมีวัตถุดิบประกอบอาหารก่อนที่จะเริ่มต้นทำอาหารได้
ผมมีพี่คนนึง เขาเป็นคนมีภูมิมาก รู้เยอะไปหมด เขาชอบที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ
แต่ที่น่าชวนหัวก็คือ เหตุผลที่เขาชอบหาความรู้ใส่ตัวเยอะ ๆ นั้น ไม่ใช่เพราะอยากจะเอามาปรับใช้ในการเรียน การทำงาน หรือการพัฒนาตัวเอง แต่เพื่อต้องการหาเรื่องมาเมาท์มอยในวงสนทนา
ผมฟังแล้วก็อึ้งไปเหมือนกัน แต่นึก ๆ ดูแล้ว คนที่พูดจาอะไรก็มีเสียงฮา ล้วนแล้วแต่มีเรื่องแปลก ๆ พิศดารพันลึกต่าง ๆ นานา มาเล่าให้เราฟังแทบทั้งนั้น
คุณเอง หากอยากพูดเรื่องให้คนตลก ก็ลองใฝ่หาความรู้ดูนะครับ
● คลังคำ
ผมมีประสบการณ์นึกคำไม่ออกมานักต่อนัก จึงเข้าใจว่าการสรรหาคำมาใช้ก็สำคัญเช่นกัน
หลาย ๆ ครั้ง การสนทนาที่ไหลลื่น หมายถึงการพูดด้วยคำที่เข้าใจง่าย เราจึงควรมีคลังคำสำคัญ ๆ ในหัว เพื่อที่เมื่อถึงคราวจำเป็น เราก็จะสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
เพราะแม้วัตถุดิบประกอบอาหารเราจะดีเยี่ยมประการใด หากขาดเครื่องปรุง และอุปกรณ์ประกอบอาหารอย่างตะหลิว ทัพพี จาน ช้อน ส้อม ก็ยากที่จะทำอาหารออกมาได้อย่างถูกปาก
● จังหวะ
จังหวะ หรือ Rhythm เป็นตัวชูโรงของมุกตลก เป็นปราการด่านสำคัญที่คนจะรับรู้ได้ หลายครั้งมุกเด็ดต้องดับลงเพราะเล่าผิดจังหวะ การลำดับเรื่องราว ให้คนฟังชวนติดตาม มีการหักมุมตอนท้าย หรือเซอร์ไพรส์เรื่องเหลือเชื่อต้องท้ายเรื่อง
1
จังหวะ นอกจากจะทำให้คำพูดของคุณมีอรรธรสมากขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่าคนฟังจะเข้าใจได้ไหมด้วย
หากจังหวะไม่ได้ สื่อสารไม่ดี ก็ยากที่จะสื่อสารให้คนตลกได้ เพราะขนาดจะพูดให้เขาเข้าใจยังทำไม่ได้เลย
● บริบท
เรื่องตลกในที่หนึ่ง อาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับสังคมอื่น ๆ ก็ได้
คุณต้องทำการบ้านให้ดี เพราะนอกจากจะทำให้คุณเป็นคนตลกแล้ว มันจะเป็นการ Save ตัวคุณเองด้วย
คนที่รู้จักบริบท จะเป็นคนที่รู้ว่าเวลาไหนควรพูดอะไร เวลาไหนควรนิ่งเงียบไว้
เวลาไหนควรสุขุมรอบคอบ เวลาไหนควรเฮฮาปาจิงโกะ
อาจอธิบายได้อีกอย่างว่า บริบท เป็นตัวบ่งบอก "กึ๋น" ของคนเลยก็ว่าได้
จบกันไปแล้วครับ กับกระบวนการของมุกตลก ลองเอาไปใช้ดูนะครับ ไปทำให้วงสนทนารอบหน้าของคุณ ให้ขำก๊ากให้ได้ ให้ทุกคนมองคุณใหม่ ว่าจริง ๆ แล้วคุณเป็นคนที่คูลแค่ไหน
โฆษณา