28 ส.ค. 2020 เวลา 14:56 • สุขภาพ
กำเนิด IBD (โรคที่ทำให้ชินโซะ อาเบะต้องลาออก) ตอนที่ 1/2
ใครฆ่าภรรยาหมอ Smethurs
1
หมายเหตุ 1 : เรื่องในตอนนี้นำมาจากบทที่ 21 ของหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ
หมายเหตุ 2 : โรค IBD เป็นหนึ่งในโรคที่พบเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก เริ่มต้นขึ้นทางประเทศตะวันตกก่อน ตอนนี้กำลังพบมากในเอเชียโดยเฉพาะในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน (ภรรยาผมที่เป็นหมอที่ศูนย์ญี่ปุ่นรพ.สมิติเวช เคยเล่าให้ฟังว่า คนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯพบโรคนี้มากจนน่าแปลกใจ)
ในคนไทยยังพบน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสจะพบมากขึ้นได้เช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ลองอ่านจากบทความ 2 ตอนจบนี้ดูครับ
สิงหาคมปี ค.ศ. 1859
คดีหมอฆ่าภรรยาที่ชาวลอนดอนติดตามกันมาอย่างสนใจก็จบลงด้วยคำตัดสินประหารชีวิตหมอโทมัส สเมตเฮิร์สต์ (Thomas Smethurst) วัย 50 กว่าด้วยการแขวนคอ
เรื่องราวความรักระหว่างหมอสเมตเฮิร์สต์กับภรรยาอิซาเบลลา แบงเกส (Isabella Bankes) เริ่มต้นขึ้นประมาณ 1 ปีก่อนหน้า
Bankesในวัย 42 ปี ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านเช่าแห่งหนึ่งในย่านเบยส์วอเตอร์ (Bayswater) ที่หมอสเมตเฮิร์ตส์พักอาศัยอยู่ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเจ้าของบ้านเช่าที่ต้องการให้ผู้เช่ามารับประทานอาหารเช้าร่วมกัน
หมอ Smethurs กับ Bankes จึงได้มาพบกัน
อาจเป็นเพราะ Bankes มีร่างกายอ่อนแอด้วยอาการปวดท้องเรื้อรัง กินแล้วรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ กับคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานอาหารในบางครั้ง ทำให้เธอและหมอ Smethurs ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ จน 3 เดือนถัดมาทั้งคู่ก็ตัดสินใจแต่งงานกัน
หลังแต่งงานได้ไม่กี่เดือน Bankes ก็เริ่มป่วยหนักขึ้น จากเดิมที่ร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เธอก็เริ่มมีอาการท้องเสียบ่อยขึ้น อาเจียนรุนแรง
ในช่วงแรกหมอ Smethurs ก็รักษาภรรยาของเขาด้วยตัวเอง แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้น เขาจึงปรึกษาหมอคนอื่น ๆ ให้มาช่วยรักษา
แม้จะมีหมอหลายคนมาช่วยและต่างก็พยายามรักษาอย่างเต็มที่ แต่อาการของแบงเกสกลับแย่ลง จนหมอที่รักษาต่างก็แปลกใจที่โรคของเธอไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ เลย
อาการของเธอทรุดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีแรงลุกออกจากเตียงไปไหน
เมื่อน้องสาวเดินทางมาเยี่ยมและเห็นพี่สาวผอมจนน่าตกใจก็ตัดสินใจที่จะย้ายมาอยู่กับพี่สาวเพื่อช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อถูกหมอ Smethurs กีดกันไม่ให้มาอยู่ด้วย และยังบอกว่า ไม่ควรมาเยี่ยมพี่สาวอีกเพราะพี่ต้องพักผ่อนและความตื่นเต้นเมื่อมีคนมาเยี่ยมจะส่งผลเสียต่อโรคที่เป็น
อาการของ Bankes ยังคงทรุดลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในหมอที่มาช่วยรักษาจึงคิดว่าควรนำอุจจาระของเธอไปส่งให้นักเคมีที่ชำนาญเรื่องสารพิษตรวจเพื่อหาว่ามีสารพิษปนอยู่ในอุจจาระบ้างหรือไม่
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นหมอ Smethurs คิดว่าภรรยาคงไม่รอดเป็นแน่ เขาจึงขอให้เธอช่วยเขียนพินัยกรรมให้เรียบร้อยซึ่งเธอก็ไม่ขัดข้อง โดยเธอตัดสินใจยกสมบัติเกือบทั้งหมดให้กับผู้เป็นสามี
2
หลังจากเขียนพินัยกรรมเสร็จ หมอ Smethurs ก็ติดต่อไปหาน้องสาวของภรรยาพร้อมกับแจ้งว่าให้รีบมาดูใจพี่สาวได้แล้ว
เมื่อน้องสาวมาเยี่ยมก็ต้องประหลาดใจกับพฤติกรรมของหมอ Smethurs อีกครั้ง เพราะเมื่อเธอจะป้อนซุปที่ทำมาให้พี่สาวกิน หมอกลับรีบแย่งถ้วยไป แล้วบอกว่าซุปยังร้อนเกินไป ขอนำไปตั้งให้เย็นในอีกห้องหนึ่งก่อน หลังจากหายไปสักพักหนึ่งเขาก็ยกซุปกลับเข้ามาห้องแล้วป้อนให้ภรรยากิน
2 - 3 วันถัดมา ผลการตรวจสารพิษก็กลับมาพร้อมกับมีจดหมายจากนักเคมีผู้เชี่ยวชาญสารพิษแนบมาด้วย ใจความในจดหมายเขียนไว้ว่า เขาสงสัยว่า Bankes น่าจะถูกวางยาพิษด้วยสารจำพวก Arsenic (สารหนู) เขายังแนะนำด้วยว่าควรรีบให้การรักษาด้วยแมกนีเซียมไฮเดรต ไม่เช่นนั้นชีวิตของผู้ป่วยจะมีอันตรายและควรให้อยู่ภายใต้การดูแลของ คนที่สามารถไว้ใจได้ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารและน้ำดื่มปลอดภัยจริง ๆ
ประมาณห้าโมงเย็นของวันที่ผลการตรวจสารพิษออกนั้น ตำรวจก็มาที่บ้านของหมอสเมตเฮิร์ตส์และจับกุมตัวเขาไว้
วันถัดมาคือวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 หรือประมาณ 8 เดือนนับจากวันที่ทั้งคู่ได้พบกันครั้งแรก แบงเกสก็เสียชีวิตลง
ข่าวการฆาตกรรมภรรยาของหมอผู้นี้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ชาวลอนดอนและประชาชนชาวอังกฤษให้ความสนใจและติดตามการสืบคดีอย่างใกล้ชิด ระหว่างการไต่สวนนั้นก็พบข้อมูลที่ทำให้เกิดดราม่าเข้มข้นขึ้น อีกทั้งคดียังพลิกไปมาหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น
เมื่อผลการชันสูตรศพออกมากก็พบสิ่งที่ไม่มีใครรู้มาก่อนคือ ขณะเสียชีวิต Bankes กำลังตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า หรืออาการป่วยระยะหลังจะเป็นเพราะเธอแพ้ท้อง แต่หมอที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการในคดีก็ให้ความเห็นว่าการตั้งครรภ์ไม่สามารถอธิบายความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
เมื่อดร.เทย์เลอร์นำขวดยาต่าง ๆ ที่ Bankes กินมาตรวจหาสารพิษก็พบว่ามียาขวดหนึ่งที่มีสาร Arsenic เจือปนอยู่ ยาขวดนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดหมอ Smethurs แต่หมอก็ปฏิเสธทุกข้อหาและยังยืนยันว่าเขารักภรรยาและไม่เคยคิดร้ายกับภรรยาเลย
คดีพลิกอีกครั้งเมื่อผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าชันสูตรศพกลับไม่พบสาร Arsenic ในร่างกายของ Bankes เลย
1
ต่อมาเมื่อดร.เทเลอร์ต้องมาให้การ เขาก็ออกมายอมรับว่า การตรวจพบ Arsenic ในอุจจาระและในขวดยานั้น เกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่เขามาพบในภายหลังว่าเขาทำปนเปื้อนเข้าไปเอง เรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เพราะดร.เทย์เลอร์เป็นนักเคมีผู้มีชื่อเสียงที่ช่วยไขคดีใหญ่ๆมาแล้วหลายครั้ง และเป็นที่ไว้ใจของคนทั่วไปมาก
เมื่อหลักฐานสำคัญที่ทำให้สังคมปักใจเชื่อไปว่าหมอ Smethurs เป็นฆาตกรกลายเป็นหลักฐานที่ผิด นั่นก็หมายความว่า Bankes ไม่ได้เสียชีวิตด้วยสารพิษ และหมอ Smethurs ก็ไม่น่าใช่ฆาตกรที่วางยาสังหารภรรยาตัวเอง
แล้วก็มีข้อมูลใหม่ถูกเปิดเผยที่ทำให้คนในสังคมฮือฮากันอีกครั้ง
มีการค้นพบว่า ก่อนที่หมอสเมตเฮิร์ตส์จะแต่งงานกับแบงเกส เขามีภรรยาที่อายุมากกว่าถึง 20 ปีอยู่แล้วคนหนึ่ง (ระหว่างสอบสวนภรรยาคนนั้นมีอายุ 70 กว่าปี) ดังนั้นการแต่งงานครั้งนี้เป็นการแต่งงานซ้อน ซึ่งสำหรับสังคมอังกฤษยุคนั้นพฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าผิดศีลธรรมและน่ารังเกียจมาก
ความเห็นของประชาชนต่อคดีจึงพลิกอีกครั้งเพราะสังคมพร้อมใจกันเอนเอียงไปในทิศทางที่เชื่อว่าหมอเป็นคนฆ่าภรรยาตัวเองจริง ๆ
หลังจากสืบคดีต่ออีกนานหลายเดือน สุดท้ายในเดือน สิงหาคม ค.ศ. 1859 คณะลูกขุนก็ลงความเห็นว่าหมอ Smethurs มีความผิดจริง
ศาลจึงตัดสินให้ลงโทษประหารด้วยการแขวนคอ
แต่เรื่องก็ยังไม่จบครับ...
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และประชาชนจำนวนมาก พากันออกมาประท้วงการตัดสินคดีในครั้งนี้
1
ไม่ใช่เพราะเชื่อว่าหมอ Smethurs ไม่ใช่ฆาตกร หลายคนเชื่อว่าเขาน่าจะผิดจริง เพียงแต่หลักฐานต่าง ๆ ผิดพลาดหลายครั้ง และที่สำคัญคือหลักฐานหลักชิ้นเดียวของดร.เทย์เลอร์ที่ใช้ในการตัดสินว่าเขาผิดยังเป็นหลักฐานที่ผิดพลาด ประชาชนจึงรู้สึกว่าคดีนี้ผิดพลาดมากเกินกว่าจะตัดสินลงโทษประหารคนๆหนึ่งได้
ด้วยเหตุนี้หมอ Smethurs จึงรอดจากโทษประหารไปได้ และคดีก็สิ้นสุดลงเพราะไม่มีหลักฐานอื่นที่จะมาเอาผิดเขาได้
จนถึงทุกวันนี้นอกเหนือไปจากตัวหมอ Smethurs เอง ก็คงไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วเขาวางยาพิษภรรยาตัวเองหรือไม่
แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไปที่คดีนี้อีกครั้ง แล้วนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ด้วยความรู้ของการแพทย์ปัจจุบัน ก็มีเหตุให้เชื่อว่าแบงเกสไม่น่าจะเสียชีวิตจากการได้รับยาพิษ
กุญแจสำคัญที่ทำให้เราเชื่อเช่นนั้นมาจากผลการชันสูตรศพซึ่งคุณหมอเซอร์ซามูเอล วิลค์ส (Sir Samuel Wilks) ได้บันทึกไว้ว่า
ผิวลำไส้ของแบงเกสเต็มไปด้วยแผลเก่า ๆ ที่หายแล้วเหลือเป็นพังผืดให้เห็นมากมาย ร่วมกับแผลใหม่ที่ยังไม่หายหรือหายได้ไม่นาน แผลเหล่านี้ปรากฏในหลาย ๆ ตำแหน่งกระจายไปทั่วลำไส้
ความรู้ของการแพทย์ปัจจุบันทำให้เรารู้ว่า ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ลักษณะของการได้รับสารพิษในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เกิดจากภาวะบางอย่างที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยที่เรื้อรังมานาน ๆ ก็ทำให้เชื่อว่าแบงเกสน่าจะเป็นโรคทางเดินอาหารเรื้อรังบางอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบจนเป็นแผลในลำไส้ใหญ่
และเชื่อกันว่า Bankes คือผู้ป่วยรายแรกของโลก ที่ป่วยเป็นโรค Inflammatory Bowel Disease (IBD) หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังรายที่มีการจดบันทึกเอาไว้ในวารสารการแพทย์อย่างเป็นทางการ
พูดถึงคำว่าลำไส้อักเสบเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงภาวะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ
แต่ภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรังที่จะพูดถึงนี้ ทางการแพทย์แยกออกมาเป็นโรคที่ต่างไปจากลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อเนื่องจากภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือ IBD เกิดจากกลไกที่ต่างไป
โดยทั่วไปภาวะ IBD จะแยกเป็น 2 โรคที่แตกต่างกัน ได้แก่ Crohn’s Disease (Bankes ป่วยเป็นโรคนี้) และ Ulcerative Colitis (ชินโซะ อาเบะ ป่วยเป็นโรคนี้) ที่นิยมเรียกย่อ ๆ ว่า UC (แปลตรงตัวคือลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง)
ทั้งสองโรคนี้มีลักษณะที่คล้ายกันมาก เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย บางคนอาจมีเลือดปนออกมากับการถ่ายหรืออาจมีไข้ด้วย ถ้าเป็นมานานระยะหนึ่งอาจเสียเลือดมากจนมีภาวะเลือดจาง ทำให้เหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย อาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากการที่ผนังของลำไส้ในหลายบริเวณเกิดการอักเสบขึ้น
สำหรับความต่างของ 2 โรคนี้จะอยู่ที่ลักษณะของแผลและตำแหน่งของแผลในทางเดินอาหาร สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะไม่สำคัญนัก แต่สำหรับหมอนับว่าสำคัญมากเพราะการแยกโรคทั้งสองจะมีผลต่อการเลือกวิธีรักษาที่ต่างกันไป
โรค IBD เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ๆ โดยในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่หมอเซอร์ซามูเอล วิลค์ส เขียนถึงโรคนี้เป็นครั้งแรก ผ่านไปเกือบ 20 ปี จำนวนผู้ป่วยของเมืองใหญ่ ๆ อย่าง London และ Dublin รวมกันยังพบแค่ 300 กว่าคนเท่านั้น
ในชาวตะวันตกว่าพบน้อยแล้ว แต่ชาวเอเชียยิ่งพบน้อยกว่า ถึงขนาดเคยเชื่อกันว่าโรคนี้ไม่พบในคนเอเชีย
แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่า อุบัติการณ์โรคนี้ในคนเอเชียหลายประเทศกำลังเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่พบในฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน
อัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน บางประเทศอย่างเช่นจีนมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าประเทศอื่นมาก สำหรับในประเทศไทยตัวเลขยังไม่ชัดเจน แต่ยังถือเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ๆ คือ ในประชากรแสนคนพบคนเป็นโรคนี้แค่ 1 คนหรืออาจน้อยกว่านั้น
ในยุคแรก ๆ หมอและนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภาวะนี้น่าจะเกิดจากการติดเชื้ออะไรสักอย่าง แต่หาเชื้อที่เป็นสาเหตุไม่พบ
ต่อมาเมื่อเริ่มพบโรคนี้มากขึ้น หมอก็เริ่มสังเกตว่าโรคนี้มักพบในคนที่มีฐานะดีหรือการศึกษาสูง แต่คำถามคือ ฐานะการเงินหรือการศึกษาที่ดี จะเกี่ยวข้องกับโรคลำไส้อักเสบได้อย่างไร
เราจะไปหาคำตอบกันในตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบประวัติวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ และ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
ถ้าอยากให้ไลน์แจ้งเตื่อนเมื่อผมโพตส์บทความใหม่ ก็สามารถแอดไลน์ได้โดยการคลิกที่นี่เลยครับ https://lin.ee/3ZtoH06
หรือ Line: @chatchapol
โฆษณา