8 ส.ค. 2020 เวลา 05:27 • ประวัติศาสตร์
วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา เลบานอนเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่คร่าชีวิตคนนับร้อย ทำให้คนบาดเจ็บกว่า 5,000 ทำให้คน 300,000 ไร้ที่อยู่ และทำลายไซโลเก็บธัญพืช จนประเทศเล็กๆ แห่งนี้มีเสบียงธัญพืชเหลือรับประทานได้อีกเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน
วิกฤตนี้เกิดขึ้นซ้ำเติมวิกฤตทางการเมือง, การเงิน, เศรษฐกิจ, สังคม และภัยโควิดที่เดือดระอุอยู่แล้วในเลบานอน มันเป็นการโจมตีโดยผู้ประสงค์ร้าย หรือเป็นบั้นปลายแห่งความบิดเบี้ยวที่สิงสู่ประเทศแห่งนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์กันแน่?
1. ระเบิดในวันที่ 4 สิงหาคม เปลี่ยนสภาพกรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอนให้เป็นเหมือนนรกบนดิน
2. แรงระเบิดทำลายโกดังท่าเรือจนเป็นรูโหว่ใหญ่ คล้ายถูกอาวุธสงคราม และยังทำลายอาคารบ้านเรือน ตลอดจนไซโลเก็บธัญพืชทำให้ผู้คนต้องอดอยาก
3. โรงพยาบาลเซนต์จอร์จซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศนั้นตั้งอยู่ห่างไม่ถึงหนึ่งกิโลจากจุดระเบิด ทำให้มีหมอพยาบาล และคนไข้บาดเจ็บล้มตายไม่นับได้ หมอคนหนึ่งที่รอดมาบอกว่า "มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโรงพยาบาลเซนต์จอร์จอีกต่อไปแล้ว ...มันพังพินาศ ...ราบถึงพื้น ...หักแตกแหลกลาญ ...ไม่เหลืออะไรเลย"
4. ชาวเลบานอนล้วนอยู่ในความโศกเศร้า หวาดกลัว ไม่ทราบอนาคต
...แต่เชื่อหรือไม่ว่า แท้จริงคำว่า "นรกบนดิน" นั้น อาจเกิดขึ้นมาก่อนการระเบิดก็เป็นได้
5. เลบานอนเป็นประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลาง มีประชากรราว 6.8 ล้านคน มีขนาดประมาณจังหวัดขอนแก่น
6. ชัยภูมิของประเทศนี้อยู่ตรงกลางระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียน และทะเลทรายอาหรับ เป็นเมืองท่าค้าขายระหว่าง "โลก" ทั้งสองใบมาตลอดนับพันปี
7. เลบานอนรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม แม้เป็นประเทศเล็กแต่มีมรดกโลกถึงห้าแห่ง มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงาม และเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญมาตลอด อาหารเลบานอนเป็นอาหารเมดิเตอเรเนียนผสมอาหารอาหรับ มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม เป็นที่นิยมของชาวโลก
8. นอกจากนี้เลบานอนยังมีชื่อเสียงจากไม้ประจำชาติของพวกเขา หรือสนซีดาร์ซึ่งเป็นไม้มีค่า กลิ่นหอม แมลงไม่กวน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ดี มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลหลายครั้ง
9. รากฐานชาวเลบานอนเป็นอาหรับเผ่าหนึ่งซึ่งอาศัยบนเทือกเขาเลบานอนเรียกว่าพวกมาโรไนต์ พวกเขานับถือศาสนาคริสต์แบบมาโรไนต์มาตั้งแต่โบราณ แม้ต่อมาศาสนาอิสลามรุ่งเรืองในภูมิภาคก็ไม่อาจเปลี่ยนความเชื่อได้ พวกเขายังคงรักษาอำนาจปกครองตนเองระดับหนึ่งมาเรื่อยๆ จนเป็นอาหรับไม่กี่พวกที่ยังนับถือคริสต์ในปัจจุบัน
10. ต่อมาในศตวรรษที่ 11 เกิดสงครามครูเสดระหว่างฝรั่งนับถือคริสต์ และแขกนับถืออิสลาม ชาวมาโรไนต์เลือกสวามิภักดิ์ทัพฝรั่งที่ยกมา ทำให้พวกเขาขึ้นกับศาสนจักรโรมันคาทอลิก (ขณะที่ชาวคริสต์ในตะวันออกกลางอื่นๆ มักขึ้นกับศาสนจักรออโธดอกซ์)
11. ในที่สุดหลังฝรั่งรบแพ้สงครามครูเสด พวกมาโรไนต์ก็ยังคงเอาตัวรอดในฐานะเมืองขึ้นของผู้ปกครองมุสลิมที่ผลัดเปลี่ยนกันมามีอำนาจ จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรออตโตมันตุรกี
1
12. ปี 1920 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสรบชนะอาณาจักรออตโตมัน จึงตัดแบ่งดินแดนส่วนหนึ่งรวมทั้งดินแดนเลบานอนมาดูแล ฝรั่งเศสเห็นคนมาโรไนต์เป็นคาทอลิกที่เคยสวามิภักดิ์แต่โบราณก็รักใคร่เอ็นดู จึงรับจะตัดประเทศใหม่ให้ชาวคริสต์มาโรไนต์สามารถปกครองตนเอง
13. ช่วงนั้นชาวมาโรไนต์เพิ่งผ่านภัยอดอยากที่คร่าชีวิตคนกว่า 200,000 คน จึงเรียกร้องกับฝรั่งเศส ขอปกครองแผ่นดินกว้างขวางกว่าบริเวณดั้งเดิม เพื่อให้มั่นใจว่าต่อไปจะมีอาหารพอกิน ...ฝรั่งเศสก็ยอมอนุมัติ ...แต่คำขอนี้จะทำให้เลบานอนไม่ได้เป็น "ประเทศของชาวคริสต์เท่านั้น" อีกต่อไป เพราะได้ขยายพื้นที่กว้างขวางจนครอบคลุมพื้นที่ของมุสลิมเผ่าอื่นๆ ด้วย
14. ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสเสื่อมอำนาจลง แม้ชาวมาโรไนต์เคยรับคุณฝรั่งเศส แต่ย่อมรักอิสระตามวิสัยมนุษย์ จึงรวมกับชาวมุสลิมพื้นเมืองประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส
15. เพื่อให้มั่นใจว่าชาวคริสต์จะยังคงปกครองประเทศนี้ไปเรื่อยๆ พวกเขาเลือกใช้ระบบการปกครองที่เรียกว่า "Confessionalism" โดยแบ่งอำนาจการปกครองให้ชนกลุ่มต่างๆ อย่างเด็ดขาด คือ 1) ประธานาธิบดีทุกคนของเลบานอนจะต้องเป็นชาวคริสต์มาโรไนต์ 2) นายกรัฐมนตรีทุกคนจะต้องเป็นมุสลิมสุหนี่ 3) ประธานรัฐสภาทุกคนจะต้องเป็นมุสลิมชีอะห์ 4) รองประธานรัฐสภา และรองนายกฯ จะต้องเป็นกรีกออโธดอกซ์ นอกจากนี้ยังแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งให้เผ่าต่างๆ อย่างยิบย่อย และกำหนดว่า ส.ส. จะต้องเป็นชาวคริสต์มากกว่าชาวมุสลิมในอัตราส่วน 6 ต่อ 5 เพื่อมั่นใจว่าไม่ว่าอัตราส่วนประชากรจะเปลี่ยนแปลงเพียงใด ชาวคริสต์จะเป็นผู้ปกครองเสมอ
16. ...การแบ่งเช่นนี้เหมือนจะดี แต่พวกเขาค่อยๆ ตระหนักว่านี่แหละคือเหตุแห่งหายนะ...
17. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาหรับทำสงครามชิงปาเลสไตน์กับอิสราเอล เลบานอนถือหางฝ่ายอาหรับ และเป็นที่รู้ๆ กันว่าแพ้...
18. ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การรบแพ้ แต่อยู่ที่ผู้อพยพชาวอาหรับปาเลสไตน์นับแสนๆ คน ที่หลบหนีมาเลบานอน
19. อิสราเอลไม่ยอมรับคนเหล่านี้กลับ เลบานอนไม่ต้องการคนเหล่านี้เป็นประชากร เพราะจะทำให้สัดส่วนชาวมุสลิมมีมากเกินชาวคริสต์ จึงกดขี่ไม่ให้พวกเขามีสิทธิมีเสียง หรือสามารถประกอบอาชีพดีๆ แข่งกับชาวเลบานอนได้ (ปัญหาผู้อพยพปาเลสไตน์นี้เป็นปัญหาเรื้อรังจนปัจจุบัน ซึ่งมีผู้อพยพเป็นหนึ่งในห้าของประชากรเลบานอนทั้งหมด)
20. การกดขี่อย่างรุนแรงทำให้ชาวมุสลิมเลบานอนที่เห็นใจปาเลสไตน์เริ่มทะเลาะกับฝ่ายคริสต์ เมื่อรวมกับประเด็นสงครามเย็น และลัทธิรวมอาหรับในยุคนั้น ก่อให้เกิด "สงครามกลางเมืองเลบานอน" ที่กินเวลาถึง 15 ปี (1975-1990)
21. ธรรมดาคนในชาติรบกัน คนภายนอกมักฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซง ปรากฏมีทั้งอิสราเอล อิหร่าน อาหรับ ค่ายพันธมิตร ค่ายโซเวียตเข้ามาจอยด้วย เกิดเป็นความพินาศวุ่นวายสร้างความเสียหายมหาศาล ประมาณสงครามซีเรียตอนนี้
22. สงครามจบลงด้วยการที่ซาอุดิอาระเบียเข้ามาช่วยฝ่ายสุหนี่เจรจา ปรับรัฐธรรมนูญของเลบานอนใหม่ ต่อไปนี้ ส.ส. จะเป็นคริสต์ และมุสลิมอย่างละ 50:50 เท่ากัน และประธานาธิบดีจะถูกลดอำนาจลงให้เป็นคุณกับนายกฯ สรุปคือลดอำนาจฝ่ายคริสต์ มาให้อิสลามสุหนี่
23. ซึ่งการแบ่งอำนาจนั้นก็สะท้อนสัดส่วนประชากรที่อัพเดทใหม่ หรือมาโรไนต์ 21% สุหนี่กับชีอะห์อย่างละ 27% คือสงครามทำให้ชาวคริสต์เลบานอนอพยพหนีไปทั่วโลกจนลดจำนวนลงมาก และทำให้ชาวมุสลิมกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ (ตัวเลขในชาร์ตข้างบนนี้ก็เป็นแค่ตัวเลขโดยประมาณ ไม่เคยมีการสำรวจสำมะโนประชากรเลบานอนแบบเป๊ะๆ มานานแล้ว เพราะมีความละเอียดอ่อนทางการแบ่งอำนาจดังกล่าว)
24. เมื่อชาวคริสต์ลดบทบาทลงจนมุสลิมครองอำนาจแทน แม้ไม่ถูกใจทุกคนแต่ก็น่าจะทำให้บ้านเมืองสงบ ...เอ๋ เดี๋ยวก่อนนะ ...ลืมไปว่าที่ตะวันออกกลางเนี่ย มุสลิมชีอะห์กับสุหนี่เกลียดกันยิ่งกว่าเกลียดคริสต์อีก!
