26 ก.ย. 2020 เวลา 04:00 • กีฬา
ฐานข้อมูลเกม FOOTBALL MANAGER ส่งผลต่อ "โลกฟุตบอลจริง" อย่างไร ? | MAIN STAND
ด้วยยอดขายกว่า 18 ล้านก็อบปี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจำนวนชั่วโมงที่คนเล่นเฉลี่ย 285 ชั่วโมงในแต่ละภาคล้วนปฏิเสธไม่ได้ว่า FOOTBALL MANAGER (FM) ได้กลายเป็นเกมฟุตบอลเกมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมไปทั่วบ้านทั่วเมือง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกมจำลองการคุมทีมเกมนี้ เข้าไปอยู่ในใจแฟนเกมคือความสมจริงในเรื่องฐานข้อมูล
ในทุกปีจะมีนักเตะนับแสนให้เลือกสรร และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นดาวจรัสแสงในอนาคตก็เป็นได้
และฐานข้อมูลที่แม่นยำนี้ ก็ได้มีอิทธิพลต่อโลกความจริงไม่น้อย
ระบบสเกาท์จากทั่วโลก
ก่อนไปดูว่ามันมีอิทธิพลต่อโลกฟุตบอลจริงอย่างไร ... เราไปดูฐานข้อมูลเกมเกมนี้เสียก่อน
ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, เลโอเนล เมสซี หรือ คิลิยัน เอมบับเป คือผู้เล่นที่มีชื่อเสียงตั้งแต่โลดแล่นอยู่ในโลกของ FM พวกเขามีค่าพลังแฝง (Potential Ability) ที่สูงปรี๊ด และก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะระดับโลก (ในเกม) ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี
กุญแจสำคัญที่ทำให้ Sport Intractive หรือ SI ผู้จัดทำเกมสามารถฟังธงว่านักเตะคนนี้จะ "รุ่ง" หรือ "ริ่ง" ไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่เป็นฐานข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี หรือตั้งแต่ยังใช้ชื่อว่า Championchip Manager (CM)
ในแต่ละปี FM จะบรรจุข้อมูลนักเตะไว้กว่า 700,000 คน (จาก 4,000 คนตอนเกมวางจำหน่ายภาคแรกเมื่อปี 1992) จาก 2,100 สโมสรใน 116 ดิวิชั่น จาก 51 ประเทศทั่วโลก ทำให้ทุกปีมักจะมีนักเตะ "วอนเดอร์คิด" ดาวรุ่งพุ่งแรงที่โด่งดังขึ้นมาจากในเกม ก่อนที่โลกจริงจะรู้จักเสียอีก
"นอกจากการเลือกว่าจะคุมทีมไหน สิ่งแรกที่ผู้คนเลือกทำคือหาสตาร์คนใหม่จากเกม Football Manager" ไมล์ส จาค็อบสัน หัวเรือใหญ่ของ SI และผู้อำนวยการเกม FM กล่าวกับ Techradar
"เราไม่ได้ถูกเสมอไปหรอก แต่เรตของเราอยู่ที่ 99.5 เปอร์เซนต์ เราภูมิใจกับมันมาก และคงภูมิใจมากกว่านี้หากเป็น 100 เปอร์เซนต์"
Photo : www.20minutes.fr
ฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้เหล่านี้ มาจากระบบเครือข่ายแมวมองของ SI พวกเขามีแมวมองอยู่ราว 1,300 คนอยู่ทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศไทย ก็มีกลุ่ม FM Research ที่นำโดยคุณวาริช เกษมจิต ที่ช่วยเก็บข้อมูลอย่างละเอียดส่งให้ SI เป็นประจำทุกปี
"เรามีเครือข่ายแมวมองที่ใหญ่มาก ราว 1,300 คนใน 51 ประเทศทั่วโลก" จาค็อบสันเผยกับ Telegraph
ผู้ดูแลสูงสุดในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ มาร์ค วูดเจอร์ ที่ร่วมหัวจมท้ายกับสองพี่น้อง คอลเยอร์ ผู้ให้กำเนิดเกมมาตั้งแต่สมัยชื่อ CM ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฐานข้อมูล รองจากเขาคือหัวหน้าฝ่ายหาข้อมูล ที่มีสมาชิกอยู่ราว 100 คน ซึ่งหนึ่งคนรับผิดชอบหาข้อมูล 1-2 ประเทศหรือหนึ่งทัวร์นาเมนต์ และบางคนก็อยู่ในตำแหน่งนี้มาเป็น 20 ปี
ส่วนตำแหน่งรองจากนี้คือผู้ช่วยฝ่ายหาข้อมูล บุคคลเหล่านี้จะโฟกัสกับสโมสรของตัวเอง พวกเขาจะตามดูเกมของทีมตั้งแต่ทีมชุดใหญ่ ทีมสำรอง ไปจนถึงทีมเยาวชน รวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่หาได้ และให้ความเห็นต่อนักเตะในทีมของพวกเขา แทบไม่น่าเชื่อว่าส่วนใหญ่ของพวกเขาเหล่านี้ทำงานในฐานะอาสาสมัครภายใต้อาชีพที่หลากหลาย และที่สำคัญบางส่วนไม่รับค่าตอบแทน
"มันหลากหลายมาก ๆ" สตีเฟน เดวิสัน หนึ่งในพนักงานของฝ่ายหาข้อมูลของ SI กล่าว "พวกเขาอาจเป็นคนในทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลยุโรป, อาจจะไม่ได้เล่นอะไรเลย หรืออาจเป็นเด็กที่คลั่งไคล้ในสโมสรของพวกเขา"
"เรามีคนที่ทำงานกับสโมสร หน่วยวิเคราะห์ข้อมูลของสโมสร หน่วยหาคน แมวมอง โค้ช เรามีแม้กระทั่งนักเตะที่เล่นให้กับสโมสรที่เขากำลังเก็บข้อมูล"
ด้วยเครือข่ายที่กว้างไกล และจำนวนคนมหาศาล ทำให้แต่ละปี SI มีฐานข้อมูลที่แม่นยำ แต่ประโยชน์ของมันไม่ได้ช่วยแค่เพิ่มความสนุกในการเล่น เพราะมันส่งผลต่อฟุตบอลในโลกจริงด้วย
เครื่องมือช่วยโค้ชหานักเตะ
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่ได้กว้างไกลหรือครอบคลุมเฉกเช่นปัจจุบัน วิกิพีเดีย หรือกูเกิ้ล ยังเป็นแค่ชื่อ การที่จะหาข้อมูลนักเตะสักคนที่ไม่ได้เล่นอยู่ในประเทศตัวเอง จึงไม่ได้เป็นเรื่องง่าย
วิธีลัดที่ดีที่สุดในสมัยนั้นคือการใช้ข้อมูลจากเกม FM ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลนักเตะจากทั่วโลก ทำให้มีข่าวลือว่าหลายสโมสรใช้ข้อมูลจากโลกเสมือน ประกอบกับข้อมูลในโลกจริงในการเลือกซื้อนักเตะ ก่อนที่จะมียืนยันโดยบิ๊กบอสของ SI ในเวลาต่อมา
"ผมรู้เรื่องนี้อย่างแน่ชัดมานานพอสมควร ตั้งแต่สมัยเรายังใช้ชื่อเก่า มันมีบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า Evening Standard เขาสัมภาษณ์ อังเดรส วิลลาส โบอาส ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าแมวมองให้กับ โจเซ มูรินโญ" จาค็อบสันกล่าวกับ gameinformer
"เขาบอกว่าเขาใช้ฐานข้อมูลของเราในการหานักเตะให้เชลซี ซึ่งทำให้ผมสะดุดใจว่าคนอื่นก็น่าจะใช้ข้อมูลของเรา ตอนนั้นมันเกือบ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีระบบแมวมองเหมือนตอนนี้เสียอีก"
ในขณะที่ ไบรอัน เพรสทิจ อดีตฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของ โบลตัน วันเดอเรอร์ส และปัจจุบันทำหน้าที่ให้คำปรึกษาให้แก่หลายสโมสร ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้ฐานข้อมูลของ Football Manager ในการหานักเตะใหม่ ๆ
"แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นทรัพยากรที่ยอดเยี่ยมที่เข้าถึงได้ และครอบคลุมไปทั่วโลก" เขากล่าวกับ Techradar
"ในตอนนี้เราคิดว่าฐานข้อมูลนี้มีข้อมูลของนักเตะทุกคนในทั่ว 50 ประเทศ มันมากกว่าที่เราหาได้จากระบบสเกาท์ มากกว่าที่เราหาได้ในออนไลน์เสียอีก"
"หากคุณเป็นแมวมองพาร์ทไทม์ของทีมในลีกทู นี่คือเครือข่ายแมวมองทั่วโลก ราคาของมัน คือ ราคาของเกมเท่านั้น"
นอกจากเป็นฐานข้อมูลในการค้นหานักเตะเพื่อดึงตัวมาร่วมทีม FM ยังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์คู่แข่งชั้นดี โดยเฉพาะยามต้องพบกับทีมจากต่างประเทศ ในแบบที่บางทีแมวมองอาชีพยังหาไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ขนาดนี้
ปี 2000 หนึ่งวันก่อนทีมชาติอิตาลี ลงเตะกับทีมชาติอังกฤษ จิโอวานนี ตราปัตโตนี กุนซืออัซซูรีในสมัยนั้นถามลูกทีมเกี่ยวกับนักเตะที่ไม่คุ้นหูของสิงโตคำราม ดิเมทริโอ อัลแบร์ตินี เปิดแลปท็อป และก็อบปี้ข้อมูลของ คีรอน ดายเออร์ และ เซ็ธ จอห์นสันจากในเกมไปบอกตราปัตโตนี ก่อนที่เกมดังกล่าวจะจบลงด้วยชัยชนะของอิตาลี
ช่วยศึกษาปูมหลังตัวผู้เล่น
ความพิเศษของ Football Manager ที่มีความแม่นยำเรื่องค่าพลังแล้ว SI ยังลงลึกไปในรายละเอียดนอกสนาม โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัว ภายในจะระบุอย่างชัดเจนว่าผู้เล่นมีน้ำหนักหรือส่วนสูงเท่าไร เกิดที่ไหน สัญชาติอะไร มีสัญชาติที่สองหรือไม่ พูดภาษาอะไรได้บ้าง ชอบทีมไหน หรือแม้กระทั่งสนิทกับใคร
"ผมอยากจะให้ข้อมูลในเกมถูกต้องมากที่สุดเท่าเป็นไปได้อยู่เสมอ ซึ่งมันจะทำให้เกิดโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมาตอนที่พวกเขาเข้าไปเล่นมัน ในฐานะเกมที่น่าเชื่อถือ" จาค็อบสันกล่าวกับ Techradar
"เราเรียนรู้มาว่า ไม่ใช่แค่ข้อมูลในการเล่นที่ผู้คนสนใจ แต่ยังรวมไปถึงน้ำหนักและส่วนสูง และประวัติการบาดเจ็บ ซึ่งมันสำคัญมากเวลาที่จะเซ็นสัญญาซื้อนักเตะ"
ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้บางครั้งต้องผ่านการสังเกต เนื่องจากบางข้อมูลไม่ได้เปิดเผยเป็นสาธารณะ ซึ่งต้องใช้ความคุ้นเคยกับนักเตะพอสมควร การมีข้อมูลอยู่ในเกมที่ทุกคนเข้าถึงได้ ช่วยสร้างประโยชน์ในหลายด้าน
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคงจะเป็น ทริสตอง โด แบ็คขวาที่เล่นอยู่ในฝรั่งเศส ที่มีคนไปค้นพบในเกม FM ว่าเขามีสัญชาติไทย ก่อนที่บีอีซี เทโร ศาสนจะตัดสินใจดึงตัวมาร่วมทีม และติดทีมชาติไทยในเวลาต่อมา ซึ่งคล้ายกับกรณีของ แอนโธนี อำไพพิทักษ์วงศ์ และ นนท์ ม่วงงาม
หรือกรณีของเพื่อนบ้านของเราอย่าง สองพี่น้องยังฮัสแบนด์ ฟิล และ เจมส์ ยังฮัสแบนด์ ที่แฟนเกมไปเจอมาว่าเขามีเชื้อสายฟิลิปปินส์ และบอกไปยังสมาคมฟุตบอลฟิลิปปินส์ จนสามารถดึงตัวพวกเขามาเล่นให้กับ "ดิ อัซกาลส์" ได้สำเร็จ
"ผมยังจำได้ดีวันที่เชลซีสโมสรของเราบอกว่าฟิลิปปินส์เชิญให้เราไปเล่นให้พวกเขา ตอนที่เราถึงฟิลิปปินส์ มีคนบอกว่าเด็กบอกพวกเขาเกี่ยวกับความเป็นฟิลิปปินส์ของเรา หลังจากพวกเขาเห็นชื่อเราในเกม Football Manager มันเป็นเหตุการณ์ที่แปลกมาก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราได้เล่นให้กับทีมชาติฟิลิปปินส์" ฟิล ยังฮัสแบนด์ กล่าวกับ Sportskeeda
"ผมรู้สึกขอบคุณเกม Football Manager และเด็กผู้ชายคนนั้นที่บอกเรื่องของเรากับสมาคมฯ" เจมส์กล่าวเสริม
นอกจากเรื่องสัญชาติที่ทำให้สามารถรู้ว่านักเตะคนไหนมีแนวโน้มจะมาเล่นให้กับชาติได้แล้ว ข้อมูลส่วนตัว ยังเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้สามารถประเมินภาพรวมของทีมได้อีกด้วย
"เรามีบางสโมสรที่ใช้ข้อมูลของเราในทุก ๆ มุม" ทอม มาร์คแฮม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ SI กล่าวกับ PCGamer
"สโมสรแชมเปียนส์ลีกทีมหนึ่งที่ทำงานกับเรา ใช้มันประเมินสัดส่วนของทีม พวกเขาย้อนกลับไปดูข้อมูลเก่า และดูว่าจะชดเชยมันอย่างไร ผมกำลังพูดถึงสัญชาติ ผมกำลังพูดถึงคาแรคเตอร์ และพวกเขาก็จะใช้ค่าพลังในแง่ของการประเมิน"
"มีอีกทีมในพรีเมียร์ลีกที่ใช้ข้อมูลของเรา และสิ่งที่พวกเขาต้องการทั้งหมดคือข้อมูลส่วนสูงและน้ำหนัก เรามีสโมสรที่มาหาเราและต้องการละเอียดของค่าเหนื่อยและวันหมดสัญญา เรามี รอย ฮอดจ์สัน ตอนที่ทำงานกับสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ ที่พยายามหาใครซักคนที่ถือพาสสปอร์ตไอริช และมีโอกาสเล่นให้กับทีมชาติไอร์แลนด์"
ให้เกมช่วยตัดสิน (อนาคต)
บ่อยครั้งที่เราเห็น พอล ป็อกบา หน้าดำคร่ำเครียดอยู่กับแลปท็อปของเขา ยามทีมต้องเดินทางไปแข่งทางไกล เขาไม่ได้กำลังหาข้อมูลหรือแชทอยู่กับใคร แต่กำลังคุมทีมรักในเกม Football Manager
Photo : FFFTV
กองกลางแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเกมคุมทีมนี้ ทุกครั้งที่มีภาพของเขาปรากฎออกไป อย่างน้อยต้องมีรูปที่เขากำลังคุมทีมใน FM
เช่นเดียวกับ อองตวน กรีซมันน์ และ อุสมาน เดมเบเล สองนักเตะร่วมทีมชาติฝรั่งเศสที่ชื่นชอบเกมนี้ไม่แพ้กัน และบางทีมันอาจจะส่งผลในการตัดสินใจในชีวิตจริง
Photo : @ArsenalCentral/Twitter
"อุสมาน เดมเบเล เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาให้เกม Football Manager นี้เป็นตัวตัดสินว่าเขาจะไปเล่นที่ไหน" จาค็อบสันกล่าวกับ gameinformer
"ในขณะที่ บาเฟติมบี โกมิส ก็บอกว่าเขาตัดสินใจย้ายมาเล่นให้กับสวอนซี เพราะว่าพวกเขาเล่นให้กับสโมสรนี้ในเกม และคิดว่ามันน่าจะไปได้สวย"
"มันเป็นอะไรที่สากล ผมคิดว่าตอนนี้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาไปแล้ว"
ไม่เพียงแต่การใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลของการตัดสินใจของผู้เล่นบางคน FM ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางธุรกิจ เมื่อในเกมระบุค่าเหนื่อยของนักเตะแต่ละคนในทีมไว้อย่างละเอียด
"ผมได้ยินเรื่องนักเตะของทีมพรีเมียร์ลีกรายหนึ่ง ใช้ Football Manager เป็นเครื่องต่อรองในการต่อสัญญา เขาพูดว่าเอาล่ะผมรู้ว่านักเตะคนนี้ได้ค่าเหนื่อยเท่าไร และผมก็อยากได้จำนวนใกล้เคียงนั้น" เดวิสัน ทีมงานฝ่ายหาข้อมูลของ SI กล่าวกับ Telegraph
ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี นับตั้งแต่เกมนี้ได้อวดโฉมสู่สายตาชาวโลก จากเกมที่ไม่ได้มีกราฟฟิคเลิศหรู มีเพียงแค่ตัวหนังสือกับตัววิ่ง จนพัฒนามามีกราฟฟิคเคลื่อนไหว ทว่าจุดเด่นที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จนี้ไม่ใช่หน้าฉากเห็น แต่มันคือการทำงานอย่างหนักของเบื้องหลัง ในการหาข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุดมาบรรจุไว้ในเกม
มาวันนี้ Football Manager ได้ทำหน้าที่ไปไกลกว่าความเป็นเกม ฐานข้อมูลของพวกเขากลายเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีที่สุดและกว้างไกลที่สุดที่ทุกคนเข้าถึงได้แค่คุณมีเกมอยู่ในมือ โลกแฟนตาซีและโลกความจริงเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างแนบเนียน
Photo : www.redbull.com | SPORTS INTERACTIVE
"15 ปีที่แล้ว ไม่มีใครใช้ข้อมูลเลย" จาค็อบสันกล่าวกับ New York Times
"การที่ข้อมูลแพร่หลายอย่างในวันนี้มันน่าทึ่งมาก ผมคิดว่าเราได้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน (โลกความจริง) ไปแล้ว"
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา