28 ก.ย. 2020 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
รักของกษัตริย์กับหญิงเต้นกินรำกิน และจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของราชวงศ์
เรื่องเล่าถึงความรักครั้งแรกของซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่มีต่อนักบัลเล่ต์ในโรงละครหลวง “มาทิลด้า คเชสชินสก้า” จน ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พ่อของเขา ต้องสั่งให้ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ออกเดินทางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีรอบโลก เพื่อจะได้ลืมเธอคนนี้
ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ก่อนจะทรงเข้าพิธีอภิเษกกับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเฮลล์ เคยคบหากับนักบัลเลต์ดาวรุ่งแห่งโรงละครหลวงนามว่ามาทิลด้า คเชสชินสก้า มาก่อน ซึ่งการพบกันของทั้งสองเกิดขึ้นในปี 1890 โดยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พ่อของเจ้าชายนิโคลัส เป็นคนแนะนำลูกชายให้รู้จักกับมาทิลด้าเมื่อครั้นร่วมงานเต้นรำประจำปีของโรงเรียนบัลเลต์หลวง
มาทิลด้า คเชสชินสก้า รักแรกของซาร์นิโคลัสที่2
เล่ากันว่าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ตั้งใจให้ลูกชายสานสัมพันธ์กับนักบัลเลต์สาว เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กหนุ่มผู้ไม่รู้เดียงสาได้รู้จักความรัก ได้หาประสบการณ์ก่อนแต่งงานกับเจ้าสาวที่คู่ควร แต่สำหรับนิโคลัสแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น นิโคลัสและมาทิลด้าตกหลุมรักกันในครั้งแรกที่พบ และมักเดินทางไปหามาทิลด้าที่บ้านทุกคืน และกลับไปเมื่อรุ่งเช้า
ในไดอารี่ของมาทิลด้าเต็มไปด้วยเรื่องราวของนิโคลัส ในขณะที่ไดอารี่ของนิโคลัสในช่วงปี 1892-93 ก็เต็มไปด้วยความรักที่มีต่อเธอเช่นกัน ‘ฉันกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ได้แต่ร้องไห้ด้วยหัวใจที่ปวดร้าว รู้ดีว่าความรักนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ก็รักเจ้าชายมากเหลือเกิน ชีวิตนี้คงไม่อาจลืมพระองค์ได้’
ไดอารี่ของมาทิลดา
‘ทรงมีรับสั่งว่าอยากแต่งงานกับฉัน ซึ่งฉันต้องปฎิเสธทุกครั้งไป ทรงพูดอยู่บ่อยครั้งว่า มีแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เท่านั้นที่สวยงามและคุ้มค่า’
รูปวาดนิโคลัส ในไดอารี่ของมาทิลดา
แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องจบเมื่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เริ่มรู้สึกถึงความรักที่มากเกินไปของลูกชาย จึงมีรับสั่งแยกทั้งสองออกจากกัน โดยสั่งให้เจ้าชายไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นเวลา 9 เดือน
1
ว่ากันว่าซาร์นิโคลัสที่ 2 เกรงกลัวพ่อเป็นอย่างมาก โดยซาร์อล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงเกลียดความอ่อนแอ และไม่ชอบให้ใครมาร้องไห้ให้เห็น ซึ่งต่างจากเขาเองอย่างสิ้นเชิง ทั้งหัวอ่อน ไม่มีความเป็นผู้นำ หลายครั้งที่สมาชิกกในราชวงศ์เริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องขึ้นมาปกครอง ราชวงศ์โรมานอฟจะเป็นเช่นไร
อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในเขตชนบทที่ลานพระราชวังเปตรอฟสกีในมอสโก
หลังจากถูกจับแยกกันแล้ว มาทิลด้าใช้ชีวิตในฐานะนักบัลเลต์ดาวเด่นของโรงละครหลวง เธอมีสัมพันธ์กับสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟอีกสองคน คือ แกรนด์ดยุก เซอร์เกย์ มิคาเอลวิช และ แกรนด์ดยุก อันเดร วาลาดิโมวิช เชื่อว่ามาทิลด้าไม่ได้มีความรักกับทั้งสอง แต่ทำเพื่อรักษาเส้นสายกับราราชวงศ์ ต่อมาเธอแต่งงานกับ แกรนด์ดยุก อันเดรและมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน
นิโคลัสได้ออกเดินทางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทั่วทั้งเอเชีย ในปี1890 ศึกษาการเมืองการปกครอง ดูวัฒนธรรมของเหล่าชาติในเอเชีย ซึ่งในการท่องเที่ยวครั้งนี้พระองค์ไปพร้อมกับ น้องชายแกรนด์ดยุคจอร์ช อเล็กซานโดรวิช และลูกพี่ลูกน้องเจ้าชายจอร์ชแห่งกรีกและเดนมาร์ก โดยทั้งสามคนได้เดินทางไปยังประเทศอียิปต์เป็นที่แรก ต่อด้วยประเทศอินเดีย สิงคโปร์ รวมถึงสยามด้วย โดยนิโคลัสได้เข้าพบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ซึ่งทางสยามได้จัดงานต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ไว้เรื่องนี้จะมาเล่าต่อในครั้งต่อไป
นิโคลัสได้เข้าพบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5
แต่การเดินทางทั่วเอเชียของนิโคลัสไม่ได้ราบรื่น ในปี 1891 เขาได้พบกับเหตุการณ์การลอบสังหารเมื่อเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น โดยนายซูดะ ซานโช (Tsouda Santso) พุ่งดาบใส่นิโคลัส แต่ดาบเฉียดไปจนทำให้เกิดเพียงรอยแผลเล็กๆ บริเวณหน้าผากด้านขวา เจ้าชายจอร์ชแห่งกรีซและเดนมาร์ก ญาติผู้พี่และผู้ติดตามรีบเข้ามาคุ้มกัน เขาใช้ไม้ปัดป้องดาบ ทำให้นายซันโซตัดสินใจหลบหนี แต่ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ แผลของนิโคลัสมีความยาวราว 9 เซ็นติเมตร
ภาพขยายจากหน้าหนังสือพิมพ์ Le Progrès Illustré
ทำไมถึงต้องลอบสังหารนิโคลัส ต้องย้อนความไปก่อนว่า ก่อนเกิดการลอบสังหารครั้งนี้ รัสเซียมีโครงการสร้างทางรถไฟขนาดเมกะโปรเจค (ทรานไซบีเรียเชื่อมมอสโคว กับภูมิภาคตะวันออกไกลและทะเลญี่ปุ่น) ทำให้กระทบต่ออิทธิพลของญี่ปุ่นในจีนและเกาหลี ซึ่งโครงการดังกล่าว ญี่ปุ่นที่เป็นพวกชาตินิยม มักจะต่อต้านชาวตะวันตก ซึ่งในปี 1868 ซามูไรรับจ้างได้บุกทำร้ายเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงโตเกียวมาแล้ว
เจ้าชายอุคทอมสกี้ หนึ่งในผู้ร่วมขบวนเสด็จและอยู่ในเหตุการณ์ลอบสังหารในครั้งนั้น กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเพียงความโกรธแค้นต่อชาวต่างชาติของคนญี่ปุ่น แต่น่าจะเป็นที่การเกลียดชังชาวรัสเซียโดยตรง อีกทั้งผู้ก่อเหตุทำหน้าที่เป็นตำรวจมา 8 ปี และเคยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองบ่อยครั้ง จึงน่าจะมีความเบื่อหน่ายชาวต่างชาติเป็นทุนเดิม เมื่อได้เห็นรัชทายามของรัสเซียได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกอาจเกิดความอิจฉาริษยา จนเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่
อเล็กซานเดอร์ เมเชราคอฟ นักประวัติศาสตร์รัสเซีย ให้ความเห็นว่า “เขาน่าจะมีปัญหาทางจิต อาการป่วยของเขาทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจนอยากโจมตีชาวตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่น”
เหตุการณ์ที่ว่า แน่นอนต้องสร้างความตึงเครียดให้กับราชวงศ์ทั้งสองฝั่ง ทั้งญี่ปุ่นและรัสเซีย โดยจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินี ส่งโทรเลขแสดงความเสียใจถึงซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซารีนามาเรีย ทรงออกหัตถเลขาพิเศษความว่าจะรีบตัดสินคดีและให้ความยุติธรรมกับราชวงศ์รัสเซียอย่างเร็วที่สุด
เสื้อเปื้อนเลือดในวันเกิดเหตุ
ทั้งนี้ ซูดะ ซานโช ผู้ก่อเหตุ ถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่กลับเสียชีวิตลงหลังมีคำพิพากษาได้เพียง 4 เดือน โดยได้มีการยืนยันทางการแพทย์ หรือแจ้งสาเหตุการตายต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
รัสเซียไม่ได้ให้ความสนใจกับการตัดสินคดีครั้งนี้มากนัก และไม่ได้ออกมาว่ากล่าวอะไรหลังนายซันโซรอดโทษประหาร หนังสือพิมพ์ Minichi Shimbun ออกมายกย่องราชวงศ์รัสเซียว่า ‘เราไม่มีอะไรจะพูดนอกจากยกย่องในความใจกว้างและท่าทีสงบเยือกเย็นของราชวงศ์รัสเซีย รัสเซียปล่อยให้กิจการในญี่ปุ่นดำเนินไปตามอำนาจภายใน แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไว้ใจและให้เกียรติญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก หวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะดำเนินไปเช่นนี้อีกยาวยาน’
และเมื่อนิโคลัสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ในปี 1896 ซาร์นิโคลัส ที่ 2 ต้องขยายอำนาจของรัสเซียให้มากขึ้น
ซาร์นิโคลัส ที่ 2 ขึ้นครองราชย์
ในปี 1904 ซาร์นิโคลัส ที่ 2 เลือกที่จะทำสงครามด้วยก็คือ ญี่ปุ่น โดยมีเชื่อว่าการพยายามลอบสังหารดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจเข้าสู่สงครามของนิโคลัสหลังขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์
ตอนนั้นใครเล่าจะรู้ว่ารัสเซียจะพลาดท่า ทั้งกองกำลังทหารประจำการที่ใหญ่ที่สุดในโลกมากถึง 1.35 ล้านคน มีกำลังกระจัดพลัดพรายอยู่ทั่วแมนจูเรีย ชายฝั่งแปซิฟิก และภูมิภาคไบคาล เรือรบมากถึง 63 ลำ มีเรือประจัญบาน 7 ลำ เรือลาดตระเวน 11 ลำ ส่วนญี่ปุ่นมีกำลังทหารแค่ 3.75 แสน ปืนใหญ่ 1,140 กระบอก เรือรบ 80 ลำ เรือประจัญบาน 6 ลำ และเรือลาดตระเวน 20 ลำ แต่เมื่อสงครามจบลงไม่ใช่รัสเซียที่ชนะ แต่เป็นการแพ้ราบคาบ ทหารเรือรัสเซียตายครึ่งหมื่น ทหารญี่ปุ่นตาย 116 คน ในยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ
และการพ่ายแพ้สงครามญี่ปุ่นในครั้งนั้น ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนรัสเซียเป็นอย่างมาก จนเป็นฉนวนให้ราชวงศ์ต้องสั่นคลอน
1
การล่มสลายของระบอบกษัตริย์รัสเซีย : ราชวงศ์โรมานอฟ (https://www.blockdit.com/articles/5f709c364317fb0cb7ecf1f8)
โฆษณา