19 ส.ค. 2020 เวลา 11:30 • สุขภาพ
จับตานาทีที่ 15 คนดิจิทัลเสี่ยงเป็นมนุษย์โบราณ 6 ขวบ สูงวัยอันตรายกว่าที่คิด
นาทีที่ 15 ชี้ชะตาอนาคตสุขภาพอาจกลับไปเป็นมนุษย์โบราณ ผู้ติดมือถือต้องรู้ 9 วิธีปรับพฤติกรรม ป้องกันป่วย Smartphone Syndrome รุนแรงถึงขั้นกายภาพ เด็ก 6 ขวบเสี่ยงเจริญเติบโตช้า ผลร้ายต่อผู้สูงวัยน่ากลัวกว่าที่คิด
1
คุณเคยสังเกตตัวเองไหม แต่ละครั้งใช้เวลา "ก้มคอ" (Bending) เล่นโทรศัพท์มือถือนานแค่ไหน
หากคุณเล่นเกิน 15 นาที คุณรู้หรือไม่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นบั่นทอนทำร้ายสุขภาพตัวเองโดยไม่รู้ตัว และอาจกลับไปเป็นมนุษย์โบราณทีละนิดๆ แต่หากคุณไม่อยากกลับไปเป็น "มนุษย์โบราณ" ที่หลังค่อม หน้ายื่น เดินก้มคอตลอดชีวิต ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำแนะนำดีๆ ถึงวิธีป้องกัน
1
- จุดเริ่มทำร้ายตัวเองไม่รู้ตัว ใช้มือถือนาน เทียบเท่าแบกข้าวสาร 2.4 ถุง
ข้อมูลจาก ดร.วรวัฒน์ ลวนนท์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ระบุว่า จากอัตราเติบโตการใช้สมาร์ทโฟนที่ต้องจ้องหน้าจอมากเกินในแต่ละครั้งจะเกิดภาวะ Smartphone Syndrome หรือ Text Neck Syndrome จากการก้มคอ" (Bending) และยื่นศีรษะ" (Leaning) ออกมาข้างหน้า เวลาใช้โทรศัพท์มือถือ
คอ กับการก้มหน้าขณะใช้โทรศัพท์มือถือมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ดร.วรวัฒน์ อธิบายต่อว่า โดยปกติหากมนุษย์ไม่ได้ ‘ก้มหน้า’ คอต้องรับน้ำหนักศีรษะราวๆ 5 กิโลกรัมอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ ‘ก้มหน้า’ เล่นสมาร์ทโฟนและโน้มคอต่ำมากขึ้นๆ จะยิ่งทำให้คอแบกรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุก 15 นาที เทียบเท่ากับกำลังแบกข้าวสาร 2.4 ถุง ดังนี้
1
- ก้มหน้า 15 องศา คอรับน้ำหนักราว 12 กิโลกรัม
- ก้มหน้า 30 องศา คอรับน้ำหนักราว 18 กิโลกรัม
- ก้มหน้า 45 องศา คอรับน้ำหนักราว 22 กิโลกรัม
- ก้มหน้า 60 องศา คอรับน้ำหนักราว 27 กิโลกรัม
‘ก้มคอ’ นาน ไทม์แมชชีนกลับไปเป็นมนุษย์โบราณ เจ็บปวดลุกลามทั้งร่างกาย
2
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ยิ่ง ‘ก้มคอ’ ใช้มือถือนานยิ่งทำให้อาจกลับไปเป็นมนุษย์โบราณได้ เพราะกระดูกคอโน้มต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบกระดูกคอเกิดอาการเกร็งตัวมากกว่าปกติทำให้อ่อนล้า ไม่สามารถช่วยพยุงน้ำหนักศีรษะได้ กลายเป็นทิ้งภาระให้กระดูกคอรับน้ำหนักทั้งหมดเพียงลำพัง ทำให้เกิดอาการปวดตึงช่วงคอและไหล่ มีอาการเจ็บและเพลียกล้ามเนื้อ ปวดหัว, คอแข็ง (Stiff Neck) เจ็บตึงที่ต้นคอบริเวณท้ายทอย
1
นอกจากนี้ ดร.วรวัฒน์ อธิบายต่อว่า ในบางราย หากปล่อยให้อาการเจ็บปวดสะสมหลายปีจนเกิดสภาวะรุนแรง จะส่งผลให้กระดูกข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอเสื่อม แหงนและเอี้ยวคอได้บ้างแต่ก้มศีรษะไม่ได้, ปวดบริเวณกระดูกสะบัก ข้อต่อหัวไหล่ทรุด และอาจเกิดเสียงเอี๊ยดเวลาขยับ อีกทั้งการเงยหน้าหลังจาก ‘ก้มคอ’ นานจะทำได้ยากขึ้น หรือในบางสถานการณ์จะรู้สึกชา เสียวแปลบ หรืออ่อนเปลี้ยลามไปยังแขน เพราะเส้นประสาทช่วงคอตึงเกินไป
- เด็ก 6 ขวบ ผู้สูงอายุ ใส่ใจให้ดี ก้มคอเล่นโทรศัพท์ ผลร้ายน่ากลัวกว่าที่คิด
ผลกระทบจากการ ‘ก้มคอ’ เล่นสมาร์ทโฟน ยังมีอาการอื่นๆ ที่อันตรายกับสุขภาพอีกมากมาย ซึ่งทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามจาก นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช เพิ่มเติม พบว่า Text Neck Syndrome ในทางการแพทย์ไม่มีชื่อภาษาไทย แต่เป็นคำเพื่ออธิบายให้เข้าใจง่ายว่าเป็นผลจากการเล่นมือถือ
1
Text Neck Syndrome เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน และพบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปที่เริ่มใช้โทรศัพท์ หากใครรู้ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวแล้วจำเป็นต้องดูแลลูกหลานในการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น เนื่องจากมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ อาทิ ไหล่ห่อ คอตก หลังเริ่มค่อม กระดูกสันหลังคด หรืออาจหยุดการเจริญเติบโต หรือเจริญเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งถึงแม้กรณีนี้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่จากการเปรียบเทียบนักกีฬายิมนาสติก ซึ่งลงน้ำหนักไปที่ข้อมือเยอะๆ แต่พบว่า กระดูกบริเวณข้อมือไม่ค่อยเติบโตและโตช้ากว่าปกติ
สำหรับผู้สูงวัย แม้จะพบได้ไม่มากเท่าวัยทำงาน แต่ นพ.ภัทรภณ ระบุว่าเป็นกลุ่มวัยที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เนื่องจากหากป่วยเป็น Text Neck Syndrome อาการจะไม่ใช่แค่ปวดเมื่อย แต่อาจจะเกิด ‘การกดทับเส้นประสาท’ อันมีสาเหตุจากความแข็งแรงของกระดูกที่เสื่อมสภาพตามวัยอยู่แล้ว
- ก้มคอมากเสี่ยงหนัก 9 วิธีปรับพฤติกรรม ป้องกันป่วยรุนแรงถึงขั้นกายภาพ
ในการรักษา นพ.ภัทรภณ เปิดเผยข้อมูลว่า แล้วแต่กรณีและขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ มีหลายวิธีในการรักษา อาทิ
ตั้งแต่ให้คำแนะนำ สอนยืดกล้ามเนื้อ สอนให้ออกกำลังกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง สอนให้ปรับท่าทาง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ กินยา ทำ ฝังเข็ม หรือกายภาพบำบัด
หากไม่อยากย้อนกลับไปเป็นมนุษย์โบราณที่หลังค่อม หน้ายื่น เดินก้มคอตลอดชีวิต เพื่อบรรเทา หลีกหนีและป้องกัน Text Neck Syndrome ต้องทำอย่างไรบ้างนั้น นพ.ภัทรภณให้เคล็ดลับง่ายๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นสมาร์ทโฟนของตัวเอง ดังต่อไปนี้
1. ไม่ยืนก้มคอเล่นโทรศัพท์ การยืนทำให้คอก้มมากกว่านั่งเล่น
2. ยกหน้าจอสมาร์ทโฟนให้เสมอหน้า อยู่ระดับสายตา คอตั้งตรงมากที่สุด
3. ไม่นั่งก้มหลัง ห่อไหล่ นั่งเก้าอี้ที่เอนหลังได้ และควรเอนหลังบ่อยๆ เท่าที่ทำได้ ช่วยให้กล้ามเนื้อคอไม่ตึงเกินไป และควรมีสิ่งซัพพอร์ตแขน เช่น เท้าโต๊ะ วางแขนที่เก้าอี้ ขณะเล่นสมาร์ทโฟน
4. เงยหน้าทุกๆ 15 นาที ลุกเดินและขยับตัวบ่อยๆ สัก 1 นาที จะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนและคอปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ถือเป็นการพักร่างกาย
5. ยืดกล้ามเนื้อคอทุก 1 ชั่วโมงเป็นระยะ ใช้มือซ้ายจับศีรษะด้านขวาค่อยๆ ดันไปด้านซ้าย แล้วใช้มือขวาจับศีรษะด้านซ้ายค่อยๆ ดันไปด้านขวา ทำสลับข้างกันไปมาเพื่อผ่อนคลาย
6. ปวดคอบ่อยๆ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ 3 หรือ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยแอโรบิก หรือเครื่องเดินวงรี เครื่องปั่นจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือเดินเร็ว 20-30 นาที เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี ลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าและล้างเคมีจากการอักเสบและบาดเจ็บ
7. ล้างพิษดิจิทัล จำกัดเวลาเล่นมือถือ
8. ย้ายงานมาทำในคอมพิวเตอร์ให้มากแทนการใช้มือถือ
9. ฝึกและเลิกสร้างเงื่อนไข ไม่รู้จะทำอะไรก็ก้มคอกดเล่นมือถือ
“การออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณคอให้แข็งแรง ทำได้โดยการต้าน เกร็ง 4 ทิศทาง ขวา ซ้าย หน้า หลัง นำฝ่ามือวางไว้ขมับขวา ซ้าย แล้ว ค่อยๆ ผลักศีรษะฝั่งตรงข้าม แต่การทำวิธีนี้ต้องให้อาการปวดน้อย หรือหายจึงเริ่มออกกำลัง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มความเจ็บปวดตรงคอ” นพ.ภัทรภณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แนะนำ
เมื่อ "โทรศัพท์มือถือ" เป็นปัจจัยที่ 5 ในยุคดิจิทัลซึ่งจำเป็นและขาดไม่ได้ในคนทุกเพศทุกวัย สิ่งที่ช่วยให้ปลอดภัย จึงต้องใช้อย่างมีสติ เพื่อสุขภาพที่ดี หากอยากรู้สุขภาพตัวเองขณะก้มหน้าใช้มือถืออยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย หรือต้องพบแพทย์ ลองคลิก "ทดสอบ" นี้แล้วคุณจะพบคำตอบที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่าน Spotlight : Smartphone Syndrome 15 นาทีเปลี่ยนชีวิต
ของไทยรัฐออนไลน์ได้ที่
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา