20 ก.ย. 2020 เวลา 02:30 • ประวัติศาสตร์
ศูนย์กลางจักรวาล แห่งดินแดนล้านนา
Ep.013 จัดเจดีย์หลวง
คนค้นอดีต Ep.นี้ เราเดินทางมายัง “วัดเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
1
วัดนี้ถือว่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางโบราณสถานอีกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ อายุ 635 ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรล้านนา ยังเจริญรุ่งเรือง
1
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า เจดีย์หลวงแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ (เส้นผม) และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย
1
ภาพแรกที่เราได้เห็นหลังลงจากรถ คือองค์พระธาตุเจดีย์หลวง หากจะเทียบกับภาพที่เคยได้เห็นในอินเตอร์เน็ตก่อนหน้านั้น กับภาพจริงที่ได้เห็นอยู่ตรงหน้าตอนนี้ องค์เจดีย์มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ข้าพเจ้าจินตนาการไว้มากโข
1
วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ มีความเป็นมาอย่างไร
เรามาดูประวัติคร่าวๆกัน
1
องค์พระธาตุเจดีย์หลวง นั้นมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ราชกุฏาคาร หรือ วัดโชติการาม โดยถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ คือสูงประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร
1
สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดาซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย
1
ในตำนานล้านนากล่าวไว้ว่า หลังจากพญากือนาสวรรคตไปแล้ว ดวงจิตที่เกิดใหม่มาเป็นรุกขเทวดานั้น ได้ไปปรากฏแก่พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายยังพม่า เพื่อให้มาบอกแก่พญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่าให้สร้างเจดีย์ไว้ท่ามกลางเวียง
1
สูงใหญ่พอให้คนที่อยู่ไกล 2,000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่พญากือนา เพื่อจะสามารถไปเกิดในเทวโลกได้ แต่พญาแสนเมืองนั้นกลับมาเสด็จสวรรคตเสียก่อนจะสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสร้างต่อ จนแล้วเสร็จในสมัยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ 8
1
ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช ราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเจดีย์หลวง เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแล และประสานงานการปฏิรูปและก่อสร้างครั้งนี้ได้สร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม
1
ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์มังรายได้ปิดทองภายในซุ้มจรนัมของพระเจดีย์ หลวงทั้ง 4 ด้าน
1
ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ในราชวงศ์มังราย ได้โปรดให้สร้างหอพระแก้ว และอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐาน และสร้างมหาวิหาร ส่วนการบูรณะพระเจดีย์หลวงได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อย
1
เมื่อถึงสมัย พระนางจิรประภาเทวี รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก และแผ่นดินไหว จนพระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์
1
หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2423 พระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง
1
ในปี พ.ศ.2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆออก แล้วสร้างเสริมขึ้นใหม่ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์
1
และต่อมาพระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535
1
เมื่อเราเดินเข้ามาเยี่ยมชมภายในบริเวณวัด ก็พบกับสิ่งปลูกสร้างมากมาย ตั้งอยู่รายล้อมองค์เจดีย์หลวง ที่เป็นจุดศูนย์กลางของวัด มีสถาปัตยกรรมที่เป็นทั้งโบราณสถาน และพุทธสถานสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ ให้เราได้ศึกษา เยี่ยมชม และสักการะบูชา
1
“หออินทขิล” อันเป็นที่ตั้งของ เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่หน้าวัดเจดีย์หลวง สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช เมื่อสมัยเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 เสาหลักเมืองนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทย รายล้อมไปด้วยปูนปั้นรูปสัตว์ และอนุสาวรีย์บรรพกษัตริย์
1
เสาอินทขิลนี้ สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ โดยฝังไว้อยู่ใต้ดินใต้ฐานองค์พระประธาน ทุกๆปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงาน “เข้าอินทขิล” เพื่อทำการเฉลิมฉลองหลักเมือง
1
เจดีย์รายองค์ใต้ ตั้งอยู่ด้านหลัง หออินทขิล(ศาลหลักเมือง) เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่พระธาตุเจดีย์หลวง ไม่ปรากฏปีที่สร้างที่ชัดเจน
1
พระวิหารของวัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าของเจดีย์หลวง เมื่อเราเข้าไปด้านในก็พบกับวิหารอันสวยงาม กว้างขาวง และสูงมาก มีการตกแต่งด้วยโคมไฟสวยงาม และตุงแบบล้านนา โดยมีพระประธานเป็น พระพุทธอัฏฐารส (พระยืนสูง18ศอก) ด้านหน้าจะมีดอกไม้ธูปเทียนให้บูชา รวมถึงตุงประจำปีเกิดให้เราได้ซื้อแขวน เพื่อเป็นสิริมงคล ถวายแด่พระพุทธอัฏฐารส
1
ภายในพระวิหารยังมีสังขาร ของพระเดชพระคุณพระเทพวุฒาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตั้งอยู่ด้านซ้ายขององค์พระประธาน ให้ลูกศิษย์และชาวพุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา
1
ภายในวัดเจดีย์หลวงยังมีโบสถ์เก่าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางด้านหลังเจดีย์หลวง(บริเวณด้านหลังวัด) ล้อมรอบไปด้วยกำแพงที่บรรจุอัฐิของผู้วายชนม์มากมาย มีพระท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่รอบๆโบสถ์แห่งนี้จะมีหลุมฝังศพตั้งอยู่มากมาย ต่อมาภายหลังได้มีการขุดชำระล้างสุสาน แล้วจึงนำอัฐิเหล่านั้น เข้ามาบรรจุไว้อยู่ในกำแพงโบสถ์แห่งนี้
1
วิหารหลวงปู่มั่น ตั้งอยู่ด้านหลังของเจดีย์หลวงเช่นกัน เป็นอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างที่มีความงดงาม ปราณีต ในแบบฉบับของล้านนา เพราะถือว่าเป็นสถานที่อีกหนึ่งแห่ง ให้เราได้ระลึกถึงพระพุทธคุณ ในการตามรอยปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น เมื่อครั้งสมัยท่านได้มาจาริกแสวงบุญ ณ วัดแห่งนี้
1
พระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังติดกับองค์เจดีย์หลวง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว รัชกาลที่11 แห่งราชวงศ์มังราย พระนอนองค์นี้ สร้างด้วยอิฐฉาบปูนปิดทองทั้งองค์ มีความเก่าแก่ และงดงามเป็นอย่างมาก
1
เจดีย์หลวง คือจุดมุ่งหมายของเราในทริปนี้ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางวัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ มีรูปทรงเป็นแบบโลหะปราสาทของลังกา รูปลักษณ์เป็นทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้ม ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมีทั้งหมด 28 เชือก และมีพญานาค5เศียร อยู่ตรงทางขึ้นรอบทิศทั้งสี่ทิศ ลักษณะเหล่านี้ล้วนก่อสร้างเพื่อความหมาย เสริมดวงเมืองทั้งสิ้น
1
พระธาตุเจดีย์หลวง ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล สำหรับชาวอาณาจักรล้านนา ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ซึ่งรับอิทธิพลมาจากอินเดียโดยทางอ้อม ที่นำเข้าจากอาณาจักรข้างเคียง
1
โดยมีการสร้างเจดีย์หลวงให้สูงใหญ่ ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ตามคติอย่างศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน คือมีภูเขาเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล อันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ ของสัตวโลก
1
ภาพนี้คือแบบจำลอง3มิติ ของพระธาตุเจดีย์หลวงแบบสมบูรณ์ จัดทำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยให้เราได้เห็นถึงความอลังการขององค์พระธาตุเจดีย์หลวง ว่ามีความยิ่งใหญ่ และงดงามเพียงใด เมื่อได้มองพระธาตุเจดีย์หลวงนี้ อย่างเต็มองค์
1
สำหรับการเที่ยวชมวัดเจดีย์หลวงในครั้งนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้ประทับใจที่สุด คือการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ที่มีความเกี่ยวพันกับพระธาตุเจดีย์หลวง ได้อย่างกลมกลืน ซึ่งถูกถ่ายทอดอยู่ในภาพวาดบนผนังในหออินทขิล และประทับใจในความงดงามทางศิลปะ และวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา ซึ่งถูกถ่ายทอดอยู่ในสิ่งปลูกสร้าง และสถาปัตยกรรมของวัดเจดีย์หลวงวรวิหารแห่งนี้
1
องค์พระธาตุเจดีย์หลวง ที่เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ได้บ่งบอกว่าการก่อร่างสร้างอาณาจักร ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้นั้น ล้วนเกิดจากอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
1
ความจริงแล้ว การสร้างเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่โต มิไช่เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง หรือเป็นศูนย์กลางการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
1
ขอให้เส้นทางที่เลือกเดิน เปี่ยมด้วยความหมาย
ขอให้ทุกจุดมุ่งหมาย ควรค่าแก่การเลือกเดิน
1
...............ไซตามะ
โฆษณา