Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แคร่ไม้ใต้ต้นระกำ
•
ติดตาม
27 ส.ค. 2020 เวลา 01:38 • นิยาย เรื่องสั้น
โครงสอน
ผมเห็นตัวเอง เมื่อมองเด็กๆที่กำลังเข้าแถวเคารพธงชาติอยู่ในตอนนี้
ตอนผมเป็นเด็ก ผมก็เป็นแบบนี้
ใส่เสื้อบริจาคปักทั้งชื่อโรงเรียนและชื่อนักเรียนเรียบร้อย แต่ไม่ใช่ชื่อผม
ถุงเท้ารองเท้าไม่ต้องพูดถึง แค่รองเท้าแตะก็ดีถมไปแล้ว
แต่ชีวิตก็มีความสุขดีตามประสา
ง่วงก็นอน หิวก็กิน เท่าที่จะมีให้กิน
ชีวิตในชนบท เรื่องของกิน ถ้าไม่อยากกินอะไรพิเศษ ก็ได้สารอาหารครบห้าหมู่
โปรตีนจากตั๊กแตน หนูนา วิตามินจากตำลึงริมรั้ว
เรียนจบปอหก ก็มีโรงเรียนขยายโอกาสใกล้บ้านให้ต่อชั้นมัธยม
อยู่ที่เราจะเลือกว่าจะขยายโอกาสตัวเองไหม
เด็กๆเหล่านี้ก็มีโอกาสเลือกเช่นกันกับผมตอนนั้น
ผมโชคดีที่น้ามาช่วยเลือก
หลังเรียนจบประถม ระหว่างกำลังช่วยแม่ทำไร่มันสำปะหลัง แฟนน้าถอดสร้อยทองให้น้าไปจำนำ เป็นค่ารถไฟมาตามผมให้เข้า กทม. ไปสมัครสอบโรงเรียนมัธยม
สอบได้ ใส่ชุดนักเรียนเดินเข้าห้องแนะแนว ขอทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน
ผมเรียนด้วยทุนของสมาคมนักเรียนเก่าฯ ตลอดหกปี
สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ คุณครูก็ให้ทุนค่าชุดนิสิต
ผมยังจำวันที่ผมมีปัญหา ใส่ชุดนิสิตไปห้องกิจการนิสิตได้ดี
อาจารย์วิโรจน์รองคณบดีกับพี่พัฒน์นั่งคุยกันอย่างออกรส
ผมเดินกล้าๆกลัวๆเข้าไปในห้อง แล้วก็ยืนเก้ๆกังๆไม่พูดไม่จาอะไร
“ว่าไง มีอะไรให้ช่วย” ครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงพี่พัฒน์
“ผมไม่มีเงินลงทะเบียนครับ”
“ไหนมาเล่าให้ฟังซิ พ่อแม่ทำงานอะไร” อาจารย์วิโรจน์หันมาถาม
“พ่อผมขับแท็กซี่ แม่ไม่ได้ทำงานครับ”
ผมบอกไปตามความเป็นจริง ครอบครัวย้ายเข้า กทม. หลังจากเหตุซุงถล่มที่ชุมพร รัฐบาลประกาศปิดป่า จากที่พ่อเคยทำเฟอร์นิเจอร์ไม้มะค่า ก็ไม่มีไม้ให้ทำ เข้ามารับเหมาก่อสร้าง ก็ขาดทุนย่อยยับ ทำงานใช้หนี้ร้านวัสดุฯอยู่หลายปี จนเขายกหนี้ให้ จึงได้เอาเงินที่เหลือมาประกันแท็กซีขับเลี้ยงครอบครัว
“พัฒน์ไปหยิบสมุดเช็คมา”
แล้วอาจารย์วิโรจน์ก็เขียนเช็คสหกรณ์มหาวิทยาลัยยื่นให้ ตัวเลขเท่ากับค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าหน่วยกิต
“ไปสหกรณ์ถูกไม๊ ถ้าไปไม่ถูกจะให้กุ๋ยพาไป กุ๋ย พาน้องไปหน่อย”
น้ำตาผมไหลเป็นทาง ร้องไห้สะอึกสะอื้น ยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วเดินตามพี่กุ๋ยไปสหกรณ์
ผมไม่รู้ว่าเงินที่อยู่ในสหกรณ์มีต้นทางมาจากไหน แต่ถึงตอนนี้ก็เทอมที่สามแล้ว ที่ผมใช้เงินนั้นเป็นทุนการศึกษา
แต่ผมไม่ได้ตั้งใจเรียน ผมมัวแต่เสียใจกับเรื่องความรัก จนสอบตก
นี่ผมกำลังเป็นคนเนรคุณอยู่นะ
...
วันนี้ผมอยู่โครงสอน
น่าจะเป็นกลุ่มที่สบายที่สุดใน 4 กลุ่มของค่าย ไม่ต้องผสมปูน หรือแบกปูน อย่างโครงงาน ไม่ต้องไปตากแดดเดินไกลๆเข้าไปในหมู่บ้านท้องนาอย่าง สพช. และไม่ต้องล้างห้องน้ำเหมือนกับโครงสวก
จะเรียกว่าสอนก็ดูจะไม่ตรงนัก น่าจะเป็นการเล่นมากกว่า
ร้องเพลง เล่นเกมส์
สนุกสนานทั้งชาวค่าย ทั้งเด็กๆ
ผมไม่มีแก่ใจสนุกด้วย
เคยได้ยินใครบางคนว่าไว้
“เราไม่ได้เจ็บปวดเพราะความรักหายไป แต่เพราะมันยังอยู่ต่างหาก”
เป็นจริงอย่างนั้น เพราะความรักยังอยู่ใจ มันจึงปวดใจปวดร้าวอยู่อย่างนี้
ผมยืนดูอยุ่เงียบๆ ตรงมุมห้อง บางครั้งก็เหม่อลอยมองออกไปนอกหน้าต่าง
ถ้ามีหน้าตึงๆ แววตาแก่นๆ ผมแดง สำเนียงแปร่งๆอยู่ตรงนี้ด้วยก็คงจะดี อย่างน้อยก็มีคำพูดเจ็บๆพอเบี่ยงเบนความคิดของผมได้บ้าง
“เด็กๆ บ่ายนี้เรามาเรียนรู้เรื่องสุริยุปราคากัน ไหนใครรู้บ้าง สุริยุปราคาคืออะไร”
“ผมรู้ครับครู”
เด็กๆเรียกพี่ๆชาวค่ายว่าครูเหมือนกัน
“พระอาทิตย์จะถูกพระจันทร์บัง และประเทศไทยจะเห็นแบบเต็มดวงครับ”
“เก่งมาก ไหนใครอยากดูสุริยุปราคาเต็มดวงบ้าง”
ทุกคนยกมือ
“แต่รู้ไหม ว่าเราดูด้วยตาเปล่าของเราไม่ได้นะ เพราะว่าจะทำให้ตาบอดได้ ถ้างั้นวันนี้ เรามีเตรียมอุปกรณ์ในการดูสุริยุปราคากัน”
บ่ายวันนั้นชาวค่ายโครงสอนและเด็กๆจึงช่วยกันทำอุปกรณ์การดูสุริยุปราคา ทั้งแบบขนาดใหญ่แบบติดตั้งถาวร โดยเอาฟิล์มถ่ายรูปแผ่นใหญ่ที่เตรียมไว้มารมดำ แล้วติดตั้งเพิ่มไว้ใต้กระจกแคลี่บอยหลังรถปิ๊กอัพประจำตัวพี่ติ่ง ส่วนสำหรับใช้ส่วนตัว ก็จะเป็นฟิล์มถ่ายรูป ติดแจกคนละเฟรมไป
ชาวค่ายหลายคนมาจากภาควิชาโพโต้ ได้ฟิล์มมามากพอกับเด็กๆทุกคน
ถึงเย็นวันนั้น เครื่องมือในการดูสุริยุปราคาเต็มดวงก็พร้อมแล้ว
เมื่อใกล้จะจบค่าย ผมก็มีอะไรให้ทำเพื่อให้ตัวเองไม่ว่างในเวลากลางคืนเพิ่มอีกอย่าง
แกะป้าย ที่จะติดตั้งหน้าห้องสมุดในวันปิดค่าย
ชาวบ้านเอาปลีกไม้มาให้ พี่พัฒน์ก็เขียนเป็นข้อความด้วยปากกาเมจิก ให้ชาวค่ายมาแกะ
ทุกคืนผมก็นั่งแกะป้าย ฟังเพลงจากวงดนตรีสี่หนุ่ม
“พี่สอนเราแกะหน่อย”
ผมเงยหน้าขึ้นมองเจ้าของเสียงแปร่งใสแจ๋วนั้น หน้าตาตอนอยากได้อะไรก็น่ารักดี
“ไอ้หัวแดงจะแกะสลักโว้ย ต้องมือเบานะ มือหนักขนาดชกกับเขาทรายได้อย่างเอ็ง เดี๋ยวได้หาไม้ชิ้นใหม่” เสียงพี่ติ่งกระเซ้ามาจากวงดนตรี
หน้าตาอ้อนๆ กลายเป็นตึง ตาเขียวอีกแล้ว
“มามา ใครอยากแกะเป็นมั่ง เดี๋ยวสอนทีเดียว” ผมรีบออกตัว ก่อนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
แกะตัวหนังสือทำป้าย จะแกะกินเนื้อไม้ลงไปเป็นสามเหลี่ยมตามลักษณะของสิ่ว ถ้าเราตั้งสิ่วตรงๆที่เส้นขอบของตัวอักษร ใช้ฆ้อนตีลงไป ก็จะได้มุมพอดีๆ
ทักษะการแกะป้าย จึงอยู่ที่การวางสิ่ว และน้ำหนักการลงฆ้อน อีกอย่างคือตั้งไม่ใจร้อน ค่อยๆตอก ค่อยๆแกะ เพราะหากเสียหาย กว้างไป หรือลึกไป ก็จะแก้ลำบาก
อธิบายให้ฟัง และทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ทุกคนพยักหน้าเข้าใจ ผมจึงยื่นสิ้วกับฆ้อนให้
ผมแอบขำท่าทางเก้ๆกังๆแต่ดูจริงจังของคนตรงหน้า
ซักพักจากที่มาขอช่วยแกะหลายคนก็เงยหน้า หมุนคอ แล้วก็พากันแอบวางค้อนวางสิ่วกลับอาคารเรียนไป เพียงเหลือแต่คนต้นคิดมาขอให้สอนแกะป้าย
“พี่เตรียมชุดนิสิตหรือยัง”
“เตรียมทำไม พี่มีแค่ที่ใส่ติดตัวมา แล้วก็ยังไม่ได้ซัก”
“รู้อะไรบ้างเนี่ย”
“รู้วิธีแกะป้าย”
“โอ๊ย กวนตีนอีก”
“รู้เท่าที่รู้นี่ล่ะ”
“วันมะรืนพวกเราจะเข้าอำเภอกัน ไปร่วมพิธีถวายสักการะวันปิยะฯ”
“งั้นคงไม่ได้ร่วมพิธีด้วย เสื้อผ้ายังไม่ได้ซัก”
“พรุ่งนี้เราเป็นสวก เอามาให้เราตอนเช้า เดี๋ยวเราซักให้ เห็นอาจารย์พนมีเตารีดมาด้วย พี่ก็ค่อยเอามารีดซักหน่อย”
“งั้นเดี่ยวพี่ซักเองก็ได้ หลังกินข้าวคงพอมีเวลา”
“ตามใจ” ว่าแล้วก็วางฆ้อนกับสิ่วเสียงดัง
ผมมองตามเธอเดินกลับไปอาคารเรียนจนหายไปในความมืด
เสียงฮิ้วกับเสียงเครื่องดนตรีรัวๆดังมาจากวงดนตรีอีกครั้งหนึ่ง
3 บันทึก
60
20
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องสั้น หนีรักไปค่ายอาสาฯ
3
60
20
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย