30 ก.ย. 2020 เวลา 01:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP.3 การคิดลดกระแสเงินสด (Discounted cash flow: DCF) คืออะไร?
Note: บทความนี้ค่อนข้างยากและมีคำศัพท์เทคนิคเยอะ แต่ผมพยายามจะอธิบายให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุดนะครับ หากมีข้อสงสัยสอบถามกันมาได้ครับ
หากคุณเป็นเจ้าของโรงงานลูกชิ้นแห่งหนึ่ง
คุณลงทุนสร้างโรงงานนี้ 10 ล้านบาท
ด้วยเงินทุนคุณเอง 5 ล้านบาท และกู้ธนาคารอีก 5 ล้านบาท
โรงงานนี้ทำกำไรให้คุณเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา 2 ล้านบาท
ธุรกิจของคุณกำลังไปได้ดี
คาดว่าจะเติบโตปีละ 20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
กำไรที่ได้มาคุณจึงต้องนำกลับไปลงทุนต่อ
เพื่อขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร เพิ่มคลังสินค้า ให้เครดิตลูกค้า ฯลฯ
เมื่อหักเงินลงทุนสำหรับปีถัดไปแล้วเงินที่เหลือก็คือ เงินที่ปราศจากภาระ หรือ free cash flow ของคุณ
1
คำถามคือ ถ้ามีนักลงทุนมาขอซื้อกิจการของคุณ
คุณจะขายโรงงานนี้ที่ราคาเท่าไหร่?
ผมเชื่อว่าคุณคงไม่ขายโรงงานที่ 5 ล้านบาท เท่าเงินลงทุนแน่
แต่หากมีคนนำเงินมาให้คุณเท่ากับ “เงินสดในอนาคตทั้งหมดที่คุณคาดว่าโรงงาานจะทำได้” คุณจะขายมันไหม?
คำถามนี้เองทำให้เกิดแนวคิดการประเมินมูลค่าที่เรียกว่า "การคิดลดกระแสเงินสด" หรือที่เรียกกันย่อๆว่า "DCF"
DCF มีเป้าหมายเพื่อประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์หรือบริษัท โดยมูลค่าที่คำนวนได้จะเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute value) เพราะไม่มีการเปรียบเทียบกับข้อมูลราคาในอดีตหรือบริษัทคู่เทียบ (peer comparision) เหมือนอย่างวิธี Multiplier เช่น P/E หรือ P/BV ที่เรามักคุ้นชินกัน
หลักการของ DCF คือการคิดลด "กระแสเงินสดปราศจากภาระ" ที่เรียกว่า Free cash flow หรือ FCF ที่คาดว่าบริษัทจะทำได้ในอนาคต ซึ่งเงินสดนี้เหลือจากการลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาศักยภาพ (Maintenance CAPEX) และลงทุนเพื่อการเติบโต (Growth CAPEX) และเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจสุทธิ (Net working capital) ของบริษัทแล้ว
โดยส่วนมากผู้ประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF จะคาดการไปในอนาคตประมาน 5-10 ปี และใช้ตัวคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present value) โดยใช้อัตราคิดลดที่เรียกว่า "ต้นทุนเงินทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก" (Weighted average cost of capital: WACC) อธิบายให้ง่าย WACC ก็คือ "ผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะคาดหวัง" ตามทฤษฎีการเงินนั่นเอง
สูตรการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted cash flow: DCF)
DCF formula
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องรู้เพื่อประเมินมูลค่าด้วย DCF คือ
1. กระแสเงินสดปราศจากภาระในอนาคต Free cash flow
2. ผลตอบแทนที่คาดหวัง r หรือ WACC
3. อัตราการเติบโตของธุรกิจตลอดกาลหลังจากที่ปีสุดท้ายของการประมานการ (Terminal growth rate)
กลับมาที่โรงงานลูกชิ้นของคุณ
เรามาลองหามูลค่าของโรงงานลูกชิ้นนี้ดู
1
หากคุณคาดว่าโรงงานลูกชิ้น จะเติบโตปีละ 20% ในอีก 5ปีข้างหน้า
ปีที่ 0 กำไร 2 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1 ล้านบาท
เหลือ FCF 1 ล้านบาท
ปีที่ 1 กำไร 2.4 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1 ล้านบาท
เหลือ FCF 1.4 ล้านบาท
ปีที่ 2 กำไร 2.88 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1.2 ล้านบาท
เหลือ FCF 1.68 ล้านบาท
ปีที่ 3 กำไร 3.46 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1.3 ล้านบาท
เหลือ FCF 2.15 ล้านบาท
ปีที่ 4 กำไร 4.15 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1.4 ล้านบาท
เหลือ FCF 2.755ล้านบาท
ปีที่ 5 กำไร 4.98 ล้านบาท / ลงทุนเพิ่ม 1.5 ล้านบาท
เหลือ FCF 3.48 ล้านบาท
คาดการว่า FCF ของบริษัทจะเติบโตปีละ 3% หลังจากนั้น
กำหนดให้ WACC = 10% (ผู้ซื้ออยากได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี)
คุณจะสามารถประเมินมูลค่าออกมาได้ดังนี้ (Excel ช่วยได้เยอะครับ)
1
DCF หามูลค่าโรงงานลูกชิ้น
ดังนั้นมูลค่าทั้งหมดของโรงงานลูกชิ้นของคุณจะอยู่ที่ประมาน 40 ล้านบาท
เมื่อหักหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนและยังไม่ได้คืน 5 ล้านบาท
มูลค่าเหมาะสมของโรงงานคุณคือ 35 ล้านบาท นั่นเอง
แต่จะสังเกตุว่ามูลค่าที่เราคำนวนได้จะมีอิทธิพลจากมูลค่าปีสุดท้าย (Terminal value) เยอะมากที่ 31.7 ล้านบาทจาก 40 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดทั้งหมด (Total present value) เลยทีเดียว
ซึ่งตัวแปรที่จะทำให้ Terminal value มากหรือน้อยคือ Terminal growth rate เพราะมันเป็นการเติบโตไปตลอดกาล ค่านี้จึงไม่ควรมีค่ามากกว่า GDP เฉลี่ยของประเทศ (ส่วนมากจะอยู่ประมาณ 3%) ไม่เช่นนั้นหมายความว่าวันหนึ่งโรงงานลูกชิ้นจะมีมูลค่ามากกว่าประเทศทั้งประเทศนั่นเอง
เพื่อแก้ปัญหานี้ผมแนะนำให้ประมานการ FCF ไปประมาน 10 ปี จะทำให้อิทธิพลของ Teminal value ลดลงได้มาก
เช่นถ้าผมประมารการออกไปโดยให้ปีที่ 6-10 กำไรเติบโตปีละ 5% และมีการลงทุนเพิ่มเพียง 1.5 ล้านบาท เท่ากันทุกปี ผลจะเป็นดังนี้
DCF หามูลค่าโรงงานลูกชิ้น 10 ปี
จะเห็นได้ว่ามูลค่า present value ของ terminal value คือ 27.5 ล้านบาทจาก 45.7ล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดทั้งหมด (Total present value) เท่านั้น และด้วยการประมาณการ FCF ยาวออกไปเราจะสามารถปรับตัวแปรต่างๆในช่วง 10 ปี ได้อย่างสมเหตุสมผลนั่นเอง
1
ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างอย่างง่าย การะประเมินมูลค่าหุ้นหรือบริษัทจริงๆนั้นจะค่อนข้างซับซ้อนกว่ามากเพราะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งบการเงินและมีตัวแปรอีกมาก ซึ่งเราจะมาแชร์กันต่อไปครับ
หากท่านคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์
รบกวนช่วย กด like กด share และ กด follow
เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยครับ
หรือหากท่านมึความคิดเห็นอย่างไร
comment มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา