14 ก.ย. 2020 เวลา 03:36 • ประวัติศาสตร์
แผนการระเบิดอลาสก้าด้วย “เทอร์โมนิวเคลียร์” ของรัฐบาลสหรัฐ
ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) รัฐบาลสหรัฐได้วางแผนที่จะสร้างท่าเรือบริเวณทะเลชุกชี
แต่การสร้าง จะต้องใช้ “เทอร์โมนิวเคลียร์”
โครงการนี้มีชื่อว่า “Project Chariot” และถึงแม้จะไม่ได้มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์จริงๆ แต่ก็สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่เป็นเวลานาน
ในช่วงปลายยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) ประชาชนส่วนใหญ่หวาดกลัวระเบิดนิวเคลียร์ อาจจะเพราะเห็นผลของมันเมื่อคราวสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกและความปลอดภัยของประชาชน การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐ มักจะทำการทดลองที่เนวาด้า ในบริเวณพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีคนอาศัยอยู่
แต่ในตอนนั้นรัฐบาลก็กำลังเล็งอลาสก้า ซึ่งมีพื้นที่กว้าง ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง อีกทั้งรัฐบาลยังเล็งเห็นว่าหากสร้างท่าเรือในทะเลชุกชี จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากจะสามารถใช้ส่งถ่านหินไปต่างประเทศในช่วงเวลาที่แม่น้ำไม่เป็นน้ำแข็ง
แต่การจะสร้างก็จำเป็นต้องทำลายสภาพแวดล้อมบางส่วน จึงมีแผนการที่จะใช้ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์จำนวนห้าลูก เพื่อทำลายพื้นที่และสร้างท่าเรือ
แต่อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่นั้น
ในเวลานั้น ยังมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก การใช้เทอร์โมนิวเคลียร์จะกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขา ทำให้ล่าสัตว์และจับปลาไม่ได้
แต่ถึงแผนการนี้จะตกไป หากแต่รัฐบาลก็ได้ทดลองผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี โดยใช้ขยะปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในคราวทดลองครั้งก่อนๆ และทดลองในบริเวณที่ไม่ห่างจากจุดเดิมที่คิดจะสร้างท่าเรือ
การทดลองนี้เป็นความลับ มีการฝังขยะปนเปื้อนไว้ตามจุดต่างๆ ไม่มีใครรู้เห็น
เพิ่งจะมีการค้นพบถึงแผนการนี้ในยุค 90 (พ.ศ.2533-2542) และผลกระทบจากการทดลองนี้ก็ทำให้ผู้คนในบริเวณนั้นล้มตายด้วยมะเร็งเป็นจำนวนมาก
การค้นพบนี้ ทำให้ต้องมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี ในค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) จึงทำได้สำเร็จและรัฐบาลสหรัฐจึงได้ทำการขอโทษ
โฆษณา