6 ส.ค. 2020 เวลา 05:14 • ธุรกิจ
JBL แบรนด์หูฟังที่เคยพังแล้วพังอีก
ปัจจุบัน แบรนด์หูฟังในตลาดมีมากมาย ทั้งที่เจ้าของโทรศัพท์ออกมาผลิตขายเองอย่าง Airpod จาก Apple หรือ Galaxy Buds ของ SAMSUNG
ซึ่งแต่ละเจ้าก็ลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์เสริมกันอย่างสุดความสามารถ อย่างเช่นการที่ Apple เสริมความแข็งแกร่งทางเสียงด้วยการซื้อบริษัท Beat เพื่อมาพัฒนาระบบเสียงของอุปกรณ์ด้วยมูลค่าถึง $3,000,000,000 USD จนทำให้สาวกทั้งหลายยกนิ้วให้กับระบบเสียงของ iphone และหูฟังของ apple เลยทีเดียว
แต่ถ้าจะพูดถึงแบรนด์หูฟังคุณภาพเสียงดีที่มีสินค้าคลอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งานตั้งแต่คนฟังเพลงทั่วไป เกมเมอร์ ไปจนถึงการใช้งานอย่างจริงจังของเหล่าดีเจแล้วล่ะก็ เชื่อว่า JBL จะต้องเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนนึกถึงอย่างแน่นอน
แล้วมีใครเคยสังเกตไหมครับว่าสัญลักษณ์ของ JBL นั้นมีเครื่องหมายอัศเจรีย์อยู่ตรงตัว J ด้วย และเครื่องหมายนี้ก็ไม่ได้มีเอาไว้ให้ดูเท่ห์เฉยๆ แต่เป็นเหมือนรอยแผลเป็นจากเรื่องราวของแบรนด์นี้ที่มีประวัติอันแสนเจ็บปวดอยู่เบื้องหลัง
ถ้าผู้อ่านอยากรู้แล้วว่ารอยแผลเป็นรูป ! ของ JBL ได้มาอย่างไร ล้อมวงกันเข้ามาเลยครับ
เรื่องราวของ JBL เริ่มต้นใน LA เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hollywood ในปี 1927 โดยเพื่อน 2 คนคือคุณ​James Bullough Lansing และ Ken Decker โดยเริ่มแรก บริษัทผลิตเพียงส่วนประกอบของลำโพงในเครื่องวิทยุในสมัยนั้นเป็นหลัก โดยใช้ชื่อบริษัทว่า Lansing Manufacturing Company
ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ระบบเสียงของบริษัทนี้คงน่าดึงดูดมากในสมัยนั้น เพราะในปี 1933 บริษัทก็ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผลิตสื่อชื่อดังอย่าง Metro-Goldwyn-Mayer ให้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วยเลยทีเดียว (ชื่อบริษัทนี้หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า logo ของบริษัทเป็นรูปสิงโตคำราม ก็คงจะร้องอ๋อกันเลยใช่ไหมครับ)
Metro-Goldwyn-Mayer
Product ที่ผลิตออกมาในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า Shearer Horn โดยทางบริษัท Lansing Manufacturing นั้นได้รับสิทธิ์เป็นผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (ก็คิดค้นออกมาเองนี่เนาะ) ซึ่งคุณภาพเสียงจากสินค้าตัวนี้ก็สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทเป็นอย่างมากจนถึงขั้นได้รับรางวัล Academy Sciencific and Technical Award หลังจากออกขายได้เพียงไม่กี่ปี (รางวัล Oscars นั่นเองครับ)
แต่แล้วเส้นทางที่ดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบก็มีหนามแหลมชิ้นใหญ่เข้ามาทิ่ม เมื่อ Decker หนึ่งใน 2 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ซึ่งดูเหมือนว่า Decker จะเป็นสมองของบริษัทในเรื่องการบริหารงบประมาณ เพราะหลังจาก Decker เสียชีวิต บริษัทก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องขายบริษัททิ้ง และผู้ซื้อกิจการนั้นก็คือ Altec Service Corporation (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Altec Lansing)
เมื่อบริษัทไม่ใช่ของตนเองอีกต่อไป หลังจากหมดสัญญาการทำงานของในปี 1946 Lansing ก็ลาออกจากบริษัทแล้วมาตั้งบริษัทใหม่โดยใช้ชื่อว่า James B. Lansing Sound (ถูกเรียกกันสั้นๆว่า JBL Sound)
ด้วยประสบการณ์และความสามารถ Lansing ก็สามารถคิดค้นและผลิต Product ที่เป็นที่นิยมได้อีกเช่นเคย แต่เพียง 2 ปีหลังก่อตั้งบริษัท Marquardt Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัทนี้โดยแลกกับการเป็นหุ้นส่วนก็มีมติให้นาย Willium H. Thomas เข้ามาบริหารงานในบริษัทแทน Lansing อย่างเต็มตัว
เพียง 1 ปีหลังจากถูกฮุบบริษัทเป็นครั้งที่ 2 Lansing ก็ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงที่เมือง LA เมืองต้นกำเนิดของบริษัทแรกของเขานั่นเอง เป็นอันปิดตำนานผู้ก่อตั้งที่แท้จริงของ JBL
หลังจาก Lansing เสียชีวิตลง Thomas ก็จัดการซื้อหุ้นของบริษัทจากภรรยาของ Lansing จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนาย Thomas คนนี้ก็มีส่วนสำคัญในการพาผลดำเนินงานของบริษัทให้เชิดหัวขึ้นอีกครั้ง
แต่ JBL Sound ก็ดูเหมือนจะเป็นบริษัทที่ถูกสาป เพราะเพียง 6 ปีหลังจากนั้นบริษัทก็ถูกฟ้องโดยบริษัท Altec Lansing (บริษัทแรกของนาย Lansing ที่ขายไปนั่นแหละ) เกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้าของบริษัท ที่สำคัญยังแพ้คดีอีกด้วย ทำให้ชื่อ JBL Sound ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
นี่จึงเป็นที่มาของเครื่องหมาย JBL ที่มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) อยู่ตรงตัว J อย่างที่เรารู้จักนั่นเอง
หลังจากถูกฟ้องร้องจนต้องเปลี่ยนชื่อ เคราะห์กรรมของบริษัทนี้ก็ดูเหมือนจะหมดไป เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทก็มีชื่อเสียงขึ้นอย่างมาก และยังเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงอย่างแพร่หลายทั้งวงการภาพยนต์ วงการดนตรี ฯลฯ โดยบริษัทผลิตกีตาร์ไฟฟ้าอย่าง Fender ก็เลือกใช้ driver ของ !JBL เป็นส่วนประกอบหลักในกีตาร์อีกด้วย
หลังจากนั้นในปี 1969 บริษัทก็ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งจากคุณ Thomas มาถึงมือบริษัท HARMAN บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีแม่เป็นคนเกาหลี นั่นก็คือ SAMSUNG
ซึ่งทาง HARMAN ก็ได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ผู้ใช้งานระดับ End user จึงได้เริ่มผลิตสินค้าสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปนั่นเอง
จาก LA สู่เกาหลีใต้ เรื่องราวการล้มลุกคลุกคลานของ !JBL ผ่านทั้งกาลเวลาเกือบร้อยปี แถมยังถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของเจ้าของที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง และเครื่องหมายอัศเจรีย์แห่งความเจ็บปวดที่สลักอยู่ข้างชื่อของผู้ก่อตั้งได้ให้ข้อคิดกับเราไว้หลายอย่าง
ถึงแม้ Lansing จะเป็นวิศวกรที่มีความสามารถคิดค้นนวัตกรรมจนได้รับรางวัล แต่สุดท้ายเมื่อไม่สามารถรักษามันไว้ได้ เขาก็ไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่บริษัทของเขาเอง...
แต่อีกแง่หนึ่ง คุณภาพของสินค้าจากจุดเริ่มต้นของวิศกรคนนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลามาเกือบศตวรรษแล้วว่า ของเขาดีจริงๆ
โฆษณา