กันยา เทียนสว่าง ชีวิตไม่ผิดนวนิยาย (ตอน๔)
.
.
คืนประกวดนางสาวพระนครนั้น ถือว่าเป็นด่านลำบากที่สุดแล้วก็ว่าได้ เพราะมีผู้เข้าประกวดชาวเมืองหลวงถึง ๒๓ คน สวยไม่สวยก็เรื่องหนึ่ง แต่กองเชียร์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนี่นะสิ ยิ่งใครระดมคนมาได้มาก เสียงเฮเสียงปรบมือก็ยิ่งจะหนักแน่นก้องหูกรรมการมากกว่าพวกกองเชียร์น้อย ดังนั้น ใครที่ไม่สวยเด่นจริงๆจนคนทั้งเวทีปรบมือให้โดยไม่ต้องจัดตั้ง ก็จะไม่เข้าตาเข้าหูกรรมการแน่นอน แล้วงานนี้ท่านเจ้าคุณพหล นายกรัฐมนตรีให้เกียรติมาเป็นผู้มอบของที่ระลึกและรางวัลด้วยตนเอง เพราะวันประกวดนางสาวสยามท่านจะไม่อยู่เสียด้วย ยิ่งทำให้บรรยากาศชวนตื่นเต้นหนักเข้าไปอีก
.
พอได้ผู้ชนะแล้ว รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ก็นำขึ้นพาดข่าวหน้าหนึ่งครึกโครม พอๆกับนางงามจากธนบุรี เมืองแฝดของพระนครที่สมัยโน้นยังแยกกันเป็นคนละจังหวัด สาวงามของธนบุรีก็มีความสวยทันสมัยไม่ต่างกับสาวพระนครเช่นกัน คืนก่อนหน้า นางสาวประชิต กาญจนสภา ผู้มีความสวยงามแบบไทยๆ เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นนางสาวธนบุรี เธอผู้นี้แหละที่ทุกคนเดาว่า จะเบียดกับนางงามจากพระนคร แย่งกันเข้าป้ายเป็นนางสาวแห่งสยาม
.
คณะกรรมการยังปิดข่าวเกี่ยวกับผู้เข้าประกวดจากต่างจังหวัด หนังสือพิมพ์ก็พยายามไปเจาะข่าวมาว่าอย่างน้อยก็มี ๑๑ จังหวัดแล้ว คือ พระนคร ธนบุรี นนทบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี สมุทรสงคราม นครนายก ชลบุรี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และราชบุรี แต่ก็ทิ้งท้ายว่าน่าจะยังมีอีกหลายจังหวัดนอกจากนี้
.
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คืนวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ณ สโมสรอุทยานสราญรมย์ ก็คราคร่ำไปด้วยสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีในชุดราตรีสโมสรราวกับจะมาประกวดกันเองเป็นรายการแถม เก็บค่าผ่านประตูได้ตั้งสองพันกว่าบาท ผู้จัดยิ้มแก้มตุ่ย การแสดงอุ่นเครื่องก็ไหลลื่นดี แต่ไหง๋เลยสี่ทุ่มตามกำหนดที่จะเริ่มต้นการประกวดไปแล้ว วงดนตรีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดบรรเลง ไม่กี่คนนักที่จะรู้ว่าหลังเวทีประกวดกำลังขลุกขลักแค่ไหน นางงามหลายคนยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมประกวด กว่าจะลงตัวให้สัญญาณวงดนตรีเป่าแตรฟันฟาร์ปลุกประสาททุกคนเข้าสู่โหมดเริ่มการประกวดได้ แตรนี้ฝรั่งเรียกฟันแฟร์(Funfair) แต่คนไทยไม่เอาด้วย ก็ไอจะเรียกของไอว่าฟันฟาร์ยูมายุ่งอะไร แล้วก็ไม่เห็นมีปัญหานี่ครับ พอเสียงฟันฟาร์เริ่มขึ้น โฆษกก็เข้าใจภาษา รีบเดินออกมาที่ไมโครโฟนเพื่อเริ่มพิธีกรรมในทันที
.
เวทีการประกวดนั้นสร้างยกพื้นขึ้นไปและมีแคทวอร์กยื่นออกมาให้ผู้ชมทุกทิศได้ยลโฉมกันทั่วถึงเหมือนๆเวทีสมัยนี้ สาวงามผู้เข้าประกวดทั้งหมดมี ๑๖ นาง ที่เพิ่มมาจากรายงานของหนังสือพิมพ์คือ นางงามอยุธยา สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี นครนายก นครศรีธรรมราช ก็เอาละ ถือว่าไม่โหรงเหรงอย่างที่กลัวกันไว้
.
พอเปิดฉากขึ้นมา นางงามจากสุพรรณบุรีก็ย่างกรายออกมาเคล้าเสียงดนตรีเป็นคนแรก กันยา เทียนสว่าง นางงามจากพระนครเป็นคนที่สอง สวมชุดราตรีสีตะกั่วตัดขับกับสีผิวเปล่งปลั่ง เคลื่อนไหวอยู่กลางแสงไฟ ใบหน้าที่งดงามตามธรรมชาติกับรอยยิ้มพิมพ์ใจ และท่าเดินที่ย่างก้าวสง่าตราตรึง ไม่เคอะเขินตื่นเวที ได้สร้างความประทับใจแก่ทุกคนที่ได้ยลโฉมนั้น เรียกเสียงปรบมือกึกก้องกว่าคราวที่ผ่านมา เมื่อสาวงามเดินเดี่ยวครบทั้ง ๑๖ นางแล้ว ก็เดินเรียงแถวออกมาพร้อมกันบนแคทวอร์คอีกครั้งหนึ่ง ยืนหันซ้ายทีขวาทีให้คณะกรรมการได้พินิจพิจารณากันทุกเหลี่ยมมุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน
.
คณะอนุกรรมการผู้มีหน้าที่ตัดสินให้คะแนนนางงามมี ๒๖ ท่าน มากกว่าจำนวนนางงามเสียอีก ประกอบด้วย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นองค์ประธาน หม่อมกอบแก้ว อาภากร หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร หม่อมเจ้าหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ เจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุทธเทวา พระยาอนุศาสนจิตรกร นายยล สมานนท์ พระสารสาสน์พลขันธ์ หลวงวิจิตรวาทการ หลวงนฤมิตรเรขการ หลวงกลการเจนจิตร หลวงรณสิทธิ์พิชัย ขุนวิจิตรมาตรา นางพิณพาทย์พิทยาเภท ขุนนามนฤนาท นางไสว บุณยรัตพันธุ์ นายมานิต วสุวัต นายยอดรัก กรรณสูต หลวงบำบัดคดีชน หลวงชำนาญนิติเกษตร คุณหญิงอนิรุทธเทวา โดยมี ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษมณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
.
ขอนอกเรื่องนางงามแปร๊บ
.
จากข้างบนจะเห็นรายชื่อปะปนกันทั้งคณะเจ้าและคณะราษฎร มีหม่อมเจ้าในราชสกุลกฤดากรถึงสององค์ ทั้งที่เมื่อปีที่ผ่านมาเจ้าองค์หนึ่งในราชสกุลนี้ได้ก่อสงครามกลางเมืองที่เรียกว่ากบฎบวรเดชไว้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการใช้เวทีนางงามสร้างภาพความปรองดองทางการเมือง แต่มันไม่จบหรอกครับถ้ารากของมันยังอยู่ ใครที่อ่านเรื่องภูตปกรณัมที่ผมเขียนคงจะทราบ เดี๋ยวก็มีการกวาดล้างครั้งใหม่ระหว่างพวกข้ากับพวกเอ็ง คงจำชื่อ ณ เณร ตาละลักษมณ์ได้นะครับ บางท่านอาจจะจำขุนนามนฤนาทได้ด้วย ทั้งสองคนนี้ อีก ๕ ปีต่อมาได้ตกเป็นจำเลยของหลวงพิบูลสงครามในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช และเป็น ๒ ใน ๑๘ คนที่ต้องโทษประหารชีวิต
.
กลับเข้าเรื่องนางงงนางงามกันต่อ
คณะกรรมการใช้เวลาไม่นานนักสำหรับการตัดสิน ครั้นได้เวลาก็เชิญผู้แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งติดราชการสำคัญมาไม่ได้ พระยานิติศาสตร์ไพศาล(วัน จามรมาน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประธานการประกวด ขึ้นไปเตรียมพร้อมบนเวที ก่อนจะประกาศนามผู้ได้รับการตัดสินให้เป็นนางงามแห่งสยาม กันยา เทียนสว่าง ให้เข้ามารับการสวมมงกุฎปักดิ้นเงินประดับเพชร และของรางวัลต่างๆ ท่ามกลางเสียงปรบมือแสดงความชื่มชมยินดีจากผู้ที่มาร่วมงานอย่างกึกก้อง นอกจากรางวัลที่ได้รับอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีสุภาพชนอีกจำนวนหนึ่งได้ขึ้นไปมอบของขวัญของที่ระลึกแก่นางสาวสยามด้วย
.
หลังจากครองตำแหน่งแล้วถึง ๑๔ ปี เธอได้เปิดเผยเรื่องราวในครั้งกระนั้นแก่พิมพ์ไทยรายวัน มีความตอนสำคัญว่า “ รางวัลที่ได้เป็นมงกุฏ ขันเงิน และล๊อกเก็ต ไม่มีเงินช่วย ทำกันเพื่อเกียรติ และหวังช่วยเหลือราชการจริงๆค่ะ เรื่องการฟิตตัวไม่ได้เตรียมเลยเพราะไม่ได้ตั้งใจจะสมัคร ความเป็นอยู่ก็เหมือนผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา ไม่นิยมแต่งหน้าแต่งตัวอะไรกันนัก ที่สมัครเพราะหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร และท่านหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ ท่านเป็นกรรมการในครั้งนั้น เผอิญท่านรู้จักกับดิฉัน ท่านเห็นว่ามีผู้สมัครน้อย ยังไม่ใคร่มีใครสนใจ ท่านเลยมาชวนดิฉันให้ช่วยชาติ เพราะเกรงพระทัยท่านจึงได้สมัคร การแต่งกายประกวดก็แต่งแบบราตรีธรรมดา การระวังตัวหลังได้ตำแหน่งต้องระวังตัวแจ ผิดกับครั้งเป็นผู้หญิงธรรมดามากทีเดียว ความสิ้นเปลืองก็มากขึ้น ปีแรกหมดเงินส่วนตัวไปมาก”
.
ครับ ดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของนางสาวสยามปีแรกหลังครองตำแหน่งจะแตกต่างกับนางสาวไทยยุคหลังๆอยู่อักโข ยิ่งสำหรับกันยา เทียนสว่างด้วยแล้ว ตำแหน่งนางงามทำท่าเหมือนจะเป็นทุกขลาภไป สะท้อนได้จากคำบอกเล่าของพี่แจ๊ด สุกันยา หิรัญพฤกษ์ ลูกสาวคนโตของเธอดังนี้ “จริงๆแล้วนางงาม แม่ไม่ค่อยเล่าให้ฟังเท่าไหร่หรอกค่ะ อาจจะเป็นเพราะบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับชื่อเสียงมากนัก ทำให้รู้เรื่องนางสาวไทยจากแม่น้อยมาก….
….ช่วงก่อนเข้าประกวดนางสาวสยาม ตอนนั้นแม่อยู่กับคุณยาย(ยิ่ง สังขดุลย์) ที่บ้านนามบัญญัติ ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนสวนเด็ก คณยายท่านนี้เป็นญาติกัน เพราะแม่เป็นลูกกำพร้า ก่อนมาประกวดคุณยายไม่เห็นด้วยเพราะทางนี้เขาเป็นมอญ ตระกูลทางแม่มีเชื่อสายมอญจึงค่อนข้างถือเรื่องศักดิ์ศรี ดังนั้นการไปประกวดนางงามจึงเป็นสิ่งที่น่าอับอายของพวกเขา ทำให้ช่วงการประกวดแม่ต้องไปอยู่บ้านคุณมังกร ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาเขย ไปเก็บตัว ฝึกซ้อมเดินอยู่ที่นั่น พอได้ตำแหน่งแล้ววันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวการประกวดว่าแม่ได้เป็นนางสาวสยาม คุณยายอายมาก แม่ก็ถูกเอ็ด ถูกคุณยายต่อว่าเสียยกใหญ่ นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงการประกวดสักเท่าไหร่”
.
เฮ้ออออ… ผมละเข้าใจเลย ทั้งเคยได้ยินได้ฟังและโดนกับตนเอง ผมละสงสารป้าซิลจริงๆ
.
โปรดติดตามตอนที่ ๕