31 ส.ค. 2020 เวลา 07:36 • ประวัติศาสตร์
"จากไทยถึงสหรัฐฯ เส้นทางสมบัติชาติที่กำลังหวนคืนกลับมา"
"จากไทยถึงสหรัฐฯ เส้นทางสมบัติชาติที่กำลังหวนคืนกลับมา"
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 อธิบดีกรมศิลปากร เผยข่าวดีว่า พิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum ยอมรับว่าทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ที่จัดแสดงอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย พร้อมนำออกจากห้องจัดแสดงแล้ว เตรียมส่งกลับไทยหลังกระบวนการทางกฎหมายแล้วเสร็จ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดการณ์ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จราวเดือน มี.ค. ปี 64
ภาพ : กรมศิลปากร
แต่จุดเริ่มต้นการทวงคืนโบราณวัตถุเริ่มต้นที่ใด เหตุจึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ต่างประเทศ จะมีโบราณวัตถุชิ้นใดบ้างที่ไทยกำลังดำเนินการติดตามคืนสู่มาตุภูมิ ?
ภาพ : ปราสาทเขาปลายบัด 2 อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
เขาปราสาทปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ ที่หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง ยังคงทำให้ชนรุ่นหลังได้จินตนาการถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อ 1,200 ปี ของอาณาจักรศรีจนาศะ จากคำบอกเล่าของอดีตนักล่าขุดสมบัติโบราณ ที่เคยขุดพบพระนาคปรกในปราสาทแห่งนี้
"พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด"
ชายวัย 73 ปี ซึ่งคนขุดพบประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว เล่าว่า เมื่อปี 2507 เขาเคยขุดหาพระพุทธรูปสำริดองค์เล็กภายในปราสาทได้มากกว่า 30 องค์ และเคยขุดได้เทวรูปขนาดใหญ่ 4 กร ที่ถูกฝั่งรอบปราสาทขึ้นมาจากหลุมถึง 9 องค์ ด้วยวิธีงัดคอขึ้นมา ทำให้พระสำริดมีตำหนิที่คอตรงกับ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด" ที่ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แมสโพลีแทนในสหรัฐฯ
บทความเกี่ยวกับพระสำริดกรุประโคนชัย เมื่อปี 2514
พระสำริดกรุประโคนชัยจากปราสาทเขาปลายบัด 2 คือสิ่งที่กลุ่มสำนึก 300 องค์ ชาวบ้าน นักวิชาการ และนักโบราณคดีอิสระร่วมกันติดตามมาตั้งแต่ปี 54 โดยชื่อกลุ่มอ้างอิงจากจำนวนพระในบันทึกของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ระบุว่า "พระสำริดกรุประโคนชัย พบในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวนกว่า 300 องค์ " ในจำนวนนี้มีพระสำริด 18 องค์ ที่กระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐฯ 7 แห่ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนขอคืนกลับสู่ประเทศไทย ในลักษณะการติดตามทวงคืนแบบรัฐต่อรัฐ โดยชุดทำงานที่ชื่อว่าคณะกรรมการโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกฯ เมื่อปี 60
บทความระบุว่าชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา พบพระกรุประโคนชัยด้วยความบังเอิญ เมื่อปี 2507
"ทนงศักดิ์ หาญวงศ์" หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสำนึก 300 องค์ และปัจจุบันเป็นหนึ่งในอนุคณะกรรมการวิชาการติดตามโบราณวัตถุฯ ให้ข้อมูลว่า นักวิชาการอิสระ ใช้เวลาผลักดันติดตามทวงคืนโบราณวัตถุไทยกว่า 4 ปี ก่อนที่รัฐบาลจะตั้งชุดทำงานขึ้น การสืบค้นข้อมูลของกลุ่มสำนึก 300 องค์ เชื่อมโยงไปยังบทความของ นางเอมมาร์ ชี บังเกอร์ อดีตภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับพระสำริดกรุนี้
พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา อ.ด้านประวัติศาสตร์
"การตีพิมพ์บทความวิชาการ มันเหมือนเป็นการเอาป้ายราคาสินค้าและป้าย อย.ไปติดให้กับโบราณวัตถุ เมื่อติดรับรองที่มาถูกต้องว่าของชิ้นนี้เป็นของเก่าจริง มูลค่าของโบราณวัตถุในตลาดทุกระดับ จะมีคนต้องการมากขึ้น เพราะเข้าสู่องค์ความรู้" - พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา อ.ด้านประวัติศาสตร์
"ทนงศักดิ์ หาญวงศ์" 1 ในอนุคณะกรรมการวิชาการติดตามโบราณวัตถุฯ
ทนงศักดิ์ หาญวงศ์ ยืนยันว่า มีพยานบุคคล คนขุดสมบัติที่ยังมีชีวิตอยู่และภาพถ่ายปราสาท ระบุตรงกันว่า "กรุประโคนชัย" มูลค่าพันล้าน มาจากปราสาทเขาปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ โดย หนังสือพิมพ์ประเทศอังกฤษ พ.ศ.2508 ตีพิมพ์ข่าวเริ่มค้นพบกรุประโคนชัยเป็นครั้งแรกของโลก และหนึ่งในนั้นคือ นางเอมมาร์ ชี บังเกอร์ นักวิชาการและภัณฑารักษ์ ที่กลายมามีส่วนพัวพันกับการค้าโบราณวัตถุในสมัยนั้น
นางเอมมาร์ ชี บังเกอร์ตีพิมพ์เสนอภาพถ่ายของปราสาทหลังที่ค้นพบกรุประโคนชัย ในปี 2514 และพบว่า มีพระสำริดกรุประโคนชัยในความครอบครองนักสะสม พิพิธภัณฑ์ สถาบันทางศิลปะในยุโรปและสหรัฐฯ จำนวน 24 องค์ เนื้อหาในบทความระบุว่าชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นผู้พบพระกรุนี้ด้วยความบังเอิญ เมื่อปี 2507
ต่อมา เอมมาร์ตัดสินใจเดินทางมาดูด้วยตัวเองในปี 2544 และพบว่าในหนังสือที่เธอตีพิมพ์บทความนั้นมีพระโพธิสัตว์สำริด 1 ใน 24 องค์ ของเขาปลายบัด 2 ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เดนเวอร์ที่นางเอมมาร์เป็นภัณฑารักษ์อยู่ด้วย
ไทยพีบีเอสตรวจสอบกระบวนการค้าโบราณวัตถุในตลาดมืดกับ Jason Felch อดีตนักข่าวสืบสวนการค้าโบราณวัตถุของ L.A. Times เขาเป็น 1 คนสำคัญที่ทำข่าวเปิดโปงการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เขาระบุว่าแทบทุกประเทศที่เขามีส่วนร่วมในการสอบสวน เร่งส่งหลักฐานทวงคืน ยกเว้นไทย
Jason Felch อดีตนักข่าวสืบสวนการค้าโบราณวัตถุของ L.A. Times
“ผมมีส่วนในการสอบสวนคดีจำนวนหนึ่ง ซึ่งวัตถุโบราณของไทยถูกยึดมาจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ และถูกส่งคืนให้ไทย ในหลายคดีรัฐบาลไทยไม่ได้มีบทบาทในการสอบสวน หรือเริ่มการสอบสวน”
ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร
ขณะที่นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ยอมรับว่า การได้โบราณวัตุคืนก่อนหน้านั้น เพราะสหรัฐฯ ปราบปรามการขบวนการฟอกเงิน แต่การทวงคืนครั้งนี้คืบหน้าไปมากเช่นกัน ตั้งแต่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ขณะนี้มีโบราณวัตถุอยู่ในรายการทวงคืน 3 ล็อต และที่ล่าช้าเพราะเป็นการทวงคืนแบบ "รัฐ ต่อ รัฐ" มีขั้นตอนค่อนข้างมาก
“การขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ เป็นกระบวนการตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ส่วนสหรัฐฯ ก็ต้องทำตามขั้นตอนและคงต้องใช้เวลา แต่มีแนวโน้มที่ดี ประชาชนก็เฝ้ารอวันนั้น ขอให้อดใจรอ”
พระพุทธรูปพระนาคปรก ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ปัจจุบันนี้ กรุประโคนชัยจากเขาปลายบัด 2 บ้านยายแย้ม ไม่เหลือให้เห็นในพิพิธภัณฑ์เหลือเพียงพระพุทธรูปพระนาคปรก ที่ถูกจัดเก็บไว้ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และเป็นพระพุทธรูปเพียงองค์เดียวที่ไม่ได้ถูกขายให้นักค้าโบราณวัตถุเพื่อส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ เพราะรถที่มาขนย้ายเกิดอุบัติเหตุก่อน จึงโบราณวัตถุชิ้นสุดท้ายที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน
ขณะที่ การทวงคืนสมบัติชาติ "ทับหลังพระยมทรงกระบือ" ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ถูกสกัดตั้งแต่เริ่มต้น นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง นำชาวบ้านทวงคืน แต่ก็ถูกปฎิเสธจากหน่วยงานราชการนับครั้งไม่ถ้วน แต่ชาวบ้านไม่ยอมจำนน
"มันก็ดี ๆ แล้ว อา ป้า พี่น้อง มีข่าวดีจะบอกแจ้งแถลงไขให้ฟัง ของศักดิ์สิทธิ์เราครั้งเก่าแก่ในหนองหงส์ ถูกคนโกงเอาไปขายตั้งนานแล้ว ปราสาทหินปรางค์แก้วหนองหงส์ อันล้ำค่า มีทับหลังนารายณ์ที่อยู่ตรงนี้หายไปนาน "
นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง นำชาวบ้านทวงคืน "ทับหลังพระยมทรงกระบือ" ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ แต่ก็ถูกปฎิเสธจากหน่วยงานราชการนับครั้งไม่ถ้วน แม้ภาครัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วย อ้างกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ แต่ชาวบ้านไม่ยอมจำนน เพราะมั่นใจในหลักฐานว่า คือสมบัติของชาวโนนดินแดงต้องทวงคืนกลับมา
นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง
"ในเมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญผมกับอาจารย์ทนงศักดิ์จึงคิดหาวิธีว่า ทำอย่างไรให้เรื่องนี้คนไทยได้รู้ว่าทับหลังของปราสาทหนองส์ของเราอยู่ที่สหรัฐฯ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะได้กลับคืนมา จึงเป็นจุดเริ่มที่เราต่อสู้โดยลำพังระหว่างผม อาจารทนงศักดิ์ และชาวบ้านโนนดินแดง " นายสมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าว
การทวงคืนเริ่มต้นปี 2560 หลังมีข้อมูลว่า "ทับหลังพระยมทรงกระบือ" ถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อตรวจสอบทับหลังกับหลักฐานภาพถ่ายจากหนังสือของกรมศิลปากร พ.ศ.2502 พบว่าเป็นทับหลังชิ้นเดียวกัน
เมื่อเรานำมาลองเทียบกับหน้าบันของปราสาทก็มีขนาดเดียวกันแสดงว่าทับหลังชิ้นนี้ได้ถูกลักลอบขนออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย และการทวงคืนสมบัติชาติครั้งนี้นี้ยังสาวไปถึงการโจรกรรมโบราณวัตถุไทยหลายชิ้น เช่น กรุประโคนชัยพันล้าน และทับหลังเขาหัวโล้น จ.สระแก้ว ที่ต่างถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิทธภัณฑ์เดียวกัน
"คนขโมยเนี่ย ส่วนใหญ่จะเลือกจากความสวยงามมาก่อน มีรูปแบบที่ชัดเจนของปราสาทและทับหลังที่ประดับในศิลปะขอม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีประวัติค่อนข้างชัด ศึกษาได้ทุกอย่าง มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า มันก็จะมีค่า " นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ อนุกรรมการวิชาการติดตามโบราณวัตถุฯ ระบุ
โบราณวัตถุของไทยที่ถูกโจรกรรมไปอยู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอเนียร์ พิพิทธภัณฑ์ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากสำหรับผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา และนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาเยือน
สอดคล้องกับความเห็นของ Jason Felch อดีตนักข่าวสืบสวนการค้าโบราณวัตถุของ LA.Times โดยเขาบอกกับไทยพีบีเอสว่า โบราณวัตถุของไทยมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วยวิธีการผิดกฎหมาย จากการมีส่วนร่วมทำคดีลักลอบค้าวัตถุโบราณทั่วโลกหลายคดีและบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยส่งวัตถุโบราณออกนอกประเทศไม่ว่าจะผ่านการติดสินบนเจ้าหน้าที่ศุลกากรระหว่างการส่งออกหรือรูปแบบการทุจริตอื่น ๆ
"ปกติจะมีคนกลางในพื้นที่คอยรับซื้อวัตถุโบราณเหล่านั้นจากคนที่ขโมยและลักลอบส่งของออกนอกประเทศซึ่งของจะถูกออกเอกสารปลอมและขายในตลาดประมูลในฐานะของผลงานศิลปะมากกว่าที่จะเป็นวัตถุโบราณในกระบวนการนั้น บ่อยครั้ง เงินเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่วนหนึ่งของการทำธุรกรรมทางการเงินนั้นเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน" Jason Felch ตำแหน่งอดีตนักข่าวสืบสวน LA.Times กล่าว
การได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ทำให้การทวงคืนทับหลังหนองหงส์ เป็นโมเดลแห่งการจุดกระแสทวงคืนสมบัติชาติกลับสู่มาตุภูมิและการต่อสู้ของชาวบ้านก็ไม่สูญเปล่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ Homeland Security อายัดทับหลัง 2 ชิ้นนี้ ไว้แล้วอยู่ในกระบวนการส่งฟ้องศาล แม้จะใช้เวลานานยืดเยื้อในการทวงคืนกว่าหลายประเทศก็ตาม
กระทั่ง 2 ปีก่อน รัฐบาลไทยทำหนังสือทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น ไปยังพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ และมีแนวโน้มโอกาสได้คืนสูง เนื่องจากสหรัฐฯ มีเป้าหมายจัดการเครือข่ายค้าโบราณวัตถุข้ามชาติและการฟอกเงิน
ปฎิบัติการปราบปรามขบวนการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกาที่เป็นไปอย่างเข้มข้นโดยเจ้าหน้าที่ United States Department of Homeland Security หรือ สำนักความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ายึดโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วสหรัฐฯทำให้ให้หลายประเทศเช่น กัมพูชา อินเดีย อิตาลี แทบไม่ต้องเสียเงินจ้างทนายราคาสูงลิ่วเพื่อทวงคืนสมบัติชาติรวมทั้งไทยที่เคยได้โบราณวัตถุบ้านเชียง จ.อุดรธานี กลับคืนมาในปี 2551 จำนวน 554 ชิ้น โดยที่ไม่ต้องออกแรงทวงคืนเช่นกัน
 
Dr.Joyce White หัวหน้าโครงการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียงมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้มีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีครั้งนี้ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า มีโบราณวัตถุจากบ้านเชียงถูกโจรกรรมมานับหมื่นชิ้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้วิธีแกะรอยเครือข่ายค้าโบราณวัตถุที่ทำเป็นขบวนการเพื่อโกงภาษีชาติตัวเอง กลโกงของนักค้าโบราณวัตถุจะร่วมมือกับภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงประเมินราคาให้สูงลิ่ว นำไปบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ประโยชน์ทั้งผู้บริจาคและเจ้าของพิพิธภัณฑ์
 
"ดิฉันร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบพิพิธภัณฑ์เอกชนต่าง ๆ พบวัตถุน่าสงสัยกว่าหมื่นชิ้นที่อาจมาจากบ้านเชียง การดำเนินคดีตามกฎหมายสหรัฐฯทำให้นายหน้าซื้อ-ขาย และพ่อค้าที่ลักลอบนำเข้าวัตถุโบราณถูกจำคุกทันที " Dr. Joyce White หัวหน้าโครงการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียง ม.เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าว
กลโกงของนักค้าโบราณวัตถุ
ดำรง ลีนานุรักษ์ อนุกรรมการด้านกฎหมายติดตามโบราณวัตถุ เปิดเผยถึงสาเหตุที่ไทยพุ่งเป้าทวงคืนกับสหรัฐฯ ก่อนเพราะเป็นโอกาสทองของไทยที่ใช้สิทธิ์ทวงคืนสมบัติชาติเนื่องจากสหรัฐฯ มี พ.ร.บ.ขโมยทรัพย์สินแห่งชาติ และการคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยไปยังชาวต่างชาติโดยชอบธรรมมานานกว่า 30 ปีแล้ว ที่ใช้ปราบปรามการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในสหรัฐฯ
ดำรง ลีนานุรักษ์ อนุกรรมการด้านกฎหมายติดตามโบราณวัตถุ
"ตาม พ.ร.บ.ขโมยทรัพย์สินแห่งชาติจะเอาโทษกับผู้ครอบครองของโจร ซึ่งหมายถึงโบราณวัตถุที่ประเทศเจ้าทุกข์มีกฎหมายรองรับความเป็นสิทธิ์ เช่นเรามี พ.ร.บ.โบราณวัตถุ พ.ศ.2504 ซึ่งระบุว่าทรัพย์สมบัติในแผ่นดิน ประเทศเป็นเจ้าของและห้ามส่งออกจากประเทศไทย ห้ามส่งออกจากราชอาณาจักร " ดำรง ลีนานุรักษ์ อนุกรรมการด้านกฎหมายติดตามโบราณวัตถุฯ กล่าว
ไทยเพิ่งใช้โอกาสครั้งแรกเมื่อรัฐบาลแต่องตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุจากต่างประเทศกลับคืนประเทศไทยปี 2560 เมื่อข้อมูลหลักฐานพร้อมจึงถึงคราวเดินหน้าทวงคืนให้ถึงที่สุดเพื่อนำสมบัติชาติกลับคืน คือ กรุประโคนชัย ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ทับหลังเขาโล้น และปราสาทเขาพนมรุ้ง โบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อย่างผิดกฎหมาย
"เป็นความตั้งใจของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะนายกฯมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุจากต่างประเทศขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศให้ความสำคัญ ในส่วนของคณะทำงานก็ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลในเชิงวิชาการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าโบราณวัตุที่กำลังติดตามมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเคยเป็นของไทยจริง ๆ ซึ่งเราทำงานหนักมาก " นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นทวงโบราณวัตถุคืนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น เพราะยังสืบหาไม่พบก็มีอีกมาก โบราณวัตถุที่ต้องจับตาฯว่าจะทวงคืนสำเร็จหรือไม่ กลุ่ม "กรุประโคนชัย" 18 องค์ ที่อยู่ในสหรัฐฯ ไทยต้องต่อสู้กับ 8 พิพิธภัณฑ์ชั้นนำ อันดับต้น ๆ และสิ่งสำคัญคือ ไทยต้องเตรียมรับมือกับการล็อบบี้ที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนกับในหลายประเทศ
"เขาก็จะใช้ภัณทารักษ์ประจำสายนั้น ซึ่งมักจะเป็นนักวิชาการระดับโลกไปล็อบบี้ ว่า คุณอย่าทวงคืนเลยนะ ชิ้นนี้เราได้มานานแล้ว และเราได้ดูแลรักษาให้คุณ เป็นของโลก เขาจะพูดว่าอย่างนั้น บางประเทศ คนที่ถูกล็อบบี้ก็เป็นลูกศิษย์ของเขาอีก และขนของจากพิพิธภัณฑ์ของเราไปร่วมงานกับเขา ถือว่าเป็นเกียรติอีก ซึ่งเขาจะอ้างอิงว่านี่เป็นความร่วมมือทางวิชาการ " นายดำรง ลีนานุรักษ์ อนุกรรมการด้านกฎหมายติดตามโบราณวัตถุฯ กล่าว
หากได้โบราณวัตถุกลับมาจะทำให้คนรุ่นหลังได้ ได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น
วาทินี นามฤทธิ์ ชาวตำบลโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าว มุมองของเราต่อการต่อสู้ในสิ่งที่จะได้คืนมาคือ เราเป็นคนรุ่นใหม่เราไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน ก็รู้สึกดีใจว่าเป็นของพื้นที่ของเรา ก็อยากได้คืน
 
ด้านสัมฤทธิ์ พวงสวัสดิ์ ชาวตำบลโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า เป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนโนนดินแดง
จึงเป็นกุญแจสำคัญว่า ทำไมชาวบ้านต้องการกระตุ้นจุดกระแสให้ใช้โอกาสทองทวงคืนสมบัติชาติ ที่เคยขายให้กับนักค้าโบราณวัตถุชาวต่างชาติกลับคืนมา
และในที่สุดความพยายามของชาวบ้าน และนักวิชาอิสระก็ประสบผล
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มไปในทางที่ดี
โบราณวัตถุที่ดำเนินการติดตาม ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ที่จัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา และทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย
ปัจจุบันได้นำทับหลัง 2 ชิ้นดังกล่าวออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดการณ์ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จราวเดือน มี.ค.2564
ทั้งนี้ กรมศิลปากรจึงได้รายงานความคืบหน้านี้ถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อรายงานถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบแล้ว โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ : กรมศิลปากร
ขณะที่กรมศิลปากร ได้ติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการ ผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น
เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
เส้นทางการทวงคืนโบราณวัตถุไทยดำเนินมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีท่าทีจะหยุด เพราะยังมีโบราณวัตถุอีกจำนวนที่ยังไม่กลับคืนมาตุภูมิ และไม่ว่า ในท้ายที่สุด โบราณวัตถุทั้งหลายจะมาเมื่อไร ก็ขอยกประโยคหนึ่งขึ้นย้ำอีกครั้ง
"ข้าพเจ้าหวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นเครื่องสังวรแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบภายในประเทศ มิให้เกิดขึ้นต่อไป" ข้อความจากในหนังสือตอนหนึ่ง ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดี คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งกล่าวว่า "ข้าพเจ้าหวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นเครื่องสังวรแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบภายในประเทศ มิให้เกิดขึ้นต่อไป" เพื่อเตือนเจ้าหน้าที่ไทยป้องกันไม่ให้สมบัติชาติไทยไปอยู่ในอุ้งมือต่างชาติอีก
ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดี โบราณคดี ม.ศิลปากร
โฆษณา