25 ก.ย. 2020 เวลา 10:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ SpaceX ส่งนักบินอวกาศนาซ่าสองคนขึ้นไปยังสถานีอวกาศเป็นผลสำเร็จ ช่วยให้สหรัฐฯส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรจากแผ่นดินอเมริกาได้อีกครั้งในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ อีลอน มัสก์กลับส่งอีเมลหาพนักงานของ SpaceX เพื่อแจ้งว่า Starship คือโครงการที่ SpaceX ให้ความสำคัญที่สุดในตอนนี้
นี่คือช่วงเวลาที่ SpaceX ประสบความสำเร็จสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2002 โดยหากไม่นับการนำส่งสัมภาระและนำนักบินอวกาศของนาซ่าโดยสารยาน Crew Dragon ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติและกลับลงมาอย่างปลอดภัยแล้ว บริษัทยังมีการให้บริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเชิงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และยังส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่อง (ครองสถิติปล่อยดาวเทียมมากที่สุดถึง 180 ดวงในเดือนเดียว) เพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมความเร็วสูงที่เข้าถึงทุกมุมโลก รวมถึงความสำเร็จในการพัฒนา Falcon Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกที่ใช้งานได้ในขณะนี้
ภาพจำลองยาน Crew Dragon เข้าเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ - ที่มา SpaceX
แล้วเหตุใดอีลอน มัสก์จึงหันมาทุ่มสุดตัวกับการพัฒนา Starship ซึ่งในปัจจุบันดูจะยังไม่มีตลาดรองรับ
หากใครติดตามการเติบโตของ SpaceX มาตั้งแต่ต้นคงไม่แปลกใจ เพราะทราบดีว่าเป้าหมายที่แท้จริงของอีลอน มัสก์ในการก่อตั้ง SpaceX คือการส่งมนุษย์ไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร เพื่อให้มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่อาศัยบนดาวเคราะห์หลายดวง เป็นหลักประกันว่ามนุษยชาติจะดำรงอยู่ต่อไป หากเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้
ฟังดูเป็นความฝันที่สุดแสนทะเยอทะยาน แต่หากมีใครสักคนที่จะทำได้ อีลอน มัสก์ก็น่าจะเป็นคนคนนั้น
และสิ่งที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงได้ ก็คือระบบขนส่งระหว่างดวงดาวที่มีต้นทุนต่ำกว่าระบบจรวดใดๆ ในปัจจุบันนับสิบนับร้อยเท่า ยานอวกาศและจรวดขับดันที่ใช้ซ้ำได้ทุกส่วนโดยสมบูรณ์แบบจะลดค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวบินลงอย่างมหาศาล ยิ่งใช้มาก ยิ่งถูกลง นั่นคือยาน Starship ที่ SpaceX กำลังเร่งมือพัฒนาให้ทันกำหนดเวลาที่เร็วเหลือเชื่อ ทั้งการส่ง Starship ที่บรรทุกสัมภาระโดยไม่มีนักบินไปดาวอังคารในปี 2022 และการพัฒนายาน Lunar Starship ให้เสร็จทันโครงการ Artemis 3 ที่จะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2024 โดยมีผู้คนทั่วโลกจับตามอง
ภาพจำลอง Starship ลงจอดบนดวงจันทร์ - ที่มา SpaceX
ศูนย์พัฒนาจรวดของ SpaceX ในโบกาชิกา รัฐเท็กซัสมีทั้งช่างภาพ ยูทูบเบอร์ และผู้สนใจทั่วไปแวะเวียนไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย มีการบันทึกวิดีโอความเคลื่อนไหวในพื้นที่พัฒนาจรวดทุกวัน ปล่อยโดรนขึ้นบินบันทึกภาพความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการถ่ายทอดสดการทดสอบต้นแบบจรวดทุกครั้งโดยสื่อออนไลน์ แน่นอนว่าเราไม่เคยเห็นการสร้างจรวดครั้งไหนในประวัติศาสตร์ ถูกเกาะติดทุกฝีก้าวเช่นนี้มาก่อน
ภาพถ่ายมุมสูง บริเวณลานทดลองจรวด Boca Chica โดยมีต้นแบบ SN7.1 อยู่บนแท่นทดลอง - ที่มา RGV Aerial Photography
และก่อนที่ Starship SN8 จะทำการขึ้นบินทดสอบที่ความสูง 20 กิโลเมตรในเร็วๆ นี้ เราจะมาย้อนดูพัฒนาการตั้งแต่ต้น และมองไปถึงอนาคตของยาน Starship
อีลอน มัสก์เปรยไว้ตั้งแต่ปี 2007 ว่า 30 ปีจากนี้จะมีฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคาร และผู้คนจะเดินทางไปกลับด้วยยานของ SpaceX แต่ในขณะนั้นยังเป็นช่วงตั้งต้นและล้มลุกคลุกคลานของบริษัท ความสำคัญลำดับแรกจึงไปอยู่ที่การพัฒนาจรวดตระกูล Falcon เพื่อให้บริษัทสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง
ภาพ fan art คอนเซปต์ยาน MCT - ที่มา Stanley Von Medvey (bagtaggar)
#Mars Colonial Transporter (MCT)
ปี 2012 มัสก์เริ่มพูดถึงการสร้างจรวดนำกลับมาใช้ซ้ำระบบที่สอง (ระบบแรกคือจรวดตระกูล Falcon) ซึ่งจะเป็นวิวัฒนาการจาก Falcon 9 แต่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาก และปีถัดมามัสก์กล่าวว่าจะไม่นำ SpaceX เข้าตลาดหุ้นจนกว่า Mars Colonial Transporter (MCT) หรือยานขนส่งอาณานิคมดาวอังคาร ซึ่งเป็นชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้นจะมีเที่ยวบินที่เดินทางเป็นประจำ
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 มัสก์ประกาศสร้างยานขนส่งระหว่างดวงดาวขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระรวมถึง 100,000 ตัน โดยจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 100 เท่าของรถเอสยูวี และมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ว่าจรวด Falcon 9 ถึง 3 เท่า
สิงหาคมปีเดียวกัน สื่อบางสำนักคาดการณ์ว่าเที่ยวบินทดสองของจรวดยักษ์ที่ใช้เครื่องยนต์ Raptor นี้อาจเกิดขึ้นในปี 2020 ซึ่งนับว่าเร็วมากสำหรับการพัฒนาระบบจรวดใหม่ทั้งหมด แต่การทดสอบเครื่องยนต์ในสภาพบินรอบวงโคจรจะต้องใช้เวลาอีกนานมาก
ภาพคอนเซปต์ระบบยาน Interplanetary Transport System (ITS) - ที่มา SpaceX
#Interplanetary Transport System (ITS)
กลางปี 2016 SpaceX ยังตั้งเป้าส่งมนุษย์กลุ่มแรกไปดาวอังคารภายในปี 2025 เป็นอย่างเร็ว โดยยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับระบบจรวด แต่อีลอน มัสก์ทวีตเสนอชื่อ Millenium และเมื่อถึงเดือนกันยานยน มัสก์ประกาศเลิกใช้ชื่อ Mars Colonial Transporter เพราะระบบยานในตอนนี้สามารถไปได้ไกลกว่าดาวอังคารมาก และเปลี่ยนชื่อยานเป็น Interplanetary Transport System (ITS) หรือระบบขนส่งระหว่างดาวเคราะห์ แต่มัสก์ดูจะยังไม่พอใจกับชื่อนี้นัก
ย้อนกลับไปไม่ถึงปี SpaceX เพิ่งนำยาน Falcon 9 ลงจอดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก การประกาศสร้าง ITS ซึ่งใหญ่กว่าหลายเท่าจึงถือเป็นนโยบายที่ดุดันอย่างยิ่ง และการทดสอบเครื่องยนต์ Raptor ครั้งแรกบนฐานทดสอบก็เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2016 นี้เอง
เครื่องยนต์จรวด Raptor - ที่มา SpaceX
#Big Falcon Rocket
ในงานประชุมการบินอวกาศนานาชาติ (International Astronautical Congress) ปี 2017 SpaceX ได้เผยงานออกแบบฉบับอัพเดทของยาน มัสก์บอกว่ากำลังหาชื่อที่เหมาะสม แต่ขอใช้ชื่อรหัสว่า BFR ซึ่งย่อมาจาก Big Falcon Rocket ไปก่อน (นั่นคือชื่ออย่างเป็นทางการ แต่แฟนพันธุ์แท้ SpaceX ต่างรู้ดีว่าชื่อที่แท้จริงของมันคือ Big F**king Rocket หรือถ้าจะแปลแบบไทยๆ ให้ได้อารมณ์ก็คือ “จรวดลำใหญ่โคตรพ่อ”
ภาพเปรียบเทียบขนาดของจรวดต่างๆ โดย BFR อยู่ด้านขวาสุด - ที่มา Thorenn (CC BY-SA 4.0)
ทั้ง ITS และ BFR ที่มีการปรับแบบใหม่ต่างก็เป็นจรวดสองตอน แต่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งขนาดที่เล็กลงเล็กน้อย จำนวนเครื่องยนต์ Raptor ที่ลดจาก 42 เครื่องเหลือ 31 เครื่อง ในขณะที่แรงขับเคลื่อนลดลงจาก 128 เมกกะนิวตันเหลือเพียง 48 เมกกะนิวตัน ทำให้น้ำหนักบรรทุกสูงสุดขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกลดลงจาก 300 ตันเหลือเพียง 150 ตัน
นี่คือพัฒนาการก่อนที่ SpaceX จะเปลี่ยนชื่อยานเป็น Starship ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ติดตามพัฒนาการของ Starship และการทดสอบอันน่าตื่นเต้นจนถึงปัจจุบันได้ใน EP2
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ
อ้างอิง
Starship Development History
Elon Musk tells SpaceX employees that its Starship rocket is the top priority now

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา