6 ต.ค. 2020 เวลา 13:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ECONOMY INSIGHT : ในสถาวะที่หนี้สูงและการเติบโตต่ำ ทำให้ตอนนี้เกือบทุกประเทศกำลังจะเข้าสู่ Lost Decades แบบญี่ปุ่นแล้วหรือยัง?
Lost Decades นั้นเป็นคำที่ใช้นิยามวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ราว 40 ปี) GDP ของญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตขึ้นเลย
สาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร? แล้วญี่ป่นมีวิธีดำเนินการอย่างไร? แล้วตอนนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า? ตามมาดูกันได้เลยครับ
Hiroshi Tsukakoshi ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้านายที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งมีอายุครบ 83 ปีในเดือนตุลาคมนี้ ได้กล่าวทักทายพนักงานของเขาเพื่อเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้คนและความปลอดภัยที่เขาสร้างขึ้นมากว่า 6 ทศวรรษสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท Ina Food Industry Co. โดยที่ไม่เคยมีการปลดพนักงานเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเขาก็ไม่ได้วางแผนที่จะทำเช่นนั้นในตอนนี้ แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression
Tsukakoshi บอกพนักงานของเขาอย่างน้อย 500 คนว่าจะไม่มีการปลดพนักงานเกิดขึ้น แม้ว่ายอดขายจะลดลงประมาณ 15% ในปีนี้ โดยพนักงานของ Ina Food จะได้รับเงินโบนัสรายปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงโบนัสในช่วงฤดูร้อนก็จะยังคงมีอยู่ "หากบริษัท เติบโตขึ้นด้วยความผันผวนที่ไม่มากเกินไป" นอกจากนี้ยังกล่าวว่า "ผู้คนต่างหวาดกลัวมากขึ้นและไม่สบายใจเมื่อพวกเขาจะถูกไล่ออก ดังนั้นจึงต้องรักษาการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้พนักงานของเขามีความสุข"
แนวทางในการทำธุรกิจดังกล่าว ทำให้ Ina Food ซึ่งบริษัทผลิตสารคล้ายเจลาตินที่เรียกว่าวุ้นจากสาหร่าย (agar from algae) กลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำของญี่ปุ่นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
แม้แต่ Akio Toyoda ประธานของ Toyaota Motor Corp. ก็เคยได้ไปเยี่ยมชม Ina Food และนำแนวทางการบริหารจัดการของ Tsukakoshi มาใช้
Ina Food แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ซึ่งค่อนข้างเป็นจะเป็นอุดมคติสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และยังเป็นมุมมองที่ดีต่อหลายประเทศทั่วโลกที่อาจตกอยู่ในสภาวะที่คล้ายคลึงกับญี่ปุ่นในช่วง Lost Decades
โดยสภาวะเช่นนี้มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 อย่างคือ
(1.) หนี้ที่สูง
(2.) การกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด
(3.) การเติบโตของ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ
แม้ว่าเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแทบจะไม่เติบโตเลย แต่พวกเขาก็ยังคงมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีอัตราว่างงานเพียง 2.9% ในเดือนกรกฎาคม 2020
เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ผู้กำหนดนโยบายระดับโลกต่างก็มองว่ากรณี Lost Decades ของญี่ปุ่นควรถือเป็นแบบอย่างที่เตือนใจมากกว่าที่จะเป็นแบบอย่างทางเศรษฐกิจซึ่งพวกเขาจะดำเนินรอยตาม
แต่แล้ว การระบาดใหญ่ซึ่งทำลายงานไปหลาย 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ก็ได้ทำให้มุมมองดังกล่าวก็เปลี่ยนไป โดยนักเศรษฐศาสตร์บางคนเริ่มหันมาพิจารณาว่าแนวทางของญี่ปุ่นนั้นอาจเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 บริษัทหลาย 1,000 แห่งของญี่ปุ่นยังคงสามารถรักษาการจ้างงานในปีนี้เอาไว้ได้ (รวมถึงในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งต้องขอบคุณเงินกู้ราคาถูก (เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำ) และวัฒนธรรมการจ้างงานของพวกเขา
Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีกระมรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่า
"แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำของญี่ปุ่น การเติบโตของ GDP ต่ำ รวมถึงการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางและรัฐบาล ได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับประเทศในเขตยุโรปและสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ณ ตอนนี้"
ในช่วงหลายทศวรรษแห่งความซบเซาของญี่ปุ่น บริษัทต่าง ๆ ได้หันมาใช้การจ้างงานแบบ Part-Time รวมถึงการจ้างผู้รับเหมา และการจ้างคนงานตามฤดูกาล (จ้างชั่วคราวในช่วงที่มีงานเท่านั้น) เพื่อลดต้นทุนลง ทำให้ตัวเลขของคนงานชั่วคราวที่มีความมั่นคงในงานน้อยและได้รับสวัสดิการน้อย คิดเป็นประมาณ 40% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ซึ่ง 70% ในนั้นเป็นผู้หญิง
ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ซึ่งลาออกเมื่อกลางเดือนกันยายนเนื่องจากอาการป่วยเรื้อรังที่แย่ลง ได้ทำให้อัตราการจ้างงานในผู้หญิงอายุ 15 ถึง 64 ปีเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 71% ในปี 2019 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของนโยบายทางเศรษฐกิจของเขา
อย่างไรก็ตาม วิกฤต COVID-19 ได้เผยให้เห็นว่าการเจริญเติบโตเหล่านั้นสั่นคลอนเพียงใด โดยจำนวนงานที่จ้างแบบชั่วคราวลดลงมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าการจ้างงานประจำจะเพิ่มขึ้น 450,000 ตำแหน่ง ซึ่งสาเหตุมาจากบริษัทต่าง ๆ นั้นยึดติดกับการจ้างบัณฑิตจบใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ผลผลิตและนวัตกรรมในญี่ปุ่นล้าหลังเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเกาหลีใต้และจีนมานาน ขณะที่แผนการใช้จ่ายของรัฐบาลตลอดเกือบ 40 ปีที่ผ่านมานั้นล้มเหลวในการสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก
คำถามสำคัญในตอนนี้ก็คือ : กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะทำให้ธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางกระบาดของไวรัสได้หรือไม่?
ลักษณะที่โดดเด่นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือ : ในขณะที่รัฐบาลกำลังรับบทบาทเป็นผู้กู้ยืม (เพื่อมาซื้อทรัพย์สินภายในประเทศ) บริษัทต่าง ๆ ได้ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยการรักษาผลกำไรสะสมโดยรวมให้อยู่ที่ราว 459 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2020 หรือมากกว่า 90% ของ GDP โดยกำไรของพวกเขาเพิ่มขึ้น 72% นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2008
"Demand และ Supply ของเงินจะไม่สมดุลกัน เว้นแต่รัฐบาลจะใช้จ่ายจำนวนมาก และการระบาดของ COVID-19 ได้กำหนดให้รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นย้ำถึงแนวโน้มดังกล่าวต่อไป" Kazuo Momma อดีตผู้อำนวยการของ BOJ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัย Mizuho กล่าว
และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ : รูปแบบที่คล้ายกันกับญี่ปุ่นนั้นสามารถมองเห็นได้ทั่วโลก ณ ปัจจุบันนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดยังคงมีอยู่ และรัฐบาลต่าง ๆ ถูกกดดันให้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์
หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ คาดว่าจะเกินสถิติที่กำหนดไว้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในปี 2023 และหนี้รัฐบาลของอังกฤษได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 100% ของ GDP เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1963 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนในญี่ปุ่นซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงกว่า 200% ไปเรียบร้อยแล้วนั้น รัฐบาลไม่ได้คาดหวังว่างบประมาณของตนจะสมดุลจนกระทั่งอย่างน้อยสิ้นทศวรรษปัจจุบัน
สำหรับกรณีศึกษาของ Ina Food นั้น พวกเขามีเงินสดเพียงพอจากผลกำไรเพื่อให้พนักงานทุกคนมีเงินเดือนใช้ในปีนี้ เนื่องจากพวกเขาเป็นบริษัทเอกชนซึ่งไม่มีผู้ถือหุ้นที่เรียกร้องเงินปันผล
ส่วนบริษัทมหาชนหลายแห่งมีการทุ่มเงินไปค่อนข้างมาก โดย Akinobu Ogata ซึ่งเป็นประธานของ Nitto Kohki Co. บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นให้ใช้เงินสดจำนวนมากของบริษัทเพื่อเพิ่มเงินปันผล ขณะที่บริษัทมีกำไรสะสม 5.2 หมื่นล้านเยน ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของยอดขายรายปี และประมาณ 30 เท่าของเงินลงทุนในปีงบประมาณที่แล้ว
"เราปกป้องงานได้ 100%" Ogata วัย 66 ปีกล่าวถึงพนักงาน 1,000 คนของเขา ซึ่งบางคนยังคงได้รับค่าจ้างของพวกเขาแม้ว่าโรงงานได้ลดกำลังการผลิตลง และเราต้องการการเติบโตที่ยั่งยืน แม้ว่ามันจะดูน่าเบื่อและค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม"
ในอดีตจนถึงต้นทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถือเป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่าย โดยบริษัทต่าง ๆ ได้มุ่งเน้นการเข้าซื้อทรัพย์สินของสหรัฐฯ อย่างเช่น Pebble Beach Golf Links ในแคลิฟอร์เนียและ Rockefeller Center ในนิวยอร์ก ซึ่งมี Sony Walkmans และ Toyotas เป็นบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในขณะนั้น
ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Gung Ho ซึ่งนำแสดงโดย Michael Keaton ได้แสดงให้เห็นถึงการปะทะกันของวัฒนธรรม เมื่อบริษัทญี่ปุ่นเข้ายึดโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 1989 ทำให้ดัชนีเฉลี่ยหุ้น Nikkei พุ่งสูงสุดไปสู่ระดับเกือบ 40,000 แต่ในไม่ช้าก็ดิ่งลงเมื่อฟองสบู่ของสินทรัพย์ถึงขีดจำกัด และทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง จากนั้นเศรษฐกิจทั้งหมดก็เริ่มพังทลายและแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างเกาหลีใต้และจีนได้ตื่นขึ้น
ตอนนี้ญี่ปุ่นก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่พบว่า Supply Chains ของตนกำลังผูกพันกับ Supplier ของจีนอย่างลึกซึ้ง เมื่อการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรจากจีนหยุดลงในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเนื่องจากรัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
นั้นทำให้ในปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นเริ่มมองหาพันธมิตรทางเลือกภายในประเทศมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดการพึ่งพา Supplier จากต่างประเทศ
และนอกเหนือจากการกู้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยธุรกิจแล้ว บริษัทต่าง ๆ ยังมีการกำหนดนโยบายให้นายจ้างใช้มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเช่นการแจกเงินสดพิเศษ และเงินอุดหนุนสำหรับรักษาระดับการจ้างงาน โดยเงินดังกล่าวส่วนใหญ่มาจาก BOJ* ซึ่งหมายความว่าผู้ปล่อยกู้รายย่อยจะสามารถรักษาวงเงินสินเชื่อให้กับผู้กู้ของตนได้ แม้ว่าจะมีอัตราผลกำไรที่ต่ำซึ่งเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ (ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่ำ)
* การที่ BOJ ซึ่งเป็นธนาคารกลางและมีอำนาจในการพิมพ์เงินสดออกมาเอง อยู่ในฐานะผู้ปล่อยกู้ ทำให้นักลงทุนและผู้ปล่อยกู้รายย่อยอย่างธนาคารพาณิชย์ทั่วไปสามารถมั่นใจได้ถึงสภาพคล่องทางการเงินของตลาด
การระบาดของ COVID-19 ได้ทำให้ปัญหาเลวร้ายลงทั่วโลก เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งผู้ผลิตกำลังถูกปิดกั้นด้วยแรงงานและการผลิตที่มีราคาถูกกว่าในประเทศจีน และที่อื่น ๆ อย่างเช่นอินเดีย (เนื่องจากมีกำลังประชากรสูงมากที่สุดในโลก) ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถแข่งขันได้ ยกตัวอย่างกรณีนี้ก็เช่น การที่จำนวนโรงงานในเมือง Ota ของญี่ปุ่นลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากจุดสูงสุดที่ 5,120 แห่งในปี 1983 เหลือเพียง 1,207 แห่งในปี 2018
"ในช่วงปลายปีนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จะใช้เงินกู้ของพวกเขาจนหมด เว้นแต่สถานการณ์จะดีขึ้น แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาอาจจะต้องคิดว่าจะกู้เงินเพิ่มหรือเลิกกิจการ"
แนวโน้มของบริษัทในเมือง Ota นั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ในขณะที่แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางและรัฐบาลยังไม่เจอจุดสิ้นสุด รวมถึงการสนับสนุนยังเพิ่มขึ้นในภาวะตกต่ำที่เกิดจาก COVID-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจที่ต้องดิ้นรน (ซึ่งรวมถึงบริษัท Zombie ต่าง ๆ) ยังคงลอยนวล
การป้องกันการตกงานจำนวนมาก หมายความว่าบริษัทที่อยู่รอดอาจไม่ใช่บริษัทที่สามารถทำกำไรได้ในระยะยาวแม้ในโลกหลังการระบาดใหญ่ (ซึ่งนี่คือนิยามของบริษัท Zombie) และยิ่งไปกว่านั้น ความช่วยเหลือของรัฐบาลเหล่านี้ ทำได้เพียงแค่เลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างที่จำเป็นออกไปชั่วคราวเท่านั้น (เพราะถ้าปล่อยให้ล้มตอนนี้เลยจะส่งผลกระทบอย่างหนัก) แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งให้หมดไปอย่างแท้จริง
Takahide Kiuchi นักเศรษฐศาสตร์ของ Nomura Research Institute และอดีตคณะกรรมการของ BOJ กล่าวว่า
"การที่ประเทศส่วนใหญ่หันมาใช้แนวทางของญี่ปุ่นนั้นมีข้อเสีย เนื่องจากมันไม่มีประสิทธิภาพเลยที่จะเทเงินให้กับบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรได้อย่างเต็มที่หรือบริษัท Zombie ขณะที่การใช้จ่ายทางการคลังที่เพิ่มขึ้นกำลังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ขัดขวางศักยภาพในการเติบโตของญี่ปุ่น"
"หลายประเทศจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ และไม่ควรจะดำเนินรอยตามญี่ปุ่น"
การใช้จ่ายทางการคลังที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นนั้น มาจากการเข้าซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดของ BOJ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นในปีนี้เช่นกันสำหรับ FED, ECB และ BOE พร้อมกับประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงอื่น ๆ และประเทศเกิดใหม่บางส่วน
อย่างไรก็ตาม BOJ ได้เข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง (Secondary Market) ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ได้จัดหาเงินทุนโดยตรงให้กับการขาดดุลของรัฐบาลตามหลักการของทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (Modern Monetary Theory : MMT)
* Modern Monetary Theory (MMT) ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เงินเป็นสิ่งที่รัฐสร้างขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่า (อย่างเช่นทองคำ) หนุนหลัง โดยรัฐบาลจะไม่มีทางผิดนัดชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลของตัวเอง เพราะรัฐสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด
ดังนั้น MMT จึงเป็นการสนับสนุนว่า "รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือหลัก" โดยการพิมพ์เงินมาสนับสนุนการใช้จ่ายของรัฐบาล (รวมถึงการขาดดุลงบประมาณ) ในระดับที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มที่ และแม้การขาดดุลฯ อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการขึ้นภาษีและการออกพันธบัตรเพิ่ม เพื่อนำเงินส่วนเกินออกจากระบบ
แนวนโยบาย MMT เป็นการต่อยอดจากมาตรการ Q.E. แต่เป็นการพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจโดยตรง ผ่านการลงทุนภาครัฐและการจ้างงาน เช่น มาตรการรับประกันการมีงานทำ เนื่องจากเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะกระตุ้นการลงทุน รวมถึงเพิ่มรายได้ และการใช้จ่ายได้ดีกว่านโยบายการเงินแบบดั้งเดิม
ประชากรราว 4.2 ล้านคนที่ปรากฏในสถิติแรงงานของรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานแม้ว่าจะยังอยู่ในสถานะทำงานในทางเทคนิคก็ตาม ซึ่งหากพวกเขาถูกนับว่าเป็นผู้ว่างงานก็จะทำให้อัตราว่างงานอยู่ที่ 11.5% ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ญี่ปุ่นรายงานออกมา 2.6% ในเดือนเมษายน 2020
และสำหรับเศรษฐกิจโลกที่กำลังถูกครอบงำจากการระบาดของ COVID-19 มีเพียง 1 ในไม่กี่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ : เกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังต้องเผชิญกับระดับหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และต้องอยู่ภายใต้การกำหนดนโยบายฉุกเฉินในอีกหลายปีข้างหน้า แม้ว่าพวกเขาพยายามหาทางกลับสู่สภาวะปกติ
"ความซบเซาทั่วโลกโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเป็นแบบญี่ปุ่น โดยเกือบ 40 ปีของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะแสดงให้เห็นว่าโลกต่อจากนี้จะมีลักษณะอย่างไร" - Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าว
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
อยากลงทุน อยากมีเงินเก็บอย่างจริงจัง แต่ไม่มีพื้นฐาน World Maker มีคอร์สเรียนดี ๆ มาแนะนำให้ครับ รายละเอียดคลิกเลย !!
โฆษณา