29 ก.ย. 2020 เวลา 12:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นิวซีแลนด์กำลังพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ระยะไกลแบบไร้สายโดยใช้ Beam
แน่นอนว่าเราคงรู้จักอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สายที่เพียงแค่วางอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือสมาร์ทโฟนเอาไว้ ก็สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ทันที และทุกวันนี้ หลายๆ ประเทศก็มีการใช้เทคโนโลยีชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สายอย่างแพร่หลาย เช่น ในประเทศอังกฤษ เมือง Milton Keynes และประเทศจีน เมืองฉงชิ่ง รถเมล์สามารถชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สายได้ แต่ยังคงอยู่ในระยะที่จำกัด หรือใกล้มาก ๆ แล้วถ้าเรากำลังจะสามารถชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สายแต่ระยะไกลมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ล่ะ?
ในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท Emrod ได้พัฒนาวิธีส่งกระแสไฟฟ้าระยะไกลแบบไร้สายและมีความปลอดภัย โดย Emrod นั้นเป็นบริษัท Start Up จากประเทศนิวซีแลนด์ที่ให้บริการด้านการส่งพลังงานไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศนิวซีแลนด์ และ Emrod ยังเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Royal Society Award อีกด้วย
ตัวต้นแบบของ Emrod สามารถส่งกระแสไฟ 2 – 3 วัตต์ได้ในระยะ 40 เมตร และในอนาคตจะส่งได้ถึง 2 – 3 กิโลวัตต์ในระยะทางที่มากขึ้น หากนึกภาพไม่ออกว่ากระแสไฟมากน้อยยังไง ลองเทียบกับการชาร์จ iPhone ปกติจะใช้กำลังไฟประมาณ 10 – 12 วัตต์ในการชาร์จไฟนั่นเอง (แอดลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาตอนนี้ก็มีบริษัทญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเหมือนกันแต่ยังไม่มีแปลเป็นภาษาอังกฤษ)
การส่งกระแสไฟฟ้าจะส่งในลักษณะลำแสง (Beam) ตรงไปยังปลายทาง โดยมีม่านเลเซอร์ (Low Power Laser Safety Curtain) ที่จะทำการหยุดระบบเมื่อพบวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตผ่านเข้ามา และลำแสงหลักที่ส่งพลังงานนั้นเป็นรังสีไม่ก่อประจุ (Non-Ionizing Radiation) ไม่เป็นอันตรายในการสัมผัสระยะสั้น เหมือน แสงอาทิตย์ แสงอินฟราเรด คลื่นไมโครเวฟ และคลื่นวิทยุ เป็นต้น
หากมนุษย์สามารถสร้างอุปกรณ์ส่งกระแสไฟฟ้าระยะไกลแบบไร้สายได้สำเร็จและใช้งานได้อย่างปลอดภัย คงจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นการที่เราไม่ต้องมีสายไฟตามทางเดิน หรือไม่จำเป็นต้องมีที่ชาร์จรถยนต์ข้างถนน แล้วความต้องการของทองแดงเพื่อมาทำสายไฟก็จะลดลง การทำเหมืองก็จะลง และช่วยฟื้นคืนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมา
โฆษณา