7 ก.ย. 2020 เวลา 05:08 • ธุรกิจ
ย้อนรอย 'การยาสูบฯ' กับโจทย์หินที่ถึงกับต้องงดส่งเงินเข้ารัฐ
เจาะลึก "บุหรี่ไทย" ในมือการยาสูบแห่งประเทศไทย ผู้ได้สิทธิผูกขาดการผลิตบุหรี่ในไทย กับความท้าทายครั้งใหม่ใหม่หลังก้าวเป็นนิติบุคคล และอัตราภาษีสรรพสามิตรูปแบบใหม่
ย้อนรอย 'การยาสูบฯ' กับโจทย์หินที่ถึงกับต้องงดส่งเงินเข้ารัฐ
หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่กระแสข่าวย้ายฐานการผลิตของโรงงานยาสูบไปอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมตั้งอยู่บริเวณคลองเตย บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ และอีก 2 แห่ง โดยเป็นการรวบ 3 โรงงาน ไปเป็นเพียงโรงงานเดียว
ความสนใจหลากทิศมุ่งจับตารัฐบาลในขณะนั้นอย่างมาก เพราะเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปในโปรเจคนี้ไม่ใช่น้อย “ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์” ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น ชี้แจงว่า งบประมาณในการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท และย้ำว่างบประมาณในส่วนนี้ไม่ใช่งบประมาณใหม่แต่อย่างใด เป็นงบที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ในอดีต รวมถึงไม่ใช่งบประมาณของแผ่นดินด้วย แต่เป็นงบประมาณจากรายได้และกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทยเอง
ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าแต่ละปีนั้น การยาสูบแห่งประเทศไทยมีรายได้มากน้อยแค่ไหน และมีการนำส่งเงินเข้ารัฐเท่าไร "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพามาทำความรู้จักกับการยาสูบแห่งประเทศ กับภารกิจของการเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยาสูบในไทย รวมถึงเม็ดเงินขององค์กรนี้
1
📌 เปลี่ยนผ่านสู่ "นิติบุคคล"
ในอดีตโรงงานยาสูบ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งโรงงานยาสูบได้รับ “สิทธิผูกขาด” ในการผลิตแต่เพียงผู้เดียวภายในราชอาณาจักรไทย ขณะที่เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ โดยกำหนดให้โรงงานยาสูบ ยกระดับเปลี่ยนเป็น "นิติบุคคล" ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ในชื่อ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)
โดยให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า มาจากข้อจำกัดบางประการในการดำเนินกิจการ ประกอบกับการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐ สมควรดำเนินการโดยนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ และกำหนดให้มีคณะกรรมการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นก็มีการก่อตั้งโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ คือ การยาสูบแห่งประเทศไทย พระนครศรีอยุธยา
📌 ความท้าทายรอบด้าน กดดันการแข่งขันในตลาด
ขณะเดียวกันในช่วงของการเปลี่ยนผ่านมานั้น การยาสูบฯต้องประสบปัจจัยท้าท้ายหลายด้าน ทั้งการปรับอัตราสรรพสามิตบุหรี่ที่เริ่มประกาศใช้ปลายปี 2560 โดยมีการกำหนด "ราคากลาง" อยู่ที่ 60 บาท และแบ่งบุหรี่ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Lower ที่มีราคาต่ำกว่า 60 บาท และกลุ่ม High-end ที่มีราคาสูงกว่า 60 บาท โดยมีรายละเอียดตามภาพด้านล่างนี้
ซึ่งการจัดเก็บภาษีที่ปรับใหม่นั้น เป็นการ "เก็บภาษีแบบผสม" คือ การเก็บภาษีตามมูลค่า และตามปริมาณ โดยใช้ราคาขายปลีกแนะนำเป็นฐานในการคำนวณมูลค่า เมื่อเจาะลึกไปที่การจัดเก็บตามปริมาณ พบว่า บุหรี่ทุกมวนจะมีการจัดเก็บภาษี มวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาท นี่คือต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
อีกส่วนหนึ่งเป็นการคิดภาษีจากการนำราคาขายปลีกมาเป็นเกณฑ์คำนวณภาษี คือ ถ้ามีราคาขายปลีกเกิน 60 บาทต่อซอง ต้องเสียภาษีในอัตรา 40% ของราคาขาย ซึ่งยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง จะเสียภาษีในอัตรา 20% ของราคาขายปลีกเช่นกัน ซึ่งยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น ราคาบุหรี่ไทยเพิ่มขึ้นราว 9-20 บาทต่อซอง
แต่ในปี 2564 การจัดเก็บภาษีบุหรี่ทั้งหมดนั้นจะจัดเก็บในอัตราเท่ากัน ซึ่งจะทำให้ราคาบุหรี่ทุกกลุ่มมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยอยู่ในราคาต่ำ จะมีราคาใกล้เคียงกับบุหรี่ที่มีราคาสูง ซึ่งทำให้บุหรี่นอกเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น
เนื่องจากหากดูจากราคาขายปลีกตามตารางด้านบน จะเห็นว่าราคาบุหรี่ไทยและนอกนั้นไม่ได้แตกต่างกันเท่ากับอดีต
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ เช่น บุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศบางแบรนด์ลดราคาขายปลีกลงเท่ากับบุหรี่ไทยที่มีราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง รวมถึงมีการผลักดัน "ห้ามผลิตบุหรี่เมนทอล" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศพยายามต่อต้านการบริโภคยาสูบ ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ยังเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องของอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเป็น 20 ปี จาก 18 ปี ห้ามแบ่งขายเป็นมวน ห้ามขายผ่านรูปแบบพริตตี้ และห้ามโฆษณาในรูปแบบเป็นผู้สนับสนุนการประกวดและการแข่งขัน
โฆษณา