25. ในความวุ่นวายของสงครามกลางเมือง อิหร่านได้ส่งคนมาสร้างกองกำลังชีอะห์ที่ตอนใต้ของเลบานอน เรียกว่าพวกเฮซบอลเลาะห์ พวกนี้หัวรุนแรงมาก แต่ก็รบเก่งมาก ...เก่งแค่ไหนน่ะเหรอ ...เอาเป็นว่าพอจะทำให้อิสราเอลระคายเคืองได้
26. หลังจากสงครามกลางเมือง เลบานอนก็เกิดการต่อสู้มาอีกเรื่อยๆ คือสงครามที่เฮซบอลเลาะห์รบกับอิสราเอล ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าตัวเองชนะ (แต่ถ้าดูจาก end result แล้วผมให้เฮซบอลเลาะห์ได้เปรียบนะ)
1
27. นอกจากนั้นยังมีการชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกลุ่มศาสนามาตลอด กลุ่มหลักๆ มีสองกลุ่มได้แก่กลุ่ม "March 8" กับ "March 14" ตั้งชื่อตามวันสำคัญของกลุ่ม
28. กลุ่ม March 8 ประกอบด้วยชาวชีอะห์ และชาวคริสต์ส่วนใหญ่ พวกนี้จะโปรซีเรีย-อิหร่าน
29. ส่วนกลุ่ม March 14 ประกอบด้วยชาวสุหนี่ และคริสต์อีกส่วนนึง พวกนี้จะโปรซาอุฯ
30. การจะเข้าใจความขัดแย้งในตะวันออกกลางนั้นจำเป็นต้องเข้าในธีมใหญ่ก่อน หลักๆ มันมีมหาสงครามที่ซาอุฯ (ซึ่งถือตนเป็นตัวแทนฝ่ายสุหนี่) กำลังทำกับอิหร่าน (ซึ่งถือตนเป็นตัวแทนฝ่ายชีอะห์)
31. อิหร่านเป็นมิตรกับรัสเซีย, ซีเรีย, เฮซบอลเลาะห์ และกลุ่ม March 8 ส่วนซาอุฯ เป็นมิตรกับอเมริกา, อิสราเอล และกลุ่ม March 14
32. ท่ามกลางเรื่องเหล่านี้ ...แม้ว่าจะรบกับอิสราเอล และสู้กันเองขนาดไหน แต่ชาวเลบานอนก็ยังพอประคับประคองเศรษฐกิจ และพัฒนาบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ได้
33. ...จนกระทั่งเกิดสงครามซีเรีย ในปี 2011...
34. เกิดเหตุสงครามซีเรียล้นทะลักเข้ามาในเลบานอน จุดชนวนให้กลุ่ม March 8 และ March 14 สู้กันตามฝ่ายที่ตัวเองถือหาง กลายเป็นความสับสนวุ่นวายพาให้เศรษฐกิจพังพินาศ
35. ปี 2016 กลุ่ม March 14 ชนะเลือกตั้ง มีนายกคือนายซาอัด ฮาริรี แม้ว่าตัวเขานั้นควรอยู่ฝ่ายซาอุฯ แต่หลังซาอุฯ รบแพ้สงครามกับอิหร่านบ่อยครั้ง ทำให้เจ้าชายบินซัลมานของซาอุฯ ไม่พอใจ จึงเรียกตัวฮาริรีไปคุย
36. หลังจากนั้นไม่นานนายฮาริรีก็ประกาศลาออกขณะที่ยังอยู่ในซาอุฯ เชื่อว่าถูกเจ้าชายบินซัลมานบังคับเพราะทำผลงานไม่เข้าตา ...แต่หลังจากฮาริรีกลับมาก็ยกเลิกการลาออก เหตุการณ์นี้น่าจะทำฝ่าย March 14 เอาใจออกห่างซาอุฯ พอควร
37. สงครามนอกประเทศบวกกับการทะเลาะกันในประเทศ สกัดขัดแข้งขัดขากันเองตลอด ทำให้รัฐบาลเลบานอนทำการสิ่งใดไม่ค่อยสะดวก กระทั่งจัดการขยะยังทำได้ไม่ดี ส่งผลให้มีขยะท่วมเมืองเบรุต
38. เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ธนบัตรเลบานอนลดค่า รัฐบาลเจ๊ง เป็นหนี้ ต้องเก็บภาษีแม้กระทั่งจากการเล่นโซเชียลมีเดีย
39. เงินที่ฝากในแบงค์ถอนออกมาไม่ได้ อาหารราคาแพง
ราษฎรได้รับความลำบากเดือดร้อนไม่มีข้าวกิน เกิดความวิปริตไปทุกหย่อมหญ้า
40. จนปี 2019 ประชาชนที่ทนไม่ไหวอีกต่อไปก็พากันออกมาประท้วง!
41. การประท้วงนี้ไม่แบ่งแยกศาสนา คนทุกกลุ่มเห็นพ้องกันว่ารากฐานของการเมืองเลบานอนนั้นตั้งอยู่บนระบบที่ผิด คือระบบการเมืองที่แบ่งอำนาจตามชนเผ่าทำให้เกิดกลุ่มการเมืองที่ตั้งเป้ารักษาผลประโยชน์ของเผ่าตนมากกว่าเพื่อประเทศชาติ และทำให้กลุ่มการเมืองเหล่านี้ต้องยกความขัดแย้งระหว่างเผ่ามาทะเลาะกันร่ำไป!
42. การร่วมมือร่วมใจกันประท้วงนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทุกคนต่างตั้งใจยุติปัญหาของประเทศในรุ่นของพวกเขา...
43. แต่เรื่องนี้ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ คือไม่ว่าชนชั้นนำฝ่ายไหนก็ต้องการรักษาอำนาจไว้ ทำให้พวกเขาตอบรับข้อเรียกร้องของประชาชนได้ดีที่สุดเพียงเปลี่ยนรัฐบาล March 14 ...แล้วเอากลุ่ม March 8 มาเป็นรัฐบาลแทน...
44. ...ซึ่งก็ไม่ได้แก้อะไรเท่าไร ยิ่งปี 2020 ชาวเลบานอนเจอภัยโควิด ยิ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศทรุดหนักกว่าเดิม
45. ...แล้วพวกเขาก็เจอระเบิดลูกเมื่อวันก่อน...
46. ระเบิดดังกล่าวทำสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท เมื่อมาเกิดกับเลบานอนที่กำลังมีความทุรยศต่างๆ แล้ว มันทำให้ประเทศนี้แทบจะทรุดลงดิน ...ชาวเลบานอนคนหนึ่งถึงกับเอ่ยว่า เหตุใดพระเจ้าจึงลงโทษพวกเขายิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อีก?
47. เบื้องต้นเชื่อว่าระเบิดนี้มีสาเหตุมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรท (สารเคมีที่มักใช้ในการระเบิดเพื่อก่อสร้าง/ทำปุ๋ย) จำนวน 2,750 ตัน ที่มากับเรือสินค้าชื่อโรซัส ซึ่งจอดเทียบเบรุตเมื่อหกปีก่อน
48. เรือลำนี้มีอายุยาวนาน ตอนแรกแล่นจากจอร์เจียจะไปโมซัมบิก แต่พอมาจอดเทียบท่าที่เบรุตก็เกิดปัญหาเรือเก่าเกินแล่นไม่ได้ เจ้าของคือนาย Igor Grechushkin (ตามภาพ) จึงทิ้งเรือไปบอกว่าล้มละลาย
49. เรือและสินค้าจึงตกอยู่ในการดูแลของศุลกากรเลบานอนซึ่งเก็บแอมโมเนียมไนเตรทในโกดังอย่างไม่ถูกต้องนัก หกปีมานี้พวกเขาเขียนจดหมายหลายฉบับไปขอคำแนะนำจากรัฐบาลบอกว่าจะจัดการสินค้าอันตรายนี้เหล่านี้อย่างไรดี? จะส่งออกหรือขายใครก็ควรตัดสินใจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
50. แต่การที่การเมืองเลบานอนมีความผันผวน และการต่อสู้แย่งชิงกัน รัฐบาลจึงสนใจเรื่องอื่นมากกว่าแค่สินค้าอันตราย ...ทำให้ไม่มีใครจัดการมันเลย
51. รัฐมนตรีโยธาธิการของเลบานอนบอกว่าเขาได้รับรายงานเรื่องแอมโมเนียมไนเตรทเพียงแค่ 11 วันก่อนการระเบิด ถือเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีใครบอกว่าต้องสนใจ
52. และแล้วในวันที่ 4 สิงหาคมก็มีข่าวว่าระเบิดเกิดจากการเชื่อมประตูในโกดังเก็บของวันนั้น... ความผิดพลาดเล็กน้อยมากมายได้รวมกันเป็นความผิดพลาดใหญ่
53. เหตุใดประเทศที่สวยงามและมีชัยภูมิดีเช่นเลบานอนจึงวิปริตไปได้ถึงเพียงนี้? เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์แห่งความหายนะนี้บ้าง? และจะทำอย่างไรไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา?
::: ::: :::
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ The Wild Chronicles - เชษฐา https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา