9 ส.ค. 2020 เวลา 05:11 • ข่าว
แชมป์ ราชบุรี ย้ำเสรีภาพคือผืนดิน ยิ่งมีมากเสียงของคนบนดินจะได้ยินไปถึงท้องฟ้า พร้อมเทียบรัฐธรรมนูญเหมือนคนรัก จะอยู่ร่วมกันได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นประชาชนเป็นคนสำคัญที่สุด
ในเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ ดาวปราศรัยที่รู้จักกันทั่วไปในนาม 'แชมป์ ราชบุรี' กล่าวทักทายผู้ฟัง และขอบคุณทีมผู้จัดงานที่เปิดโอกาสให้เด็กคนหนึ่งขึ้นมาพูดในวันนี้ เขาเล่าว่า ตัวเองเป็นเพียงคนหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถ หรือเชียวชาญหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เท่ากับอาจารย์หลายท่าน และไม่ได้เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ที่ต่อสู้บนถนนสายการเมืองเพื่อปกป้องเสรีภาพเหมือนนักสู้หลายๆ คน
ธีรชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดคำถามขึ้นว่าว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร ซึ่งมีหลายคำตอบ เช่น กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กรอบกติกาในการออกแบบสังคมการเมือง เครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมทางการเมือง หรือกระทั่ง วรรณกรรมของนักกฎหมาย และหลายคนก็เห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงสมุดเล่มหนึ่งที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้า
แต่วันนี้ ธีรชัย ต้องการให้มองรัฐธรรมนูญในมุมมองใหม่ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นคนรัก มองในฐานะคู่ชีวิต โดยใช้ความคาดหวังที่เรามีต่อความรักเป็นกรอบการอธิบาย
เขาเปรียบเทียบว่า หากรัฐธรรมนูญคือคนรัก ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญมากแล้ว 20 ฉบับ เราก็คงมีแฟนแล้ว 20 คน รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ก็เหมือนกับคนหลายๆ คนที่เดินเข้ามาและออกไปจากความสัมพันธ์ในชีวิต หลายคนเดินเข้ามาด้วยความหวังดี บางทีหลายคนเดินเข้ามาด้วยความประสงค์ร้าย หลายคนอยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ บางคนอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอึดอัด บางคนเข้ามาทำให้รู้สึกมีความหวัง อยากสร้างอนาคตไปกับเขา แต่บางคนอยู่กับเราไม่นานก็รู้สึกว่า อีกไม่นานเขาจะต้องเดินจากไปในที่สุด และบางคนเข้ามาทำให้เรารู้สึกรักเขามาก แต่ไม่ว่ารักมากขนาดไหนก็จะมีมือที่สามเข้ามาเเย่งและพรากเขาไปจากเรา ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมา
ธีรชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นคนรักที่ดีสำหรับประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องจากไปเพราะมีคนถือปืนเข้ามาฉีกทิ้ง การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย ก็คล้ายกับการเปลี่ยนแฟนบ่อย และโดยปกติแล้วต่อให้มีการเปลี่ยนแฟนบ่อยแค่ไหน เราก็ย่อมคิดถึงใครสักคนที่จะเข้ามาเป็นคนสุดท้าย และจะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะมีมาแล้วก็ฉบับ ในใจของทุกคนก็ย่อมคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย แต่ปัญหาคือ เราเจอรัฐธรรมนูญที่เราต้องการหรือยัง
“บางครั้งสเปคที่เราชอบก็คล้ายกับรัฐธรรมนูญที่เราฝัน ผมชอบคนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลอดภัย เป็น safe zone ให้เราได้พักใจ รู้สึกว่าคนนี้จะไม่ทอดทิ้งเรา กับรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ผมอยากได้รัฐธรรมนูญที่ประกาศมาแล้วรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยจากอำนาจรัฐที่จะมาลิดรอน รู้สึกอุ่นใจทุกครั้งที่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายนี้ที่จะไม่ทอดทิ้งเราจากอำนาจรัฐ หรือจากอำนาจใดก็ตามทั้งในและนอกระบบที่ป่าเถื่อน”
ธีรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังชอบคนที่ไม่จู้จี้จุกจิก หวาดระแวงว่า จะไปมีคนอื่น จนต้องมาตามตรวจสอบ หรือสร้างข้อบังคับมากกมาย ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่มีข้อบังคับมากมายจนขยับไม่ได้ และไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ไม่ไว้ใจประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะคิดเองได้ จนต้องออกแบบให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาควบคุมตรวจสอบ ตีกรอบความคิด ให้ประชาชนเดินไปในทางที่เขาคิดว่าสมควร
นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า คนที่จะมาเป็นคนรักกันได้ จำเป็นต้องเป็นคนที่คุยกันรู้เรื่อง แม้ว่าจะพูดคนละเรื่องแต่ก็ต้องสามารถอธิบายแนวคิดระหว่างกันให้เข้าใจได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมายที่ยากมากมาย จนต้องหาคนมาวินิจฉัยตีความให้ ขณะเดียวกัน คนที่จะเป็นคนรัก ก็ต้องเป็นคนที่ไม่ว่าจะทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกัน ก็ยอมที่จะปรับตัวเข้าหากับเพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ แต่ไม่ใช่เป็นการปรับทุกอย่างโดยใครคนหนึ่งต้องเสียตัวตนไป เช่นกันกับรัฐธรรมนูญ ที่ควรจะปรับแก้ได้ง่าย ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
“ที่สำคัญเราอย่าได้คนที่คิดถึงเรา และทำเพื่อเรา เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ เราต้องการรัฐธรรมนูญที่คิดถึงประชาชน ออกแบบมาเพื่อประชาชน และทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ออกแบบเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มองประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดจริงๆ ไม่ใช่เพียงเขียนไว้แค่ตัวอักษร”
ธีรชัย กล่าวต่อว่า หากจะพูดให้ง่าย รัฐธรรมนูญจะต้องประกอบไปด้วยหลักการ 3 ข้อคือ 1.ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดจริงๆ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันฯ หน่วยงาน องค์กรใดก็ตาม จะต้องไม่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด 2.ความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่ต้องการการกดขี่ระหว่างกัน แต่ต้องการเวทีที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยทุกคนมีที่ยืนอันสมคุณค่า และเสมอหน้าได้ 3.สิทธิเสรีภาพ จำเป็นต้องขยายขอบข่ายของสิทธิเสรีภาพออกไปให้มากขึ้น
“พูดถึงเสรีภาพ หลายคนก็บอกว่าที่ออกมาพูดกันว่ายุคสมัยนี้ไม่มีเสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพจริงๆ แล้วนี่ออกมาพูดได้อย่างไร จริงครับท่านพูดถูก แต่ของเปรียบเสรีภาพเป็นดินที่เรายืนอยู่ การที่ผมยังพูดอยู่ได้แปลว่า ข้างใต้ยังมีผื่นดินรองรับอยู่ แต่ดินเสรีภาพในยุคนี้กลับเป็นดินที่เปราะบางอ่อนแอ และไม่ปลอดภัย เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าพูดๆ อยู่ตอนนี้ เมื่อไหร่ดินนี้มันจะทรุดถล่มลงมา หรือมันจะเหลวนิ่มกลายเป็นโคลนแล้วดูดเราลงไป ดังนั้นดินแห่งเสรีภาพที่ดี ที่ควรเป็น ที่อยากได้ ควรเป็นดินแห่งเสรีภาพที่หนักแน่น เข้มแข็ง และปลอดภัย และหากดินนี้มีมากขึ้น ทับถมก็กองดินสูงขึ้น ก็จะทำให้เราอยู่ใกล้กับท้องฟ้ามากขึ้น เมื่อมันสูงขึ้นจะทำให้เรา ประชาชนคนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะยืนอยู่บนดิน เท้ายังติดอยู่กับดิน แต่เสียงที่เราพูดออกมาจะได้ยินถึงท้องฟ้า”
#รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา
โฆษณา