16 ก.ย. 2020 เวลา 05:56 • ประวัติศาสตร์
ข้อแตกต่างกันระหว่าง พระบรมมหาราชวัง, พระราชวัง, พระราชนิเวศน์ ,วัง ,พระตำหนัก, ตำหนัก และพระที่นั่ง
มีคุณพี่ท่านหนึ่งอีเมลมาสอบถามเรื่อง "วัง" ทำไมถึงมีชื่อเรียกที่ต่างกันและมากมายหลายชื่อขนาดนั้น
1
วันนี้..ผมจะขอเล่าให้ฟังครับ
3
อย่างแรกต้องเริ่มด้วยความเป็นมาของคำว่า "พระบรมมหาราชวัง"ก่อนเลยครับ
#พระบรมมหาราชวัง#
พระบรมมหาราชวัง
วังใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ที่ผู้คนทั่วไปมักเรียกว่า "วังหลวง" หมายถึง สถานที่พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับ เปรียบดั่งศูนย์บัญชาการกลางบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ
ช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ถือพระบรมมหาราชวังถือว่าเป็นเพียงพระราชวังเท่านั้น โดยเรียกว่า "พระราชวังหลวง" แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกฐานะขึ้นเป็น "พระบรมมหาราชวัง" ครับ
ตั้งแต่รัตนโกสินทร์ช่วงกลางลงมาถึงแม้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์จะมิได้เสด็จประทับพระบรมมหาราชวังแล้วก็ตาม แต่พระบรมมหาราชวัง ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางสำหรับการประกอบพระราชพิธีและใช้เป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะมา จนกระทั่งปัจจุบันอาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างตามพระราชประสงค์
1
ข้อแตกต่างระหว่าง พระราชวัง , พระราชนิเวศน์ ,วัง , พระตำหนัก , ตำหนัก , พระที่นั่ง
#พระราชวัง#
หมายถึง วังของพระมหากษัตริย์มีระดับความสำคัญรองจากพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน วังใดที่จะเรียกว่าพระราชวังได้นั้น ตามขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่กาลก่อน พระมหากษัตริย์จะทรงประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็น พระราชวัง
1
มิใช่ว่าวังใดที่จัดเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าพระราชวังทั้งหมด บรรดาวังที่มีประกาศพระบรมราชโองการยกขึ้นเป็นพระราชวังแล้วนั้น
ตามหลักฐานที่ปรากฏใน "ประชุมพงศาวดารภาค 26 เรื่องตำนานวังเก่า” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) มี 19 พระราชวัง สร้างในรัชกาลต่าง ๆ ดังนี้
1
- สร้างในรัชกาลที่ 1 -
1. พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ปัจจุบัน คือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พระราชวังบวรสถานมงคล
พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
2. พระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ปัจจุบัน คือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช และสถานีรถไฟธนบุรี
พระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)
บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช และสถานีรถไฟธนบุรี (วังหลัง)
- สร้างในรัชกาลที่ 4 -
1. พระราชวังนันทอุทยาน ปัจจุบัน คือบริเวณหน่วยงานกองทัพเรือ (กรุงเทพฯ)
พระราชวังนันทอุทยาน
2. พระราชวังปทุมวัน ปัจจุบัน คือบริเวณที่ตั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล พระราชวังจะตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว
พระราชวังปทุมวัน
3. พระราชวังสราญรมย์ ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งกระทรวงการต่างประเทศเดิม (กรุงเทพฯ)
พระราชวังสราญรมย์
4. พระราชวังเมืองสมุทรปราการ ปัจจุบันคือ บริเวณศาลาว่าการจังหวัดสมุทรปราการฝั่งตรงข้ามพระสมุทรเจดีย์
5. พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังบางปะอิน
6. พระราชวังจันทร์เกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังจันทร์เกษม ภสพจาก https://www.talontiew.com/chantharakasem-national-museum/
7. พระราชวังท้ายพิกุล จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันเหลือเพียงซากอาคาร พระราชวังเก่าในสมัยอยุธยา รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นใหม่บนฐานเดิมและต่อมาถูกปล่อยทิ้งร้าง
พระราชวังท้ายพิกุล
8. พระราชวังพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
พระนครคีรี
9. พระราชวังสีทา จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันเป็นโบราณสถาน
- สร้างในรัชกาลที่ 5 -
1. พระราชวังดุสิต และ พระราชวังพญาไท (กรุงเทพฯ)
พระราชวังดุสิต และ พระราชวังพญาไท
2. พระราชวังตามหัวเมือง 6 แห่ง
- พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5
- พระราชวังริมน้ำเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
- พระราชวังจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
- พระราชวังรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง
- พระราชวังบนเขาสัตนาถ จังหวัดราชบุรี
- พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี
- สร้างในรัชกาลที่ 6 -
พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
พระราชวังสนามจันทร์
#พระราชนิเวศน์#
หมายถึง สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญรองลงมาจากพระราชวัง มักสร้างขึ้นไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน(เปลี่ยนสถานที่ประทับไปอยู่เป็นการชั่วคราว)
1
ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นไว้เพียงเดียวในพื้นที่ชายทะเลระหว่างหัวหินและหาดเจ้าสำราญ พระราชทานนามว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ปัจจุบันพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตำรวจตระเวนชายแดนใช้เป็นที่ทำการ
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
โดยพระราชนิเวศน์ ในรัชกาลที่ 9 มีอยู่ 3 แห่ง คือ
- ภาคเหนือ ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่
- ภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร
#วัง#
หมายถึง ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ (ซึ่งมิได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการยกขึ้นเป็นพระราชวัง) พระมหาอุปราช ตลอดไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์และหม่อมเจ้า เช่น วังไกลกังวล วังศุโขทัย วังวรดิศ วังรื่นฤดี วังบางขุนพรหม เป็นต้น ในส่วนที่อยู่ของเชื้อสายหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงจะไม่เรียกว่าวังนะครับ
1
วังไกลกังวล
#พระตำหนัก#
หมายถึง อาคารที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช หรือสมเด็จพระบรมราชกุมารี เช่น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระตำหนักเปี่ยมสุข พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักสิริยาลัย พระตำหนักดอยตุง เป็นต้น
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (บน)พระตำหนักดอยตุง(ล่าง)
#ตำหนัก#
หมายถึง อาคารที่ประทับของพระราชวงศ์ ไม่ว่าพระราชวงศ์นั้นจะทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หรือหม่อมเจ้าก็ตาม ก็สามารถเรียกว่าตำหนักได้ทั้งหมด
#พระที่นั่ง#
หมายถึง เรือนหลวงในพระบรมมหาราชวังและในพระราชวัง ทั้งประเภทเรือนยอดที่เรียกว่าปราสาท เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือเรือนหลังคาจั่วคือเรือนหลังคาไม่มียอด ปลูกสร้างไว้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เช่น พระที่นั่งบรมพิมาน และยังหมายถึงสถานที่ภายในองค์ปราสาทหรือก่อสร้างใหม่ในพื้นที่ของพระรางวังเพื่อใช้สำหรับกิจการต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
จากฐานะทางสังคมของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ลดหลั่นลงมา ที่ประทับจึงมีชื่อเรียกและความหมายที่แตกต่างกัน จนรวมไปถึงขนาดและรูปและแบบทางสถาปัตยกรรมก็แตกต่างกัน
นอกจากนั้นในอดีตวังระดับเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าก็ยังมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางอย่างที่เป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน หากมีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันต่อไปครับ...
อย่างไรก็ดียังมีวังของบรมวงศานุวงศ์อีกมากที่ผมไม่ได้นำมาลงในเนื้อหาส่วนนี้ จึงนำมาเฉพาะในส่วนที่สำคัญเพื่อแยกให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นครับ
ต้องขอขอบพระคุณ คุณพี่ท่านที่ส่งอีเมลมาสอบถาม และเพื่อเป็นการขยายความให้ชัดเจนต่อผู้อื่นด้วย จึงได้นำมาเขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมาครับ
คงจะเป็นการดีที่ผมได้เขียนอธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจกัน บางครั้งในเวลาที่เราได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวไปตามสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราว เช่น วัด วัง หากทราบถึงที่มาและคุณค่าของสถานที่นั้นนั้น อาจจะเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวให้สนุกขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อยครับผม
วังบางขุนพรหม ภาพจาก ไทยพีบีเอส
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
1
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 โดยหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
- ตำนานวังเก่าพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- วัง และ ตำหนัก โดยระพีพรรณ ใจภักดี (สำนักพิมพ์แสงแดด)
- ราชาศัพท์ โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
โฆษณา