9 ก.ย. 2020 เวลา 23:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Warrant น่าสนใจอย่างไร ทำไมบริษัทถึงเลือกออก Warrant
นักลงทุนมือใหม่ อาจเคยเห็นหุ้นที่มี W ต่อท้าย และอาจเกิดความสงสัย ว่ามันคืออะไร มีประโยชน์หรือไม่ เรามาทำความรู้จัก Warrant กันเลยค่ะ
Warrant คือ ใบแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิผู้ถือในการซื้อหุ้นที่ราคาและจำนวนที่บริษัทประกาศ โดยจะต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ถือเป็นอนุพันธ์ ( Derivative ) ประเภทหนึ่ง หรือที่เรียกว่า " Call Option "
ผลตอบแทนจาก Warrant ได้แก่
📌 ขาย Warrant ให้ได้ในราคาสูงกว่าที่ซื้อมา
📌 ใช้สิทธิวอร์แรนท์ แปลงเป็นหุ้นแม่ เท่ากับได้หุ้นเพิ่ม และหากราคาดีขายหุ้นในตลาด เท่ากับ ทำกำไรได้เพิ่ม
สิ่งที่ทำให้ Warrant ดึงดูดนักลงทุน คือ การลงทุนที่ใช้เงินน้อยแต่มีโอกาสได้กำไรมาก โดยจำกัดความสูญเสีย บางคนได้ฟรีมาก็ไม่เสียอะไร ส่วนผู้ที่ได้มาจากการซื้อในตลาด แล้วใช้สิทธิไม่ทันจะขาดทุนเท่าราคาที่ซื้อมา หาก Warrant นั้นหมดอายุ และขายออกไม่ทัน
เมื่อนักลงทุนได้รับ Warrant สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาว่าจะซื้อหรือไม่ มีดังนี้ค่ะ
⛳ ราคาใช้สิทธิ
เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อราคา Warrant
ถ้าราคาใช้สิทธิ >> ต่ำกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ตัว Warrant ก็จะมีค่าและจูงใจให้นักลงทุนใช้สิทธิ เพราะสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นในราคาถูก และสามารถนำไปขายในตลาดหุ้นที่ราคาแพงได้
ถ้าราคาใช้สิทธิ >> สูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ก็จะไม่จูงใจให้คนใช้สิทธิ และมักจะตัดสินใจขาย Warrant เมื่อเข้าใกล้วันหมดอายุ ทำให้มูลค่าของ Warrant มีแนวโน้มลดต่ำลง และกลายเป็น 0 ในที่สุด
⛳ อัตราการใช้สิทธิ
อัตราส่วนที่ให้ใช้สิทธิที่นิยมใช้ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1:1 หมายถึง 1 Warrant สามารถซื้อหุ้นแม่ได้ 1 หุ้นนั่นเองค่ะ
⛳ อายุของ Warrant
ปกติ Warrant จะมีอายุ 1 - 10 ปี บริษัทที่ออก Warrant จะระบุอายุเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่มีการเสนอขาย เช่น 3ปี 4ปี หรือ 5ปี ถ้าระยะเวลาหมดอายุของ Warrant ยังมีเหลืออยู่อีกค่อนข้างนาน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นแม่มีโอกาสขึ้นไปต่อได้สูง
⛳ ระยะเวลาแจ้งความจำนงใช้สิทธิ
แต่ละบริษัทจะมีช่วงเวลาให้นักลงทุนแจ้งว่าต้องการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามที่ระบุไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิที่ไม่ตรงกัน อาจจะให้แจ้งทุกสิ้นไตรมาส หรือสิ้นปี นักลงทุนที่ถือ Warrant ควรจะศึกษารายละเอียดก่อน เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิได้ทันในช่วงระยะเวลาที่ต้องการค่ะ
⛳ ราคาของ Warrant
ราคาของ Warrant มักจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาด ซึ่งทำให้โดยทั่วไป Warrant จะมีราคาต่ำกว่าหุ้นแม่ค่อนข้างมาก บางทีหุ้นแม่ราคา 20 แต่ Warrant อาจจะราคาเพียงแค่ 2 หรือ 3 บาท
ทำให้ Warrant กลายเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่าลงทุนในหุ้นแม่ แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าเช่นกันเพราะราคาจะมีความผันผวนมากกว่า และมีวันหมดอายุ นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นักลงทุนอาจจะเลือกเก็งกำไรใน Warrant ทำให้ราคา Warrant นั้นมีการซื้อขายที่ราคาสูงกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันว่าซื้อขายที่ราคา “Premium”
แต่ถ้า Warrant ซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิและราคาหุ้นในตลาดก็จะเรียกว่าซื้อขายที่ราคา “Discount” นั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่าง Warrant
NER-W1 เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิซื้อหุ้น NER (หรือเรียกกันว่าหุ้นแม่) ในราคา 1.8 บาทต่อหุ้น มีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 หมายถึง NER-W1 จำนวน 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้น NER ได้ 1 หุ้น ซึ่งทางบริษัทได้ระบุระยะเวลาการใช้สิทธิไว้ 2 ปี และจะครบกำหนดในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ถือ NER-W1 สามารถใช้สิทธิได้ทุกวันทำการสุดท้ายของทุกๆสิ้นไตรมาส
ทำไมบริษัทถึงออก Warrant
บริษัทออก Warrant เมื่อต้องการได้เงินทุนในอนาคต หรือเมื่อตลาดหุ้นในปัจจุบันยังไม่ดีนักหรือไม่เอื้ออํานวยให้เพิ่มทุน เช่น ราคาหุ้นของบริษัทตํ่าเกินกว่าที่น่าจะเป็น ถ้าจะเพิ่มทุนในวลานั้นก็จะทําให้ต้องลดราคาขายลงมา ทำให้กระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท
บางครั้งบริษัทอาจจะตัดสินใจออก Warrant เหมือนเป็นของแถมให้ผู้ถือหุ้นปัจจุบันเพราะยังไม่มีเงินจ่ายปันผลเนื่องจากกิจการยังไม่ดีนัก แต่คาดว่าจะดีในอนาคต ซึ่งถ้ากิจการดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้น ราคา Warrant ก็จะขึ้นด้วย
นั่นก็คือ Warrant เป็นการเลื่อนเวลาการออกหุ้นไปในอนาคตที่ฝ่ายบริหารคิดว่ากิจการน่าจะมีกําไรดีกว่าในตอนนี้ หรือหุ้นมีราคาดีกว่าในตอนนี้ โดยคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นปัจจุบันกําหนดกว้างๆว่าอยากได้ทุนจํานวน X ในกรอบจากปี 2563 - 2566 เป็นต้น นั่นคือกรอบเวลาที่อนุญาตให้แปลง Warrant เป็นหุ้นได้
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก Warrant 🚨
1. Warrant มีวันหมดอายุ
👉 ลักษณะความเสี่ยงคล้ายหุ้น แต่ระดับความเสี่ยงมากกว่าหุ้น เพราะหุ้นไม่มีอายุ แต่ Warrant มีวันหมดอายุ มีกำหนดวันและราคาใช้สิทธิ
2. ขายยาก ถ้าราคาใช้สิทธิแพง
👉 ราคา Warrant อาจไม่สอดคล้องกับราคาหุ้นแม่ เช่น ถ้าราคาหุ้นแม่ต่ำกว่าราคาใช้สิทธิมาก ราคา Warrant อาจไม่ขยับหรือลดลง แม้ราคาหุ้นแม่จะปรับขึ้น
3. ราคาผันผวน
👉 ราคา Warrant อาจผันผวนมากกว่าหุ้นแม่
💥 เนื่องจาก Warrant มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งเป็นตราสารที่มีอายุ นักลงทุนจึงควรมองแนวโน้มและจัดสรร Warrant ในมือให้ดี อย่างน้อยต้องมีแผนตัดขาดทุน เพื่อป้องกันไม่ให้วอร์แรนท์ที่มีอยู่สูญค่า เพราะถ้า Warrant หมดอายุ ก็มีค่าเท่ากับศูนย์หรือเหมือนกระดาษใบหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามเช่นเคยนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา