17 ก.ย. 2020 เวลา 05:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP.1 เงินวันนี้มีค่ามากกว่าเงินในอนาคต?
ถ้าหากมีคนให้คุณเลือกระหว่างรับเงินในวันนี้ 1 ล้านบาท
หรือ รับเงิน 1 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า
คุณจะเลือกข้อไหน?
ผมเชื่อว่าคำตอบของคนมากกว่าร้อยละ 99 จะตอบว่าเลือกรับเงิน 1 ล้านบาทในวันนี้ ซึ่งคำตอบนี้สะท้อนว่าเงิน 1 ล้านบาทในวันนี้มี "มูลค่ามากกว่า" เงิน 1 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้านั่นเอง
สิ่งที่ทำให้เงินวันนี้มีค่ามากกว่าเงินในอีก 3 ปี ข้างหน้าก็คือ “ค่าเสียโอกาส” (Opportunity cost) หรือก็คือทางเลือกในการใช้เงินที่ดีที่สุดของคุณในวันนี้นั่นเองเช่น การฝากเงินออมทรัพย์ ถึงแม้ว่าจะได้ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี แต่ก็ทำให้เงิน 1 ล้านบาท ในวันนี้งอกเงยมากกว่าเงิน 1 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
สิ่งนี้เองทำให้เกิดแนวคิดที่นักการเงินเรียกว่า “มูลค่าเงินตามเวลา” หรือ Time value of money ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียกว่าเป็นรากฐานของวิชาการเงินและการประเมินมูลค่าในปัจจุบันเลยทีเดียว ไม่ว่าสูตรจะซับซ้อนอย่างไรก็เริ่มต้นจากแนวคิดนี้แทบทั้งสิ้น
PV = Present value = มูลค่าเงินในปัจจุบัน
FV = Future value = มูลค่าเงินในอนาคต
i = Discount rate = ผลตอบแทนที่คาดหวัง
n = Number of periods = ระยะเวลา
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติว่าคุณคาดหวังผลการลงทุน (expected return) ในหุ้น A ที่ 10% ต่อปี และคุณคิดว่าหุ้น A ควรจะมีมูลค่าเหมาะสมอยู่ที่ 100บาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า คุณจะซื้อหุ้น A ในวันนี้ที่ราคาเท่าไหร่?
วิธีการคำนวนด้วยการแทนค่าคือ
PV = FV/(1+i)^n
= 100/(1+10%)^3
= 100/(1+0.10)^3
= 100/(1.10)^3
= 100/1.331
= 75.13
คำตอบคือคุณต้องซื้อหุ้น A ในวันนี้ที่ 75.13 บาท นั่นเอง!!
(จริงๆแล้วคุณสามารถหาเครื่องคิดเลขทางการเงินมาช่วยคิดได้ซึ่งไม่ต้องคำนวนให้เสียเวลาเพียงใส่ค่า FV, r และ t ก็จะได้คำตอบทันที หรือจะคิดกลับหาค่าอื่นก็ได้เช่นกัน แอพที่แนะนำคือ "Ez Calculators" ลองไปโหลดมาเล่นดูนะครับ)
อธิบายให้เป็นภาษาเข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดก็คือ
หากคุณซื้อหุ้น A ในวันนี้ ที่ 75.13บาท
สิ้นปีที่ 1 เงินนั้นจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 82.64 บาท
สิ้นปีที่ 2 เงินนั้นจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 90.91 บาท
สิ้นปีที่ 3 เงินนั้นจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 100 บาท พอดีนั่นเอง
โดยที่ 10% นี้เรียกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับบริบทครับ เช่น
- อัตราดอกเบี้ยทบต้น (Compounding interest rate)
- อัตราคิดลด (Discount rate)
- ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected return)
ซึ่งแนวคิด มูลค่าเงินตามเวลา หรือ Time value of money (TMV) นี้เองเป็นรากฐานของการคำนวนหา มูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) และการประเมินมูลค่าในอีกหลายรูปแบบซึ่งเราจะแชร์กันในบทความต่อไปครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
หากคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ฝาก กด like กด share และ กดติดตาม เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะครับ หรือมีข้อสงสัยอะไร comment มาสอบถามได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา