9 ก.ย. 2020 เวลา 03:16 • ไลฟ์สไตล์
รู้ก่อนช้อป '9.9' ซื้อของออนไลน์มากไป อาจกลายเป็น 'โรคเสพติดช้อปปิ้ง'
ทำความรู้จักกับ "โรคเสพติดช้อปปิ้ง" หรือ "Shopaholic" โรคทางจิตที่ตามมากับอาการคลั่งช้อปที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย พร้อมวิธีเช็คตัวเองก่อนถลำลึกไปกับโปรโมชั่น "9.9" ที่ล่อตาล่อใจ
รู้ก่อนช้อป '9.9' ซื้อของออนไลน์มากไป อาจกลายเป็น 'โรคเสพติดช้อปปิ้ง'
โปรโมชั่นล่อตาล่อใจอย่าง "9.9" วันที่ 9 เดือน 9 ของทุกปี หรือโปรโมชั่นใดๆ ก็ตามที่ชวนให้ควักกระเป๋าซื้อของแบบง่ายดาย ไม่ว่าจะมีเหตุผลในการซื้อหรือไม่ก็ตาม การซื้อของช้อปปิ้งที่เกินพอดีมีภัยซ่อนอยู่ หากการซื้อนั้นกลายเป็นคนส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ กลายเป็นคนคลั่งช้อปฯ จนนำไปสู่ "โรคเสพติดช้อปปิ้ง" หรือ "Shopaholic"
ในทางการแพทย์โรคเสพติดช้อปปิ้ง คือ โรคที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการช้อปปิ้ง ซึ่งลักษณะผู้ที่เป็นโรคนี้โดยรวมจะมีความต้องการหรืออยากซื้อของอยู่ตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ หรือรู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม คนที่ซื้อของในช่องทางออนไลน์บ่อยๆ หรือคนที่ชอบเลือกซื้อของ ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นคนที่เสพติดการช้อปปิ้งเสมอไป เพราะการก้าวไปสู่การเป็น Shopaholic มีสัญญาณที่จะบ่งบอกว่าคุณเริ่มเข้าข่ายเสพติด จนอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ สะท้อนจากหลายปัจจัย เช่น อาการทางอารมณ์ของคนที่เสพติดการช้อปปิ้ง ที่คล้ายกับอาการติดยาเสพติด อย่างเช่น การใช้จ่ายมากกว่าความสามารถที่จะจ่ายได้ อยากช้อปปิ้งทุกครั้งที่รู้สึกโกรธหรือหดหู่ซึ่งช่วยให้รู้สึกดีขึ้น การช้อปปิ้งทำให้รู้สึกผิดน้อยลงเกี่ยวกับการช้อปปิ้งครั้งก่อนหน้า ใช้จ่ายหรือซื้อของจนกระทบความสัมพันธ์ และสูญเสียการควบคุมพฤติกรรมการจับจ่าย
อาการทางอารมณ์เหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดช้อปปิ้งมีหลายปัจจัยด้วยกัน อาจมาจากตัวบุคคล เช่น มีภาวะซึมเศร้า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือมีภาวะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความวิตกกังวล เป็นคนสมาธิสั้น เป็นต้น
นอกจากปัจจัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลแล้ว ปัจจัยทางสังคมก็ส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้ด้วย เช่น ช่องทางออนไลน์ที่เอื้อให้ซื้อขายสินค้าได้อย่างง่ายดาย กระตุ้นให้คนตื่นตัวกับสินค้าต่างๆ มากขึ้น ตลอดจนโฆษณาและเครื่องมือทางการตลาดที่ถูกพัฒนาให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย มีส่วนทำให้ลูกค้าเห็นภาพสิ่งของที่ตัวเองสนใจบ่อยๆ และตัดสินใจซื้อในที่สุด
ทั้งนี้ เราสามารถ เช็คลิสต์เพื่อสำรวจตัวเองเบื้องต้นได้ว่า เรากำลังช้อปปิ้งมากเกินไป จนเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง แล้วหรือยังด้วยคำถามต่อไปนี้
- ซื้อสินค้าแทบทุกครั้งที่รู้สึกโกรธหรือผิดหวัง ใช่หรือไม่
- การใช้จ่ายจากการช้อปปิ้งสร้างปัญหาในชีวิต มีความขัดแย้งกับคนที่รัก เกี่ยวกับความต้องการซื้อของต่างๆ ใช่หรือไม่
- รู้สึกร่าเริงหรือวิตกกังวลขณะช้อปปิ้ง ใช่หรือไม่
- หลังช้อปปิ้งรู้สึกว่าทำในสิ่งที่เป็นอันตรายลงไป ใช่หรือไม่
- หลังจากช้อปปิ้งรู้สึกผิดหรืออายกับสิ่งที่ทำไป ใช่หรือไม่
- มักจะซื้อของ แต่ไม่เคยใช้หรือสวมใส่ ใช่หรือไม่
- คิดเรื่องเงินเกือบตลอดเวลา ใช่หรือไม่
ถ้าคำตอบส่วนใหญ่คือ "ใช่" ต้องสังเกตพฤติกรรมของตัวเองต่อไปว่าใกล้เคียงกับการเป็นโรคเสพติดช้อปปิ้งแล้วหรือไม่ เพื่อรีบหาทางแก้ไขหรือรักษาต่อไปได้ทันท่วงที
โดยข้อมูลจาก MSN Money กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับยาที่อาจรักษาอาการเสพติดการช้อปปิ้งในต่างประเทศว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ายาประเภทใดที่อาจเป็นประโยชน์มากที่สุดในการรักษาโรคนี้ แต่สำหรับบางเคส นักช้อปหลายคนเลือกรักษาอาการเสพติดช้อปปิ้งได้สำเร็จโดยหันไปใช้ยาต้านความวิตกกังวลหรือ ยาต้านอาการซึมเศร้า
ในต่างประเทศมีการจัดกลุ่มบำบัดโรคลักษณะนี้ คือจะเอาคนที่มีภาวะเดียวกันมารวมกลุ่มกัน และปรับพฤติกรรมร่วมกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงการตระหนัก และรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของคนที่เป็นโรคว่าเกิดจากอะไร ช่วยให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น เช่น ซื้อของเพื่อบำบัดความเหงา บำบัดความเครียด บำบัดความเศร้า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี "โรคเสพติดช้อปปิ้ง" เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ รู้ถึงเหตุผลของการจับจ่าย นำไปสู่การจัดการภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น ตัวโรคก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายขาดได้ในที่สุด
โฆษณา