Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
•
ติดตาม
4 ก.ย. 2020 เวลา 22:30 • ปรัชญา
“ความตายของร่างกายไม่ได้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๕ กันยายน ๒๕๖๓
เป็นไข้หวัดลงคอ เป็นมาตั้งแต่วันที่ ๒๖ วันนี้อาการก็ค่อยยังชั่วแล้ว พอที่จะทำอะไรได้ แต่ยังไม่หายสนิท แต่ก็ไม่เป็นไร ใช้มันไปร่างกาย ใช้ประโยชน์ได้ก็ใช้ไป ร่างกายก็มีประโยชน์ในเรื่องการเอาธรรมะที่มีอยู่ในใจมาเผยแผ่มาแบ่งปัน ใจต้องมีร่างกายถึงจะสามารถเผยแผ่ธรรมะให้แก่ผู้อื่นได้ เช่น พระพุทธเจ้าหลังจากที่ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ตอนนั้นอายุ ๓๕ ปี ร่างกายของท่านยังแข็งแรง ท่านก็เลยใช้ร่างกายมาเผยแผ่ธรรมอยู่ถึง ๔๕ ปีด้วยกัน แต่พอร่างกายถึงวาระสุดท้าย ท่านก็ไม่สามารถที่จะใช้ร่างกายได้ต่อไป แต่ใจของท่านไม่เดือดร้อนกับความเป็นความตายของร่างกาย เพราะใจท่านไม่ต้องพึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขเหมือนกับพวกเรา ที่ตอนนี้ยังต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขต่าง ๆ หาความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสต่าง ๆ พอร่างกายเป็นอะไรขึ้นมาเราก็จะเดือดร้อนกัน เราเลยมีความอยาก อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ความอยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนี่แหละเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์กันเวลาที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราได้ศึกษาธรรมได้ปฏิบัติธรรม มันจะสามารถที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ เพราะเรารู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้ใจเราทุกข์ ใจเราทุกข์ไม่ใช่เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย แต่เป็นความอยากไม่ให้ร่างกายของเราเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้นเอง พอเราเห็นอริยสัจ ความจริงนี้ในใจของเรา ถ้าเรามีเครื่องมือคือสติสมาธิปัญญาไว้หยุดความอยากของเรา เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ปล่อยมันป่วยไป ปล่อยมันเจ็บไป อย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปอยากหนีมัน หนีมันไม่พ้นหรอก ก็อยู่กับมันไป ถ้าไม่มีความอยากแล้วใจเฉย ๆ ใจจะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย เช่นเดียวกับความตายของร่างกายก็เช่นเดียวกัน ต่อไปร่างกายมันก็ต้องหยุดหายใจ ถ้าใจมีสติมีปัญญาก็จะรู้จักวิธีปฏิบัติกับความตายของร่างกาย เวลามันตายก็ปล่อยมันตายไป เราก็ทำใจของเราดูลมของร่างกายไป ดูไปจนกว่าลมมันจะหยุดหายใจ ก็เท่านั้นเองไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นตกใจหวาดกลัว
ความตายของร่างกายนี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัวก็คือความหลงของเรา ไปหลงไปคิดว่าเราเป็นร่างกายกัน มันเลยน่าหวาดกลัวขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้ตั้งแต่ต้นว่ามันไม่ใช่เป็นร่างกายเรา เหมือนกับหมอที่ดูคนไข้ หมอรู้ว่าคนไข้ไม่ได้เป็นหมอ หมอก็รักษาคนไข้ไปตามความสามารถของหมอ แต่พอไม่สามารถรักษาให้ร่างกายหายได้ ร่างกายก็จะหมดลมหายใจ หมอก็ดูไปเท่านั้นเอง ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่หมอไม่ตื่นเต้นตกใจกับความตายของคนไข้ เพราะคนไข้ไม่ใช่หมอ นี่ใจกับร่างกายก็เป็นอย่างนั้น ร่างกายเป็นคนไข้ ใจจะเป็นเหมือนหมอตอนที่คอยดูแลคนไข้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลกันไป รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ไม่ฝืนรักษา หยุดการรักษาดีกว่าจะได้ไม่ทรมานนาน การหยุดการรักษานี้ไม่เป็นการฆ่าตัวตาย ไม่เป็นการขาดความเมตตากรุณา แต่เป็นการมีความเมตตากรุณาเพราะว่าจะไม่ได้ไปยื้อไปดึงไปทรมาน ผู้ที่ทรมานก็คือใจที่จะต้องไปทรมานกับร่างกาย เพราะยังไม่มีปัญญาที่จะปล่อยวางร่างกายนั่นเอง
ผู้ที่มีปัญญาท่านจะไม่ยื้อกับความตายของร่างกาย ถ้าท่านรู้ว่ามันถึงขีดที่จะรักษาไม่ได้ท่านก็พร้อมที่จะปล่อยพร้อมที่จะวาง อันนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ครูบาอาจารย์บางรูปท่านไม่ไปโรงพยาบาล ท่านรักษาตัวที่วัดไปตามอัตภาพ กินได้ก็กิน ดื่มได้ก็ดื่ม หายใจได้ก็หายใจ กินไม่ได้ก็ไม่กิน ดื่มไม่ได้ก็ไม่ดื่ม พอไม่กินไม่ดื่มไปสักพักเดี๋ยวมันก็ไม่หายใจของมันเอง มันก็จบ มันไม่เรื่องยาว ถ้าไปโรงพยาบาลเดี๋ยวก็ถูกเจาะถูกตัด หมอนี่เก่งทางเจาะทางตัดทางผ่า เพราะหมอไม่เจ็บนี่ หมอเป็นคนผ่าเป็นคนตัดนี่ หมอก็ผ่าตัดจิ้มเข็มเจาะคออะไรต่าง ๆ คนไข้นั่นแหละเป็นคนที่ทรมาน ก็ทำอะไรได้หรือเปล่า ก็ไม่ได้อยู่ดี ในที่สุดก็ตายที่โรงพยาบาลเหมือนกัน แต่ตายแบบเสียเงินหลายตังค์ แล้วก็ตายแบบยืดเยื้อทรมานแบบยืดเยื้อ นี้ถ้าคนเข้าใจถึงหลักว่าร่างกายกับใจว่าเป็นคนละคนกันแล้ว จะไม่มีการทำอย่างนี้กัน ก็จะดูแลรักษาไปเท่าที่จะดูแลได้ เพียงแต่เพื่อจะยื้อให้มันอยู่ต่อไปสักระยะหนึ่งนี้ ไม่ทำกันดีกว่า แต่ถ้ารักษาแล้วทำให้หายเป็นปกติ กลับมาทำอะไรได้เป็นปกติต่อไปก็รักษาไป
ฉะนั้นถ้าเกิดมีญาติพี่น้องของเรา เขาบอกว่าไม่ต้องรักษาแล้วเขาไม่อยากจะรักษา ก็อย่าไปฝืน อย่าไปทรมานเขา เขาบอกพอไปรักษาแล้วบางทีมันหยุดไม่ได้ถ้ายังไม่ตาย เพราะเครื่องมือสมัยนี้มันดี มันมีหัวใจเทียมมีปอดเทียมมีอะไรเทียมทำงานแทนคนไข้ได้ แต่คนไข้ก็ทำอะไรไม่ได้ นอนอยู่อย่างนั้น แล้วพอถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครกล้าไปบอกให้หมอยุติกัน บอกว่าหมออย่ารักษา หมอเอาสายยางอะไรออก เครื่องหายใจออก เพราะกลัวว่าเป็นการฆ่าเขา อย่างกรณีหลวงปู่ชานี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่ชาท่านไม่สบายแล้วก็รักษาไปจนกระทั่งต้องใช้สายยางใช้อะไร แล้วท่านก็นอนอยู่อย่างนั้นเป็นปีมั้ง ลูกศิษย์แต่ละคนก็ไม่กล้าจะทำอะไร แต่ก็รู้ว่าไปทำให้ท่านทรมานโดยใช่เหตุ ทรมานทางร่างกายแต่ทางจิตใจท่านไม่ทรมาน จิตใจท่านก็อยู่ดูกับความทรมานของร่างกายไป ในที่สุดก็เลยต้องไปขอคำปรึกษาจากหลวงตามหาบัว หลวงตามหาบัวบอกหยุดการรักษาไม่เป็นบาปหรอก เป็นการรับสภาพความเป็นจริงว่าร่างกายมันก็ต้องตาย แล้วก็ไม่ไปฝืนธรรมชาติ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่เป็นบาปกับผู้ที่จะยุติการรักษา เขาถึงกล้ายุติ เขาถึงกล้าถอดเครื่องหายใจถอดอะไรต่าง ๆ ออก พอถอดเสร็จปั๊บท่านก็สิ้นลมทันที ท่านก็สบาย อนิจจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข พิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องตาย การปล่อยวางร่างกายนี้เป็นสุขอย่างยิ่ง ใจน่ะเป็นสุข การยึดติดกับร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ผู้ที่รู้ธรรมจึงไม่ยึดติดกับร่างกาย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งที่คนไม่เข้าใจกัน เช่นมีคนที่รักษาไม่หาย อยากจะฆ่าตัวตาย อยากจะตาย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ถูกอีกแหละ เพราะเป็นความอยากของคนไข้ ความอยากของคนไข้อยากจะฆ่าตัวเอง อันนี้ก็เป็นบาป การฆ่าตัวเองหรือฆ่าผู้อื่น เช่นบางทีเห็นสัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยงมามันไม่สบาย ทรมานรักษาไม่หาย ก็ให้หมอฉีดยาฆ่ามันอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ถูกอีกเพราะมันออกมาจากใจของเราที่ต้องการจะฆ่าผู้อื่น ถึงแม้จะคิดว่าเป็นการฆ่าด้วยความเมตตา การุณยฆาตที่เขาเรียก ภาษาฝรั่งเขาเรียก mercy killing แต่ทางศาสนาพุทธนี่เราถือว่าการฆ่าไม่ว่าแบบไหนชนิดไหนก็ตาม ต้องเป็นบาปทั้งนั้น เพราะใจที่คิดจะฆ่าผู้อื่นหรือฆ่าตนเองนี้ต้องเป็นใจที่โหดเหี้ยม เป็นใจที่ปล่อยวางไม่เป็น เป็นใจที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของร่างกายและของจิตใจ ว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน ฆ่าร่างกายเดี๋ยวมันก็จบแต่ใจนี้มันก็ต้องกลับมาเกิดใหม่อยู่ดี เพราะใจมันยังมีความอยากที่จะมีร่างกาย เพราะใจยังมีความอยากที่จะหาความสุขจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ โลกธรรม คือลาภยศสรรเสริญ ความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ การมีความอยากเหล่านี้ ไม่ว่าจะฆ่าตัวตายกี่แสนกี่ร้อยครั้งก็จะต้องกลับมาเจอความตาย และก็จะกลับมาฆ่าตัวตายอีกเรื่อย ๆ มันก็จะติดอยู่ในวงจรอุบาทว์นี้ ไม่ได้ไปไหน ตายไปก็ต้องไปตกนรกตกอยู่ในอบาย พอกลับมาเกิดใหม่ เดี๋ยวก็มาฆ่าตัวตายใหม่
ดังนั้นต้องรู้จักวิธีปฏิบัติกับร่างกาย วิธีที่ปฏิบัติกับร่างกายที่ถูกต้องก็คือปล่อยวาง ถ้าทำอะไรไม่ได้ ช่วยร่างกายไม่ได้ ก็อย่าไปทำร้ายมัน ทำร้ายร่างกายก็ผิด ช่วยได้ช่วย นี่แบบเป็นความเมตตา เราช่วยพยายามรักษาแต่อย่าเกินขอบเขตของเหตุผล ถ้าเกินขอบเขตของเหตุผล การช่วยเหลือก็กลายเป็นการไปทำให้เขาทุกข์ทรมานไปเปล่า ๆ อย่างนี้ก็เกินไป ต้องดูว่าความพอดีอยู่ตรงไหน ถ้ารักษาแล้วเขามีโอกาสที่จะหายได้ก็รักษาไป พอรักษาไม่ได้แล้วก็ต้องหยุด อย่าปล่อยให้คนไข้ต้องทรมานไปโดยใช่เหตุ นี้คือเรื่องของร่างกายของพวกเราทุกคนที่เกิดมาแล้วจะต้องเจอความแก่ เจอความเจ็บ เจอความตายกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะพวกเรายังไม่ได้รู้จักไม่เคยสัมผัสกับรสแห่งธรรม ที่เป็นรสที่ชนะรสทั้งปวง ใจของพวกเรามีโมหะอวิชชา อวิชชาก็คือความไม่รู้รสแห่งธรรม ไม่เคยสัมผัสกับรสแห่งธรรม ก็เลยเกิดความหลงคิดว่าความสุขนี้อยู่ที่การมีร่างกาย พอมีร่างกายแล้วเราจะได้ไปหาความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสต่าง ๆ ซึ่งเราก็มีความสุขในตอนต้น
ตอนที่เราเกิดมาใหม่ ๆ ร่างกายแข็งแรง ร่างกายเราไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ใช้ร่างกายพาเราไปหาลาภยศสรรเสริญ พาไปหาความสุขชนิดต่าง ๆ ไปอย่างเพลิดเพลิน จนกว่าวันใดวันหนึ่งเราเจอความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแบบที่จะต้องนอนโรงพยาบาล ตอนนั้นแหละมันจะเริ่มทำให้เราเห็นความทุกข์ที่ติดมากับร่างกายแล้ว แล้วทีนี้มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไง ถ้าโชคดีมาเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนา แล้วมีใครแนะนำให้ศึกษาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่ามีความสุขอีกแบบหนึ่งที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ ความสุขที่เกิดจากความสงบที่เรียกว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง อันนี้แหละมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ความสุขที่ดีกว่าความสุขที่ได้ลาภยศสรรเสริญ ได้เงินมากี่ร้อยล้านก็ไม่มีความสุขเท่ากับได้รสแห่งธรรม
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย