30 ส.ค. 2020 เวลา 10:09 • ธุรกิจ
"อากู๋-เฮียฮ้อ" สังเวียนบันเทิง แตกต่างในความเหมือน
ยักษ์(เคย)ใหญ่ ในธุรกิจเพลง ขับเคี่ยวเป็น “ผู้นำ” บนสังเวียนธุรกิจแต่สึนามิเทคโนโลยี ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ตัวแปรเบรกความยิ่งใหญ่ ถอดบทเรียน “ซีอีโอ” นักสู้! “อากู๋-เฮียฮ้อ” แห่งแกรมมี่-อาร์เอส ภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร ให้ผงาดอีกครั้ง ในยุคดิจิทัล
1
"อากู๋-เฮียฮ้อ" สังเวียนบันเทิง แตกต่างในความเหมือน | สาวิตรี รินวงษ์
ประโยคที่ว่า...ใดๆในโลกล้วนไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...อาจสะท้อนภาพความเป็นจริงของโลก แต่ในมิติของธุรกิจ ผู้ประกอบการมักต้องการเห็น “ความยั่งยืน” เกิดขึ้นในองค์กร การดำรงอยู่ของบริษัทนานนับทศวรรษ ไปจนถึงศตวรรษ หรือ “ร้อยปี”
ทว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่เกิด “เร็ว” และ “แรง” ปัจจัยภายนอกที่ยาดจะคาดเดาของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หรือ VUCA World ประกอบด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน(Ambiguity) ทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน โรคระบาดที่สร้างเหตุการณ์ช็อก!โลก-ธุรกิจ รวมถึงสึนามิ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” และอีกเหตุการณ์นานัปการ ทำให้องค์กรธุรกิจอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะนั่นอาจเท่ากับการ “ถอยหลัง” เพราะหาก “คู่แข่ง” ขยับตัวออกสเต็ปตลอดเวลา อาจแซงหน้าไปไกล
1
หลายปีที่ผ่านมา และมองข้ามช็อตถึงอนาคตดิจิทัล ดิสรัปชั่นยังคงเป็นตัวแปรใหญ่สร้างความเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้อง “พลิกโมเดล” ปรับโครงสร้างองค์กร โครงสร้างธุรกิจเพื่อฝ่าพายุเทคโนโลยี
หนึ่งในองค์กรธุรกิจที่น่า “ถอดบทเรียน” เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงการปรับตัวจากภาวะที่เผชิญ “วิกฤติ” หนักหน่วง ยกให้ 2 ค่ายเพลงยักษ์(เคย)ใหญ่ “แกรมมี่-อาร์เอส” ที่ย่อส่วนเล็กลง ปี 2562 รายได้เพลงของแกรมมี่ สัดส่วนเพียง 12%(ไม่รวมดิจิทัลมิวสิค) ส่วนอาร์เอส รายได้เพลงสัดส่วน 5-7% เท่านั้น
“อากู๋ - ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพคนสำคัญขับเคลื่อนแกรมมี่จนเติบใหญ่ และเคยทำรายได้จนถึง “หมื่นล้านบาท” ส่วน “เฮียฮ้อ - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) หรืออาร์เอสกรุ๊ป กำเงิน 50,000 บาท ร่วมกับพี่ชาย “เฮียจั๊ว เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์” ตั้งโรส ซาวด์ เมื่อ 39 ปีก่อน และสร้างอาณาจักรธุรกิจบันเทิงอยู่แถวหน้าของเมืองไทย
ย้อนเรื่องราว 2 ค่ายเพลงในตำนาน ในมิติการแข่งขันทั้งคู่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เบาและเป็น “คู่กัด” กันตลอดกาล ไม่แค่ในมุมของธุรกิจ แต่ยังลามถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วย ที่ “สาวก” ของทั้ง 2 ค่ายมีการ “เหยียด” โต้ตอบกันไปมา หากฝ่ายหนึ่งฟังเพลงอีกค่าย จะไม่ฟังและเหน็บแนมเพลงอีกค่ายทันที ไม่เว้นกระทั่ง “แม่ทัพใหญ่” ของทั้ง 2 ฝั่งที่เลือกอยู่คนละข้าง
1
แม้ “เพลง” จะเป็นคอนเทนท์ที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่เหนือกาลเวลา(Timeless/Ageless) แต่ “อุปกรณ์” ในการฟังเพลงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และมี “แพลตฟอร์ม” ใหม่ๆ ทรงอิทธิพพลต่อผู้บริโภคในการฟังเพลงอย่างต่อเนื่อง
อดีตธุรกิจเพลงเคยยิ่งใหญ่ สร้างความมั่งคั่งให้ “เจ้าของ-ผู้ถือหุ้น” แต่ “ปัญหา” เกิดขึ้นเสมอ เมื่อพ้นยุค “ตลับเทป” เข้าสู่ “ซีดี-เอ็มพี3” เพราะเกิดการดาวน์โหลดค้าขายแบบผิดกฏหมายในวงกว้างจนเห็นภาพการกวาดล้างและจับกุมผู้ผลิต “เทปผีซีดีเถื่อน” รายวัน
ทว่า จุดเปลี่ยนใหญ่ หนีไม่พ้นการถูกคลื่นเทคโนโลยีถาโถมธุรกิจซวนเซ “แกรมมี่-อาร์เอส” ต่างพยายามพลิกยุทธศาสตร์ ปั้นโมเดลธุรกิจ แต่ทั้งคู่ต่างเผชิญความยากและท้าทายไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น ความมั่งคั่งที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยการ “ขาดทุน” ล้วนเกิดขึ้นมาแล้ว
เส้นทางแตกต่างเหมือนกัน
จุดตั้งแต่จากธุรกิจเพลงเหมือนกัน และการมีศิลปินแนวเพลงทุกประเภทเหมือนกัน แต่จังหวะจะโคนการทำตลาด เรียกว่าแลกกันหมัดต่อหมัด ช่วงไหนเพลงร็อกมาแรง ทั้งคู่จะปล่อยศิลปินดังมาโกยกระแสเงิน “ยอดขาย” จากแฟนๆ เพลงป๊อบ แดนซ์ บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป แม้กระทั่ง “ลูกทุ่ง” มาท้าชนกันเสมอ
นอกจากนี้ มีการขยับมาสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างรายได้ เส้นทางนี้ก็แข่งกันเหมือนเดิม เพราะเป็นการ “แย่งขุมทรัพย์” ทางการตลาด โดยอาร์เอสตั้งบริษัท “อาร์เอส ฟิล์ม” ในปี 2538 และปล่อยภาพยนตร์ “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” สร้างตำนานให้ผู้บริโภคจดจำ ส่วนแกรมมี่ สร้างภาพยนตร์ที่โด่งดังอย่างมากในปี 2546 อย่าง “แฟนฉัน” ทำรายได้ถล่มทลาย ไม่แพ้กัน
ในตลาด เพราะเป็นช่องทาง “โกยเงินโฆษณา” มูลค่า “แสนล้านบาท” เดิมทีธุรกิจทีวีมีเพียง 4 ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 อสมท และช่อง 5 ที่กุมเงินโฆษณาอู้ฟู่! อาร์เอส จึงก้าวเข้าสู่วงการจอแก้ว ตั้งบริษัทขึ้นมาผลิตรายการวาไรตี้ เกมส์โชว์ ละคร ป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ ส่วนแกรมมี่ เข้าสู่ธุรกิจทีวี ผลิตรายการข่าวเศรษฐกิจ เข้าถือหุ้นใน บริษัท สตูดิโอ และ ซีเนริโอ เพื่อผลิตคอนเทนท์เหมือนกัน
เพราะ “เพลง-ศิลปิน” คือสินทรัพย์ชั้นเยี่ยม ทั้ง 2 บริษัท จึงต่อยอดด้วยการขยายสู่ธุรกิจวิทยุ เอาใจแฟนเพลง
แนวทางการขยับขยายธุรกิจที่เหมือนกัน ยังไม่หมด เพราะในยุคที่ “สื่อโทรทัศน์” ยังทรงพลัง การแก่งแย่งคอนเทนท์ที่เป็น “ไม้ตาย” ตรึงคนดูเกิดขึ้นอย่างดุเดือด ในปี 2550 “อาร์เอส” ฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งบริษัท และคิดการใหญ่ลุยทำโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือ “เพย์ทีวี” และมีการตั้งบริษัทลูกเพื่อรุกธุรกิจคอนเทนท์ “กีฬา” ซึ่งขนานนามเป็น Content is King เพราะการแข่งขันกีฬาต้องรับชมสดเท่านั้นจึงจะมันส์!ถึงใจ และได้ลุ้นชัยชนะกันแต้มต่อแต้มวินาทีต่อวินาที
อาร์เอส โดดสู่สังเวียนการประมูลมหกรรมกีฬาของมวลมนุษย์ชาติอย่าง “ฟุตบอลโลก 2010, 2014” และ “ฟุตบอลยูโร 2008” ส่วนการรับชมต้องผ่านกล่อง “Sun Box” เวลาไล่เลี่ยกัน “แกรมมี่” เปิดเกมบุกธุรกิจเพย์ทีวี มีกล่อง “GMM Z” หาฐานสมาชิก ส่วนคอนเทนท์เพื่อนำมาดึงคนดู หนีไม่พ้นกีฬา ทำให้จึงประมูล “ฟุตบอลยูโร 2012”
เกมกีฬาที่ว่าแข่งขันกันดูเดือด! ยังไม่เท่าเกมธุรกิจที่ฟาดฟันของ “ยักษ์ใหญ่” เพราะในช่วงเวลาที่ “แกรมมี่-อาร์เอส” ต่างถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาฟุตบอลที่คนไทยทั้งประเทศรอคอย กลับเกิดศึกบล็อกสัญญาณการรับชม เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการขายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ของตัวเอง เพื่อโกยฐานและรายได้จากค่าสมาชิกนั่นเอง
ช่วงทีวีดาวเทียมบูมทั้ง 2 บริษัท ได้โดดเข้าสังเวียนดังกล่าว มี ช่องหรือ Channel เป็นของตัวเอง ทว่า Big Chage คือการเปิดสงคราม “จอแก้ว” ครั้งใหญ่ เมื่อ “แกรมมี่-อาร์เอส” ตั้งบริษัทในเครือเพื่อประมูลช่อง “ทีวีดิจิทัล” แกรมมี่ คว้ามา 2 ช่อง คือช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง(HD)ภายใต้ “ช่องวัน 31” ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท และช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติ(SD) ภายใต้ช่อง “จีเอ็มเอ็ม25” มูลค่า 2,290 ล้านบาท ฝั่ง “อาร์เอส” ทุ่มทุน 2,265 ล้านบาท มี “ช่อง8”
โฆษณา