7 ก.ย. 2020 เวลา 04:47 • ประวัติศาสตร์
เจ้าอนุวงศ์ หรือ เจ้าอนุ (ลาว: ສົມເດັຈພຣະເຈົ້າອະນຸວົງສ໌) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ ๕ หรือพระองค์สุดท้าย ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหาวีรกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างและประเทศลาว นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องจากประชาชนชาวลาวว่า เป็นพระมหากษัตริย์ผู้พยายามกอบกู้เอกราชชาติลาวจากการเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม
ทรงปกครองราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ราว พ.ศ. ๒๓๔๘-๒๓๗๑ นักประวัติศาสตร์ลาวและไทยนิยมออกพระนามของพระองค์ว่าพระเจ้าไชยเสฏฐาธิราชที่ ๓ หรือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านตรวจสอบพระนามตามจารึกต่างๆ โดยละเอียดแล้วได้นับพระองค์เป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารผู้เป็นพระราชบิดา และพระเจ้าอินทวงศ์ ผู้เป็นพระราชเชษฐาได้เฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์เองว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชด้วยเช่นกัน
พระนาม
เจ้าอนุวงศ์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามตามจารึกประวัติศาสตร์ว่า สมเด็จบรมบพิตรพระมหาขัติยธิเบศไชยเชษฐา ชาติสุริยวงศ์องค์เอกอัครธิบดินทรบรมมหาธิปติราชาธิราช มหาจักรพรรดิ์ภูมินทรมหาธิปตนสากลไตรภูวนาถ ชาติพะโตวิสุทธิมกุตสาพาราทิปุลอตุลยโพธิสัตว์ขัติย พุทธังกุโลตรนมหาโสพัสสันโต คัดชลักขรัตถราชบุรีสีทัมมาธิราช บรมนาถบรมบพิตร จากการเฉลิมพระนามนี้ชี้ให้เห็นว่า นครเวียงจันทน์มีเจ้าผู้ปกครองแผ่นดินในฐานะพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงเอกราชมากกว่าที่จะอยู่ในฐานะเมืองขึ้นหรือเมืองส่วยอย่างที่นักวิชาการหลายท่านเข้าใจ นอกจากนี้ ในจารึกหลายหลักยังออกพระนามของพระองค์แตกต่างกันไป ดังนี้
พระมหาธรรมิกสีหตบูรราชาธิราช
พระศรีหะตะนุ
พระมหาขัติยธิเบศไชยเชษฐา
พระราชเชษฐา
พระโพธิสาลราชาธิราชเจ้าจักรพรรดิธรรมิกราชาธิราช
พระไชยเชษฐาธิราชชาติสุริยวงศ์องค์อัครธิบดินทร์
พระภูมินทราธิปัติธรรมิกราชาธิราช
พระมหาธรรมิกราชไชยมหาจักรพรรดิ์
ราชตระกูล
เจ้าอนุวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าศิริบุญสาร กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) พระราชมารดาเป็นชาวหนองบัวลำภู ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระราชธิดาของเจ้าพระตา (ในเอกสารพื้นเมืองอุบลหรือพงศาวดารเมืองอุบลราชธานี เรียกชื่อว่า เจ้านางแสนสีชาติ เจ้าอนุวงศ์จึงมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาเจ้าพระตา แห่งเมืองหนองบัวลุ่มภูอีกด้วย เนื่องจากในเอกสารพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง (พื้นเมือง) ซึ่งเป็นหนังสือผูกใบลาน พบที่บ้านเชียงม่วน นครหลวงพระบาง ระบุว่า “...เจ้าองบูน (พระเจ้าศิริบุญสาร) นั้น จั่งเอานางลูมพูหนองบัว แม่นนางเจ้าเอกเมือง... ลูกนางลูมพูนั้น จึงมีเจ้าอิน เจ้าอานุ...” จากข้อความดังกล่าว พระราชมารดาเจ้าอนุวงศ์คงมีตำแหน่งเป็น "นางเจ้าเอกเมือง" ซึ่งอาจหมายถึงตำแหน่งพระอัครมเหสีในพระเจ้าศิริบุญสาร และจากเอกสารนี้ทำให้ทราบว่าเจ้าอนุวงศ์เป็นพระอนุชาร่วมพระราชมารดากับพระเจ้าอินทวงศ์ และเป็นพระอนุชาต่างพระราชมารดากับพระเจ้านันทเสน
สำหรับราชตระกูลฝ่ายพระเจ้าศิริบุญสารพระราชบิดาของเจ้าอนุวงศ์นั้น สืบสายสกุลมาจากเจ้าชมภูพระเชษฐาองค์ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ซึ่งถูกนรเทศไปเมืองเว้ ราชธานีของจักรวรรดิเวียดนาม เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาทรงต้องการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง โดยเจ้าชมภูเมื่อประทับอยู่เวียดนามได้ทรงมีพระโอรสพระนามว่าเจ้าไชย เนื่องจากประสูติที่กรุงเว้ คนทั้งหลายจึงออกพระนามว่าพระไชยองค์เว้ ซึ่งภายหลังไชยองค์เว้ได้ชิงราชสมบัติจากเจ้านันราช และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ โดยพระไชยองค์เว้มีพระราชโอรสคือเจ้าองค์ลอง และมีพระราชนัดดา คือ พระเจ้าศิริบุญสาร ตามที่พระราชพงศาวดารล้านช้างฉบับภาษาลาว ซึ่งพบที่หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ ระบุว่า "...เจ้าสุริยกุมารลูกหล้าเจ้าตอนคำ ได้เสวยเมืองล้านช้างผาบแผ่นดินลาวทั้งมวญ ทรงนามกรขึ้นชื่อว่า พระสุริยวงษาธรรมิกราชาบรมบพิตรราชะ เจ้าล้านช้างร่มขาวแล แล้วใส่มาบรรพาชนิยกรรม ขับพี่อ้ายทั้ง ๔ องค์หนีจากเมือง ส่วนดังเจ้าชมภูผู้เปนพี่ต้น จึ่งเอาเมียทั้งแสนทิพนาบัวหนีไปอยู่เมืองแวพึ่งแกวนั้นแล ครั้งนั้นเจ้าบุญชูหนีไปบวชอยู่ภูหอภูโฮงโน้นแล ท้าวบุนั้นพ่ายหนีมาอยู่เชียงคาน ก็อนิจกรรม เสียหั้นแล ท้าวส้อยผู้น้องนั้นพ่ายไปอยู่สะพือหลวง ก็ถึงอนิจกรรมเสียนั้น ดังเจ้าชมภูไปพึ่งอยู่สะพือหลวงแกวนั้น มีลูกผู้หนึ่งชื่อพระไชยองค์แว...พระไชยองค์แวก็หลานเจ้าสุริย...พระไชยองค์แว นั่งเวียงจัน ลูกพระไชยองค์แวนั้น แม่นองค์รอง ลูกเจ้าองค์รองนั้นแม่นองค์บุญ..."
เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์
ดูบทความหลักที่: สงครามเจ้าอนุวงศ์
พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์เสด็จลงมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) แห่งสยาม สยามอ้างว่าพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่ากองทัพไทยอ่อนแอ เนื่องจากแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าที่มีฝีมือได้สิ้นชีวิตไปหลายคน ต่อมายังมีข่าวลือไปถึงนครเวียงจันทน์ว่า ไทยกับอังกฤษวิวาทกันจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี ต่อมา เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้รับการสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าแผ่นดินสยามแล้ว พระองค์จึงทูลขอพระราชทานละครในของเวียงจันทน์ เจ้าหญิงลาว และชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสยามให้กลับคืนไปเวียงจันทน์ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระราชทานพระราชานุญาต เป็นเหตุให้พระองค์ไม่พอพระทัย พระองค์จึงยกทัพลงมากรุงเทพมหานคร โดยวางอุบายหลอกเจ้าเมืองต่าง ๆ ตามรายทางว่าจะยกทัพลงไปช่วยกรุงเทพมหานครรบกับพวกอังกฤษ ทำให้กองทัพของเจ้าอนุวงศ์สามารถเดินทัพผ่านมาได้โดยสะดวก แต่ "เอกสารฝ่ายลาว" อ้างว่า พระองค์มีพระบรมราชโองการแก่เจ้านายหัวเมืองลาวอีสานทั้งหลายว่า จะลงไปตีนครราชสีมาด้วยเจ้านครราชสีมาล่วงล้ำเขตแดนเข้าไปตีข่าสักเลกไพร่พลในแดนลาว และพระองค์มิได้ลงไปตีกรุงเทพมหานครอย่างที่ไทยกล่าวอ้างแต่ประการใด บรรดาเจ้าเมืองหัวเมืองลาวอีสานทั้งหลายต่างรังเกียจพฤติกรรมและนิสัยของเจ้าเมืองนครราชสีมาอยู่แล้วจึงร่วมมือกับพระองค์ เจ้าเมืองลาวอีสานทั้งหลายต่างขันอาสาออกศึกช่วยเหลือพระองค์และกล่าวคำชื่นชมพระบารมีของพระองค์อย่างมาก ฝ่ายสยามกล่าวว่าเมื่อกองทัพลาวยกมาถึงนครราชสีมา เจ้าอนุวงศ์ได้ฉวยโอกาสที่เจ้านครราชสีมาและพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการที่เมืองขุขันธ์เข้ายึดเมือง และกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองขึ้นไปเวียงจันทน์ แต่เอกสารฝ่ายลาวกล่าวว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จมาถึงนครราชสีมาแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมาเกรงพระราชบารมีและเกรงว่าตนจะต้องโทษที่ล่วงล้ำเขตแดนเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ จึงได้ปลอมตัวหนีทิ้งเมืองของตนเองเสีย เอกสารฝ่ายลาวยังกล่าวอีกว่า เมื่อพระองค์เข้าเมืองของเจ้านครราชสีมาได้แล้ว ทรงเห็นว่าวังของเจ้านครราชสีมานั้นใหญ่โตและมีจำนวนมากถึง ๗ หลัง ในเขตวังของเจ้านครราชสีมาสามารถบรรจุทหารของพระองค์ได้มากกว่าพันคน พระองค์จึงทรงตั้งให้พระบรมราชา (มัง ต้นสกุล มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมให้กินเมืองนครราชสีมาแทนเจ้าเมืองคนเดิม
ต่อมา ระหว่างทางกองทัพลาวได้พักไพร่พลและเชลยที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พวกครัวเรือนเมืองนครราชสีมาได้วางอุบายลวงทหารลาวจนตายใจแล้วฆ่าฟันทหารลาวตายลงจำนวนมาก จากนั้นจึงตั้งค่ายรอกองทัพจากกรุงเทพมหานครขึ้นมาสมทบ ฝ่ายทหารของเจ้าอนุวงศ์เห็นการณ์ไม่สำเร็จตามคิด จึงถอยทัพกลับไปตั้งมั่นที่กรุงเวียงจันทน์เพื่อรอรับศึกจากกองทัพกรุงเทพมหานคร เอกสารฝ่ายไทยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของท้าวสุรนารี (โม ณ ราชสีมา) ชายาของเจ้านครราชสีมา และวีรกรรมนางสาวบุญเหลือธิดากรมการเมืองนครราชสีมา ส่วนทางฝ่ายลาวและอีสานไม่มีเอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิแม้แต่ชิ้นเดียว ที่มีการกล่าวถึงวีรกรรมของสตรีทั้งสองคน ตำนานมุขปาฐะฝ่ายลาวกล่าวว่า ท้าวสุรนารีเดิมเป็นชาวลาวแต่มีใจฝักใฝ่กับสยาม จึงได้ร่วมวางแผนกับสยามเข้าตีเวียงจันทน์ และเอกสารฝ่ายลาวยังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดวีรกรรมของเจ้าเมือง ๒ ท่าน คือ วีรกรรมพระยานรินทร์สงคราม (เจ้าจอมนรินทร์ หรือ พระยาโนลิน ต้นสกุล ลาวัณบุตร์) เจ้าเมืองจตุรัส (เมืองสี่มุม) และเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) กับวีรกรรมพระยาภักดีชุมพล (แล ต้นสกุล ภักดีชุมพล) เจ้าเมืองชัยภูมิ ซึ่งทั้ง ๒ องค์ต่างมีความจงรักภักดีต่อนครเวียงจันทน์
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกรุงเทพมหานครทราบข่าวกองทัพเจ้าอนุวงศ์ช้ากว่าที่คิด เพราะกองทัพกรุงเทพมหานครทราบข่าวเมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์หลังจากมาตั้งมั่นที่นครราชสีมาแล้ว สยามได้ส่งกองลาดตระเวนหาข่าวมาถึงเมืองสระบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงทราบข่าวศึกจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพจากสระบุรีขึ้นไป และให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งเอกสารฝ่ายลาวเรียกว่า พระยามุนินเดช ยกทัพไปทางเมืองปัก (อำเภอปักธงชัย) แล้วตรงไปสมทบกันที่เมืองนครราชสีมา กองทัพทั้ง ๒ ของสยามสามารถตีทัพลาวแตกพ่ายไป ส่วนเจ้าอนุวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงเสด็จไปปรึกษาราชการศึกที่เวียดนาม และได้รับความคุ้มครองตลอดจนได้รับที่ประทับชั่วคราวจากฝ่ายเวียดนามตามฐานะ เมื่อสยามยึดเวียงจันทน์ได้แล้ว กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ปราบเวียงขึ้นที่หนองคายและให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กวาดต้อนครัวเวียงจันทน์ลงไปกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งอัญเชิญพระบาง พระแทรกคำพระฉันสมอ พระเสริม พระสุก พระใส พระแสน พระแก่นจันทน์ พระเงินหล่อ พระเงินบุ พระสรงน้ำ และพระพุทธรูปศิลาเขียว (พระนาคสวาดิเรือนแก้ว) มาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครด้วย แต่ในตำนานพระพุทธรูปและเอกสารฝ่ายลาวกล่าวว่า ยังมีทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญประจำหัวเมืองลาวอีกหลายองค์ที่สยามพยายามอัญเชิญลงมากรุงเทพมหานคร แต่ชาวบ้านได้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเสียก่อน อาทิ พระแสงที่เมืองนครพนม พระแก้วมรกตที่พระธาตุพนม และพระทองคำที่ถ้ำปลาฝา ถ้ำพระ เมืองท่าแขกเป็นต้น จากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดีเป็นที่เจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่สมุหนายก ด้วยมีความชอบในงานราชการศึก
ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ไม่พอราชหฤทัยที่เจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่ยอมทำลายนครเวียงจันทน์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปตีนครเวียงจันทน์อีกครั้งเพื่อทำลายนครเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามได้คุมทหาร ๓๐๐ นาย ข้ามแม่น้ำโขงไปดูลาดเลาได้ความว่า พระราชวงศ์เหงียนได้ให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงษ์ (เหง้า ต้นสกุล สีหาราช) กลับมาขออภัยโทษจากฝ่ายไทยและขอสวามิภักดิ์อีกครั้ง แต่เอกสารฝ่ายลาวกล่าวว่า พระองค์ไม่พอพระทัยพระจักรพรรดิเวียดนามที่คิดแต่จะแสวงหาส่วย เงินทองจากพระองค์ และพระองค์ก็มิได้ดำริว่าจะทรงเสด็จมาสวามิภักดิ์ฝ่ายไทย แต่ทรงเสด็จกลับมานครเวียงจันทน์เพื่อเสวยราชย์อีกครั้ง เมื่อทรงเห็นทหารไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองของพระองค์โดยพละการ จึงทรงไม่พอพระทัยและสั่งให้ฆ่าฟันขับไล่ทหารไทยพวกนั้นออกไปจากเวียงจันทน์เสีย เอกสารฝ่ายไทยกล่าวว่า รุ่งขึ้นเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) กลับยกพลเข้าโจมตีทำร้ายทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นพวกนครเวียงจันทน์ตามมาไล่ฆ่าฟันถึงชายหาดหน้าเมืองพันพร้าวก็ทราบว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น จึงขอกำลังเพิ่มเติมจากฝ่ายเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์โปรดฯ ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำกำลังพลข้ามตามมาและปะทะกับกองทัพไทยที่ค่ายบกหวาน บ้านบกหวาน เมืองหนองคาย และเกิดการต่อสู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้งสองฝ่ายได้รบกันตัวต่อตัวจนถึงขั้นบาดเจ็บ ผลปรากฏว่าฝ่ายเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ได้รับชัยชนะ ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดีนั้นพ่ายแพ้อย่างราบคาบเพราะถูกฟัน ทหารไทย]]ยิงปืนต้องเจ้าราชวงษ์ (เหง้า)ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงได้เร่งติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเมืองพันพร้าวก็ปรากฏว่ากองทัพลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้ว ฝ่ายลาวได้หามเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ไปรักษาพระองค์และไม่ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อีกเลยตลอดรัชกาล
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ทรงเห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงพาครอบครัวและพระบรมวงศานุวงศ์หนีไปพึ่งพระจักรพรรดิเวียดนามอีกครั้ง แต่พระเจ้าสุททะกะสุวันนะกุมารเจ้านครเชียงขวาง หรือ เจ้าน้อยเมืองพวน ได้ทรงจับกุมเจ้าอนุวงศ์พร้อมครอบครัวส่งพระองค์ลงมาที่กรุงเทพมหานคร เอกสารฝ่ายลาวกล่าวว่าสยามได้หลอกลวงเจ้าน้อยเมืองพวนให้บอกที่ซ่อนเจ้าอนุวงศ์ เจ้าน้อยเมืองพวนไม่ทราบเรื่องจึงเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ถูกจับ เอกสารฝ่ายลาวยังกล่าวอีกว่า สงครามครั้งนี้เจ้าอนุวงศ์ทรงสูญเสียพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า ท้าวหมื่นนาม ซึ่งประสูติแต่พระนางสอนราชเทวี ราชธิดาในพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม ส่วนพระนางสอนราชเทวีนั้นทางสยามได้นำพระองค์ไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ให้นำพระองค์เจ้าอนุวงศ์ใส่กรงเหล็กประจานไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พร้อมด้วยนำเครื่องทรมานต่างๆ มาทรมานพระองค์อย่างเหี้ยมโหด โปรดให้อดข้าว น้ำ ทั้งพระมเหสี พระชายา พระสนม ตลอดจนพระราชโอรสพระราชนัดดาหลายพระองค์ หลังจากนั้นไม่นานเจ้าอนุวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมาน สิริพระชนมายุรวม ๖๑ พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ในนครเวียงจันทน์ได้ ๒๓ ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมาทางสยามก็ไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์ ฝ่ายกรุงเวียงจันทน์ได้ถูกทำลายจากการปล้นและเผาจนไม่เหลือสภาพของเมืองหลวงและกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด คงเหลือไว้แต่วัดสำคัญเพียงไม่กี่วัด ได้แก่ วัดพระแก้ว และวัดสีสะเกดเท่านั้น
หลังจากเจ้าอนุวงศ์สิ้นพระชนม์แล้วอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ก็ถึงกาลอวสานสิ้นสุดลงในที่สุด เอกสารสยามไม่กล่าวถึงพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ ส่วนเอกสารฝ่ายลาวได้กล่าวถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ว่า จัดอย่างพิธีลาวใหญ่โตและงดงามกลางกรุงเทพมหานคร ทางสยามไม่ได้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิถวายเป็นพระเกียรติยศของพระองค์เยี่ยงกษัตริย์ทั่วไปแต่ประการใด ภายหลังมีข่าวลือว่า พระบรมอัฐิของพระองค์ถูกเก็บไว้ใต้บันไดวัดอรุณราชวราราม ส่วนเอกสารวรรณกรรมพื้นเมืองเวียงจันทน์กล่าวว่า พระองค์ทรงสั่งให้พระมเหสีนำง้วนสารหรือยาพิษมาเสวยจนสิ้นพระชนม์ ทางสยามได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ใต้ฐานพระธาตุดำกลางกรุงเวียงจันทน์ ต่อมาสยามได้ลดฐานะนครเวียงจันทน์ให้เป็นเพียงหัวเมืองชั้นจัตวา และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยไปรักษาราชการเมือง แล้วยกฐานะเมืองหนองคายเป็นเมืองชั้นเอกให้เมืองเวียงจันทน์ขึ้นแก่เมืองหนองคาย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ปรารถนาจะชุบเลี้ยงเจ้านายในราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเจ้าจอมมารดาดวงคำ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์มาเป็นเจ้าจอมพระสนม และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชนัดดาทั้ง ๒ พระองค์ของเจ้าอนุวงศ์ คือ เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมามุกดาหาราธิบดี (หนู ต้นสกุล จันทนากร) ขึ้นไปกินเมืองมุกดาหารบุรี (หรือเมืองมุกดาหาร) และโปรดฯ ให้ให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ดำรงรัฐสีมาอุบลราชธานีบาล (หน่อคำ ต้นสกุล เทวานุเคราะห์, พรหมโมบล, พรหมเทพ) ขึ้นไปกินเมืองอุบลราชธานีในฐานะเมืองประเทศราชทั้ง ๒ เมือง
การพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์
มีผู้วิเคราะห์เหตุผลของการพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ไว้หลายประการ ได้แก่
กองทัพลาวมีแสนยานุภาพน้อยกว่ากองทัพชาวนครราชสีมา เมื่อตรวจสอบหลักฐานฝ่ายลาวแล้วพบว่า กองทัพนครราชสีมาด้อยกว่ากองทัพลาวมาก
แผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายไทยเหนือกว่า
เจ้าอนุวงศ์ถูกทรยศโดยสมเด็จเจ้ามหาอุปราช (ติสสะ) ซึ่งเป็นพระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของพระองค์เอง
อาณาจักรลาวหลวงพระบางมีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย จึงไม่ยอมร่วมมือกับพระองค์
เจ้าอนุวงศ์ถูกทรยศโดยเจ้าน้อยเมืองพวนซึ่งเป็นราชบุตรเขยของพระองค์เอง
บุตรหลานและญาติหลายสายของผู้นำท้องถิ่นในขณะนั้น ต่างเป็นพันธมิตรร่วมกับกองทัพของกรุงเทพมหานครช่วยกันทำสงครามเพื่อปราบปรามอิทธิพลของพระองค์[3] อาทิเช่น
สายของพระบรมราชา (มัง) ผู้ซึ่งมีอำนาจในนครพนม
สายจารย์แก้ว(เจ้าแก้วบรม บูฮม) ผู้ก่อตั้งเมืองทุ่งศรีภูมิ(ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)
สายของเจ้าพระวอและเจ้าพระตา สองผู้ซึ่งเคยมีอำนาจในหนองบัวลำภู เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลข้างต้นที่กล่าวมานี้ยังคงมีหลายประเด็นที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลาว-อีสาน และเหตุผลจากหลักฐานเอกสารไทยนั้นเชื่อว่าถูกเขียนขึ้นหลังเอกสารทางฝ่ายลาว-อีสาน หลายเหตุผลของสยามไม่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการสมัยใหม่
มูลเหตุสงครามจากเอกสารปฐมภูมิฝ่ายลาว
๑. เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นคนไม่มีคุณธรรม มีนิสัยตลบตะแลง นิยมทูลสับส่อต่อเจ้านายสยาม ชอบยุยงส่งเสริมให้เจ้านายทั้งหลายทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เป็นนิจ มักใหญ่ใฝ่สูง พูดจาโอหังสามหาวต่อเจ้านายด้วยกัน อยากได้หน้า และติดสินบาดคาดสินบนต่อเจ้านายสยามจนตนได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา
๒. เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นผู้ยุยงให้เจ้าหัวสาภูเกียดโง้ง (ภูเขียดโง้ง) ก่อการวุ่นวาย นำกำลังชาวข่าระแดตอนใต้ของลาวเข้าเผานครจำปาศักดิ์ จนเดือดร้อนถึงเจ้าอนุวงศ์ต้องเสด็จลงไปตีให้สงบราบคาบ ขณะเดียวกันเจ้านครจำปาศักดิ์องค์ก่อนก็ถูกเจ้าพระยานครราชสีมาบริภาษหยาบคายว่าเป็นคนขี้ขลาดหวาดกลัวต่อศึกศัตรูจนต้องละทิ้งเมือง
๓. เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นผุ้ยุยงน้องชายพระยาไกรภักดีเจ้าเมืองภูขัน (เมืองขุขันธ์) ให้ต่อสู้กับพี่ชายของตนเพื่อแย่งชิงตำแหน่งเจ้าเมือง แล้วยุยงให้เผาเมืองภูขันธ์จนวอดวาย
๔. เจ้าพระยานครราชสีมาทูลต่อเจ้านายสยาม (ของหลวง) ว่าจะเข้าไปตีข่าในเขตแดนหัวเมืองลาวอีสานภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวามาถวายเจ้าแผ่นดินสยาม สยามรู้เห็นเป็นใจเนื่องจากว่าได้ผลประโยชน์ด้วยกัน
๕. เจ้าพระยานครราชสีมากล่าวคำยโสโอหังอวดดีต่อเจ้าราชบุตร์ (โย้) เจ้านครจำปาศักดิ์ พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์ และไม่ฟังคำทัดทานของเจ้าราชบุตร์ (โย้) รวมทั้งไม่ฟังคำสั่งห้ามตีข่าในเขตแขวงแดนลาวของเจ้าอนุวงศ์ด้วย
๖. เจ้าพระยานครราชสีมามีใจกำเริบเสิบสานกระทำผิดต่อโบราณราชประเพณีกษัตริย์ลาว ด้วยการบังอาจนำนายกองเข้าไปสักเลกข้าโอกาสพระมหาธาตุเจ้าพระนม จากการสนับสนุนของเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์และพระราชบรรพบุรุษของเจ้าอนุวงศ์เคยถวายไว้เป็นข้าพระมหาธาตุเจ้าพระนมมาแต่โบราณกาล ความเดือนร้อนครั้งนี้ลุกลามไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขาด้วย (ไทภู)
มุมมองต่อเหตุการณ์และทรรศนะของประชาชนจากสองประเทศ
เหตุการณ์สงครามครั้งนี้ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย เจ้าอนุวงศ์ถูกฝ่ายลาวใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของไทย จึงเรียกชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น สงครามกู้เอกราช ทั้งยังยกย่องให้เจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษของชาติมาตลอด ไม่ว่าจะในสมัยยุคการปกครองรูปแบบพระราชอาณาจักรลาวหรือยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็ตาม เอกสารทางประวัติศาสตร์ฝ่ายลาว พระองค์ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้พยายามปลดแอกชนชาติลาวสู่เอกราช อีกทั้งทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมทางการปกครองทรงเป็นพระหน่อพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระราชอำนาจและพระราชบารมี ทรงเป็นที่ครั่นคร้ามและนิยมนับถือของบรรดาเจ้านายหัวเมืองลาวทั้งหลาย ในเอกสารพื้นเวียงแสดงให้เห็นว่า พระราชอำนาจของพระองค์ทำให้เป็นที่หวั่นเกรงไปถึงเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตของสยาม ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายไทยมองการบุกรุกของเจ้าอนุวงศ์ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอาณาจักรไทย จึงเรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์ ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ฝ่ายสยามนั้น พระองค์ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชผู้ก่อการขบถต่อแผ่นดิน ในประชุมพงศาวดารบางฉบับของไทยดูหมิ่นพระเกียรติยศของพระองค์ด้วยการออกนามของพระองค์ว่า อ้ายอนุ อย่างไรก็ ตามมีบันทึกอย่างชัดเจนจากทั้งทางไทยว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงมีพระราชประสงค์แน่ชัดที่จะมาทำลายเมืองบางกอกหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อยึดประเทศไทยไว้เป็นเมืองขึ้น โดยหากไม่สามารถยึดได้หมด ก็จะเผาทำลายกรุงเทพมหานครเสีย และยึดประเทศไทยเพียงบางส่วนที่สามารถปกครองได้ เหตุการณ์นี้จึงมองได้ว่ามิใช่การทั้งการกอบกู้เอกราชและการกบฏ แต่เป็นสงครามช่วงชิงอำนาจตามปกติเหมือนประเทศต่างๆ ในยุคนั้นช่วงชิงอำนาจกัน หากเจ้าอนุวงศ์ต้องการกอบกู้เอกราชเพียงแต่ตั้งแข็งเมืองก็เพียงพอแล้ว
ผลพวงของสงครามในยุคปัจจุบัน
หลังเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของการปกครองหัวเมืองลาว และหลังความพยายามทำลายราชวงศ์เวียงจันทน์ให้สิ้นซากของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งสยามนั้น ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์กบฏหัวเมืองลาว-อีสานยืดเยื้อตามมาอีกหลายครั้งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ กบฎเจ้าแก้ว ผู้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) เจ้านครจำปาศักดิ์ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์ กบฏผีบุญอีสานและฝั่งซ้าย ซึ่งนำโดยกลุ่มองค์มั่นและกลุ่มต่างๆ ตามหัวเมืองลาว-อีสาน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ตลอดจนกบฏท่านเตียง ศิริขันธ์และกลุ่มรัฐมนตรีอีสาน ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น บ่อยครั้งชาวลาวและชาวอีสานต่างก็นิยมอ้างถึงเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ในอดีต มาเป็นเหตุผลในการต่อสู้กับอำนาจสยามและอำนาจรัฐ เรื่องราวของเจ้าอนุวงศ์ไม่เพียงแต่เป็นชนวนเหตุความขัดแย้งของประชาชนชาวลาวกับชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในภาคอีสานขัดแย้งกับชาวไทยสยาม เป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในอีสานที่นิยมสยามกับชาวลาวในอีสานที่นิยมลาวขัดแย้งกันเอง และเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปลุกระดมการแบ่งแยกดินแดนของชาวลาวอีสาน ไม่เพียงเท่านี้ เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยังสามารถถือเป็นทั้งจุดเปราะบางและจุดแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลาวและประเทศไทยอีกด้วย
ทายาทสายตรง
สกุลสายตรงที่สืบเชื้อสายจากเจ้าอนุวงศ์อันสืบทอดทายาทจากพระราชโอรสพระองค์โตคือ เจ้าสิทธิสาร หรือ เจ้าสุทธิสาร (โป้) เป็นสกุลสายหลักที่สามารถมีสิทธิ์ในการเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้ สกุลนี้ถือเป็นราชตระกูลที่ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ว่า สิทธิสาริบุตร (Siddhisariputra) เลขทะเบียนพระราชทานที่ ๑๔๗๔ ทรงพระราชทานแก่นายนาวาตรี หลวงพรหมประชาชิต (ฟื้น) ผู้ช่วยหัวหน้ากองพัศดุ กระทรวงทหารเรือ กับหลวงภาษาปริวัตร (เต๋อ) เลขานุการชั้นที่ ๒ กระทรวงการต่างประเทศ ปู่ทวดชื่อเจ้าสิทธิสาร เมืองเวียงจันทน์ ๑๕/๖/๑๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา