15 ส.ค. 2020 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์
เสริมเสน่ห์ด้วย 'จิตวิทยา' ทริคง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งสายมู
ไม่ต้องพึ่งไสยศาสตร์หรือ "สายมู" แค่เข้าใจกฎพื้นฐานด้าน "จิตวิทยา" ก็สามารถความประทับใจแรกพบ หรือ first impression ได้แบบเหนือชั้น
บทความโดย นำชัย ชีววิวรรธน์ | คอลัมน์ สมรู้ร่วมคิด | จุดประกาย
เสริมเสน่ห์ด้วย 'จิตวิทยา' ทริคง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งสายมู | จุดประกาย
เวลาเจอใครเป็นครั้งแรก หรือเวลาได้ทำงานกับใครนานๆ เราจะรับรู้ได้ถึง “ความน่าคบหา” ของคนแต่ละคนที่มีเสน่ห์ไม่เท่ากัน และแสดงออกมาผ่านทางคำพูด ท่าทาง ความคิดอ่าน แต่ในทางจิตวิทยา มีกลเม็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นหรือพบปะด้วย เรื่องนี้สำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะในกรณีของความประทับใจแรกพบหรือ first impression
ในตอนนี้ก็เลยจะเล่าถึงเกร็ดจากงานวิจัยว่า มีวิธีสร้างเสน่ห์แบบที่ทำได้เลย ไม่ยาก ไม่ต้องไปควานหาสาลิกาลิ้นทอง หรือทำพิธีไสยศาสตร์อะไรให้วุ่นวาย เสี่ยงกับการถูกหลอก ต้องเสียเงิน เสียเวลา และเสียใจ
มีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่า การบังคับร่างกายให้ทำกิริยาบางอย่างจะส่งผลต่อจิตใจได้ด้วย เช่น การกางแขนเท้าเอวแบบซูเปอร์แมน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราได้ ในทำนองเดียวกัน การยิ้มให้กว้างเอาไว้
ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย มีความสุขมากขึ้น
😊 ยิ้ม 0.5 วิ
อาการยิ้มแย้มแจ่มใสนอกจากจะทำให้เรา (ดู) มีความสุขแล้ว ยังทำให้มีความสุขขึ้นจริงๆ นะครับ โดยไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนแห่งความสุข และมีข้อดีสำคัญคือสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้ง่ายด้วย
1
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การยิ้มนานอย่างน้อย 0.5 วินาทีให้กับผู้อื่นในแต่ละครั้ง ทำให้ดู “จริงใจ” และมีเสน่ห์มากกว่าการยิ้มแบบรีบหุบยิ้ม (0.1 วินาที) มาก นอกจากนี้ ยังเป็นการยิ้มที่ดูไม่ใช่การ “ยิ้มข่ม” หรือ “ยิ้มเยาะ” อีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากการยิ้มแล้ว การเอียงศีรษะเล็กน้อยยังมองดูน่าไว้ใจและมีเสน่ห์เพิ่มขึ้นอีกด้วย (พวกเซเลบหลายคนในโซเชียลมีเดียคงรู้เรื่องนี้ ดูจากท่าโพสต์ได้) แต่มีข้อควรระวังคือ ต้องเอียงไปทางด้านขวามือของตัวเองเท่านั้น!
😊 ฮาโลเอฟเฟกต์
การใช้ ฮาโลเอฟเฟกต์ (Halo Effect) ก็ช่วยได้ครับ ในทางจิตวิทยามีการทดลองพบว่า ความรู้สึกดีๆ เรื่องหนึ่ง สามารถนำไปสู่ความรู้สึกดีๆ ในอีกเรื่องหนึ่งได้ จนนำไปสู่ความประทับใจดีๆ ได้ เช่น ที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือ “อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก” ว่าการพาสาวไปดูหนังแอ็กชั่นให้ผลดีมากกว่าพาไปดูหนังรัก เพราะหนังแอ็กชั่นส่งผลให้ผู้หญิงตื่นเต้นเลือดลมสูบฉีดไปกับฉากบู๊ในเรื่อง ส่งผลทางอ้อมให้รู้สึกว่าอยู่กับชายหนุ่มที่ออกมาเดตด้วยแล้วหัวใจเต้นตุ้บตั้บ
สมมุติว่าคุณต้องไปคุยงานกับลูกค้าสักคน การทราบล่วงหน้า (อาจจะจากการสอบถามคนอื่นหรือดูจากภาพในโซเชียลมีเดียของคนนั้น) ว่าลูกค้าชอบท่องเที่ยวที่ไหน ชอบกินอาหารแบบไหน หรือชอบเลี้ยงหมาแมว หากลองชวนคุยเรื่องพวกนี้ ก็ย่อมสร้างความประทับใจได้ ยิ่งในกรณีคนสูงอายุ บางรายถึงกับผูกขาดเล่าเรื่องเหล่านั้นต่อไปอีกเป็นสิบๆ นาที แต่เมื่อไปถึงบ้านกลับบอกลูกหลานว่า หนุ่มน้อยหรือสาวน้อยที่คุยด้วยนี่ พูดจาดี คุยสนุกจริงๆ ทั้งๆ ที่ความจริงคือ ได้แต่รับฟังและพยักหน้าตามไปเท่านั้น แทบไม่ได้คุยอะไรเท่าไหร่เลย
😊 เรียก 'พี่' ได้ไหม
การเรียกชื่อหรือสรรพนามแสดงความสัมพันธ์ก็มีความสำคัญมากในโลกตะวันตก การเพิ่งเริ่มพบกันครั้งแรก อาจแสดงความสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วได้ผ่านการเรียกชื่อตัวหรือชื่อเล่น แทนที่จะเรียกชื่อนามสกุล
สำหรับคนไทยนั้น การเลือกสรรพนามก็มีความสำคัญมาก เรียก “อา” แทนที่จะเรียก “ลุง” ย่อมสร้างความพึงพอใจได้มาก หรือแม้แต่จะเรียก “พี่” ก็คงจะยิ่งสร้างความปรีดาให้ได้ แม้เจ้าตัวจะรู้ว่าเลยอายุจะให้เรียกพี่ไปมากแล้ว
ยศถาบรรดาศักดิ์ก็มักให้ถือกันว่า “เหลือดีกว่าขาด” เรียกจ่าผิดเป็นหมวด ย่อมดีกว่าเรียกหมวดผิดเป็นจ่าอยู่แล้ว ยังเรียนไม่จบ ก็ให้เรียก ดร. เรียกศาสตราจารย์ เรียกคุณหมอ ดักรอไว้ได้เลย ยังไม่แต่งตั้งก็เรียกคุณหญิงไว้ก่อน ฯลฯ
😊 วิธีการแบบ 'เบนจามิน แฟรงคลิน'
มีวิธีการแบบหนึ่งที่ผู้ค้นพบ ได้แก่ เบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาแห่งสหรัฐอเมริกาและผู้รอบรู้ในสารพัดวิชา ครั้งหนึ่งเขาทดลองเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างบุคคล แล้วพบเรื่องน่าประหลาดใจว่า คนเรามักจะมีธรรมชาติที่ชอบคนที่ตัวเองสามารถช่วยเหลือทำสิ่งใดให้ได้ อ่านไม่ผิดหรอกครับ ชอบคนที่เราช่วยเค้าได้!
1
ในทางตรงกันข้ามก็จริงด้วย คือ หากใครที่เรามีปฏิสัมพันธ์หรือช่วยเหลืออะไรด้วยไม่ได้ เรามักจะไม่ค่อยชอบหรืออยากสนิทชิดเชื้อสักเท่าไหร่ คำแนะนำสำหรับสร้างเสน่ห์แรกพบก็คือ อาจจะขอให้คนผู้นั้นทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้สักอย่าง เช่น หยิบของส่งให้ ไม่ว่าจะเป็นถ้วย จาน หรือน้ำตาล เกลือ ฯลฯ หรือหยิบยืมบางอย่างที่ไม่ชวนให้ลำบากใจ เช่น ยืมปากกามาเขียนอะไรสักอย่าง หรือแม้แต่ขอความคิดเห็นในเรื่องบางเรื่องก็ได้ผลแบบเดียวกันหมด ... กลเม็ดแบบนีเรียกว่า “วิธีการแบบเบนจามิน แฟรงคลิน”
โฆษณา