30 ส.ค. 2020 เวลา 09:55 • ประวัติศาสตร์
กันยา เทียนสว่าง ชีวิตไม่ผิดนวนิยาย (ตอน๖)
.
.
การมีคู่หมั้นแล้วของกันยาดับฝันหนุ่มทั้งหลายมิให้ริอ่านหมายปองดอกฟ้า แต่ช่วยไม่ได้จริงๆที่ราชบัณฑิตสาขากฏหมายหนุ่ม สุจิต หิรัญพฤกษ์ ด็อกเตอร์จากเยอรมัน ทำงานกระทรวงการต่างประเทศ และรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีกับน้าไสวของกันยา มาหาลุงไหวที่บ้านอยู่ติดกัน ไม่รู้เป็นแผนหรือเปล่าที่เกิดจับพลัดจับผลูเดินเข้ามาในบ้านคุณตาคุณยายแล้วปิ๊งงงงงงกับกันยา เทียนสว่าง สะท้านสะเทือนจนระฆังทองของกามเทพลั่นเสียงประสานสนั่นกลบโลกธาตุทั้งปวง ก่อนที่ท้าวเธอจะแผลงศรต้องหัวใจของชายหนุ่มหญิงสาวผู้กำลังอยู่ในสภาวะจังงันนั้น
.
แม้กันยาจะหมั้นหมายอยู่แล้วกับหมอคำหมื่น หนุ่มรูปงามจากเมืองเหนือที่ดูใจกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ครั้นดวงชะตาได้นำพาชายหนุ่มบุคลิกดี มีสติปัญญาวาทะศิลป์มานำเสนอ ทำให้กันยาตกหลุมรักดร.สุจิตโดยไม่รู้ตัว ส่วนชายหนุ่มนั้นเล่า เมื่อประจักษ์ความงามและท่วงทีกิริยาของนางสาวสยามแล้ว ถ้าเธอยังไม่แต่งงานก็ถือว่ามีสิทธิ์เสมอกัน คู่หม้งคู่หมั้นก็เถอะ ถ้ารักจริงไยถึงไม่รีบแต่ง ดึงเกมชักช้าอยู่ทำไมตั้งหลายปี
ความจริงจากก้นบึ้งของหัวใจแล้ว หลังหมั้นเพื่อดูนิสัยกัน กันยาพบว่ามีบางอย่างที่เห็นว่าชีวิตสมรสคงจะไม่ราบรื่นแน่ เมื่อมาเจอคนที่ “ใช่เลย” จึงต้องกระทำตามการตัดสินใจของตนเองครั้งสำคัญอีกหนหนึ่ง ยามนั้นเธอก็ไม่ใช่เด็กๆแล้ว จึงบอกกับหมอคำหมื่นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคุณหมอก็เป็นสุภาพบุรุษพอที่จะยอมถอนหมั้น และคบกันต่อไปอย่างมิตร
.
ดร.สุจิตและกันยาดูใจกันไม่นานก็แต่งงานกันในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ยามนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติแล้ว ปีต่อมา ดร.สุจิตถูกเลือกให้ไปเป็นเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุนมหามิตร กันยาซึ่งกำลังตั้งท้องแรกต้องตามสามีไปอยู่ด้วย และให้กำเนิดบุตรสาวที่นั่น แต่ต่อจากนั้นไม่นานสงครามก็เริ่มดุเดือดขึ้นตามลำดับ ดร.สุจิตได้รับคำสั่งให้ย้ายขึ้นไปเป็นอุปทูตที่แมนจูกัว หรือส่วนหนึ่งของประเทศจีนที่ถูกญี่ปุ่นยึดไปเป็นเมืองขึ้นแล้วตั้งชื่อให้ใหม่ จึงตัดสินใจส่งภรรยาและลูกสาวกลับกรุงเทพโดยเครื่องบินโดยสารของญี่ปุ่น ระหว่างที่กำลังจะต้องแวะลงจอดที่ไทเป นักบินต้องหลบฝูงบินทิ้งระเบิดของอเมริกันนับร้อยลำที่มุ่งหน้าไปถล่มเกาะไต้หวันอย่างหนัก เครื่องของกันยาแคล้วคลาดไปได้ ขณะที่เครื่องโดยสารอื่นๆหลายลำถูกยิงตก
.
เมื่อสงครามสงบ ดร.สุจิตกลับบ้านเกิดเมืองนอนแล้วก็ลาออกจากกระทรวงเพื่อลงเล่นการเมือง รัฐบาลทหารของจอมพลป.พิบูลสงครามสิ้นอำนาจไปแล้ว รัฐบาลใหม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนโหยหา ดร.สุจิตเอาอย่างโชติ คุ้มพันธ์ ดอกเตอร์จากเยอรมันอีกคนหนึ่งซึ่งสมัครโดยไม่สังกัดพรรคใด ทั้งคู่ได้รับเลือกเป็นผู้แทน ดร.สุจิตเป็น ส.ส.ปทุมธานี จังหวัดบ้านเกิด แน่ละ ส่วนหนึ่งของคะแนนเสียงมาจากภรรยาที่ร่วมไปหาเสียงกับสามีอย่างไม่รู้จักเหนื่อยด้วย
.
แต่เสถียรภาพทางการเมืองเป็นของเหลว ไม่นานรัฐบาลก็ต้องยุบสภาเพื่อให้มีเลือกตั้งใหม่ คราวนี้สอบตก ดร.สุจิตจึงสมัครไปเป็นอาจรย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะขอกลับเข้ากระทรวงการต่างประเทศ แล้วย้ายไปเป็นโฆษกฝ่ายไทยประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ค สองปีที่นั่นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของทั้งสองสามีภรรยา
.
หลังกลับเมืองไทยแล้ว การเมืองไทยพลิกผันอีกครั้ง ประชาธิปไตยเต็มใบไปไม่รอด ส.ส.ทะเลาะกันจนจอมพลผินอ้างเหตุทำการปฏิวัติแล้วเชิญจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาผงาดเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ กันยาถูกท่านผู้หญิงละเอียดชวนให้ไปช่วยงานสังคมสงเคราะห์ต่างๆและสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งคุณป้าก็ยินดีที่จะทำเพราะชอบอยู่แล้ว
.
ช่วงนี้แหละครับที่ผมขึ้นชั้นประถมแล้ว และเริ่มรู้จักมักคุ้นกับป้าซินผู้แต่งกายงามแปลกตาเหมือนแหม่มมาเยี่ยมคุณยายยิ่งบ่อยๆที่บ้านนามบัญญัติซึ่งถูกแม่ผมเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสวนเด็กไปแล้ว บางครั้งก็พากันมาทั้งครอบครัวพ่อแม่ลูก และเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักคำว่านางสาวไทยจากคำบอกเล่าของแม่
.
ในปลายยุคของจอมพล ป. ดร.สุจิตตัดสินใจผิดพลาดทางการเมืองอีกครั้ง โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง คราวนี้ถึงจะแพ้แต่ก็ถือว่าเจ๊า เพราะไม่กี่เดือนจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ก็ปฏิวัติ นักการเมืองเจ้งทั้งสภา แล้วดวงชะตาของครอบครัวนี้ยังดิ่งลงอีกเมื่อป้ากันยาล้มเจ็บและหมอพบว่าเป็นมะเร็งในมดลูก ต้องเดินทางไปเยอรมันเพื่อเข้ารับการรักษาโดยการฝังแร่และฉายรังสี แต่ก็มีอันจะต้องล้มเลิกและเดินทางกลับเพราะข่าวร้าย สามีของเธอต้องข้อหาทางการเมืองกรณีรัฐมนตรีคลังทุจริตเรื่องการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งดร.สุจิตขณะนั้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย คดีนี้สู้กันถึงแปดปี โดยคุณป้าไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าคุณลุงปราศจากความผิด
.
การต่อสู้กับโรคร้ายอย่างไม่มีทางชนะในโค้งสุดท้ายของชีวิตกันยา หิรัญพฤกษ์นั้น ผมไม่มีปัญญาจะบรรยายได้ดีเท่ากับที่ดร.สุจิตบันทึกไว้ดังนี้
2
“๑๖ พ.ย. ๕ น.
ตกใจตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงซิลคราง ออกไปดูเห็นกำลังหายใจแรงและมีเสมหะพันคอ พยาบาลว่าไม่มีเครื่องดูดอย่างโรงพยาบาล ฉันเข้าไปคลำเนื้อตัวก็เห็นยังอุ่นดีอยู่ การปวดทั่วไปก็มีมาก ซิลทำหน้าเศร้ามาก ฉันจูบหลายครั้งและบอกให้พยายามนอนเสีย ระหว่าง ๒ น. – ๕ น. ซิลเป็นคนหลับตอนเช้าโดยเฉพาะระยะหลังๆนี้ ขอให้หลับไปเถิดเพื่อมีกำลังต่อสู้และออมกำลังไว้มื้อเย็นนิดหน่อย ฉันประคบให้อบอุ่นอยู่ครู่ใหญ่แล้วบอกว่า ไม่อยากรบกวนจะนั่งอยู่ข้างนอก ขอให้ซิลหลับเสียสักหน่อย
.
จนบัดนี้ซิลยังไม่ปริปากอะไรเลย ทางหนึ่งเห็นจะยังมั่นอยู่ว่าคงไม่เป็นไรจึงไม่อยากสั่งเสีย แต่อีกทางหนึ่งก็เพราะความเข้มแข็งของเขา ไม่อยากก่อความโทมนัสในจิตต์ใจแก่ตนเองและผู้อื่น ฉันนั้นแสดงอาการอะไรไม่ได้แน่ จะไปกันใหญ่
.
เช้านี้อาการไม่ดีเลย และมีเรอเป็นระยะๆ ทั้งหายใจแรงผิดสังเกต หวังว่าคงไม่มีอาการหวัดแทรกซึ่งจะทำให้ยุ่งยากมาก และการบ่นเจ็บคอก็เป็นที่น่าสังเกต เห็นจะรีบติดต่อหมอตอนเช้าขอให้มาดูเสียก่อน ไม่ใช่รอจนบ่ายโมงจึงจะมาอย่างที่ตกลงไว้
๙.๑๕ น. ซินแสจีนที่บางรักมาถึง ลงมือตรวจชีพจรสักครู่หนึ่งร้องว่าไม่ไหวแล้ว อุไรรีบดึงตัวลงไปข้างล่าง แกชี้ว่าสายเสียแล้วเส้นขาดหมด หัวใจก็ไม่ดีไม่มีหนทางเลยจึงไม่รับรักษา บอกว่าจะต้องตายภายใน ๓ วัน อย่าเสียใจ เลยถ้าเป็น ๑๐ วันก่อนก็จะรับรักษาและยังมีทางหาย ดูสิ ชะตามนุษย์
๙.๒๐ น. ซิลมีอาการขากรรไกรแข็ง หุบปากไม่ได้นานๆ ต้องจับให้ชิดกันจึงหุบได้
๑๑.๑๕ น.ซิลเรียกให้ขึ้นไปหา “เห็นใจแม่เถอะ มันจะทนไม่ไหว พี่จ๋า” คงไม่ผ่านวันนี้ It’s the first time she cries
๑๑.๔๕ น. “หมอแก้ไม่ทันหรือหมอ”
ฉัน “ไม่ต้องเป็นห่วง อย่าห่วงอะไร ทำใจให้สงบ”
๑๒.๐๕ น. จากไปด้วยความสงบยิ่ง
.
หน่อยเสียใจมาก ตะคริวกินจนเดินไม่ได้ และปล่อยโฮตลอดเวลา ซิลจากไปอย่างสุขสงบที่สุด คงเชื่อมั่นในคำขอของตัวที่ให้สงบ กล้าหาญไว้และไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น ซิลเองเพิ่มเริ่มร้องครวญครางเมื่อประมาณ ๔๐ นาทีก่อนดับจิตต์ และหูตาใช้งานได้ตลอด แม้คุณแม่เข้าไปหาในระยะสุดท้ายก็จำได้ คำพูดสุดท้ายที่พูดพอฟังรู้ก็ดูเหมือนจะเรียกแจ๊ด ตัวแทนอันแท้จริงของตนเองในโลกนี้ ซิลเข้มแข็งกล้าหาญอย่างที่สุด ร่างกายยังสมบูรณ์ไม่ซูบซีดเท่าไร แต่หัวใจทานโรคไม่ไหวเป็นเหตุ ได้โทรศัพท์บอกญาติมิตรเพื่อนฝูงให้ทราบข่าวที่น่าสลดใจนี้
๐๒.๑๕ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๓
.
๒๙ พ.ย. ๐๓ ที่บ้าน
ขณะนอนอยู่ที่บนเตียงประมาณ ๗.๑๕ น. แจ็ดเข้ามาหาแล้วยื่นแหวนทองเกลี้ยงวงหนึ่งให้พร้อมพูดว่า “แหวนของแม่ แจ๊ดใส่ไม่ได้ หลวม” ฉันถามว่าได้มาอย่างไร เพราะมองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นแหวนแต่งงงานซึ่งได้มอบให้ซิลในวันทำพิธีสมรสที่บ้านคุณดิเรก ชัยนาม แจ๊ดบอกว่า “แม่มอบให้คุณย่าเมื่อเจ็บหนักได้วันสองวัน แล้วคุณย่ามอบให้แจ๊ดอีกต่อหนึ่ง” ฉันตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกปวดร้าวที่หน้าอกและจิตต์ก็ประหวัดถึงความหลัง หยิบแหวนขึ้นดูเห็นรอยสลักซึ่งอยู่ด้านในมีข้อความเพียง ๓๑ ธ.ค. ๒๔๘๖ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ย้อนระลึกถึงวันที่เราร่วมชีวิตกัน และเหตุการณ์ที่คลี่คลายมาจนปัจจุบันนับแต่วันมงคลนั้น น้ำตาฉันไหลพรากด้วยความสลดระคนกับความสดชื่นและไม่อาจหักใจให้พ้นความเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเป็นเวลานาน
.
ตอนสายคุณแม่มาถึงบ้าน ฉันถามว่าซิลมอบแหวนให้แต่เมื่อไร คุณแม่ก็เล่าให้ฟังว่าเมื่อวันที่ ๑๒ พ.ย. ตอนเช้าที่คุณแม่มาเยี่ยม ซิลทอดมือมาให้ซึ่งแม่ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด จนแลเห็นแหวนทองที่ซิลปลิ้นออกมาไว้ที่ข้อนิ้วจวนจะหลุดอยู่แล้ว แม่จึงถอดมาเก็บไว้และมอบให้แจ๊ดในภายหลัง ใจฉันสั่นสะเทือนเมื่อฟังคุณแม่บรรยายเหตุการณ์ตอนนั้น ซิลจงใจไม่ให้ฉันทราบอาการอันหมดหวังของตน ซิลไม่ต้องการสั่งเสียอะไรทั้งสิ้น เพราะซิลมีความเชื่อมั่นในตัวฉันผู้เป็นสามี และมีความรักสงสารเป็นทุนหนุนใจอยู่อย่างมั่นคง
ได้ให้คุณน้าน้อมเอาด้ายพันวงแหวน เพื่อให้โตขึ้นเล็กน้อยพอฉันจะสวมนิ้วก้อยได้ตั้งใจจะใส่ไปตลอดชีวิต เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงซิลเมียรัก และจะไม่ถอดไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น
ซิลจ๋าพี่คิดถึงเป็นที่สุด......
.
หลังพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว สรีระของกันยาได้ถูกนำมาบรรจุยังสุสานวัดมกุฎกษัตริยาราม ดร.สุจิต ได้พาลูกๆ นำดอกไม้ไปกราบเยี่ยมเยียนผู้เป็นแม่อยู่เสมอมิได้ขาด เช้าก่อนที่ลูกทุกคนจะไปโรงเรียน จะมีการใส่บาตรทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทุกๆวัน วันพุธของทุกสัปดาห์และในทุกวันที่ ๑๖ ของเดือนจะเข้าไปทำบุญสังฆทานที่วัด ศพของเธอถูกเก็บไว้ถึง ๒๑ ปี เพื่อรอการฌาปนกิจพร้อมกับงานพระราชทานเพลิงศพ ดร. สุจิต หิรัญพฤกษ์ ตามเจตนารมณ์ของสามีอันเป็นที่รัก ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๔
.
นั่นถือเป็นบทสุดท้ายในชาตินี้แห่งตำนานความรักของทั้งสอง ผู้คงจะเป็นคู่แท้กันมาแต่อดีตชาติและยังสมัครจะครองรักกันต่อในชาติภพหน้า
ทว่าตำนานของกันยา เทียนสว่างในฐานะนางสาวสยามคนแรก จะยังสุกสว่างดังแสงเทียนอยู่ในประวัติศาสตร์บางหน้าของประเทศนี้ไปอีกตราบนานเท่านาน
อวสาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา