25 ก.ย. 2020 เวลา 08:04 • การเมือง
ประชาธิปไตยที่แท้ คณะราษฎร 2475
“เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” เป็นความต้องการของคนไม่เกิน 50 คน และก็ไม่ใช่ 115 คนตามข้อมูลบางแหล่ง...ประเด็นที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องการศึกษาครับ แต่ผมยกเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็นตัวอย่างเพื่อเดินเรื่อง เรื่องนี้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Suttisak Soralump” เขียนไว้ตั้งแต่ 25 มิ.ย.2559
เราเรียนกันตั้งแต่เด็กว่าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย และมักจะถูกสอนว่าเป็นความต้องการของ คณะราษฎร ซึ่งก็ทําให้เข้าใจไปว่าเป็นความต้องการของ ประชาชนทั้งประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทําให้เกิด การพัฒนา ที่ยิ่งใหญ่ เพราะคนไทยมี สิทธิเสรีภาพ มากขึ้น
จริงหรือเปล่า...
สิ่งที่เราเรียนเวลาเราเป็นเด็กมักจะถูกกรองมาให้เป็นสำเร็จรูป ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ ชั่งนํ้าหนักกันแล้ว “นี่คือระบบการศึกษาที่ผิด” ทําให้เกิดทัศนคติที่ไม่ครบ มองในมุมที่ถูกสอนในมุมเดียว ลองมาดูข้อมูลอีกมุมหนึ่งในเรื่องวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามนี้นะครับ
“คณะราษฎร” ไม่ได้อ่านว่า “คะ-นะ-ราด” แต่ตั้งใจให้อ่านว่า “คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน” “2475 คือการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความต้องการของประชาชน ถ้าคำว่า ประชาชนคือคนส่วนใหญ่ ประเด็นนี้ผิด”
ทหารที่มาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปในเวลาที่พระยาพหลฯประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง “ถูกหลอกมา” นึกภาพว่าเราเป็นทหารชั้นประทวนที่อยู่ในกรมกอง นายสั่งให้มาพร้อมกันที่ใดที่หนึ่งเพื่อซ้อมทางการทหาร เราก็ต้องมา แล้วอยู่ดีๆ ก็มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขึ้นมาประกาศสิ่งที่เราไม่เข้าใจ และเราก็ไม่รู้ว่าควรจะทําอย่างไร เพราะทหารที่มาก็มาจากหลายกรมหลายกองที่ไม่รู้จักกัน มองไปก็ไม่รู้ว่าเขาถูกสั่งมาอย่างไร
สิ่งที่พระยาพหลฯกล่าว ทหารต่างๆที่มาก็ไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องด้วย
ประกาศคณะราษฎร ที่พระยาพหลฯอ่าน ล้วนแต่มีเนื้อหาที่กล่าวร้ายบุคคลที่ 3 ซึ่งก็คือ “พระมหากษัตริย์” ซึ่งมาจากความคิดเห็นด้านเดียวของ “คณะราษฎร” โดยไม่เกี่ยวข้องกับ “ประชาชน” ทั่วไป
“การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ” ถ้ามองเอาเฉพาะวันที่ประกาศมาตีรวมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ก็ไม่น่าจะถูก เพราะ...วันที่เปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีการเสียชีวิตก็จริง แต่สิ่งที่เกิดต่อเนื่องหลังจากนั้นต่อบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามคณะราษฎร หรือแม้แต่ฝ่ายเดียวกัน แต่ถูกระแวงสงสัยก็มีชะตากรรมที่ “ไม่ได้แค่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่ถูกกระทําน้อยกว่ามนุษย์ทั่วไปพึงจะได้”
ทั้งนี้ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เกิดการจับกุม คุมขัง คนมากมายถูกพาไปปล่อยเกาะตะรุเตา ถูกประหารชีวิต นายทหารใหญ่ตระกูลเทพหัสดินถูกคุมขัง พร้อมลูกชายที่เป็นทหารอีกสองคน พ่อถูกปล่อย ลูกสองคนถูกประหาร การถูกประหารของ ร้อยโทณเณร ตาละลักษณ์ ที่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์จากมุมมองหลายด้าน ก็เข้าใจได้ว่าถูกกำจัดเพราะระแวง โดยอ้างเหตุการณ์ลอบสังหารจอมพล ป.มาเป็นเหตุ
นอกจากนั้น คนกลุ่มใหญ่ที่ต้องทนทุกข์ทรมานก็คือ กลุ่มเชื้อพระวงศ์ บางท่านฆ่าตัวตาย ถูกคุมขังจนเป็นโรคตาย บางท่านไม่ใช่เชื้อพระวงศ์แต่มีความจงรักภักดีก็เดือดร้อนแสนสาหัส เช่น พระยาสุรพันธ์ฯ
และที่น่าประหลาดใจคือ คณะราษฎรชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 7 ท่าน ก็หวาดระแวงกันเอง กลุ่มผู้ก่อการบางท่านก็จบชะตากรรมถึงขนาด “ตายแบบศพไม่มีญาติ”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของโพสต์ บอกว่า สิ่งที่เราเรียนเวลาเราเป็นเด็กมักจะถูกกรองมาให้เป็นสำเร็จรูป ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ ชั่งน้ำหนักกันแล้ว
“นี่คือระบบการศึกษาที่ผิด” ทําให้เกิดทัศนคติที่ไม่ครบ
“ก่อให้เกิดข้อสงสัยกับเยาวชน เห็นภาพที่ขัดแย้งกับสภาพปัจจุบัน ถามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ไม่มีคำตอบเพราะถูกสอนมาแบบนั้นเหมือนกัน เกิดความสงสัยที่ไม่มีคำตอบ”
ทำให้ต้องหาคำตอบจากโลกโซเชียล เพื่อปะติดปะต่อเนื้อความ ลองอ่านบทความที่ผมเขียนไว้ในเรื่องนี้ 4 ตอน ดังนี้ครับ
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ย้ำว่า เรื่องการเมืองที่เขียนไว้เมื่อสี่ปีที่แล้วมีสี่ตอน ประเด็นหลักคือ เรื่องของการที่เราให้ความรู้กับคนในสังคมร่วมกันอย่างไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราพยายามรวบรัด ถูกสอน ถูกเรียนให้ทุกคนท่อง เนื่องจากเวลาน้อยหรืออะไรก็แล้วแต่...ก็สงสัยมาตั้งแต่เด็กไม่ต่างกับทุกวันนี้ที่เด็กสงสัยในหลายๆ เรื่อง
“ผมเป็นวิศวกรไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เมื่อสงสัยก็ต้องศึกษา เอาหนังสือมาอ่าน พบปะพูดคุย...อยากสะท้อนว่าการให้การศึกษากับเด็กกับคนรุ่นหลังต้องมองเป็นแบบ...เราทำให้เขาเข้าใจจริงๆ แล้วหรือยังไม่ใช่ท่องจำ”
สี่ปีที่แล้วเหมือนเป็นการเตือนว่าจะมีปมสงสัย มีเด็กที่โตมาแบบผม แต่ว่าไม่เข้าใจแล้วเกิดอะไรขึ้นมา ก็ไม่คิดว่าเรื่องราวสงสัยจะลุกลามได้ถึงวันนี้...รายละเอียดเนื้อหาเหล่านี้ก็มาจากการค้นคว้า
ตอนนั้นหนังสืออะไรที่เกี่ยวข้องกับ 2475 ผมอ่านหมด คุยกับคนโดยเฉพาะลูกหลานคณะราษฎรโดยตรง ได้ยินมายังไง คิดยังไง...ซึ่งสมัยก่อนคงเป็นเรื่องยากในการสื่อสาร
สถาบัน “พระมหากษัตริย์” กับ “รัฐธรรมนูญ”...“ประชาธิปไตย” ที่แท้จริง ความจริงที่พร่าผ่านมาถึงวันนี้มากน้อยอย่างไร?
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ มองว่า เราย้อนหลังไปเมื่อปี 2475 คนที่ลุกขึ้นมาก่อการก็ไม่ต่างอะไรจากพลังคนรุ่นใหม่ในวันนี้มากนัก ส่วนหนึ่งก็เพิ่งเรียนจบกัน ดังนั้นความลุ่มลึกในความคิด ประสบการณ์ต่างๆ นานาก็อาจจะจำกัด
“เหมือนกับที่ท่านปรีดีถวายรัฐธรรมนูญ จริงๆ ก็มีข้อมูลฉบับที่กล่าวร้ายพาดพิงในด้านลบเยอะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง บางคนก็บอกว่าถึงขนาดไปคัดลอกมาจากรัสเซีย เราก็แค่เอาความจริงที่เห็นในหลวงร้องไห้”
เพราะว่าท่านก็เตรียมของท่านมา ทำให้เห็นภาพถ้าเรามองย้อนไปในตอนนั้น พอเกิดเหตุการณ์อะไรที่ใหญ่โตก็มีคนถามเหมือนกันว่า เด็กกลุ่มนี้ หรือคนที่ออกมา ลุกขึ้นมาเกิดเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เขาจะทำอย่างไรต่อ?
อาจจะไม่มีคำตอบ...ไม่รู้ ก็ได้แต่ตรงนี้ ผู้ใหญ่หลายคนก็มองมุมลบ เด็กจะไปยังไงต่อ นี่คือประเทศของฉัน ธุรกิจของฉัน...ผมว่าต้องมองด้วยความเมตตา เขาเกิดมา โตมาอย่างนี้ เรียนรู้มาอย่างนี้ คุณจะไปหวังอะไร
“ตรงกันข้ามถ้ารู้สึกเกลียดก็จะยิ่งแย่...ผมไม่ได้เข้าข้างเด็ก แต่พูดเฉพาะในสิ่งที่เรารู้ เราเห็นเพราะในหลายๆ เรื่องก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เห็นอีกมากมายทับซ้อนซ่อนเอาไว้หลายมิติด้วยกัน เมื่อเราไม่รู้ว่าเบื้องหลังคืออะไรก็คงจะไปวิจารณ์ไม่ได้”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ศึกษาเรื่อง 2475 มาตั้งแต่อายุ 40 เขียนบทความนี้ตอนอายุ 43 ปี วันนี้อายุ 47 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตพอที่จะเห็นเหลี่ยมมุมที่เกิดขึ้นก็ไม่น้อย ฝากทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากจะแก้ “ประชาธิปไตย” ก็ต้องแก้ที่มา “ส.ส.” ก่อน
แล้วก็เดินหน้าต่อด้วยการเติมเต็ม...“สมการความเจริญของประเทศ”
นั่นก็คือ...(เสรีภาพ+ความยุติธรรม+ความรู้การศึกษา+การทำงาน)×ความมุ่งดีต่อกัน=ความเจริญ+ความสุข+ความเท่าเทียมตามกำลังที่ควรได้จากการกระทำ.
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา