7 ส.ค. 2020 เวลา 07:48 • การศึกษา
🤑 อายุความบัตรเครดิต...หยุดลงได้หรือไม่ 📚
🌾 ก่อนอื่นขอเกริ่นนิดนึงครับ ว่าบทความที่แล้วผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องอายุความของบัตรเครดิต ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แล้วแตะ ปล.ไว้ในส่วนของอายุความอาจหยุดลงได้...เพราะเมื่อมันเดินอยู่อาจทำให้เจ้าหนี้เสียสิทธิได้ มันก็อาจหยุดลงให้ลูกหนี้เสียสิทธิได้เหมือนกันนะครับ...ก็เลยต้องต่อให้จบกระบวนท่าไปในบทความนี้..
" อายุความสะดุดหยุดลง " เป็นภาษาในทางกฎหมาย หมายถึง มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้อายุความหยุดนับ และเริ่มนับใหม่ ตั้งแต่เวลาที่เหตุทำให้อายุความหยุดลงสิ้นสุด เริ่มนับใหม่ตามอายุความเดิม.. นี่คือความหมายฉบับวนิพกแบบเข้าใจกันง่าย ๆ ครับ..🍁
😙เหตุที่ทำให้อายุความหยุดลง ต้องเกิดขึ้นก่อนที่หนี้ขาดอายุความ มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 193/14 ผมจะเล่าหลักสำคัญ ๆ ที่พบเจอบ่อย ๆ ให้ฟัง มาตรา 193/14 บอกว่า " อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ , ชำระหนี้ให้บางส่วน , ชำระดอกเบี้ย , ให้ประกัน ฯ หรือ (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง....
นั้นแหละครับคือเหตุที่ทำให้อายุความซึ่งเดินอยู่ดี ๆ สะดุดหยุดลง ซึ่งมีอยู่ในทุกเอกเทศสัญญา แล้วแต่ว่าจะเป็นสัญญาในเรื่องของอะไร...🙄
🌵บอกเล่าตามชื่อของบทความเลยครับ อย่างที่เล่าไว้แล้วตอนต้น อายุความบัตรเครดิต คือ 2 ปี ซึ่ง 2 ปีดังกล่าวอาจหยุดลงได้และเริ่มนับใหม่.. โดยบัตรเครดิตทั่วไป จะมีข้อตกลงว่า ผู้ออกบัตรต้องสรุปยอดหนี้ที่ผู้ถือบัตรใช้ชำระค่าสินค้า หรือ บริการ หรือใช้เบิกถอนเงินสด แจ้งให้ผู้ถือบัตรทราบพร้อมกำหนดวันชำระหนี้ในแต่ละเดือนไว้ด้วย
ภาพจากpixabay
ส่วนผู้ถือบัตรก็มีหน้าที่ชำระหนี้คือชำระทั้งหมด อาจชำระบางส่วน หรือไม่ชำระเลย เมื่อถึงงวดเดือนถัดไป ผู้ออกบัตรก็จะออกใบแจ้งหนี้พร้อมบวกดอกเบี้ยจากการที่ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ...🍅
🍉เวลาเป็นหนี้บัตรเครดิตถ้าชำระหนี้หมดก็ไม่มีปัญหาครับ เพราะหนี้ระงับแล้ว แต่ชำระหนี้บางส่วนนี่แหละครับ เมื่อเราหยุดชำระแล้วปล่อยเวลาล่วงเลยหากพ้น 2 ปี นับแต่วันที่เราชำระหนี้ครั้งสุดท้าย คดีก็จะขาดอายุความ แต่ถ้าอยูในระหว่าง 2 ปี แล้วมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ มาตรา 193/14 บัญญัติไว้ เช่น หยุดชำระไปปีกว่า ไปชำระบางส่วน หรือ มีฝ่ายติดตามทวงหนี้ โทรมาหา ..พี่ชำระมาบางส่วนก็ได้ , พี่จะโอน 500 บาท หรือ 100 บาทก็ได้พี่..จะมาในลักษณะนี้ครับ
ไอ้เราก็เห็นว่าเป็นหนี้ตั้งหลายหมื่นให้ผ่อนชำระหนี้ แค่ 100 หรือ 500 บาท แหม่แบบนี้ก็สวยซิครับ.. แต่เมื่อชำระไปแล้ว..ก็ซวยซิครับ เพราะเป็นการชำระหนี้บางส่วน ตามมาตรา 193/14 (1) มันทำให้อายุความที่เดินอยู่หยุดลงครับ.. แต่ที่สำคัญ
มันเริ่มนับใหม่นั้นหมายความ เริ่มนับใหม่อีก 2 ปี ครับผม...🌱
💥 เมื่ออายุความหยุดลงแล้ว ก็แล้วแต่ผู้ออกบัตรละครับว่า จะดำเนินคดีกับลูกหนี้ผู้ออกบัตรภายใน 2 ปีหรือไม่ หากยังไม่ดำเนินการอีก ก็จะขาดอายุความอีกเช่นเดิมครับ ตัวอย่าง เช่น คำพิพากษาฎีกา ที่ 6504/2550 วินิจฉัยว่า
" จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 โจทก์แจ้งยอดที่จำเลยต้องชำระขั้นต่ำในวันที่ 30 มิถุนายน2540 เมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยชำระเมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย และเริ่มนับอายุความนับแต่นั้น จำเลยชำระหนี้บางส่วนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่ คดีจึงขาดอายุความ "
✍มันก็มีหลักในการจดจำง่าย ๆ ว่า เราชำระหนี้บัตรเครดิต ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่แล้วนับไป 2 ปี ถ้าเกินก็ขาดอายุความละครับ ...แต่ถ้าคดีขาดอายุความแล้วเราไปชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน แบบนี้ ไม่เป็นการรับสภาพหนี้แล้วครับ เพียงแต่ เงินที่เราชำระไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง
ก็เล็ก ๆ น้อย ๆ ประดับความรู้ครับเพราะเดี๋ยวนี้ จะมีบริษัทที่เข้าไปซื้อหนี้ประเภทขาดอายุความ มาในราคาถูก แล้วรับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิม มาฟ้องเต็มตามยอดหนี้ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย ลูกหนี้ไม่สู้คดีหรือไม่รู้ว่าคดีที่ตนถูกฟ้องขาดอายุความแล้ว ก็แย่ไป เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับคดีได้เต็มที่ ...🍀
🤭 ฉะนั้นครับ หากถูกฟ้องคดีบัตรเครดิตก็อย่าเพิ่งตกกะใจ เพ่งญาณพิจารณาก่อนว่าเราชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ถ้าเกิน 2 ปี ก็สู้คดีได้ครับ ...แต่ถ้าเพ่งญาณแล้ว ยังอยู่ในอายุความ..อันนี้ก็ตัวใครตัวมันนะครับ
🌺 การใช้บัตรเครดิตก็ต้องมีวินัยในการใช้นะครับ จะได้ไม่ทุกข์ไม่โศก ก็ขอให้ทุกท่าน อย่าเจ็บ อย่าจน อย่าต่ำกว่าคน อย่าจนกว่าใคร ..นะครับผม ⚘
บุญรักษาทุก ๆ ท่านครับ 😇
ฝากกดไลค์,กดแชร์,กดติดตามด้วยนะครับ🙏🙏🙏
โฆษณา