17 ก.ย. 2020 เวลา 08:24 • การศึกษา
จริงหรือไม่.. พี่น้องขโมยเงินกันอาจไม่ต้องรับโทษ!?
สำหรับความผิดในข้อหาลักทรัพย์นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาที่ไม่สามารถยอมความกันได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะลักเล็กขโมยน้อย หรือเป็นการขโมยเงินจำนวนมาก ผู้กระทำก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนจะถูกลงโทษจำคุกกี่ปี ถูกปรับเงินเท่าไหร่ หรือแค่รอลงอาญา ก็ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมของจำเลย และดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาลงโทษตามกรอบของกฎหมาย
แต่ในกรณีพี่น้องลักทรัพย์กันเอง เช่น น้องขโมยเงินพี่ หรือพี่แอบเอาสร้อยคอทองคำของน้องไปขายนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้
หากความผิดฐานลักทรัพย์นั้น (ไม่รวมถึงความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์นะครับ) เป็นการกระทำระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้
หมายความว่า หากพี่น้องคู่นั้นสามารถตกลงกันได้ว่าจะไม่ติดใจเอาความดำเนินคดีกันอีกต่อไป กฎหมายก็เปิดช่องให้ยอมความกันได้ มีผลให้คดีอาญาเป็นอันระงับไป
อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้เปิดช่องให้เฉพาะ “พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน” เท่านั้น (หมายถึง พี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน)
ส่วน “พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน” (พี่น้องที่เกิดจากคนละพ่อหรือคนละแม่) นั้น กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ยอมความกันได้แต่อย่างใด
ดังนั้น หากพี่น้องคนละพ่อหรือคนละแม่ ถ้ามีคดีลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด ไม่สามารถยอมความกันได้นั่นเอง
(อันนี้เสริมให้... นอกจากความผิดในข้อหาลักทรัพย์แล้ว ยังมีความผิดข้อหาอื่น ๆ ที่กฎหมายเปิดช่องให้สามารถยอมความกันได้ หากเป็นการกระทำระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งได้แก่...
ความผิดข้อหา วิ่งราวทรัพย์ / ฉ้อโกง / โกงเจ้าหนี้ / ยักยอกทรัพย์ / รับของโจร / ทำให้เสียทรัพย์ / บุกรุก (แต่ไม่รวมถึงการบุกรุกโดยใช้กำลัง ใช้อาวุธ หรือร่วมกัน 2 คนขึ้นไป หรือในเวลากลางคืน)
อ้างอิง
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา