9 ส.ค. 2020 เวลา 08:58 • การศึกษา
การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มีผลอย่างไรบ้าง ?
รูปภาพจาก pixabay และ canva
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับ
การเรียก "ดอกเบี้ยเกินอัตรา" ครับ
อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดนั้น
ได้กำหนดไว้ในกฎหมายแพ่ง
ซึ่งกฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้
ไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกิน ร้อยละ 15 ต่อปี
ตามป.พ.พ. มาตรา 654
แต่ถ้าจะเรียกอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้นี้
ต้องตกลงกันไว้ในสัญญาให้ชัดเจนด้วยนะครับ
เพราะหากการกู้ยืมเงินโดยที่เราไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยชัดเจน
เช่น ตกลงในสัญญาว่า
ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมาย หรือ ตามกฎหมายอย่างสูง
เพียงเท่านี้ เคยมีฎีกาที่ศาลได้ตัดสินในกรณีนี้ว่า ให้ตีความ
ไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย คือ เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยได้เพียง
ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3708/2528)
แต่หากมีการตกลงเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีล่ะ ?
จะมีผลอะไรบ้างตามกฎหมาย
1. ส่วนของ "ดอกเบี้ย" เป็นโมฆะทั้งหมด
(แต่ในส่วนของเงินต้นยังนั้นยังสมบูรณ์)
**ต้นเงินจริงๆนะครับที่สมบูรณ์ จะหัวหมอนำดอกเบี้ยเกิน
อัตรามารวมกับเงินต้นด้วย ก็โมฆะในส่วนนั้นเช่นกัน
2. มีความผิดอาญาฐาน เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
ซึ่งมีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.
2560 มาตรา 4
เจ้าหนี้จะอ้างว่า ลูกหนี้ "ยินยอม" ให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา
จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ทำให้การร้องทุกข์ไม่ชอบ
ส่งผลให้การสอบสวนไม่ชอบ
อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ได้หรือไม่ ??
เนื่องจากความผิดตามพรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ นี้
เป็นคดีอาญา "ความผิดต่อแผ่นดิน" มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว
พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดย
ไม่ต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ
การเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจึงไม่ใช่สาระสำคัญ
ฉนั้น แม้ผู้เสียหายจะ "ยินยอม" ให้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและ
พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้อง ตาม ปอ. 120
ตามแนวฎีกาที่ 20395/2555
หากใครจะให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา
ก็คิดให้หนักเลยนะครับ เพราะแม้จะหลบหลีก
พลิกแพลงสัญญาแบบไหน ก็อาจจะหลบหลีกไม่พ้นนะครับ
หากกรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปแล้วล่ะ ?
ส่วนที่เป็น "ดอกเบี้ยเกินอัตรา" เป็นโมฆะ
ถือว่าสัญญากู้ยืมไม่ได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันเลย
และเงินที่ลูกหนี้ได้ชำระไปก็ "ไม่สามารถเรียกคืน"
จากเจ้าหนี้ได้เพราะเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืน
ข้อห้ามตามกฎหมาย ตามป.พ.พ 411
แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้เองก็ไม่มีสิทธิที่จะได้ดอกเบี้ย
ที่เกินอัตราด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้น ต้องนำเงินทั้งหมดที่ไปชำระดอกเบี้ยเกินอัตรา
ดังกล่าวไปหักในส่วน "เงินต้น"
ตามแนวฎีกาที่ 5376/2560 และฎีกาที่ 930/2561
สรุปง่ายๆ คือ ดอกเบี้ยที่เกินอัตราเป็นโมฆะทั้งหมด และ
เงินที่ลูกหนี้จ่ายตัดดอก ให้ถือว่าเป็นการชำระเงินต้นไป
*** หมายเหตุ***
หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
จึงสามารถเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้
เช่น "บัตรเครดิต หรือ "บัตรกดเงินสด"
เพราะว่า ธนาคารและสถาบันการเงิน มีกฎหมายควบคุมคนละฉบับ
คือ พรบ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523
ซึ่งระบุไว้ว่า...มีอํานาจกําหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงิน
อาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีได้
พรบ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523
หากท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์บ้าง กด like
เพื่อเป็นกำลังใจได้นะครับ
หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆ
ก็ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ
หากรู้สึกสนใจอยากติดตามดูบทความต่างๆ
ก็กดติดตามนะครับ ขอบคุณครับ : )

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา