3 ต.ค. 2020 เวลา 13:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ECONOMY INSIGHT : หลังจากใช้เงินไปเกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์ เหล่าผู้กำหนดนโยบายทางการเงินและผู้บริหารความมั่งคั่งกำลังต้องเผชิญกับปัญหาใหม่
เมื่อ Son Heung-Min กองหน้าของสโมสรฟุตบอล Tottenham Hotspur ได้เตะลูกบอลเข้าหลังตาข่ายในช่วงต้นครึ่งหลังสำหรับการแข่งขันกับ Crystal Palace เมื่อเดือนเมษายนปี 2019 เขาได้จารึกชื่อของเขาไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้เล่นคนแรกที่ทำประตูให้กับ Stadium แห่งใหม่ซึ่งมีที่นั่งสำหรับผู้เข้าชม 62,000 คน
แต่ไม่ถึง 1 ปีหลังจากที่ทีมของเขาคว้าชัยชนะ 2-0 ในวันนั้น สนามกีฬามูลค่า 1 พันล้านปอนด์ (1.3 พันล้านดอลลาร์) ก็ว่างเปล่าอย่างน่าประหลาดใจเนื่องจากการ Lockdown เพื่อควบคุม COVID-19 ทำให้กีฬาและชีวิตปกติส่วนใหญ่ทั่วสหราชอาณาจักรต้องหยุดชะงักลง
ต่อมาในเดือนมิถุนายน Tottenham Hotspur ก็ได้กลายเป็นสโมสรแรกในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษที่ได้รับการสนับสนุนจาก Bank of England (BOE) โดยพวกเขาได้รับเงินมูลค่า 175 ล้านปอนด์จากการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (commercial-paper) ของ BOE เพื่อช่วยรองรับการสูญเสียของรายได้กว่า 200 ล้านปอนด์จากการแข่งขันที่ถูกยกเลิกและเหตุการณ์อื่น ๆ ในระหว่างนั้นถึงเดือนมิถุนายนของปี 2021
แม้ว่าการสนับสนุนของ BOE สำหรับ Spurs นั้นฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และธนาคารกลางก็ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันเดียวที่ดำเนินการช่วยเหลือพิเศษเพื่อรับมือกับการระบาด
นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เข้าซื้อหนี้องค์กรจำนวนมากที่ออกโดยผู้กู้ระดับ Blue-Chip* อย่าง Apple Inc. รวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรขยะ (Junk Bond) จากบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง
* Blue-Chip หมายถึงบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและมีความน่าเชื่อถือ
ส่วนธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ซึ่งถือเป็นต้นแบบสำหรับธนาคารกลางทั่วโลก หลังจากกว่า 2 ทศวรรษของการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพิเศษที่มีการเข้าซื้อพันธบัตรของบริษัทมากมายภายในประเทศ ล่าสุดก็ได้เปิดตัวแพ็คเกจการสนับสนุนเงินกู้สำหรับธุรกิจมูลค่า 9.4 แสนล้านดอลลาร์
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้ทำการเจาะลึกลงไปในชุดเครื่องมือทางการเงินของพวกเขา เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจาก COVID-19
การระบาดของไวรัสได้ทำให้ผู้คนละทิ้งความคิดที่ว่าธนาคารได้สนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว แต่กลับเร่งการเปลี่ยนแปลงมุมมองของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการเงินให้มุ่งเน้นไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/เศรษฐกิจ และผลกระทบอื่น ๆ โดยปล่อยให้ขอบเขตของการกลับไปดำเนินนโยบายที่เรียบง่ายนั้นลดน้อยลงเรื่อย ๆ
นี่คือผลสืบเนื่องจากนโยบายที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 และมันยังผลักดันให้ธนาคารกลางต้องเข้าสู่ดินแดนที่มีการทรยศทางการเมืองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดย Stephen King ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับอาวุโสของ HSBC Holdings Plc กล่าวว่า
"ยิ่งคุณให้งานกับธนาคารกลางมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะต้องรับมือกับการแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับตัวเลือกทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น"
"ในอดีตกาลนั้น นโยบายการเงินเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาเป็นอย่างมาก และเครื่องมือเดียวที่นายธนาคารกลางใช้ก็คือ "การปรับอัตราดอกเบี้ย" โดยมีวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวเช่นกันคือ "เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา"
เมื่อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก ธนาคารกลางทั่วโลกได้สนับสนุนตลาดการเงินด้วยการอัดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ (Q.E. และการเข้าซื้อหนี้ของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาล) เพื่อช่วยสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาล
การกระตุ้นอย่างสายฟ้าแลบนั้นรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยถึง 164 ครั้งภายใน 147 วันตามการนับโดย Bank of America Corp. ซึ่งทำให้โดยรวมแล้วธนาคารกลางทั่วโลกมีการพิมพ์เงินออกมาถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลก็ได้เพิ่มมาตรการกระตุ้นทางการคลังอีก 11.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วจึงคิดเป็นเกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์
สิ่งที่ทำให้วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากขึ้นก็คือ ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดนั้น ได้มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศทั่วโลกได้อยู่ในระดับต่ำมากมานานแล้ว (แม้ว่าจะยังไม่เกิดการระบาดขึ้น) และก็ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อมั่นว่าการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจะเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากผลลัพธ์ของการ Q.E. และการปรับอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 มานั้นก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอที่จะปัดเป่าภัยคุกคามจากความซบเซาทางเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากการแทรกแซงของธนาคารกลางในปีนี้ ตลาดทั่วโลกก็เริ่มฟื้นตัว และเมื่อถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หุ้นทั่วโลกก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากการที่บริษัทต่าง ๆ ได้รับเงินมาอย่างง่ายดายเป็นพิเศษ
"บันทึกจากการติดตามทั่วโลก และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางมีความสามารถที่กว้างขวางมากในการกำหนดเงื่อนไขทางการเงิน" Philip Lane สมาชิกคณะกรรมการบริหารและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าว โดยเธอเป็นผู้ริเริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารที่มีมูลค่า 1.65 ล้านล้านดอลลาร์
แต่สิ่งที่น่ากังวล และไม่มีความชัดเจนเพียงพอก็คือ ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) จะได้รับการสนับสนุนแบบเดียวกันกับในตลาดหุ้นหรือไม่ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Christine Lagarde ประธานสูงสุดของ ECB ต้องออกมากล่าวเตือนรัฐบาลยุโรป ว่าการที่พวกเขาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาค Real Sectors ได้นั้นทำให้มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่รุนแรงกว่าเดิม
ในทำนองเดียวกัน Jerome Powell ประธานของ FED ก็ได้พูดถึงขีดจำกัดของความสามารถของพวกเขา โดยเน้นว่าพวกเขาสามารถอยู่ในฐานะผู้ปล่อยกู้ได้ แต่จะไม่สามารถอยู่ในฐานะผู้ใช้จ่ายได้ แม้ว่าก่อนที่จะเกิดโรคระบาด Powell จะยังรู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ FED ได้ทำในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการผลักดันอัตราการว่างงานสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่ 3.5% ทำให้พวกเขายอมรับผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ เพื่อเข้าถึงชาวอเมริกันจำนวนมากซึ่งในอดีตเคยถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และในตอนนั้น การว่างงานของคนผิวดำและชาวลาตินอเมริกันก็ได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
แต่หลังจากนั้น โลกก็ได้กลับหัวกลับหาง โดย Amanda Cage ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแรงงานกล่าวกับ Powell ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าการว่างงานได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อปี 1930 ขณะที่ชนกลุ่มน้อยอย่างเช่นคนผิวดำและชาวลาตินอเมริกันที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำลง และแรงงานสตรีกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
Cage ซึ่งเป็นประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของ National Fund for Workforce Solutions ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่าเธอกำลังกลัวว่าจะมีงานหลายล้านตำแหน่งที่สูญเสียไปในภาคการบริการและการดูแลสุขภาพ ในช่วงวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะการจ้างงานที่ไม่ได้สัดส่วนสำหรับคนงานผิวสี
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวอีกว่าเธอเห็น "สึนามิ" ของการสูญเสียงานที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง กับภาคการปกครองย่อยของรัฐต่าง ๆ และภาครัฐบาลท้องถิ่น (state and local governments) ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับคนงานผิวดำเป็นจำนวนมาก
"ขณะที่วิกฤตดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังตาบอด" Cage กล่าว
(ภาพด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงการถือครองสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 ของเหล่าธนาคารกลางสำหรับการช่วยพยุงเศรษฐกิจโลก)
Patrick "Duke" Dujakovich ซึ่งเป็นอดีตนักดับเพลิงและปัจจุบันเป็นประธานของ Greater Kansas City AFL-CIO ได้เข้าร่วมในงาน Fed Listens เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (โดยเขาเป็นสมาชิกของคณะกรรมการของ Federal Reserve Bank of Kansas City เช่นกัน) และเขาได้ยกย่องธนาคารกลางสำหรับการตอบสนองต่อ COVID-19 แต่เขาก็ได้ส่งต่อข้อความที่เขาได้รับจากกลุ่มคนงานให้แก่ที่ประชุมว่า
"FED พูดถึงเสถียรภาพของราคาและเสถียรภาพในตลาดการเงินทั้งหมด แต่เราไม่เคยพูดถึงเสถียรภาพในการจ้างงาน ซึ่งบางที นั่นควรจะเป็นจุดสนใจอย่างหนึ่งของเรา"
Jared Bernstein นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ Joe Biden และ Janelle Jones กรรมการผู้จัดการด้านนโยบายและการวิจัยของ Groundwork Collective ได้เรียกร้องให้ FED กำหนดเป้าหมายอัตราการว่างงานของคนผิวดำเมื่อทำการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งต่อไป เพื่อลดช่องว่างในอัตราการว่างงานเมื่อเทียบกับคนผิวขาว
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัฎจักรการขยายตัวทางเศรษฐกิจในรอบก่อน พบว่าอัตราว่างงานของคนผิวดำสูงกว่าคนอเมริกันผิวขาวประมาณ 2.5% ขณะที่ Aaron Klein แห่ง Brookings Institution ซึ่งเป็นองค์กรระดับมันสมองของประเทศกล่าวว่าปฏิกิริยาต่อการแพร่ระบาดนั้นไม่ได้อยู่ในความสมดุลเลย
"COVID-19 คือภัยพิบัติสำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยเฉพาะครอบครัวของคนสีผิว แต่ทางออกของเราคือการช่วยเหลือตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนระดับ Hi-End ที่มีความร่ำรวยอยู่ก่อนแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวขาว)"
ในการสัมมนาทางเว็บของมหาวิทยาลัย Princeton เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Powell ได้ปฏิเสธอย่างฉุนเฉียวในข้อหาที่ว่านโยบายของ FED กำลังขยายช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน โดยกล่าวว่า FED นั้นพุ่งเป้าไปที่การฟื้นฟูตลาดแรงงานเป็นหลักอยู่แล้ว และยังเป็นนโยบายที่มีอยู่ก่อน COVID-19 จะเกิดขึ้น
ในการทำสิ่งอื่น ๆ เพื่อ Real Sectors นั้น Powell และผู้กำหนดนโยบายคนอื่น ๆ ได้จัดทำโครงการสินเชื่อให้แก่ธุรกิจหลักของประเทศ (Main Street) เมื่อต้นปีนี้ โดยรับประกันการชำระเงินถึง 95% ของมูลค่าเงินกู้ที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีความเหมาะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ใช้เงินที่สภาคองเกรสจัดสรรให้เป็นจำนวน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสำรองไว้สำหรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ของพวกเขา
แต่ปัจจุบันโปรแกรมสนับสนุน Main Street ได้ชะลอตัวลง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงการคลังไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนอย่างใจกว้างมากเกินไป ทำให้พวกเขาปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจไปเพียง 8 แห่ง ณ วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามรายงานของธนาคารกลาง โดยผู้กู้รายใหญ่ที่สุดที่พวกเขาเปิดเผยคือคาสิโนใน Mount Pocono รัฐ Pennsylvania ซึ่งได้รับเงินไปถึง 50 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นจำนวนเงินสูงสุดที่อนุญาตภายใต้วงเงินสินเชื่อของโปรแกรมดังกล่าว
(กราฟด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านช่องทางใดบ้าง)
ในความพยายามที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ว่ามาตรการของพวกเขาได้เอื้อประโยชน์ต่อคนรวย ทำให้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา FED ได้เปิดตัวกลยุทธ์นโยบายการเงินระยะยาว โดยมุ่งเป้าไปที่การบรรลุเป้าหมายของการจ้างงานสูงสุดอย่างกว้างขวางให้เท่าเทียมกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ยังใช้แนวทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อโดยกล่าวว่า FED จะยอมรับในการเพิ่มขึ้นของราคาที่ระดับเงินเฟ้อเหนือเป้าหมาย 2% โดยเฉลี่ยเป็นการชั่วคราว ซึ่งอาจฟังดูเล็กน้อย แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือว่ามีนัยสำคัญในกรอบการดำเนินงานของ FED ส่วนอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำลงไปอีกนาน
ECB นั้นประสบความสำเร็จมากกว่า FED ในการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับธุรกิจ โดยใช้โปรแกรมที่เปิดตัวเมื่อ 6 ปีที่แล้วเมื่อมีการต่อสู้กันในสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาการจัดหาเงินทุนมากกว่าสหรัฐอเมริกา
แทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น และหวังว่าสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นผ่านการกู้ยืมเงิน พวกเขาได้ใช้นโยบายที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษในระยะยาว และมีการระดมทุนระยะยาวให้กับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ โดยเงื่อนไขคือการปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทและครัวเรือนต่าง ๆ โดยไม่รวมถึงการจำนองสินทรัพย์ และขณะนี้โปรแกรมดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านยูโรซึ่งมากกว่า 1 ใน 10 ของ GDP ทั้งภูมิภาค
"เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากขึ้น ในวิธีที่นายธนาคารกลางเข้าใจภารกิจและบทบาทของตน" Annelise Riles ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและมนุษยวิทยาแห่ง Northwestern University กล่าว
Riles ได้สังเกตว่านายธนาคารกลางดูเหมือนจะตระหนักถึงความจำเป็นในการอธิบายการกระทำของตนและการตอบสนองต่อความกังวลของประชาชนทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤต COVID-19 และนอกจากนี้ยังเป็นเพราะความสนใจจากประชาชนที่เพิ่มขึ้นในช่องทางต่าง ๆ เช่นโซเชียลมีเดีย
เธอใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการศึกษาพฤติกรรมของธนาคารกลาง ซึ่งมีความน่าสนใจนับตั้งแต่การกำหนดบทบาทนโยบายการเงินของพวกเขา ในการทำให้วิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 สงบลง
ในการทบทวนเชิงกลยุทธ์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 ECB ได้วางแผนที่จะจัดกิจกรรมซึ่งคล้ายกับ Fed Listens ในปีนี้ แต่การระบาดใหญ่ทำให้ Lagarde ซึ่งเป็นประธานต้องตัดสินใจเลื่อนออกไป โดยกล่าวว่าเธอต้องการให้ธนาคารกลางคิดถึงประเด็นยอดนิยมอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
สำหรับการพึ่งพาธนาคารกลางนั้น ไม่มีภาคส่วนไหนที่เห็นได้ชัดเจนเท่ากับในตลาดการเงินโลก โดยธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง (ซึ่งไม่รวมถึงธนาคารประชาชนจีนหรือ the People’s Bank of China) ในปัจจุบันได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งสูงกว่าระดับก่อนปี 2008 ถึง 4 เท่า
ตามการวิเคราะห์ของ JPMorgan Chase & Co. ระบุว่าการถือครองทรัพย์สินของพวกเขาเหล่านี้มีแต่จะเติบโตขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพวกเขาประเมินว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 มานี้ FED, BOE, ECB และ BOJ มีการขยายงบดุลเกือบ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์
ยิ่งไปกว่านั้น การซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมและนโยบายการผ่อนคลายสินเชื่อ คาดว่าจะเพิ่มงบดุลของธนาคารเหล่านี้จาก 21.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 57% ของ GDP ภายในประเทศเป็นเกือบ 27 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 67% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2021
"ฉันไม่คิดเลยว่า การประชุมตอนเช้าของเราจะต้องใช้เวลา 15 นาทีแรกของทุกวันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ธนาคารกลางกำลังทำอยู่" Stephen Diggle ผู้บริหารกองทุน Artradis Fund Management กล่าว
เขาเป็นคนแรก ๆ ที่รับรู้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธนาคารกลางจะช่วยส่งเสริมตลาดและธุรกิจได้อย่างไร โดย Diggle ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดเพื่อทำกำไร จนในที่สุดพอร์ตของเขาก็กลายมาเป็นกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
Artradis Fund Management ทำเงินถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์จากการเดิมพันเกี่ยวกับความผันผวนในช่วงวิกฤตการเงินโลก ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดกำลังตกต่ำ
และในปี 2010 กลยุทธ์ดั้งเดิมของเขาได้สิ้นสุดลง เนื่องจากธนาคารกลางรายใหญ่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยและใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Q.E.) ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องอย่างท่วมท้น และทำให้เกิดความผันผวนรูปแบบใหม่ขึ้นในกระบวนการ
ดังนั้น Diggle จึงเลิกกิจการของ Artradis และในปี 2011 เขาได้จัดตั้งบริษัททางด้าน Family offices* ชื่อว่า Vulpes Investment Management Pte เพื่อจัดการความมั่งคั่งของตนเองและทำงานร่วมกับ Family offices อื่น ๆ
* Family offices คือบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลที่เน้นให้บริการแก่นักลงทุนที่มีมูลค่าสุทธิสูงมาก (ultra-high-net-worth :UHNW) โดยพวกเขามีความแตกต่างจากบริษัทบริหารความมั่งคั่งแบบดั้งเดิมตรงที่พวกเขาจะนำเสนอรูปแบบทางออกทั้งหมดเพื่อจัดการปัญหาทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการจัดการด้านการเงินและการลงทุนของบุคคลหรือครอบครัวที่ร่ำรวย
คนรวยอย่าง Diggle สามารถลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐฯ และพันธบัตรอื่น ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและปลอดภัย จากนั้นจึงเพิ่มผลกำไรด้วยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างเช่นตราสารทุนหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลกขึ้น พันธบัตรนั้นให้รายได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากธนาคารกลางพยายามควบคุมอัตราผลตอบแทนของพวกมัน ทำให้กองทุนของ Diggle ต้องมุ่งสู่กลยุทธ์ใหม่ในการลงทุน
ยกตัวอย่างเช่นการที่ Vulpes เลือกลงทุนในฟาร์มอะโวคาโดที่ใหญ่ที่สุดของ New Zealand ซึ่งเป็นการเพาะปลูกที่ประสบความสำเร็จและสามารถครอบคลุมต้นทุน รวมถึงคืนเงินปันผลให้กับนักลงทุนโดยในระดับที่พันธบัตรทุกวันนี้ไม่สามารถทำได้
"มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรากำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหานี้ ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้เรากำลังทำตัวเป็นเกษตรกร" Diggle บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเคยทำงานที่ Lehman Brothers ก่อนที่จะร่วมก่อตั้ง Artradis กล่าว
การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรของ Diggle เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นลักษณะเดียวกันกับการที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการของพวกเขาต่อไปในการพยุงเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ GDP และอัตราเงินเฟ้อต่ำมาตลอดเกือบ 4 ทศวรรษนับตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อทรัพย์สินภายในประเทศของ BOJ เพื่อช่วยพยุงตลาดไม่ให้ล่มสลายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
และโดยการขยายตัวในอัตราที่ต่ำ (แม้ว่าความผันผวนจะต่ำเช่นกัน) จึงส่งผลกระทบต่อความดึงดูดใจนักลงทุน
อำนาจทางการเงินที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นของธนาคารกลาง เป็นสาเหตุของความไม่พอใจอย่างมากสำหรับนักลงทุนอย่าง Diggle โดยเขากล่าวว่า "ตลาดในบางส่วนนั้นไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป เพราะคุณกำลังเล่นโป๊กเกอร์กับผู้ชายที่สามารถสร้างชิปของตัวเองได้ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แย่มาก"
(ความหมายตรงนี้คือนักลงทุนกำลังเดิมพันเงินของพวกเขา แข่งกับธนาคารกลางซึ่งสามารถพิมพ์เงินออกมาเพื่อควบคุมตลาดไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการได้)
ตำราทางเศรษฐศาสตร์ในอดีต บอกเราว่าเงินที่พุ่งออกมาจากธนาคารกลาง ในที่สุดควรทำให้ผู้คนกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง ส่วนธุรกิจต่าง ๆ ก็จะจ้างงานเพิ่มขึ้น และในอนาคตจะผลักดันให้เกิดการเพิ่มขึ้นของราคา ค่าแรง และการบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จากนั้นธนาคารกลางจะชะลอการแทรกแซง และหยุดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของพวกเขา และอาจผ่อนคลายอีกครั้งเมื่อการฟื้นตัวแข็งแกร่งเพียงพอแล้ว
แต่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจล่าสุดกำลังบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป
หลังจากการเข้าซื้อหนี้สาธารณะมานานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ปัจจุบัน BOJ มีขนาดงบดุลที่ใหญ่กว่า GDP ของประเทศเสียอีก และอัตราเงินเฟ้อก็กลับมาอยู่ที่ 0% ส่วน FED และ ECB ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากเศรษฐกิจของพวกเขากำลังเป็นไปตามวิถีทางของญี่ปุ่น ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือแม้แต่หลาย 10 ปีก่อนที่พวกเขาจะสามารถกำหนดข้อจำกัดในโครงการ Q.E. ครั้งนี้ได้
หากมีใครกำลังคาดหวังว่าอำนาจของธนาคารกลางจะสามารถกลับไปสู่ช่วงก่อนปี 2008 ได้ เราก็คงต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า Demand ที่เศรษฐกิจโลกมีต่อพวกเขากำลังเพิ่มขึ้นและจะพัฒนาไปในรูปแบบที่ท้าทายให้พวกเขาเข้ามาควบคุมตลาดมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแก้ไขวิกฤตการเงิน การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การหลีกเลี่ยงการล่มสลายทางกระบวนการที่เกิดจากการระบาดใหญ่ การฟื้นฟูอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการต่อสู้กับความไม่สมดุลทางรายได้และความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ
และด้วยการที่ธนาคารกลางนั้นมีบทบาทใกล้ชิดกับอำนาจของรัฐบาล ดังนั้นความเป็นอิสระจากนักการเมืองจึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา แม้ว่าการร่วมมือกันของหน่วยงานทั้ง 2 ในช่วงวิกฤตจะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือในกรณีที่ธนาคารกลางเหล่านั้นถูกควบคุมโดยอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดึงเอกราชของพวกเขากลับคืนมาเมื่อวิกฤตสิ้นสุดลง
ส่วนสถานการณ์ที่มีความหวังต่อนักลงทุนก็คือ หากผลกระทบของการระบาดใหญ่จางลงและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง ก็อาจมีวิธีที่หน่วยงานทางการเงินจะยังคงผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นายธนาคารกลางยืนยันว่าพวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้
Lane แห่ง ECB กล่าวว่าความท้าทายจริง ๆ นั้นอาจมีไม่มากเท่าความกังวลที่เกิดขึ้น แต่ก็ได้ยอมรับว่าการฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้ อาจเป็นกระบวนการที่ยาวนานและไม่ราบรื่น หากนักการเมืองยังคงพึ่งพาอำนาจของธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
ในกระบวนการนี้ Teresa Kong ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของ Matthews Asia ใน San Francisco กล่าวว่าโลกอาจจะเกิดการเสพติดที่เลวร้าย
"การสนับสนุนของธนาคารกลาง เป็นเหมือนยาเสพติดที่ยิ่งคุณรับมากเท่าไหร่ ความดื้อยาของคุณก็จะสูงขึ้น และการเสพติดของคุณก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่ามันจะต้องใช้เวลาอย่างมากในการพาเราออกจากสิ่งนี้"
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
อยากลงทุน อยากมีเงินเก็บอย่างจริงจัง แต่ไม่มีพื้นฐาน World Maker มีคอร์สเรียนดี ๆ มาแนะนำให้ครับ รายละเอียดคลิกเลย !!
โฆษณา