21 ก.ย. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
ไขข้อสงสัย : ออกกำลังกายเพียง 1 ครั้ง ส่งผลต่อดีสมองทันทีจริงหรือ ? |
เมื่อเริ่มออกกำลังกาย สายฟิตหลายท่านคงอยากเห็นหุ่นดีขึ้นทันทีราวกับเสกได้ แต่เพ่งในกระจกมุมไหน ก็ยังไม่เห็นวี่แววของซิกแพค หรือกล้ามแขนภายในครั้งแรกที่ออกกำลังกายอยู่ดี
1
แม้ผลลัพธ์ทางกายภาพของการออกกำลังกายจะไม่ได้เห็นผลทันตา แต่อย่าได้หมดกำลังใจ เพราะการออกกำลังกายเพียงครั้งเดียว สามารถส่งผลดีต่อสมองได้ทันที
แม้จะฟังดูเหลือเชื่อ แต่นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ โดยเวนดี้ ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวในงาน TedTalk เมื่อปี 2017 ถึงผลของการออกกำลังกายที่มีต่อสมองว่า
"จากการศึกษางานวิจัยทั้งหมดทั้งมวล ฉันพบว่า การออกกำลังกายคือกิจกรรมทางกายภาพที่มีผลดีทันทีต่อสมอง และเปลี่ยนแปลงสมองได้มากที่สุด"
เรื่องราวเริ่มต้นจาก เวนดี้ นักประสาทวิทยาที่วัน ๆ อยู่แต่ในห้องทดลองและไม่ค่อยได้ขยับตัว ตัดสินใจไปออกทริปล่องแพ แต่กลับพบว่าตัวเองคือคนที่อ่อนแอที่สุดในทริป
เวนดี้จึงเริ่มออกกำลังกายและเข้าคลาสในยิมทุกคลาส แม้ตอนแรกจะยากลำบาก แต่เธอพบว่าการออกกำลังกายจนเหงื่อท่วมทำให้เธอมีพลังและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังพบว่าเมื่อต้องเขียนร่างขอทุนงานวิจัย ซึ่งควรจะเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเหล่านักวิชาการ เธอกลับทำมันได้อย่างราบรื่น เวนดี้จึงกลับไปยิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ต่อมา เวนดี้ ซูซูกิเริ่มศึกษาเกี่ยวกับผลของการออกกำลังกายต่อสมอง ซึ่งเธอได้ทำการทดลองกับตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัวไปแล้วก่อนหน้านี้
นักประสาทวิทยาสาวพบว่า การออกกำลังกายเพียงครั้งเดียว ช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทได้ทันที อย่างเช่นสารโดพามีน (Dopamine), เซโรโทนีน (Serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) ทำให้อารมณ์ดีขึ้นทันทีหลังจากออกกำลังกาย
นั่นเป็นเพราะ เซโรโทนินและโดพามีน คือสารที่ช่วยให้รู้สึกเพลิดเพลินมีความสุข การกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนนอร์อะดรีนาลีน คือฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อภาวะเครียด
ประการที่สอง การออกกำลังกายเพียงครั้งเดียว ทำให้มีสมาธิดีขึ้นทีนที ซึ่งสภาวะเปี่ยมด้วยสมาธิหลังออกกำลังกาย จะอยู่ได้นานสองชั่วโมง
สุดท้าย งานวิจัยของเวนดี้ ซูซูกิยังพบว่า การออกกำลังกายเพียงหนึ่งครั้งจะช่วยให้มีปฏิกิริยาตอบสนองดีขึ้นทันที "นั่นแปลว่า คุณจะคว้าแก้วสตาร์บัคส์ที่กำลังหล่นจากโต๊ะได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก" นักประสาทวิทยาสาวพูดอย่างติดตลก
ไม่ใช่แค่ผลดีในทันทีเท่านั้น แต่การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังส่งผลดีในระยะยาวต่อสมอง
ในระยะยาว นอกจากเพิ่มมวลกล้ามเนื้อที่เห็นกันได้ชัด ๆ อย่างกล้ามแขน กล้ามขา การออกกำลังกายยังช่วย "เพิ่มมวลสมอง" ได้อีกด้วย เพราะการออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยสร้างเซลล์สมองใหม่ ๆ โดยพบว่าสมองส่วน Hippocampus และ Prefrontal Cortex มีปริมาตรมากขึ้นจริง
มวลสมองที่เพิ่ม ส่งผลให้ผู้ออกกำลังกายมีความจำดี มีสมาธิดีมากขึ้น และยังช่วยชะลอการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมองอย่างโรคอัลไซเมอร์ "ให้คุณลองนึกถึงการออกกำลังกายว่าเป็นแผนหลังเกษียณอายุที่ไม่เสียเงิน เพื่อเตรียมสมองของคุณให้พร้อม" ซูซูกิเสริม
โดยสายฟิตไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนักถึงขั้นจะลงแข่งไตรกีฬา แต่การออกกำลังกายประเภทแอโรบิคเพียง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้ อารมณ์ดีขึ้น, มีพลังงานมากขึ้น, และมีสมาธิดีขึ้นได้ทันทีทันใด
เรื่องโดย พิมพ์พันธุ์ จันทร์แดง
โฆษณา